FASHION

ทำไมโว้กทั่วโลกถึงประกาศบนปกเล่มแรกของปี 2020 เหมือนกันว่า 'Vogue Values'

     เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาช่วงสัปดาห์แฟชั่นที่กรุงปารีส บรรณาธิการบริหารของโว้กทุกชีวิตจาก 26 อิดิชั่นทั่วโลกรวมตัวกันเพื่อหารือในหัวข้อที่มีความสำคัญกับเราทุกคน พวกเราเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนจุดยืนและเดินหน้าปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในสิ่งที่เรายืนหยัดเชื่อมั่น ในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและปัญหาเรื้อรังใบนี้ ดังคำประกาศด้านล่าง นี่เป็นครั้งแรกที่โว้กรวมใจเป็นหนึ่ง และเราก็ภาคภูมิใจในก้าวสำคัญครั้งนี้ นั่นคือ ในขณะที่เราสื่อสารกับผู้อ่านด้วยภาษาต่างๆ เรากลับสามารถส่งสารผ่านเสียงอันเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราได้

     “เนิ่นนานเกินกว่าศตวรรษ โว้กมุ่งมั่นหลอมรวมพลังความคิดสร้างสรรค์เข้ากับความพิถีพิถันของการสร้างงาน โว้กเฉลิมฉลองให้กับแฟชั่น และฉายแสงให้กับประเด็นสำคัญระดับปรากฏการณ์ในแต่ละยุคสมัย โว้กยืนหยัดเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพถ่ายที่กระตุกต่อมคิด และบทความที่อุดมไปด้วยไหวพริบชั้นเชิง โว้กอุทิศตัวเพื่อสนับสนุนเหล่าผู้สร้างสรรค์งานซึ่งมีความโดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป โว้กเพ่งมองอนาคตด้วยทัศนะเชิงบวก บนรากฐานของการเป็นสื่อสากลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เรามุ่งมั่นที่จะผดุงวัฒนธรรมและอนุรักษ์โลกใบนี้เพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป เราสื่อสารด้วยเสียงอันเป็นหนึ่งเดียวผ่าน 26 อิดิชั่น เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าของความหลากหลาย แสดงความรับผิดชอบ ตลอดจนให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจก ชุมชน และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของพวกเราทุกคน”

ปกโว้กอิตาลี ประจำเดือนมกราคม ปี 2020 ที่เลือกใช้ภาพวาดแทนการขึ้นปกของนางแบบ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการถ่ายแบบแฟชั่น และต้อนรับคอนเซปต์ Vogue Values / ภาพ : Vogue Italia

 

     และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าโว้กทุกอิดิชั่นทั่วโลกมีใจความสำคัญเดียวกัน นั่นคือ Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่นี้ต่อไป ทว่าก่อนที่โว้กจะพาทุกท่านเข้าสู่โลกแห่งความยั่งยืน เราอาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Sustainability ในรูปแบบของแวดวงแฟชั่นกันก่อนว่า หมายถึงอะไร และครอบคลุมสิ่งใดบ้าง...

     ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนแฟชั่นคงจะได้เห็นการพาเหรดรณรงค์เลิกใช้ขนเฟอร์ และหนังสัตว์จริง  โดยเหล่าแบรนด์แฟชั่นระดับโลกนับไม่ถ้วน (ยกตัวอย่างเช่น Gucci ที่นับเป็นโต้โผใหญ่สำคัญในการเลิกใช้เฟอร์จริง หรือแม้แต่ CHANEL ที่บัดนี้ได้คว่ำบาตรการใช้หนังสัตว์แปลกไปแล้วเรียบร้อยเมื่อปีที่ผ่านมา) เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ กระทั่งในปีนี้ที่โว้กทั่วโลก รวมถึงโว้กประเทศไทย ในฐานะของสื่อมวลชนฝั่งแฟชั่นได้ตกลงพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ และผลงานที่ไม่ใช้หนังสัตว์ หรือส่วนประกอบใดที่นำมาจากการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้เห็นหลายแบรนด์แฟชั่นระดับโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และเปลี่ยนตัวเลือกการใช้วัสดุ และวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น หนังจากพืช (Vegetal Leather) และเส้นใยที่ได้จากพืช หรือกระทั่งแผ่นยางของชาวอเมซอน (Amazonian rubber) ทดแทนการใช้หนังสัตว์ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง และปูทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

ภาพถ่ายบรรยากาศบนรันเวย์แบรนด์ Dior คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ประจำปี 2020 ที่เนรมิตต้นไม้ถึง 164 ต้นที่สามารถนำไปปลูกต่อได้จริงมาไว้ในโชว์ครั้งนั้น ต้อนรับกระแส Sustainability ในอุตสาหกรรมแฟชั่น / ภาพ : Now Fashion

 

     หลังจากหลีกเลี่ยงการทารุณกรรมสัตว์เพื่อนำมาใช้ผลิตสินค้าแฟชั่น ทุกคนก็ต่างได้เห็นแบรนด์แฟชั่นแถวหน้าหันมาหยิบจับวัสดุ และวัตถุดิบจากธรรมชาติหนาตายิ่งขึ้น หากจะต้องยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คงจะย้อนกลับไปไม่ไกลมากบนรันเวย์ที่ขนาบไปด้วยต้นไม้ 164 ต้นของแบรนด์ Dior คอลเล็กชั่นล่าสุดประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2020 ที่ผ่านมา กับผลงานการเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้ากลิ่นอายระดับโอต์กูตูร์ หรือแม้แต่แบรนด์ H&M Studio ที่ยังขอลงสนามรักษ์โลกในครั้งนี้ด้วยอีกราย กับการเลือกใช้เส้นใยธรรมชาติที่ได้จากผลไม้ใน Conscious Collection ไลน์เสื้อผ้าใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดได้ในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้อีกด้วย

     งานฝีมือ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของงานคราฟต์นั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญที่ทำให้โลกแฟชั่นเข้าใกล้การพัฒนาที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ประเภทงานหัตถกรรมที่ผลิตด้วยความชำนาญพิเศษโดยช่างฝีมือไม่ว่าจะเป็น งานเย็บปักถักร้อยที่ได้รับมรดกตกทอดกรรมวิธีมาจากบรรพบุรุษ หรืองานคราฟต์ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นทีละชิ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ กอปรกับวัสดุที่สามารถหาได้จากภูมิภาค และท้องถิ่นนั้นๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจ ดังที่เราคงเคยได้เห็นแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยมากมาย หันมาให้ความใส่ใจ และสนใจในกรรมวิธีเช่นนี้มากขึ้นกว่าการใช้แรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษดังแต่ก่อน ดังเช่นการแปรรูปเสื่อกกให้กลายเป็นกระเป๋าหลายรูปแบบ ไปจนถึงงานจักสานต่างๆ ของไทย



WATCH




ส่วนหนึ่งของภาพถ่ายจากแฟชั่นเซ็ต H&M Conscious Collection ไลน์เสื้อผ้าใหม่ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้น พร้อมจุดยืนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน / ภาพ : H&M Studio

 

     และเมื่อพูดถึง Sustainability แล้ว ก็จำเป็นต้องพูดถึงกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักสำคัญที่ตอบโจทย์หัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกคนต่างคุ้นชินกันอยู่แล้ว นั่นคือเหล่าผลงานที่ผลิตขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่แล้ว และนำกลับมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นผลงานชิ้นใหม่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างง่ายก็คงจะหนีไม่พ้น เส้นใยที่นำมาจากผ้าใช้แล้ว ที่ผ่านกระบวนการนำมาทอให้เกิดเป็นผ้าชิ้นใหม่ นอกจากนี้อีกหนึ่งส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหัวข้อการรีไซเคิลก็คือ กระแสการกลับมาใช้ของวินเทจ หรือสินค้ามือสอง ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงผลงานที่ได้รับการผลิตขึ้นในยุค 1920’s จนถึงช่วงปี 1975 ทว่าในปัจจุบันความหมายในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังได้ปรับใช้นิยามดังกล่าว และให้กำเนิดเทรนด์ Up-Cycled นั่นคือการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำให้มีคุณภาพ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการผลิตแบบ Customization ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทางของการเดินทางสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

ภาพ : Highsonobiety

 

     นอกจากนี้ Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็มิได้เป็นเพียงการเลือกสรรวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแฟชั่นเท่านั้น หากการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกแฟชั่นยังหมายรวมไปถึงทุกมิติของกระบวนการผลิต ที่สามารถใช้เป็นตราช่างวัด “จริยธรรมทางแฟชั่น” ได้ นั่นคือแฟชั่นที่มีกระบวนการผลิตที่เคารพความเป็นมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ดังเช่น การผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และมีระบบจัดการกับของเสียจากกระบวนการผลิต เป็นต้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการได้รับการรับรองด้านการค้าโดยชอบธรรม จากองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานของแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องของ แรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานที่สมเหตุสมผล, ปราศจากแรงงานเด็กผิดกฎหมาย, ถูกต้องตามกฎของสหภาพแรงงาน, ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ไปจนถึงได้มาตรฐานจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตอบรับกับนโยบายด้านการค้าในพื้นที่ซึ่งผลิตผลงงานนั้นๆ อีกด้วย

1 / 8

ปกโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


2 / 8

ปกโว้กอเมริกา ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


3 / 8

ปกโว้กประเทศรัสเซีย ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


4 / 8

ปกโว้กประเทศเกาหลีใต้ ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


5 / 8

ปกโว้กอาระเบีย ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


6 / 8

ปกโว้กประเทศออสเตรเลีย ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


7 / 8

ปกโว้กฮ่องกง ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


8 / 8

ปกโว้กประเทศยูเครน ฉบับเดือนมกราคม ประจำปี 2020 กับคอนเซปต์ Vogue Values


     ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าใครที่ตามอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็คงจะเห็นพ้องแล้วว่า Sustainability หรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในภาคพื้นอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่จะกลายเป็นจุดยืนสำคัญของโว้กทั่วโลกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่ผลผลิตของสินค้าแฟชั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากครอบคลุมในทุกอณูมิติการทำงานของวงการแฟชั่น (ที่รวมตั้งแต่ การหลีกเลี่ยงการทารุณกรรมสัตว์, การเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ, การสร้างสรรค์งานฝีมือที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ, ทางเลือกด้านวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงจริยธรรมทางแฟชั่น) ที่บัดนี้ได้ตัดสินใจเข้าข้างโลกใบนี้แล้วเรียบร้อย โว้กประเทศไทยในฐานะอีกหนึ่งสื่อแฟชั่นกำลังหลักสำคัญ จึงไม่พลาดที่จะยืนหยัดไปพร้อมกับโลกใบนี้ ไปพร้อมๆ กันกับทุกคน พร้อมสนับสนุนทุกผลผลิตแฟชั่นที่เป็น Sustainability เพื่ออนาคตของโลกใบนี้ที่ดีกว่า ภายใต้คอนเซปต์สำคัญอย่าง “Vogue Values” ที่โว้กทั่วโลกพาเหรดโปรยกันไว้เป็นวลีสำคัญ เพื่อต้อนรับทศวรรษใหม่ ในเดือนมกราคม 2020 !

     ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโลกใบนี้ไปพร้อมกับเรา โดยสามารถติดตามอ่านคอลัมน์ Vogue Values เรื่องราวรักษ์โลกของวงการแฟชั่น ในนิตยาสารโว้กประเทศไทย ได้ทุกฉบับตลอดปี 2020 นี้...

WATCH