FASHION

สงครามแห่งเวลส์! เมื่อเจ้าชายชาลส์ และไดอาน่าลุกขึ้นสู้ เปิดศึกสาดโคลนผ่านสื่อระดับโลก

"ไม่มีผู้ชนะ และไม่มีผู้แพ้ในสงครามครั้งนี้ จะมีก็เพียงซากปรักหักพังที่ทับถม หลอกหลอนคนทั้ง 2 ฝ่าย ให้จดจำไปอีกแสนนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หรือแม้แต่คนทั่วไปเอง ก็ไม่อาจมองราชวงศ์วินด์เซอร์เป็นเช่นเดิมได้อีกต่อไป..."

 

     หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก หรือคิดไปเองเสียแล้วว่า "War of Wales" ในที่นี้ คือสงครามที่ต้องมีตัวละครพลทหารนับร้อยนับพันถือปืน หรือจับรถถังไปรบกันแบบจริงๆ ในสนานรบที่ไหนสักแห่ง ทว่าแท้จริงแล้ว "สงครามแห่งเวลส์" ที่ว่านี้ เป็นเพียงชื่อที่ใช้เรียกเหตุการณ์วิกฤติที่สุดครั้งหนึ่ง ที่เคยเกิดขึ้นกับราชวงศ์วินด์เซอร์ อันมีตัวละครสำคัญในสนาบรบครั้งนี้เพียง 3 ตัวละครหลักเท่านั้นอย่าง เจ้าชายชาลส์, เจ้าหญิงไดอาน่า และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเรื่องราวทั้งหมดคงต้องเท้าความกลับไปในวันที่ 29 กรกฏาคม ปี 1981 กับพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง เลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ และเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งแห่งเวลส์ ณ มหาวิหารเซนต์พอล ที่ถูกถ่ายทอดสดให้กับผู้รับชมทางโทรทัศน์ ที่มีจำนวนมากถึง 750 ล้านคนทั่วโลก ในครั้งนั้นไดอาน่าได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมฐานันดรศักดิ์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ ที่แม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 40 ปี แต่ชุดแต่งงานปักเลื่อมสลับมุกกว่า 10,000 เม็ด ที่มีขนาดยาวกว่า 25 ฟุต พร้อมกับผ้าคลุมหน้า 153 หลาตัดเย็บจากผ้าทูลล์ ที่ถูกรั้งไว้ด้วยเทียร่าเพชรเก่าแก่ของตระกูลสเปนเซอร์  ฝีมือการสร้างสรรค์โดยสองดีไซเนอร์อย่างเดวิด เอมานูเอล และเอลิซาเบธ เอมานูเอล ก็ยังคงเป็นฝันหวานของเหล่าสุภาพสตรีทั่วโลกที่อยากจะมีชีวิตดั่งเทพนิยายเสมอมา

     แต่ใดๆ ในโลกนี้ก็ล้วนไม่แน่นอน สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน... หลังจากทั้งคู่ย้ายเข้าไปพำนักที่พระราชวังเคนซิงตัน และสร้างครอบครัวด้วยกัน กระทั่งมีพยานรักเป็นรัชทายาทถึง 2 พระองค์นั่นคือ เจ้าชายวิลเลียม อาร์เธอร์ ฟิลิป หลุยส์ และเจ้าชายแฮร์รี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด ได้ไม่นาน ชีวิตรักที่หลายคนคิดเอาเองว่าแสนหวาน ก็เริ่มมีรสขม เมื่อเริ่มมีข่าวลือเสียหายแรกที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ และความเชื่อใจของประชาชนทั่วไปว่า เจ้าชายแฮร์รี่ไม่ใช่ลูกชายของเจ้าชายชาลส์ หลังจากยังไม่ทันได้แก้ข่่าวค(ร)าวดังกล่าว ข่าวค(ร)าวเสียหายหลายเรื่องถูกสำนักพิมพ์ไร้จรรยาบรรณต่างกู่ขึ้นตามมาไม่เว้นแต่ละวัน จนดูเหมือนว่าชีวิตรักของไดอาน่า และเจ้าชายชาลส์ไม่มีความสุขเอาเสียเลย ตั้งแต่อาการป่วยเป็นโรคโบลีเมียของเจ้าหญิงไดอาน่า การเรียกร้องความสนใจเพราะเจ้าชายชาลส์ให้ความรักกับเธอได้ไม่เพียงพอ ข่าวลือที่ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างรุนแรง ไปจนถึงเรื่องราวสุดร้าวฉานกับการมีมือที่สามของคามิลล่า พาร์กเกอร์ โบลส์ อดีตคนรักเก่าของเจ้าชายชาลส์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายเรื่องราวความรักที่ฉากหน้าเป็นราวกับเทพนิยายเรื่องหนึ่ง แต่ฉากหลังกะท่อนกะแท่นแต็มทนตลอด 5 ปี ก็ต้องมาถึงคราวแตกหัก และจบลงจริงๆ ในช่วงปี 1985 เมื่อมีคนตาดีเห็นเจ้าชายชาลส์ กลับไปสานสัมพันธ์รักกับคามิลล่าอย่างจริงจัง อีกทั้งฝ่ายไดอาน่า ยังลอบไปมีความสัมพันธ์กับ เจมส์ ฮิววิตต์ ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย ก่อนที่ความชัดเจนจะปรากฏในเวลาต่อมา ที่มีเทปบันทึกเสียงทะเลาะกันของไดอาน่า และเจ้าชายชาลส์ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออยู่เรื่อยๆ ทำให้ทุกคนที่ติดตามข่าวครั้งนั้น เริ่มรับรู้ได้ถึงความเกลียดชังของทั้งคู่ที่มีต่อกันจนเกินเยียวยา

1 / 4

ภาพถ่ายของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เคียงข้างทายาททั้ง 2 พระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์


2 / 4

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ฉายพระรูปร่วมกับ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และ ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์


3 / 4

ภาพถ่ายปาปารัซซี่ของเจ้าชายชาลส์ ขณะพูดคุยกับ คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ หญิงคนรัก


4 / 4

หนังสือชีวิประวัติที่อื้อฉาวที่สุดแห่งยุค Diana: Her True Story เขียนโดย แอนดรูว์ มอร์ตัน




WATCH




     และเมื่อกลิ่นฉาวที่พยายามปกปิด ไม่อาจอยู่ในความควบคุมได้แล้วนั้น ในช่วงปลายปี 1992 สภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักรก็ยังต้องออกมารับหน้าเป็นด่านแรก ด้วยแถลงการณ์สำคัญเรื่อง การแยกกันอยู่ระหว่างเจ้าหญิง และเจ้าชายแห่งเวลส์ ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ War of Wales (สงครามสาดโคลนผ่านสื่อ) อย่างเป็นทางการ เพราะหลังจากยอมรับว่าแยกกันอยู่กับเจ้าชายชาลส์แล้ว ไดอาน่าก็ได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อสมาชิกราชวงศ์แล้วเป็นที่เรียบร้อย พร้อมโหมกระพือกระแสข่าวผ่านสื่อ ที่พร้อมจะตีพิพม์ข่าวฉาวให้เธอได้ทั้ง The Sunday Times, The Sun, The Mirror และอีกมากมาย พร้อมแฉถึงความทุกข์ทรมานที่เธอเคยได้พบเจอมาระหว่างที่อาศัยอยู่ในพระราชวังเคนซิงตัน ออกมาเป็นระลอก หนึ่งในผลงานชิ้นเอกที่หลายคนต้องอึ้งก็หนีไม่พ้น หนังสือเรื่อง Diana: Her True Story ที่นับเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่า ข่าวลือก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องที่เจ้าชายชาลส์ และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นเฉยเมย และไม่ให้ความสำคัญกับเธอ หรือแม้แต่การมีมือที่สามของคามิลล่า พาร์กเกอร์ โบลส์ อดีตคนรักเก่าของเจ้าชายชาลส์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคู่ของเธอตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ทั้งคู่สมรสกันนั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น จนมกุฎราชกุมารยังต้องออกมายอมรับผ่านสื่อว่า ความสัมพันธ์ของเขา และคามิลล่านั้นเป็นเรื่องจริง สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดปรากฏการณ์การแปรพรรคของทั้ง 2 ขั้ว ที่หันมาเข้าข้างไดอาน่า และมองว่าราชวงศ์คือปีศาจ ก่อนที่ในเย็นวันเดียวกันนั้น ไดอาน่า สเปนเซอร์ จะปรากฏตัวในงานเลี้ยงวานิตี้ แฟร์ ณ หอศิลป์ Serpentine พร้อมกับชุดกระโปรงสั้นเหนือเข่า สไตล์ชุดค็อกเทล สีดำขลับเปลือยไหล่ ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่ามีสไตล์ และได้รับการขนานนามว่า Revenge Dress (ชุดแก้แค้น) เพื่อประกาศชัยชนะที่สุดท้ายเจ้าชายชาลส์ก็ต้องออกมายอมรับว่าไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อเธอตั้งแต่แรก ซึ่งแน่นอนว่าคำสารภาพของมกุฎราชกุมารยังส่งผลโดยตรงไปถึงราชวงศ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     แต่ดูเหมือนว่าชัยชนะครั้งนั้นจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของกระดานเกมที่ราชวงศ์วางเอาไว้เท่านั้น เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้านราชวงศ์ก็เดินหมากออกตัวปกป้องสถาบันของตนเองอย่างเต็มกำลัง ทั้งที่มีกระแสข่าวว่า เจ้าหญิงมากาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เผาจดหมายลับที่เขียนถึงสมเด็จพระราชชนนีของไดอาน่าทิ้ง โดยให้เหตุผลว่าจดหมายฉบับนั้น เต็มไปด้วยถ้อยคำมุ่งร้ายตัวบุคคลมากเกินไป ไปจนถึงการออกมาสร้างกระแสข่าวลือว่าไดอาน่านั้นมีความผิดปกติทางจิต และทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ชอบเรียกร้องความสนใจ (ที่หลายคนเชื่อว่าข่าวลือนี้มีเบื้องหลังคือเจ้าชายชาลส์ และสามารถสร้างความชอบธรรม เรียกคะแนนความนิยมกลับไปให้กับฝั่งราชวงศ์ได้มากโขอยู่) หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงรุกฆาตหมากเกมนี้ด้วยพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชาย และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้ทั้งคู่หย่าขาดจากกัน เพียง 5 วันก่อนการฉลองเทศกาลคริสต์มาสในปี 1995 และดูเหมือนว่าคำบัญชาดังกล่าวจะเป็นการชี้เป็นชี้ตายครั้งสุดท้าย เพราะต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1996 การหย่าร้างของเจ้าชาย และเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็มีผลอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้หลังการหย่าร้างดังกล่าว ไดอาน่าได้สูญเสียฐานันดรศักดิ์ที่มีทั้งหมด เหลือคงไว้เพียงตำแหน่ง "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" ในฐานะของผู้เป็นมารดาขององค์รัชทายาทแห่งราชวงศ์อังกฤษทั้ง 2 พระองค์เท่านั้น แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงอนุญาติให้ไดอาน่าสามารถพำนักอยู่ที่พระราชวังเคนซิงตันได้เช่นเคย และยังมีสิทธิ์ในอัญมณีต่างๆ ยกเว้นก็เพียงแค่เทียร่า Cambridge Lover’s Knot ที่เธอได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันอภิเษกสมรสเท่านั้น และไดอาน่ายังได้รับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำรงชีพจากเจ้าชายชาลส์หลังการหย่าร้างจำนวน 17 ล้านปอนด์ พร้อมเงินรายปีจำนวน 400,000 ปอนด์ต่อปีอีกด้วย

     เหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ... การหย่าร้างอย่างเป็นทางการของทั้งคู่ไม่อาจต้านทานกระแสข่าว และการวิพากษ์วิจารณ์ที่เรื้อรังมาเป็นเวลานานได้แล้ว อีกทั้งหลังจากถูกถอดยศ และฐานันดรศักดิ์จนหมดสิ้น การพูด แสดงออก หรือให้ข้อมูลต่อหน้าสาธารณชนของไดอาน่าก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เราจึงได้เห็นไดอาน่าให้ข่าวเกี่ยวกับราชวงศ์ไม่เว้นวัน จนฝ่ายโฆษกของราชวงศ์วินด์เซอร์เอือมระอาที่ต้องออกมาตั้งรับ และแก้ข่าวไม่เว้นวันเช่นกัน (ที่มีทั้งเรื่องจริง และเรื่องแต่ง) ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยจาก ทินา บราวน์ นักข่าว และบรรณาธิการผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ไว้มากมาย ที่ได้ระบุไว้ว่า ก่อนหน้าการหย่าร้างเพียง 1 ปี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ได้ทรงส่งจดหมายส่วนพระองค์เพื่อเตือนไดอาน่าว่า ถ้าเธอไม่ประพฤติตัวให้ดี เราจะริบยศเธอคืน” ก่อนที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์จะเขียนตอบกลับไปว่า พระยศของหม่อมฉันเก่าแก่กว่าของท่าน ฟิลิป” และอีกมากมาย การสร้างข่าวสาดโคลนกันไปมาระหว่างราชวงศ์ และไดอาน่า สเปนเซอร์ กินเวลายาวนานจนถึงห้วงลมหายใจสุดท้ายของไดอาน่า ในอุโมงค์ลอดสะพานปองต์เดอลัลมา ณ กรุงปารีส กระทั่งที่นักวิชาการบางคนวิเคราะห์เอาไว้ว่า ต่อให้ไดอาน่า สเปนเซอร์ จะเสียชีวิตลงไปแล้ว แต่สงครามแห่งเวลส์จะยังดำเนินต่อไป ในรูปแบบของความทรงจำอันเลวร้ายที่กัดกินอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่อาจทำให้พวกเขาขยาดสุภาพสตรีหัวขบถไปอีกนาน...

WATCH