FASHION
เผยเบื้องหลังกว่าจะเป็นโว้กประเทศไทย การทำเล่ม Zero Issue ที่ไม่เคยได้ตีพิมพ์!มันมีเส้นบางๆ ที่จะแบ่งว่าโว้กหรือไม่โว้ก เพราะไม่มีหลักสูตรตายตัว |
วันนี้โว้กประเทศไทยเดินหน้าอยู่ในปีที่ 9 ผลิตนิตยสารไทยมาตรฐานระดับโลกออกมาแล้ว 100 เล่ม
จากซ้ายไปขวา: ตะวัน ก้อนแก้ว, จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล, กุลวิทย์ เลาสุขศรี, จงกล พลาฤทธิ์ และ วัชรินทร์ ผ่องใส
ทีมงานโว้กประเทศไทยที่จับมือกันแผ้วถางทางมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก กุลวิทย์ เลาสุขศรี, วัชรินทร์ ผ่องใส, จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล, จงกล พลาฤทธิ์ และ ตะวัน ก้อนแก้ว มาล้อมวงรำลึกความหลังเล่าให้ฟังว่ากว่าจะได้เห็นโว้กเล่มแรกที่คนรอคอยกันทั้งประเทศ พวกเขาต้องฝ่าด่าน 18 อรหันต์ของ Condé Nast สำนักพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกันอย่างไร ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ความใฝ่ฝันและความคิดสร้างสรรค์ของกองบรรณาธิการค่อยๆ ร้อยเรียงทีละหน้าจนออกมาเป็น Mock up นิตยสารจำลองเล่มโตซึ่งกุลวิทย์ต้องหอบหิ้วข้ามโลกไปนำเสนอด้วยตัวเอง และ Zero Issue นิตยสารเล่มตัวอย่างที่ต้องทำเหมือนเล่มจริงทั้งหมดแต่ไม่ได้พิมพ์! ใช้เพื่อขออนุมัติจากสำนักพิมพ์เท่านั้น และหลังจากได้รับอนุมัติจากกองเดนาสต์แล้วก็ยังไม่มีใครเคยเห็นถือเป็นชิ้นหายากที่แฟนโว้กจ้องเก็บสะสมกัน
แฟชั่นเซตส่วนหนึ่งในเล่ม Zero Issue
มีปัจจัยอะไรบ้างที่กองเดนาสต์จะเปิดนิตยสารโว้กที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
Kullawit: Vogue is always the last title in the market. ในทุกๆ ประเทศมักจะเข้าไปในตอนที่ตลาดสินค้าแฟชั่นและลักชัวรีในประเทศนั้นๆ สุกงอมมากแล้ว เขาจะทบทวนแล้วก็รีเสิร์ชหนักมาก ค่อนข้างจะระวังแล้วก็มีขั้นตอนในการทำงานสำหรับเมืองไทย เท่าที่ทราบคือเขาเข้ามาทำรีเสิร์ชในเมืองไทยก่อนแล้วอย่างน้อยๆ น่าจะ 5 ปีได้ คุยกับหลายบริษัทหลายสำนักพิมพ์ เพราะเมื่อ 8 ปีที่แล้วตลาดสื่อสิ่งพิมพ์แข็งแรงกว่าตอนนี้มาก มีสำนักพิมพ์ผลิตนิตยสารเป็นร้อยๆ เล่ม เขาก็คงคุยกับทุกเจ้าที่ดูมีความเป็นไปได้รวมถึงคุยกับผู้จัดการของแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Chanel และ Louis Vuitton ที่พำนักอยู่ในเมืองไทยว่า “ถ้าจะเปิดโว้กที่ประเทศไทยควรร่วมงานกับใคร” ปรากฏว่ามี 2 ชื่อที่ตอบเหมือนกันคือกุลวิทย์และสิรี (สิรี อุดมฤทธิรุจ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัทเซเรนดิพิตี้ มีเดีย จำกัด) ซึ่งตอนนั้นทั้งคู่ทำงานอยู่ในบริษัทที่ถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของโว้กด้วยนะ (หัวเราะ) ทั้งหมดทั้งมวลเขาคุยกับพี่สิรีเรื่องการตลาดก่อน และคุยกันเองเสร็จสรรพเรียบร้อยว่าด้านครีเอทีฟต้องเอาฟอร์ดมาให้ได้ ซึ่งตอนที่พี่สิรีมาเล่าให้ฟังเรายังไม่ได้มีบริษัทเป็นของตัวเองเลย ก็เลยยื่นคำขาดกับพี่สิรีว่าถ้าจะไปก็คงต้องเปิดบริษัท อันนั้นคือเบื้องต้นไม่ได้มีการสัมภาษณ์ นัดเจอ หรือต้องเข้าไปนำเสนอตัวเองให้ได้งานแต่อย่างใด จู่ๆ เขาก็เลือกมาเลยว่ากุลวิทย์ต้องทำโว้ก...จบ!
WATCH
คอลัมน์ส่วนหนึ่งในเล่ม Zero Issue
เซอร์ไพรส์ไหม
KL: มาก! เพราะไม่เคยได้เจอใครจากกองเดนาสต์ทั้งสิ้น จนกระทั่งได้รับเรื่องและได้รับเชิญแล้วถึงจะได้เจอ บริษัทที่ตั้งขึ้นมาถึงได้ชื่อว่า Serendipity เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะเกิดขึ้น แต่ตอนนั้นก็ยังชิลอยู่นะ เพราะเราเป็นคนที่รักแมกกาซีนแล้วก็มีโว้กเป็นต้นแบบมาตลอด แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าการที่จะตีพิมพ์โว้กเล่มหนึ่งนี่มันต้องผ่านวิธีการอะไรบ้าง นั่นคือจุดแรกที่เริ่มเข้าใจความมหัศจรรย์และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรกองเดนาสต์ เข้าใจถึง Know-how and knowledge ที่ กองเดนาสต์มี และเข้าใจว่าเราต้องทำงานหนักอย่างไรบ้างกว่ามงจะลง
แฟชั่นเซตส่วนหนึ่งในเล่ม Zero Issue
เล่าเลยดีกว่าว่าต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง
KL: ด่านแรกก็คือเราจะทำเล่มจำลองและ Zero Issue หรือเล่มศูนย์ นิตยสารที่ทำเสมือนเล่มที่จะตีพิมพ์จริงแต่ใช้เพื่อการพิจารณาของสำนักพิมพ์เท่านั้น จำลองรูปแบบว่าสร้างสรรค์กันออกมาอย่างไรเขาจึงจะอนุมัติให้เราทำเล่มจริง เพราะถ้าไม่ผ่านหนังสือก็ยังไม่สามารถเปิดตัวได้ถึงแม้ว่าเขาจะเลือกเราแล้วก็ตาม ถ้าไม่โอเคเขาอาจเปลี่ยนทีมเลยก็ได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ เขาสามารถลองไปได้เรื่อยๆ แต่สำหรับเมืองไทยทราบมาว่าเราเป็นตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียวเท่านั้น แต่ก่อนที่จะทำเล่มศูนย์เราต้องฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อทำม็อกอัปก่อน ใช้เวลาไม่นานเนื่องจากเราอยู่ในวงการนิตยสารมาตั้งแต่ปี 1997 เลยมีประสบการณ์การร่วมงานกับคนในแวดวงนิตยสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นการฟอร์มทีมจึงไม่ยาก ที่ยากคือการค้นหาแนวทางของโว้กประเทศไทยมากกว่า
คอลัมน์ส่วนหนึ่งในเล่ม Zero Issue
ต่างคนต่างไปคิดหรือว่าใช้วิธีระดมสมองกันอย่างไร
KL: โดยตำแหน่งงานของเราอาจจะแบ่งงานกันชัดเจนว่ากุลวิทย์เป็นบรรณาธิการบริหาร จิรัฏฐ์เป็นสไตล์ไดเร็กเตอร์ วัชรินทร์ เป็นรองบรรณาธิการ จงกลเป็นบรรณาธิการแฟชั่น ตะวันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น แต่พอทำจริงๆ ก็เหมือนทุกคนมีส่วนร่วมในทุกจุด เริ่มแรกทุกคนจะฉีกหน้านิตยสารที่ตัวเองชอบ ภาพหรือเลย์เอาต์มาจากเล่มไหนก็ได้ แล้วลองมาเรียงตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายว่าเริ่มต้นด้วยอะไร คั่นด้วยอะไร จบด้วยอะไร ดูความต่อเนื่องทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าโว้กประเทศไทยจะออกมาหน้าตาแบบไหน ข้อดีคือทุกคนเคยทำงานด้วยกันมาก่อนเลยไม่ต้องบรีฟอะไรมาก
แล้วเส้นทางกว่าจะมาเป็นนิตยสารโว้กประเทศไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนโลกแฟชั่นต้องผ่านขั้นตอนและอุปสรรคอะไรอีกบ้าง ตามไปอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มกันต่อได้ที่โว้กฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 วางแผงแล้วทั่วประเทศ!
WATCH