'รุ่ง' หรือ 'ร่วง' โว้กรวบไฮไลต์สำคัญจากแฟชั่นวีกฤดูกาล SPRING/SUMMER ปี 2021 ที่เพิ่งจบไป!
หากมีคนถามว่า Virtual Show จะสามารถมาแทนที่รันเวย์จริงได้หรือไม่นั้น เราก็คงจะต้องขอตอบว่า "ไม่มีทาง"...
ปิดซีซั่นไปแล้วเรียบร้อย สำหรับแฟชั่นวีกฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ประจำปี 2021 การเดินทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาเริ่มต้นจาก นิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน สู่ปารีส กับฤดูกาลแฟชั่นที่สำคัญที่สุดประจำปี เหล่าสายแฟ(ชั่น)หลายคนที่wfhตีตั๋วนั่งชมแถวฟรอนต์โรว์ทั้งจากทางบ้านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสถานที่จริง ก็คงจะได้เห็นแล้วว่าแบรนด์ดังในแต่ละหัวมุมเมืองแฟชั่นนั้นต่างมีกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดจากผลกระทบวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างไรบ้าง ที่วันนี้โว้กประเทศไทยรวมไฮไลต์สำคัญจากแฟชั่นวีกฤดูกาลล่าสุด สรุปภาพรวมมาให้อ่านกันแล้วที่นี่...
แฟชั่นโชว์ออนไลน์ยังคงอยู่
จริงๆ แล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเมื่อซีซั่นที่ผ่านมา เรายังได้เห็นแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์พับรันเวย์ หอบคอลเล็กชั่นหนีโควิดไปอยู่ในโลกออนไลน์กันแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ที่แม้ว่าในซีซั่นล่าสุดนี้หลายประเทศจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ และผ่อนปรนมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว หากในมหานครนิวยอร์ก และกรุงลอนดอน 2 หัวเมืองแฟชั่นแรกที่เปิดประเดิมฤดูกาลไปนั้น ก็ยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เราจึงได้เห็นแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกัน และอังกฤษส่วนมากนั้น พากันโชว์ออนไลน์แบบไม่กล้าจัดรันเวย์จริงสักราย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ COACH ที่แม้ว่าจะมาด้วยคอนเซ็ปต์สุดหนักแน่น คิดถึงเรื่องเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หากการนำเสนอคอลเล็กชั่นในครั้งนั้นก็ต้องถูกนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอ และเซ็ตภาพถ่ายไปตามระเบียบ ซึ่งแน่นอนว่าการนำเสนอคอลเล็กชั่นในรูปแบบดังกล่าวนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ขนาดเล็ก หรือแบรนด์ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่สามารถดึงความสนใจของคนได้มากเท่าที่ควรนั่นเอง
การกลับมาของแฟชั่นโชว์จริง
ต่อให้กรุงลอนดอน และนิวยอร์กแฟชั่นวีก จะตัดสินใจ “Go Online” เป็นส่วนใหญ่ หากเมื่อเริ่มต้นแฟชั่นวีกที่มิลาน ประเทศอิตาลี และปารีสแฟชั่นวีก ประเทศฝรั่งเศส ก็ยังสามารถสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับเหล่าสายแฟ(ชั่น)ได้ไม่น้อย เพราะในลิสต์ตารางโชว์นั้นจำนวนแบรนด์มากกว่ากึ่งหนึ่งพร้อมใจกันพาเอาแฟชั่นโชว์จริงๆ กลับมา ทั้งรันเวย์ที่มีนางแบบจริงๆ เดิน ไปจนถึงโชว์คอลเล็กชั่นที่มีแขกคนสำคัญนั่งประจำอยู่ที่ฟรอนต์โรว์ กระนั้นการจัดโชว์คอลเล็กชั่นแบบสดๆ นั้น ก็ยังคงต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการ “Social Distancing” ที่รัฐบาลกำหนดอยู่ เริ่มต้นจากแบรนด์ Fendi ที่เรายังได้เห็นเหล่าคนดูนั่งห่างกันเป็นวาในโชว์ครั้งนั้น หรือแม้แต่โชว์ของ Dolce & Gabbana ที่แม้ว่าจะเนรมิตรันเวย์สีสันจัดเต็มตามสไตล์งานแพตช์เวิร์กสมการรอคอยการกลับมา แต่แขกฟรอนต์โรว์ก็ยังสนิทกันมากไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกติกาของรัฐบาล เช่นเดียวกันกับแบรนด์ Dior ที่ดูเหมือนจะกลับมาเป็นโชว์จริงจังมากที่สุด หากแขกฟรอนต์โรว์ก็ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย จนกลายเป็น Trend On Street ครั้งใหม่ในยุคโควิด ที่เราได้เห็นเหล่าคนดังพาเหรดแฟชั่นหน้ากากอนามัยมาแบบไม่ซ้ำกัน และมีสไตล์สุดๆ เรื่อยไปจนถึงโชว์ของแบรนด์ Max Mara ที่ขอจัดท่ามกลางที่โปร่งโล่ง ปฏิเสธความแออัด รวมไปถึงแบรนด์ Philosophy ก็ขอจัดกลางสวนปิด ลดอัตราความแออัดความแออัดของบรรยากาศเช่นเดียวกัน กระทั่งแบรนด์ในตำนานอย่าง CHANEL ที่ขนฉากใหญ่เทียบเท่าฮอลลีวู้ดมาวางในกรองด์ ปาเลส์ แต่ก็มีแขกฟรอนต์โรวแค่หยิบมือเท่านั้น
กลยุทธ์ดึงดูดความสนใจที่แตกต่าง
WATCH
แม้ว่าหลายแบรนด์จะสามารถกลับมาจัดโชว์คอลเล็กชั่นตามปกติได้แล้วก็จริง หากก็ยังไม่หยุดที่จะงัดกลยุทธ์สำคัญขึ้นมาสู้ดึงความสนใจของเหล่าคนสายแฟ(ชั่น)กันถึงที่สุด เริ่มต้นกันที่แบรนด์ Moschino ที่ครั้งนี้ขอจัดเป็น “แฟชั่นโชว์ตุ๊กตา” จำลองรันเวย์เสมือนจริงทั้งตัวนางแบบ ไปจนถึงแขกฟรอนต์โรว์คนสำคัญที่ Jeremy Scott ขอจำลอง แอนนา วินทัวร์ เป็นตุ๊กตามานั่งดูโชว์ในครั้งนี้ หรือแม้กระทั่งแบรนด์ Burberry ที่แม่จะเป็นโชว์ออนไลน์ แต่ก็ยังขนทัพนางแบบไปเดินถ่ายวิดีโอกันในป่าจริงๆ พร้อมแบ็กกราวน์วงดนตรี และการแสดงที่เสริมให้โชว์ครั้งนี้ดูน่าสนใจขึ้นมา เรื่อยไปจนถึง Balmain ที่จัดแฟชั่นโชว์แบบครึ่งๆ กลางๆ เหล่าแขกฟรอนต์โรว์คนสำคัญครึ่งหนึ่งเป็นแบบออนไลน์ และอีกครึ่งหนึ่งได้มานั่งดูโชว์จริงๆ ก่อนที่จะไปถึงการดึงเอาคอนเซ็ปต์หลุดโลกอย่างกีฬาโอลิมปิกบนดวงจันทร์ในอีก 111 ปีข้างหน้าของแบรนด์ Thom Browne มาเป็นจุดขาย หรือการสร้างสรรค์มิวสิกวิดีโอของ Balenciaga ที่แม้จะมาน้อยแต่ก็น่าสนใจไม่น้อย ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยรันเวย์โชว์ของแบรนด์ Louis Vuitton ที่เอาใจคนที่ดูออนไลน์ด้วยการฉายภาพกราฟฟิกไปบนฉากหลังสีเขียว ขณะที่กำลังจัดโชว์จริง ทำให้คนที่นั่งดูอยู่ในโชว์ และคนที่นั่งดูผ่านออนไลน์นั้นได้เห็นภาพรันเวย์ที่ต่างกันออกไป ก็นับเป็นลูกเล่นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางแม้ว่าโชว์จะจบลงไปแล้วก็ตาม
จับตาดีไซเนอร์หน้าเก่าในบ้านหลังใหม่
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หลายแบรนด์ต่างพากันเผยแพร่คอลเล็กชั่นของตัวเองในรูปแบบวิดีโอ และเซ็ตภาพแฟชั่น ดังนั้นเราจึงได้เห็นการทำงานร่วมกันของเหล่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์นั้นๆ และเหล่าช่างภาพจำนวนมากในซีซั่นนี้ หากยังมีอีก 2 โชว์ที่ถูกจับตามองนั่นคือ แบรนด์ PRADA ที่นับเป็นคอลเล็กชั่นแรกที่ดีไซเนอร์สุดฮอตอย่าง Raf Simons มาร่วมงานกับ Miuccia Parada เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ จนสามารถดึงความสนใจของเหล่าคนแฟชั่นได้อยู่หมัด รอคอยชมโชว์ใหญ่ประจำซีซั่นกันเสียยกใหญ่ และอีกหนึ่งโชว์นั่นคือแบรนด์ Givenchy ที่ได้ Matthew Williams ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนล่าสุดเข้ามาล้างประวัติศาสตร์จีวองชี่อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวคอลเล็กชั่นแรกแบบเต็มตัว กับคอลเล็กชั่นที่ว่าด้วยการสดุดีเหล่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ประจำแบรนด์ก่อนหน้านั้น ที่ก็ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ยุคใหม่ของแบรนด์จีวองชี่จะเป็นอย่างไร
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ไฮไลต์บางส่วนของแฟชั่นวีก ประจำฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2021 ที่เพิ่งจบไป ที่โว้กประเทศไทยรวบตึงมาให้อ่านเรียกน้ำย่อยเท่านั้น หากสายแฟ(ชั่น)คนไหนที่อยากจะนำเทรนด์ หรือเรียนรู้ทิศทางของวงการแฟชั่นในอนาคตแล้วล่ะก็ เราก็ขอแนะนำให้ไปดูย้อนหลังก็ไม่เสียหาย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดิ้นรนเอาตัวรอดของเหล่าแบรนด์ดังนั้น ก่อกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่อันหลากหลาย และมากมายให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นในซีซั่นนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน...
WATCH