FASHION
ฉลองเล่มที่หนึ่งร้อยด้วยหนังสือ Vogue 100 Fashion Reflections ที่สุดของความเป็นไทยในโว้กย้อนดูเส้นทางแฟชั่นบนนิตยสารโว้กประเทศไทยตลอด 100 เล่มที่ผ่านมา พร้อมเตรียมตัวก้าวสู่โลกแฟชั่นที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง |
Vogue 100 Fashion Reflections เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อฉลองเล่มที่ 100 ของนิตยสารโว้กประเทศไทย หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องราวการเดินทางของโว้กประเทศไทย นิตยสารแฟชั่นอันดับต้นของประเทศที่เปรียบเสมือนไดอารี่เล่มใหญ่ที่นำเสนอเรื่องราวมากมายของประวัติศาสตร์แฟชั่น ร้อยเรียงนับตั้งแต่คอลเล็กชั่นจี๊ดจ๊าดบนรันเวย์ปารีส สตรีตสไตล์บนถนนในนิวยอร์ก และในฐานะที่เป็นโว้กประเทศไทยเพื่อคนไทยเอง เราจึงยืนหยัดนำเสนอรากเหง้าความเป็นไทยสู่สายตาโลกที่แทรกตัวและอบอวลอยู่แทบทุกมุมหนังสือ แฟชั่นเซตตั้งแต่ปกแรกสุดกับชฎาไทยที่ถูกดัดแปลงเป็นเครื่องประดับศีรษะโดยฝีมือของ Philip Tracy หรือจะเป็นการขึ้นเหนือล่องใต้ถ่ายทอดภูเขาสูงเสียดฟ้า ทุ่งข้าวเขียวขจี ตลาดสดในยามเช้า และเหล่าคนเมืองที่คึกคัก เทรนด์ทุกกระแส โว้กประเทศไทยเก็บครบ พร้อมนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของโลกแฟชั่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 8 ปี จำนวน 100 เล่ม จนถึงกระแสที่แรงที่สุดที่ฉุดให้ทุกอุตสาหกรรมได้หันกลับมาทบทวนอย่างหนักอีกครั้งถึงวิถีการอุปโภคบริโภคอย่างกระแส “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability”
ปกแรกสุดกับ “ชฎาไทย” ที่ถูกดัดแปลงดีไซน์โดยฝีมือของ Philip Tracy เป็นเครื่องประดับศีรษะ / ภาพ: Vogue Thailand
เมื่อเส้นทางแห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน คือหนึ่งในสารสำคัญที่โว้กกำลังสื่อสารกันอย่างเข้มข้น และเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ภาครัฐให้ความสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศจึงเข้ามาสนับสนุน และมีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือแห่งหน้าประวัติศาสตร์เล่มนี้ เพื่อเป็นการนำสารและขยายเรื่องราวของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยว่า เรามีความสามารถและกำลังปรับตัวก้าวสู่วิถีความยั่งยืนเช่นเดียวกับคนทั่วโลก
Thai Sustainable Fashion at a Glance
ภายในหนังสือเล่มนี้โว้กประเทศไทยจะชวนคนแฟชั่นมาก้าวข้าม comfort zone และขยายโลกทัศน์ เรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืน และร่วมมองภาพรวมของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในกระแส sustainability เพราะเราเชื่อว่า การเรียนรู้สิ่งใหม่จะช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่น อาจได้เห็นช่องทางที่จะปรับตัวและปรับธุรกิจให้เข้ากับเทรนด์โลก ซึ่งแท้จริงแล้ววงการแฟชั่นไทยทั้งผู้เสพและผู้ขายล้วนคุ้นเคยกับแนวคิดเหล่านี้อยู่แล้ว ภายใต้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน แฟนโว้กอาจจะคุ้นเคยกับ Vogue Values สายกรีนน่าจะคุ้นเคยกับ BCG Economy สายอนุรักษ์อาจจะรู้จักภูมิปัญญาท้องถิ่น และแน่นอนว่าชาวไทยรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แม้ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เป็นเหมือนส่วนผสมในสำรับอาหารที่สามารถรับประทานแยก จับคู่ หรือโฮะรวมกัน เพื่อให้ได้คุณค่าหนึ่งเดียว นั่นคือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งของไทยและของโลกอย่างยั่งยืน”
หนึ่งในภาพแฟชั่นเซตจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ / ภาพ: วสันต์ ผึ่งประเสริฐ
แอนนา วินทัวร์ Artistic Director ของ Condé Nast บริษัทแม่ของโว้กประเทศไทย พูดในที่ประชุมเองเลยว่า “ประเทศอย่างไทยซึ่งเป็นประเทศโลกที่ 3 กำลังพัฒนา ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่คิดครอบคลุมไปถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะความยากจนเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะต้องหาทางแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก” กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย แชร์มุมที่ประเทศไทยถูกมองจากสายตาบรรณาธิการแฟชั่นระดับโลก “เราก็เลยอธิบายเพิ่มไปว่า คนของเรา...พูดง่ายๆ คือยังหาเช้ากินค่ำอยู่ จึงยังไม่สามารถให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากปากท้องได้มากนัก เรื่องความยั่งยืน หรือนวัตกรรมในประเทศเราจึงเป็นเรื่องรอง และก็ต้องยอมรับด้วยว่า สินค้าอะไรก็ตามที่เป็นออร์แกนิก หรือว่ารีไซเคิล อัพไซเคิล มักจะมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไปค่อนข้างมาก ภาพของความยั่งยืนหรือ Circular Economy ในไทยจึงยังไม่ชัด แต่มันเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เรามีคนรุ่นใหม่ในวงการแฟชั่นไทยที่จริงจังกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราก็พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดเหล่านี้ผ่านโว้กประเทศไทยนี่แหละ แต่ว่าด้วยภาวะ pandemic ตอนนี้ทุกคนรวมทั้งโว้กก็ยังต้องหาเช้ากินค่ำ เลยยังไม่เกิดการรวมตัวที่จะทำให้ความยั่งยืนในวงการแฟชั่นไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พูดได้ว่า เรายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่ก็สามารถมองเห็นอนาคตได้ว่าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ”
WATCH
หนึ่งในภาพแฟชั่นเซตของผ้าไทยที่ถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น / ภาพ: วสันต์ ผึ่งประเสริฐ
Re-Animation
วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ อดีตดีไซเนอร์ของ Greyhound ปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ The Bound House ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้อยู่อาศัย และสร้างแบรนด์ HOME Studio SHOP ที่มีความยั่งยืนเป็นแกนหลักไปด้วย ให้ความเห็นถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในแง่ของความยั่งยืนว่า “สำหรับเมืองไทยก็เห็นหลายๆ แบรนด์รุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของการเอาวัสดุเก่ามารียูสในการออกแบบบ้างแล้วนะคะ เรามีแบรนด์อย่าง Dry Clean Only, Renim Project, Wishulada, No Service @noserviceservice แต่ก็ต้องยอมรับว่า โดยส่วนใหญ่ยังโฟกัสอยู่ที่การอัพไซเคิลและการใช้วัสดุรีไซเคิล ตอนทำงานที่เกรฮาวด์ วิเคยทำโปรเจกต์ร่วมกับ Ikea เห็นชัดว่าเขาสนใจและมีมาตรฐานที่ชัดเจนในกระบวนการผลิตมากๆ ตั้งแต่การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการใช้วัสดุทุกชิ้นส่วนให้หมด ไม่ให้เหลือเป็นขยะ การเลือกโรงงานผลิตต้นทางว่า จะต้องเป็นโรงงานที่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตพนักงาน มีเวลาในการทำงานที่เหมาะสม และเป็นโรงงานที่คำนึงถึงการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ให้มากขึ้นทุกปี และอีกหลายๆ อย่างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งเราก็หวังว่า วันหนึ่ง แบรนด์ไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้”
นางแบบในชุดแจ็กเกตสูทผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ารูปจาก ETIQUETTE BANGKOK และกางเกงผ้าฝ้ายย้อมครามทอลายขาสามส่วนจาก WISHARAWISH / ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช
สธน ตันตราภรณ์ มีตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า กว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่แปะคำว่า sustainability ในระดับโลกได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรองในทุกมิติ “เรื่องของ sustainability ในต่างประเทศเขาเติบโตมานานจนมีรายละเอียดเยอะมาก บางเรื่องเราก็คิดไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่ง Jim Thompson เคยทำ press visit แล้วมีนักข่าวถามว่า ‘คุณจะจัดการกับความรุนแรงในขั้นตอนการผลิตผ้าไหมของคุณอย่างไร’ เวลาพูดถึงความรุนแรงเราก็จะนึกถึงโรงงานนรก การใช้แรงงานเด็กต่างๆ ใช่ไหม ทางแบรนด์ก็ตอบไปว่า เราไม่ต้องดีลกับความรุนแรงอะไรเลยเพราะเราไม่ได้ใช้โรงงานแบบนั้น นักข่าวก็ตอบกลับว่า ‘ไม่ใช่ ฉันหมายถึงความรุนแรงที่เกิดกับหนอนไหมของคุณ เพราะสุดท้ายแล้วหนอนทุกตัวต้องตาย’ นี่ทำให้เรารู้ว่าในต่างประเทศเขาคิดละเอียดยิบมากแล้ว แต่การกระตุกให้คิดแบบนี้ก็มีข้อดี คือต่อมาเราก็เห็นการเกิดขึ้นของผ้าไหมอีรี่ ที่หนอนไหมไม่ต้องตายระหว่างกระบวนการสาวไหมขึ้นมา” กระแส sustainability จึงไม่เพียงเป็นมิตรต่อโลก แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและทลายข้อจำกัดหลายด้าน ดีไซเนอร์ที่รู้จักและเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วย่อมมีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้ไกลกว่า
หนึ่งในภาพแฟชั่นเซตที่แสดงออกถึงวิถีความเป็นอยู่ของไทย / ภาพ: เอกรัชต์ อุบลศรี
Back to the Roots
นอกเหนือไปกว่าความสำคัญเรื่องนวัตกรรมที่จะพาให้เราเดินสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนได้แล้ว การหันกลับมาดูวัตถุดิบที่มีอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เมื่อถามถึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าไทยที่มี innovative ที่สุดตอนนี้ในสายตากุลวิทย์ ชื่อแรกที่พูดถึงคือ “กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง” ด้วยความโดดเด่นของผ้าทอและย้อมสีธรรมชาติจากหนองบัวแดง จับตาและถูกใจผู้บริหารโว้กประเทศไทย ทั้งกุลวิทย์ และสิรี อุดมฤทธิรุจ ถึงขนาดที่ทั้งคู่พาทีมโว้กตามไปดูกรรมวิธีการผลิตถึงจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งนำผ้าผืนพิเศษกลับมาอวดโฉมในงานโว้กกาล่า เพื่อแสดงศักยภาพของผ้าไทยว่า สามารถก้าวสู่เวทีใหญ่ได้อย่างไม่เคอะเขิน “โว้กมาดูตั้งแต่หมู่บ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หมู่บ้านที่ปลูกฝ้ายจนถึงคนทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาหลักที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย เราผลิตได้ทั้งผ้าฝ้ายผ้าไหม เป็นชุมชนที่มีวัตถุดิบเป็นของตัวเอง เราคิดว่าผ้าที่ได้จากสีธรรมชาติเป็นโทนที่สบายตา คลาสสิก ในกระบวนการย้อมไม่มีมลพิษ ที่ย้อมผ้าเราอยู่กลางทุ่งนานะคะ ย้อมเสร็จ เราก็สามารถเทน้ำย้อมผ้าลงดินได้เลย เพราะสีธรรมชาติไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีสารพิษ แม่ๆ ยายๆ ที่มาย้อมผ้าให้เราก็ปลอดภัย” เสน่ห์อีกอย่างของผ้าย้อมสีธรรมชาติคือ สีที่ได้มามีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติจริงๆ พี่อู๊ด (อนัญญา เค้าโนนกอก) เล่าว่า นอกจากสีสันจากพืชและแร่จากธรรมชาติ ฟ้าฝนหรืออุณหภูมิล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของผืนผ้าได้ทั้งสิ้น
หนึ่งในภาพแฟชั่นเซตจากจังหวัดสุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม / ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช
Thai Textiles Trend Book
“เราพูดกันมานานเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าไทย อยากให้ของที่ชาวบ้านเขาผลิตมาขายได้มากขึ้น” สธน ตันตราภรณ์ เล่าถึงโครงการ Thai Textiles Trend Book ที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 “โว้กผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้า และราชสำนักไทยซึ่งส่งเสริมเรื่องผ้าไทยมายาวนานก็เลยเข้ามามีส่วนร่วม เราคิดตรงกันว่า ‘เทรนด์’ น่าจะเป็นส่วนที่ช่วยได้ แต่ว่าผ้าไทยกับเทรนด์นั้น ที่ผ่านมามันเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของกันและกัน เราเลยพยายามคิดว่า จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคต้องการผ้าไทยมากขึ้นได้ โดยการสร้างเทรนด์แบบไทยขึ้นมา เป็น Spring/Summer และ Autumn/Winter ตอนนี้ทำไปถึงปี พ.ศ. 2565 แล้ว เราคาดเดาเทรนด์ล่วงหน้า สร้างสีที่เรียกว่าไทยโทนหรือสีไทยนิยมขึ้นมา แล้วก็เอาข้อมูลเหล่านี้ไปป้อนให้ชุมชนเพื่อให้เขามีวิธีคิด ที่เขยิบเข้าใกล้กับผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก”
นางแบบกับผ้าคลุมไหล่ผ้าฝ้ายย้อมครามทอลาย จาก DOI TUNG / ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช
Exporting Thainess
นอกจากนั้นโว้กประเทศไทยยังผลักดัน รวมถึงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักที่ทำให้ผ้าไทยไปถึงมือดีไซเนอร์ระดับโลกด้วย กุลวิทย์เล่าว่า “เริ่มตั้งแต่เรามารับบทบรรณาธิการก็อยากจะเป็น บ.ก.ที่ทำหน้าที่มากกว่าการไปนั่งหน้าเวทีแฟชั่นวีกลอนดอน มิลาน ปารีส นิวยอร์ก เราอยากใช้หน้าที่การงานของเรายกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเฉพาะผ้าทอของชาวบ้าน ซึ่งหน่วยงานทั้งรัฐ ทั้งเอกชนไทยพยายามทำมานานแล้วนะ เราเซเลเบรตผ้าไทยกันอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าผ้าไทยของเรามันไม่เคยไปถึงมือดีไซเนอร์เมืองนอกเลย แต่ด้วยเครือข่ายของโว้ก และด้วยคำศักดิ์สิทธิ์ที่เขียนว่า V-O-G-U-E มันเป็นใบเบิกทางที่ทำให้เราสามารถไปพบปะดีไซเนอร์ดังๆ แล้วพูดกับเขาเรื่องผ้าไทยได้ โดยเราเริ่มต้นจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพว่า เป็นโครงการของใครทำ เพื่ออะไร แล้วก็เอาผ้าไปให้เขาทำเป็นสินค้ากลับมาให้ประมูลกันในงานโว้กกาล่า”
หนึ่งในภาพแฟชั่นเซตจากจังหวัดนครปฐม / ภาพ: ณัฐ ประกอบสันติสุข
A Year of Change
Vogue Values ถูกขยับมาปักหมุดใหม่ต้นปี พ.ศ. 2564 พร้อมแถลงการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ยังคงยืนยันสิ่งที่โว้กเชื่อเมื่อปีก่อน “ปีใหม่ การเริ่มต้นใหม่ และช่วงเวลาของการเวียนกลับมาตั้งมั่นกับคุณค่าที่เราเชื่อถืออีกครั้ง โว้กเชื่อในเรื่องความสุขกับการมองโลกในแง่ดี เราทุ่มเทให้กับความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนและสนับสนุนอิสรภาพ ความเป็นปัจเจก และพลังความคิด สร้างสรรค์ เรายกย่องความตั้งใจและฝีไม้ลายมือในโลกแฟชั่น เรายืนกรานที่จะนับรวมผู้คนทุกหมู่เหล่าเข้าไว้ในสังคม รวมถึงการเคารพซึ่งกันและกัน และจะถือเอาอุดมการณ์เหล่านั้นเป็นตัวตั้ง เราจะมานะ เสาะค้น และสนับสนุนพรสวรรค์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน เพราะเราเชื่อมั่นในพลังแห่งชุมชนและครอบครัวทุกรูปแบบ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือประเด็นอันสลักสำคัญ”
จนถึงบรรทัดนี้ผู้อ่านของโว้กคงเห็นแล้วว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงส่วนไหนของวงการแฟชั่น หรือเคยคิดว่า ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นเลยก็ตาม แต่เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลก และต่างมีผลกระทบต่อกันและกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โว้กประเทศไทยจึงขออาสารับหน้าที่เป็นสะพานสร้างความเข้าใจสำหรับทุกคน เพื่อให้เราสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกัน
Supported by Ministry of Foreign Affairs of Thailand
WATCH