FASHION
กูตูริเย่ร์แห่งสยามไม่เคยเรียนแฟชั่น! เจาะลึกชีวิต Kai Boutique กว่าจะเป็นศิลปินแห่งชาติโว้กขอถือโอกาสนำบทความใหญ่โดยนักเขียน เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา จากนิตยสารโว้กประเทศไทยฉบับประจำเดือนมีนาคม 2559 กลับมาให้ผู้อ่านได้ร่วมรำลึกถึงเส้นทางการถักทอและกอปรขึ้นของชิ้นงานละเมียดละไมของ สมชาย แก้วทอง กูตูริเย่ร์ฝีมือฉกาจแห่งแวดวงแฟชั่นประเทศไทย |
วงการแฟชั่นไทยคึกคักขึ้นอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติแถลงอย่างเป็นทางการถึงรายชื่อทั้งหมดของผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จำนวนทั้งสิ้น 17 คน โดยนอกเหนือจากรายชื่อคุ้นหูอย่าง รอง เค้ามูลคดี กับ ยุทธนา มุกดาสนิท ในสาขาภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ หรือแม้แต่ ศาสตราจารย์ มัทนี รัตนิน ในสาขาละครเวทีแล้ว ชื่อของกูตูริเย่ร์ระดับตำนานของสยามประเทศนาม "สมชาย แก้วทอง" แห่ง Kai Boutique ก็ติดลิสต์ด้วยในสาขาทัศนศิลป์ การออกแบบแฟชั่น ซึ่งถือเป็นสาขาใหม่ล่าสุดที่เพิ่งจะได้รับการบัญญัติขึ้น
(จากซ้าย) กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย, สมชาย แก้วทอง ศิลปินแห่งชาติและดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง Kai Boutique, สิรี อุดมฤทธิรุจ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เซเรนดิพิตี้ มีเดีย จำกัด ผู้นำเข้าและผู้บริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย
แน่นอนว่าการยกย่องและให้เกียรติแก่บุคลากรสายแฟชั่นผู้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วทั้งวงการผู้นี้ย่อมจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรวมของประเทศไทย และทำให้แวดวงแห่งสไตล์ของบ้านเรามีพื้นที่ยืนอย่างสง่างามและสมเกียรติ เทียบเคียงสาขาอื่นๆ ตั้งแต่นาฏศิลป์ไทย คีตศิลป์ เรื่อยไปจนถึงจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังช่วยสะท้อนภาพการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจนี้ในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย
ในการนี้โว้กขอถือโอกาสนำบทความใหญ่โดยนักเขียน เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา จากนิตยสารโว้กประเทศไทยฉบับประจำเดือนมีนาคม 2559 กลับมาให้ผู้อ่านได้ร่วมรำลึกถึงเส้นทางการถักทอและกอปรขึ้นของชิ้นงานละเมียดละไมของ "สมชาย แก้วทอง" กูตูริเย่ร์ฝีมือฉกาจแห่งแวดวงแฟชั่นประเทศไทย
All the World Is a Stage
เกือบ 50 ปีบนถนนสายแฟชั่นไทย สมชาย แก้วทอง แห่งร้าน Kai สรุปให้ฟังสั้นๆ เกี่ยวกับความผันผวนในวงการแฟชั่นและเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างสรรค์งานของเขาว่า “ลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็รอด”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
“ความไม่รู้และความไม่กลัวทำให้ผมมีวันนี้” เขาเปิดประโยคก่อนที่จะเล่าที่มาของการเป็น Kai ในทุกวันนี้ “เป็นคนชอบทางด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก อายุ 14-15 จบ ม.ศ. 3 ที่ยะลา อาจารย์ที่สอนวิชาศิลปะแนะนำให้มาเรียนต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง แต่พอสอบเข้าได้ เข้าไปเรียนก็รู้สึกไม่อยากเรียน เพราะสิ่งที่เรียนอาจารย์ที่ยะลาสอนเรามาหมดแล้ว รู้สึกไม่น่าตื่นเต้นและติดตาม การที่เราไปอยู่เพาะช่าง ตรงข้ามเป็นพาหุรัด มีตลาดขายผ้า ตลาดมิ่งเมือง ตัดเสื้อเช้าได้เย็น ตัดหนึ่งชั่วโมงได้อะไรอย่างนี้ ก็เลยไปคลุกคลีแถวนั้น ไปเดินเล่นแถวนั้นสนุกสนาน แล้วก็เริ่มไปขอเศษผ้าเขามาลองทำเสื้อเอง ทำชุดแฟนซีให้เพื่อน บอกก่อนว่าผมไม่ได้เรียนตัดเสื้อมาเลย เพียงแต่แม่กับพี่สาวตัดเสื้อใส่เอง น้องสาวของคุณพ่อก็มีร้านตัดเสื้อ”
“อย่างเวลามีหนังไปฉายที่ยะลานางเอกหนังใส่เสื้อแบบไหนคนเขาก็จะตัดใส่ตามกัน คนต่างจังหวัดจะเป็นแบบนั้น จะแข่งกัน เราก็ได้คลุกคลีมาทางนี้ พอมาเพาะช่างก็สนุกเริ่มมีรายได้จากการเย็บกระเป๋าขายให้เพื่อน ตัดเสื้อให้เพื่อน อยู่เพาะช่างปีสองปีพี่สาวก็มาเรียนต่อกรุงเทพฯ ก็ตัดเสื้อให้พี่สาวใส่ เพื่อนฝูงพี่สาวก็แห่มาตัดเสื้อกับเรากันใหญ่ ตัดเสื้อนี่ทำเองเย็บเองคนเดียว ที่ทำได้เพราะเราชอบเหมือนทำเสื้อให้ตุ๊กตาใส่”
“จบปีสามเพาะช่างคะแนนตกมาก (หัวเราะ) เพราะว่ามัวแต่ตัดเสื้อ แล้วเพื่อนก็น้อย พออาจารย์สั่งงานเสร็จกลับบ้านผมก็มาเรียนภาษาอังกฤษที่เอยูเอ เรียนบัลเลต์กับท่านผู้หญิงวราพร (ปราโมช ณ อยุธยา) เย็บเสื้อให้เพื่อนฝูงใส่ไม่ค่อยได้เรียน พอจบปี 3 ก็สอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทั้งๆ ที่เกือบจะตกที่เพาะช่างอยู่แล้ว “พอไปเรียนศิลปากรเป็นจุดเปลี่ยนปีแรกเลย พอเข้าไปก็เจอพวกที่มาจากช่างศิลป์ (สมัยนั้นคือวิทยาลัยช่างศิลป์กรมศิลปากร) เรามาจากเพาะช่างมาเจอพวกช่างศิลป์คนละเรื่องเลย ช่างศิลป์เขาเป็นเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาพูดภาษาเดียวกัน สมัยนั้นคนสมัครเรียนคณะจิตรกรรมฯ เป็นพันๆ เอาแค่ 35 คนต้องบอกว่าเราสอบเข้ามาได้ได้ไงก็ไม่รู้”
“เนื่องจากไม่เก่งพอเข้ามาเรียนก็งงเพราะคนละแนว คนที่มาจากช่างศิลป์อาจารย์สั่งงานปุ๊บเขาก็ทำได้เลย แต่เราต้องมานั่งแกะมาทำการบ้านเราสู้เขาได้เรื่องดรอว์อิ้งพวกปั้น แต่งานกราฟิกงานจัดองค์ประกอบนี่งงมาก เพนต์ก็ไม่ค่อยเก่งทำงานส่งก็ได้คะแนนไม่ค่อยดีแล้วอาจารย์ที่ศิลปากรสมัยก่อนเขามีอุดมคติ คือเด็กต้องเก่ง ติวเข้ม เราก็ท้อแท้การเรียน จบปีสามถ้าคะแนนไม่ถึงเกือบจะดีแต่ไม่ค่อยดีก็ต้องซ้ำชั้น แต่ผมนี่ไม่ส่งงานแล้ว ไม่ไปมหาวิทยาลัย ทิ้งเลย เพราะว่าเรามาเอาดีทางด้านตัดเสื้อ”
“สมัยนั้นจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 1,200 บาท ราวๆ พ.ศ. 2512 แต่คุณไข่ใส่รองเท้าคู่ละ 1,500 บาท ขืนเรียนไปก็เสียเวลาเปล่า จำได้ว่าช่วงนั้นมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์สยามสมัยก่อนชั้น 2 จะเป็นที่รอเข้าไปชมภาพยนตร์คนก็จะเต็มเลย เราเห็นมีร้านบนนั้นติดป้ายเซ้งหรือให้เช่าเดือนละ 3,000 บาทแล้วชั้น 3-4 ก็เป็นที่อยู่ได้ด้วยเลยเข้าไปถามเขาเลย เช่าเลยภายในอาทิตย์นั้น เพื่อนๆ ก็เข้ามาช่วยตกแต่ง เปิดร้านชื่อเจิม เพราะเจิมคือชื่อคุณแม่”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
ความไม่กลัวและความไม่รู้ทำให้ตัดสินใจเปิดร้านแรกเลย คุณไข่เล่าว่าเปิดร้านวันแรกคนมาเต็ม แต่เขาไม่ใช่คนช่างพูดเลยแอบไปซ่อนอยู่ด้านหลัง จากนั้นก็ค่อยๆ ชินจากคนที่พูดติดอ่างกลายเป็นคนที่พูดคล่อง
“สมัยนั้นนิตยสารเมืองนอกหรือแม้แต่นิตยสารแฟชั่นไทยมีน้อยมาก เป็นนิตยสารสำหรับสุภาพสตรีมากกว่าแฟชั่น ดังนั้นสิ่งที่มีอิทธิพลเรื่องแฟชั่นก็คือภาพยนตร์ แล้วสมัยนั้นคนที่มาดูภาพยนตร์ที่โรงหนังสยามจะค่อนข้างไฮโซ เป็นนักท่องเที่ยวที่มาพักที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนฯ ตรงข้ามกันนี่แหละ ยุคนั้นการมาชมภาพยนตร์คือการมาดูมหรสพที่จะต้องมีการแต่งตัวมาสวยงาม เคยเห็นนักท่องเที่ยวที่พักอินเตอร์คอนฯ ใส่ชุดราตรียาวสีดำใส่เทียร่ามาดูหนังนะ คือแต่งตัวแบบอีฟนิ่งจัดเต็มยุคนี้ไม่มีแล้ว”
“คนต่างจังหวัดยุคนั้นถ้าออกจากบ้านไปดูหนังต้องแต่งตัวสวย คนที่มาโรงหนังสยามก็เหมือนตั้งใจออกมาจริงๆ สมัยก่อนที่ช็อปปิ้งคือพาหุรัด บางลำพู คือออกจากบ้านก็ต้องมาในชุดที่คิดว่าดีที่สุด แล้วไปทะเลก็ต้องมีชุดว่ายน้ำ มีชุดขี่ม้า มีกางเกงขาสั้นเข้าชุดกัน คือประณีตในเรื่องแต่งกาย”
พูดถึงรูปแบบแฟชั่นของร้านเจิมบ้าง
“ยุคนั้นราวๆ พ.ศ. 2512 ฮิปปี้มาแรงนะ ที่ร้านจะทำเสื้อผ้าโชว์ไว้ดิสเพลย์ นี่จะบอกสไตล์ของร้านเราแล้วที่ร้านทำเครื่องหนังด้วย แนวฮิปปี้ก็ต้องมีนะ เสื้อหนังสายรัดข้อมือหนังสายคาดหน้าผากหนัง รองเท้าหนัง หมวกหนัง เราทำหมด มุมหนึ่งของร้านมีเด็กจากโรงเรียนช่างเย็บหนังพระนครมานั่งทำตรงนั้นเลย 2-3 คน เราออกแบบน้องเขาก็ทำ”
เราขอให้คุณไข่เล่าบริบทของสังคมในยุคนั้นให้ฟังเพราะคิดว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจว่าสังคมยุคหนึ่งในบ้านเราเป็นเช่นไร ให้ความสำคัญกับการแต่งกายมากเพียงใด
“ยุคนั้นมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปบ้างแต่ส่วนใหญ่จะสั่งตัด มีห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูเป็นห้างแรกที่มีบันไดเลื่อน ตอนที่ห้างนี้เปิดเรายังเรียนอยู่เพาะช่าง จะมาเดินแถวสี่แยกราชประสงค์ ห้างนี้อยู่ไม่ไกลโรงแรมเอราวัณ (ปัจจุบันคือแกรนด์ไฮแอทเอราวัณกรุงเทพ) ตรงข้ามเป็นร้านขายผ้าไหมไทยชื่อสตาร์ออฟไซแอม ดังมาก หลังร้านนี้เป็นร้านทำผมชื่อโตเกียว และร้านสลิล เป็นของครอบครัวโอ-ศิระกุล เศรษฐศิริ มีห้างเซ็นทรัลเล็กๆ ตรงนั้นด้วย แต่คนไปไดมารูตรึมเลย “ถ้าจะไปดูคนแต่งตัวสวยต้องไปย่านนั้นแฟชั่นจ๋าเลย ใครจะมาดูดาราก็มาตรงนั้น ร้านรองเท้าที่ดีที่สุดก็อยู่ตรงนั้น อย่างร้านเสื้อนุสรากระโปรงตัวละห้าร้อยบาทถือว่าแพงมากนะ เป็นร้านที่เรารู้สึกว่า โอ้โห แพงจังเลย ถ้าเรามีร้านก็จะต้องทำราคาเดียวกับเขาไม่งั้นเราไม่ตัดอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นอยู่ศิลปากร ไปแถวนั้นทุกวันไปดูความแปลกใหม่”
“ตรงสี่แยกเพลินจิตมีเพลินจิตเซ็นเตอร์คุณเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน กลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ มาเข้าหุ้นกับคุณพัฒน์ ศรีบุนนาค ทำร้านหรืออะไรก็ไม่แน่ใจนะแต่คุณภัทราวดีเปรี้ยวมาก เปรี้ยวจี๊ด เปิดร้าน Something Different ไปดูทู้กวัน นอกจากเปิดร้านขายเสื้อแล้วยังเปิดสอนแฟชั่น สอนเดินแบบด้วย นางแบบรุ่นเขานี่เขาก็ต้องหางานให้ทำโดยการจัดแฟชั่นโชว์ คุณเล็กนี่จะเปรี้ยวมาก ออกมาร้องเพลงก่อนแล้วมีนางแบบออกมาเดิน คุณเล็กกลับเข้าไปเปลี่ยนชุดแล้วกลับออกมาร้องเพลงอีก ต้องถือว่าคุณเล็กนี่เป็นแรงบันดาลใจมากที่ทำให้อยากมีร้านเป็นของตัวเอง”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
“คุณเล็กน่าจะเป็นคนแรกที่จุดประกายให้เราเดินทางนี้เถอะอย่าไปเรียนเลยจิตรกรรม (หัวเราะ) แล้วก็ติดตามคุณเล็กภัทราวดีมาแบบนับถือกันจริงๆ เขากับเราอายุพอๆ กัน แต่เรานับถือเขาเป็นครูบาอาจารย์ เป็นพี่ ไม่ว่าเขาแต่งตัวไปไหนก็แอบมองแอบตามตลอด ได้อะไรจากเขามามากเหมือนเขาเป็นครูคนแรกทางแฟชั่นของเราเลย”
ด้วยความที่อยู่ต่างจังหวัดการรับรู้เรื่องราวของแฟชั่นคงไม่ได้มีหลายช่องทาง
“เราเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัดไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่ความชอบของผมทำให้ผมติดตามแฟชั่น ใครแต่งตัวสวยที่สุดในประเทศไทยเราก็ต้องตามดูคนนั้น สมัยนั้นมีร้านกรแก้ว ร้านกรแก้วนี่ผมไม่ทันคุณหญิงอุไร ลืออำรุง เป็นช่างฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย เศรษฐีในเมืองไทยตอนนั้นก็ตัดเสื้ออยู่ไม่กี่ร้าน กรแก้วนี่อันดับหนึ่งเลย ได้เห็นผลงานของร้านกรแก้วผ่านนิตยสารต่างๆ บ้าง
“บางคนอาจไม่ทราบว่าคุณเล็กภัทราวดีเคยทำนิตยสารแฟชั่นชื่อเฟมิน่า ตอนนั้นคุณเล็กมาแรงจริงๆ ผมมากรุงเทพฯ นี่ไม่ทันร้านกรแก้ว ไม่ทันได้รู้จักกับท่านแต่ทันดูแฟชั่นโชว์ท่านชายไกรสิงห์ ผมได้รู้จักพี่ชายคนหนึ่งคือคุณวรชาติ ชาตะโสภณ เป็นนักเรียนของโรงเรียนสอนตัดเสื้อพรศรี แล้วคุณนันดา รัตนกุลเสรีเรืองฤทธิ์ ซึ่งเป็นสาวสังคมเปรี้ยวมาก เป็นนักเรียนเก่าสวิสกลับมาแต่งงานกับคนในตระกูลรัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ ตัดชุดแต่งงานสีแดง คิดดูแล้วกันว่าเธอจะเปรี้ยวมากแค่ไหน ความที่ชอบแต่งตัวก็เปิดบ้านเอามาทำเป็นร้านตัดเสื้อเพื่อตัดให้ตัวเอง เศรษฐีสมัยนี้ก็ทำกันนะคือมีช่างอยู่ในบ้าน ตื่นเช้ามาก็มาเลือกแบบตัดชุดใส่ทุกวัน ทำไมฉันจะต้องไปจ้างคนอื่นตัด ทำไมฉันต้องไปซื้อในเมื่อฉันมีเงินฉันจะทำอะไรก็ได้ แล้วในเมื่อฉันต้องตัดเสื้อทุกวันอยู่แล้ว ทำไมไม่จ้างช่างมาอยู่ในบ้านเลย ก็ได้พี่วรชาติมาบ้านคุณนันดาอยู่ที่ถนนประดิพัทธ์ริมรั้วทางหน้าบ้านกั้นเป็นร้านเสื้อ ตื่นเช้าก็มานั่งเลือกว่าฉันอยากได้แบบนั้นแบบนี้พี่วรก็ทำให้ได้ทุกอย่าง เพราะพี่วรเป็นนักเรียนที่เก่งมากของคุณพรศรีทำอะไรก็ได้หมด เปิดเป็นร้านแล้วก็รับตัดด้วยเพราะจะได้มีเงินมาบริหารร้าน เก่งมากเลยจนกระทั่งคุณนันดาเลิกร้านพี่วรเลยออกมาเปิดร้านเอง ส่วนผมเปิดร้านที่โรงหนังสยามได้ปีหรือเกือบสองปีก็ได้รู้จักหม่อมหลวงอารชววรวรรณกับเจี๊ยบชาย (อุดมเดชบุณยรักษ์) ตอนนั้นอยู่เตรียมอุดมมาสั่งตัดแจ็กเกตหนังเขาชอบแต่งตัวกันอยู่แล้ว ไม่นานทั้งคู่ก็ไปเรียนต่อปารีสพอไปฝรั่งเศสเขาก็ไปเจอคุณวิชิตโกเมนบอกว่าถ้ากลับมากรุงเทพฯ ให้มาบนโรงหนังสยามมีร้านหนึ่งชื่อเจิมเก๋มาก คุณวิชิตเลยมารู้จักกับผม เขาชื่อเล่นว่าอ้วนแต่มีสมญาว่าอ้วนพอลล่า”
“เขาเรียนตัดเสื้อที่ร้านสปัน (สปันเธียรประสิทธิ์) ชนะการประกวดแล้วได้ทุนไปต่อที่ปารีสแล้วไปรู้จักกับคุณลำยงค์บุณยรัตพันธ์แม่ของเจี๊ยบ (พิจิตราบุณยรัตพันธุ์) ซึ่งเจี๊ยบเขาก็เรียนที่ปารีสป้อมธีรพันธ์ (วรรณรัตน์) ก็เรียนอยู่ที่นั่นอ้วน-วิชิตโกเมนเขามาที่ร้านผมแล้วก็ไปบอกพี่วรว่าพี่วรมาดูของประหลาดสิมีพี่คนหนึ่งเปิดร้านตัดเสื้อโดยที่ทำแพตเทิร์นไม่เป็นแต่เขาตัดของเขาออกมาแล้วสวยพี่วรเลยมาดูที่ร้านเลยได้รู้จักกันแล้วกลายเป็นเพื่อนรักกัน “พี่วรเขาเป็นพี่เราเป็นน้องคบหาสมาคมกันจนพี่วรเสียชีวิตตอนนั้นผมอายุ 45 ปีพี่วร 55 ปีตอนเขาเสียพี่วรนี่แหละที่เป็นครูแพตเทิร์นคนแรกแต่ผมก็ทำไม่เป็นอยู่นั่นแหละเพราะแพตเทิร์นมันต้องบวกลบคูณหารพี่วรให้มาร้อยหนึ่งผมรับมาสักสามสี่สิบเปอร์เซ็นต์ (หัวเราะ)”
จากเจิมมาเป็นไข่ได้อย่างไร
“ตอนนั้นมีน้ำท่วมภาคใต้ครั้งใหญ่เราคนปักษ์ใต้ก็พยายามหาเงินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกัน ตอนนั้นรู้จักกับพี่วร แล้วพี่วรเขาสนิทกับคุณหญิงจีริสุดา วุฒิไกรเป็นประชาสัมพันธ์โรงแรมไฮแอทรามา เลยไปติดต่อขอทำแฟชั่นโชว์ครั้งแรกตอนนั้นภาพยนตร์เรื่องThe Great Gatsby ฉายที่โรงหนังฮอลลีวู้ด ผมดูสักสิบรอบได้มั้ง My Fair Lady ก็ดูเป็นสิบรอบ คือตัวเองจะมุ่งมั่นกับเรื่องพวกนี้แหละ ไม่กลัวเรื่องการทำธุรกิจว่ามันจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง ไม่กลัวเพราะไม่รู้ไง ความไม่กลัวทำให้เราไม่ต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวามาจนทุกวันนี้”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
“เกือบ 50 ปีแล้วตั้งแต่พ.ศ. 2512 จนถึงวันนี้แฟชั่นโชว์แรกก็ได้แรงบันดาลใจจากThe Great Gatsby นางแบบก็เชิญคนที่รู้จักลูกหลานเขาบ้าง อย่างกบ-ดวงตา นันทขว้าง กับหนูแดง-เลื่อมประภัสสร ลูกสาวอาจารย์สุวรรณี (สุคนธา-นามปากกา) ทำแฟชั่นโชว์ครั้งแรกจำ พ.ศ. ไม่ได้แล้ว แต่น่าจะ 2513 นะ จากนั้นก็ทำมาตลอด ทำเป็นการกุศลให้กาชาดบ้าง โชว์ครั้งแรกผมเอาลายเซ็นของตัวเองมาพิมพ์บนผ้าสำหรับเชิ้ตผู้ชาย ทุกคนเลยรู้จักเราในชื่อไข่ จำได้ว่ามีนายแบบสามคนคือวรชุน อยู่จินดา, ชัยธวัช บุนนาค ซึ่งเป็นน้องเป็นเพื่อนจากช่างศิลป์ อีกคนหนึ่งเป็นคนอังกฤษชื่อเอ็ดดี้ เป็นคนจัดเพลงทางวิทยุ นางแบบอื่นๆ ก็มีวงศ์วิภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา, จันทร์จวง เกดอง, จีระพันธ์ ศรีไกรวิน, โสมวรรณ สังคปรีชา แม่ของก้อง สหรัถ, ศิวพร บุญเกียรติ, กบ ดวงตา แล้วก็มีนางแบบฝรั่งอีก โอ้โห เดินกันเป็นร้อยชุด”
“ผมเป็นดีไซเนอร์ไทยรุ่นแรกๆ ที่ขายบัตรดูแฟชั่นโชว์มีอาหารเที่ยงเป็นบุฟเฟต์แล้วก็จ่ายค่าตัวนางแบบซึ่งมาให้หลังจากโชว์ครั้งแรกเพราะโชว์นั้นเหมือนเชิญมาช่วยๆ กันแต่ตอนหลังๆ ผมเริ่มจ่ายค่าตัวนางแบบตั้งแต่ 500, 1,500, 3,000 จนกระทั่งหยุดทำแฟชั่นโชว์ไปหลายปีเหมือนกัน สมัยนั้นทำแฟชั่นโชว์แบบไม่มีเงินเลยสักบาทก็ได้เงินจากค่าบัตรนี่แหละมาจ่ายค่าโรงแรม จ่ายค่านางแบบ เสื้อผ้าไม่ต้องพูดถึงเราขายอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่มีเงินเลยนะแต่มีเพื่อนรักคือคุณแดงสุพัตราเขาเรียนธรรมศาสตร์ เก็บเงินสดๆ เลยพอแฟชั่นโชว์จบเขาก็เอาเงินมาใส่ซองให้นางแบบแล้วก็บิลโรงแรมจ่ายกันเดี๋ยวนั้นนี่แหละ ความที่เราไม่กลัว ความกล้านี่แหละ ทำให้เราไม่กลัวอะไรเลย”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
มีการกำหนดไหมว่าปีหนึ่งจะจัดแฟชั่นโชว์กี่ครั้ง
“แรกๆ ไม่ได้กำหนดทำโชว์ใหญ่ๆ ปีละ 3-4 ครั้งไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลยแบบเล็กๆ ก็มีเป็นงานการกุศลของสมาคมนั้นสมาคมนี้หลังจากที่สมาคมต่างๆซาไปเราก็เริ่มทำของเราเองปีละ 2 ครั้งเป็นโชว์ใหญ่แต่โชว์เล็กโชว์น้อยก็มีบ้าง ตอนหลังตั้ว-กีรติชลสิทธิ์ร้านดวงใจบิสกลับมาจากปารีส มีเจี๊ยบพิจิตราแล้วก็ป้อมธีระพันธุ์เข้ามา คราวนี้เป็นยุคของรุ่นน้องๆ เขาทำกันแล้วเริ่มมีโชว์เยอะขึ้น ผมเลยหยุดทำแฟชั่นโชว์แต่ยังมีผลงานลงในนิตยสารผู้หญิงเรื่อยๆ
“จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อประมาณ 28 ปีที่แล้ว ฟอร์ด (กุลวิทย์เลาสุขศรี) เขาเรียนมาทางแฟชั่นนะมาฝึกงานกับผม จริงๆ ก็ไม่เชิงฝึกงานหรอกเขามาดูช่างมาหยิบจับอะไรนั่นนี่มาอยู่สักสองเดือนแล้วก็กลับไปเรียนต่อ จากนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกจนเขากลับมาทำที่นิตยสารแฟชั่นหัวนอกเล่มหนึ่ง ทำอยู่จนเป็น บ.ก. เป็นคนริเริ่มทำแฟชั่นวีก ถ้าฟอร์ดไม่เริ่มทำเป็นซีซั่นขึ้นมาแฟชั่นมันจะไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน พอฟอร์ดเริ่มทำแฟชั่นวีกผมก็เริ่มกลับมาทำแฟชั่นโชว์อีก 15 ปีเต็มๆ แล้วที่กลับมาทำ นี่เหนื่อยนะตอนหลังๆ เริ่มกลัว...กลัวแพ้เด็ก (หัวเราะ) แต่ความที่เราเป็นตัวเราก็ผ่านมาได้ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย”
(ซ้าย) สมชาย แก้วทอง ศิลปินแห่งชาติและดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง Kai Boutique (ขวา) กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย
ความที่อยู่วงการมานานจึงได้เห็นการหมุนเวียนของแฟชั่นที่เป็นวงกลมกลับมาย้อนรอยเดิม ขอถามเรื่องแรงบันดาลใจที่คงจะยังไม่หมดไปง่ายๆ
“สมัยเริ่มทำงานตอนนั้นมีนิตยสารแฟชั่นน้อย เราได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ เป็นแม่แบบเป็นความฝันของเรา เลยดูซ้ำๆ อยู่นั่นแหละ ชอบชุดไหนก็ต้องไปดูแอ็กชั่นของนางเอกที่สวมชุดนั้น อะไรจะบันทึกก็ไม่มีต้องจำเอาอย่างเดียว แต่มีเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจมากก็คือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ คือตอนที่เรียนหนังสืออยู่ที่ยะลาเห็นภาพที่พระองค์เสด็จฯ เยือนต่างประเทศ พระองค์ทรงฉลองพระองค์ชุดไหนก็สวยไปหมด สมัยนั้นที่บ้านมีสตรีสารสกุลไทยผมฉีกเก็บหมด โอ้โห! ชุดของปิแอร์บัลแมงทำไมสวยอย่างนี้
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
“การที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถตัดฉลองพระองค์กับบัลแมง กรแก้ว และมีช่างฉลองพระองค์ประจำอีก นี่คือแรงบันดาลใจอันแรกเลยคือทำไมสวยอย่างนี้ ตอนเด็กๆ เราดูหนังคาวบอยหนังที่ถ่ายในปารีส โอ้โห! เสื้อผ้านี่คืออะไร ขณะที่เราใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้นรองเท้าแตะแบบเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดไปกินข้าวดูหนังในตลาดปักษ์ใต้ พอเข้ากรุงเทพฯ ถึงจะมีกางเกงขายาว มีเชิ้ตแขนสั้นแขนยาว พอมาอยู่ศิลปากรแต่งตัวได้อย่างอิสระก็แต่งเป็นแขกเป็นฮิปปี้ พอมาเปิดร้านเสื้อที่สยามฯ ตอนแรกก็แฟชั่นจ๋ากางเกงขาบานเสื้อกล้ามรองเท้าส้นตึกก็ใส่กับเขา แต่มันไม่ใช่เรา แต่งแป๊บเดียวมองดูตัวเองในกระจกแล้วเหมือนคนบ้า (หัวเราะ) จากนั้นเป็นต้นมาผมเลยใส่สีขาวดำมาตลอด คนจะเห็นภาพผมในชุดขาวมากกว่า สีขาวเลยกลายเป็นสีเอกลักษณ์ของร้านไข่ไป”
“ผู้มีพระคุณที่ทำให้ผมมีชีวิตอย่างในวันนี้มีหลายคนคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา เรื่องของเรื่องคือตอนอยู่ปักษ์ใต้เพื่อนของพี่สาวมีแม่เป็นคนเซี่ยงไฮ้ เขาสอนลูกสาวเต้นบัลเลต์ เวลามีงานโรงเรียนเขาก็มาเต้นบัลเลต์ให้ดู เราก็ โอ้โห! อะไรกันยืนบนปลายเท้าได้ด้วย นั่นคือความฝันตั้งแต่อายุสัก 8 ขวบ เป็นความฝันอันสูงสุดว่าอยากจะยืนบนปลายเท้าได้ ลองเอารองเท้ามาเขย่งดูผลคือรองเท้าผมพังบ่อยมากจนแม่ถามว่าทำไมเธอใส่รองเท้าไม่ทนเลย”
“พอเข้ามาเรียนเพาะช่าง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจัดบัลเลต์โดยมาดามเดม่อน ซึ่งเป็นครูสอนบัลเลต์ให้เจ้าฟ้าหญิงฯ ผมเห็นท่านผู้หญิงวราพรเต้นเป็นนางมโนราห์ ทราบว่าท่านผู้หญิงเปิดสอนบัลเลต์อยู่ที่ซอยนานาใต้ ตอนนั้นผมทำชุดแฟนซีให้นักเรียนเพาะช่าง อยากได้ถุงเท้าบัลเลต์แต่ไม่รู้ว่าไปซื้อได้ที่ไหนเลยตามไปหาท่านที่บ้านในซอยแถวลาดพร้าว สมัยนั้นไกลมากไปขอถุงเท้าจากท่านท่านก็เมตตาให้มา ตอนหลังไปขอท่านเรียนบัลเลต์ท่านก็มีเมตตามากท่านบอกว่าดีๆ เพราะว่าเด็กผู้ชายเรียนบัลเลต์น้อยมาก”
“ผมไปเรียนกับท่านตอนอายุ 15-16 แล้วนะ ทำให้รู้จักเพื่อนที่เรียนบัลเลต์ซึ่งเป็นลูกเศรษฐีทั้งนั้น เป็นนักเรียนจิตรลดาบ้าง อย่างภารไดย สุวรรณรัตน์, กู้-กุมารีรัตน์ โกมารชุนก็อยู่ที่นั่น ท่านผู้หญิงแต่งตัวสวยมาก คุณเล็ก ภัทราวดี, คุณวรชาติ ชาตะโสภณ เป็นบรมครูทางอาชีพเลยทุกคนที่เราชื่นชมผลงานเป็นอาจารย์ผมหมด “อย่างดีไซเนอร์ต่างประเทศที่ได้ไปดูแฟชั่นโชว์ ปิแอร์ บัลแมง คือคนแรกที่ผมรู้จัก แล้วก็มีฌองหลุยส์เฟอร์เร่ ท่านชายไกรสิงห์ ร้านพรศรี ร้านระพี-คุณลำยงค์ ร้านกรแก้ว-คุณหญิงอุไร ถือเป็นครูผมหมด สมัยอยู่ปักษ์ใต้มีโรงเรียนสอนตัดเสื้อวีรี ทำชุดราตรีให้ดารคือคุณเกษริน ปัทมวรรณใส่ ผมชอบชุดนั้นมากภายหลังลูกสาวคุณวีรีมาตัดเสื้อกับผม เขาบอกว่าคุณแม่ชื่นชมคุณไข่ว่าตัดชุดสวยผมก็เลยเล่าเรื่องความประทับใจเรื่องชุดที่คุณเกษรินสวมให้ฟังว่า ผมปลาบปลื้มผลงานคุณวีรีเช่นกัน”
ส่วนการจะได้เป็นเจ้าของชุดสวยๆ ของไข่แบบสั่งตัดนั้นหลายคนสงสัยว่าราคาของชุดประเภทนี้ค่อนข้างสูงและมีขั้นตอนหรือไม่อย่างไร
“ก็เป็นความกังขาของคนที่อยากจะมาเป็นลูกค้าบางคน คนที่เป็นลูกค้าของผมแล้วจะไม่สงสัยข้อนี้คือเราไม่ได้ตั้งราคาสูงเวอร์ขั้นตอนการสั่งตัดไม่ว่าจะชุดแต่งงานหรือชุดราตรีเป็นงานที่ยาก เพราะทุกคนก็อยากจะได้หนึ่งเดียวที่เป็นชุดของเขา ไม่ใช่เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เหมือนกัน จะเริ่มจากคุยรายละเอียดกันถ้าคิดว่าทำได้ตามที่ลูกค้าประสงค์แน่ก็รับงาน จากนั้นก็ทำราคาทำนัด (สำหรับการลองชุดในแต่ละขั้นตอน) ส่งผลิตซึ่งขั้นตอนนี้จะมีรายละเอียดอีกเยอะ มีการทำใบส่งผลิตวางแผนเทคนิคต่างๆ ซึ่งลูกค้าแต่ละท่านก็ต้องการอะไรที่พิเศษสุดทั้งนั้น”
แฟชั่นเซ็ตจากนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2559 เสื้อผ้าทั้งหมดจาก Kai Boutique
“เทคนิคยิ่งซับซ้อนก็ยิ่งยาก จากนั้นก็เตรียมวัสดุวางแพตเทิร์น วางผ้าเพื่อตัดนี่เป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆ ผ่านจากขั้นนี้ก็เป็นการส่งเย็บ จากนั้นก็ลองครั้งที่ 1 ลูกค้าไม่ชอบก็ปรับเปลี่ยนให้ลอง ครั้งที่ 2 ถ้ายังไม่ชอบก็จะปรับให้ แต่ส่วนใหญ่ต้องจบตรงนี้ ถ้ามีถึงขั้นลองครั้งที่ 3 นี่คือเปลี่ยนแบบไปเลยตัดใหม่ หรือไม่ก็เชิญออกนอกประตูไปเลย (หัวเราะ) อย่างหลังนี่คิดขำๆ นะความจริงถ้าลองถึง 3 ครั้งนี่เยอะเกินไปแล้ว การทำงานของเราจะมีการวางขั้นตอนอย่างรัดกุมตามที่บอก ดังนั้นจึงไม่ควรผิดพลาดขนาดต้องลองครั้งที่ 3 แค่ลูกค้าบอกไม่ชอบ จะไม่ชอบอะไรอย่างไรต้องบอกตั้งแต่ลองครั้งที่ 1 แล้วเราจะปรับให้ ดังนั้นเรื่องของราคาจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาสร้างความประหลาดใจในภายหลัง เพราะมีการตกลงกันตั้งแต่แรกแล้ว ที่บอกว่าราคาสูงนั้นคือคนไปพูดต่อๆ กันเอง ถ้าเป็นลูกค้าจริงๆ จะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่จะได้คืออาภรณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับพวกเขาจริงๆ”
แล้วที่บอกว่ากลัวแพ้เด็กรุ่นใหม่นี่หมายความว่าอย่างไร
“วงการนี้ทุกคนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง ใครดีก็ดีของเขา ใครชั่วก็ชั่วของเขา ผมอยู่ตรงกลางผมไม่ยุ่งกับใคร มันมีความบังเอิญต้องไปยุ่งบ้าง พอเราไปยุ่งแล้วรู้สึกว่าเอ๊ะไม่ใช่สีขาวละ มันสีเทาหรือสีดำ เราก็ถอยออกมาก็แค่นั้น แล้วก็เลยกลัวคนแบบนั้นไปเลย “ที่ว่ากลัวสู้เด็กไม่ได้เพราะเราไม่มีพื้นฐานเราเรียนเพาะช่างเรียนศิลปากรเพราะเราวาดรูปเป็นเราชอบศิลปะ แต่เรื่องธุรกิจเราไม่รู้เลย สี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยกลัวเลย แต่พอตั้วกลับมาประสบความสำเร็จ เจี๊ยบประสบความสำเร็จ ป้อมประสบความสำเร็จ ผมกลัวมากเลยสามคนนี้ แต่ไม่ได้ไปตั้งตัวเป็นศัตรูเขานะ แค่ผมมีความรู้สึกว่ายุคผมหมดแล้วก็เกิดความกลัวสิ”
“เราไม่ได้จบปริญญาตรีนะเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ใช้ศัพท์สูงๆ ไม่เป็น แต่เราพอสื่อสารได้ ลูกค้าก็เปลี่ยนไปตามยุค ตอนที่เราดังตอนเปิดร้านอายุ 22 เองพอพวกน้องๆ นี่มาก็รู้สึกว่าลูกค้าของเราต้องแก่ขึ้นตามวัยของเรา ลูกค้าเด็กก็ต้องกระจาย แต่ระยะเวลามันพิสูจน์ว่าเรายังอยู่ได้ดี (หัวเราะแล้วใช้มือเคาะหน้าโต๊ะแก้เคล็ด) ตอนนี้ไม่แข่งกับใครมาตั้งนานแล้ว เพราะถ้าเราแข่งเราต้องเกิดความกลัวเราต้องเกิดความท้อแท้ แต่ความไม่กลัวและไม่แข่งกับใครทำให้เราสู้ที่ ผมกลัวตอนนี้คือการแข่งกับตัวเองมากกว่า”
(จากซ้าย) สมชาย แก้วทอง ศิลปินแห่งชาติและดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง Kai Boutique, สิรี อุดมฤทธิรุจ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เซเรนดิพิตี้ มีเดีย จำกัด ผู้นำเข้าและผู้บริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย, กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย
ความไม่กลัวและความไม่รู้ทำให้สมชายแก้วทองยืนหยัดอยู่ในวงการแฟชั่นไทยมาเกือบ 50 ปี เขาเปรยๆ ว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขาอายุ 69 ปีแล้วย่าง 70 แล้วจะทำงานนี้ได้อีกนานแค่ไหน แต่เราเชื่อว่าเขาไม่มีทางหยุดสร้างผลงานเพียงเพราะอายุที่มากขึ้นแน่นอน “โชคดีมากว่าตั้งแต่เปิดมาจนบัดนี้ถึงจะลุ่มๆดอนๆ แต่ก็รอดเป็นหนี้เป็นสิน ด้วยการเป็นหนี้ทำให้มีแรงสู้ ทำให้มีแรงหาเงิน ถ้าไม่มีหนี้จะไม่ฮึดขนาดนี้ (หัวเราะ) ผมเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจสิ่งเดียวที่ทำให้ผมมีชีวิตรอดคือความฝัน ผมฝันอย่างโน้นอย่างนี้ตลอดเวลา”
ความฝันของเขาทำให้สุภาพสตรีหลายต่อหลายคนได้พบกับฝันที่เป็นจริงในการได้สวมใส่และครอบครองอาภรณ์ที่งดงาม เป็นมรดกที่ส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่นได้เอกลักษณ์ของการรังสรรค์ของเขาคือความสวยงามที่ไร้กาลเวลา ไม่ว่าวงล้อแฟชั่นจะหมุนไปข้างหน้าในทิศทางใด หากผลงานของเขาก็ยังคงไว้ซึ่งความงามเหนือกาลเวลาเสมอ
WATCH