FASHION

เปิดภาพถ่ายบุคลากรทางการแพทย์ที่ถ่ายโดยช่างภาพโว้ก

โว้กฉบับนี้เป็นการบันทึกจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่และครั้งสำคัญของโลก ด้วยภาพถ่ายและถ้อยคำจากใจของบุคลลากรกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประคองชีวิตผู้คนหลายล้านให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

     เมื่อพูดถึง “โว้ก” หลายคนมักนึกถึงแต่เรื่องแฟชั่น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ความจริงแล้วตลอด 128 ปีที่ชื่อนี้อุบัติขึ้นในฐานะสื่อชั้นแนวหน้ามิได้บันทึกเพียงกระแสธารแห่งแฟชั่นที่งดงามที่สุด หากยังร่างจดหมายเหตุในช่วงเวลาสำคัญๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเชื่อว่าเทรนด์แฟชั่นกับความเป็นไปในสังคมไม่อาจแยกออกจากกัน

     โว้กฉบับนี้เป็นการบันทึกจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่และครั้งสำคัญของโลก ด้วยภาพถ่ายและถ้อยคำจากใจของบุคลลากรกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประคองชีวิตผู้คนหลายล้านให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย เพราะโว้กเชื่อว่า “การอุทิศตนคือความสง่างามที่ทรงพลังที่สุด”...

 

ธานินทร์ พุทธขันธ์

พยาบาลหัวหน้าแผนกฉุกเฉิน

     “วิกฤติที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงการสาธารณสุขในประเทศไทยของเราได้ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ในบ้านเราให้ความสำคัญกับคนที่ไม่สบายเสมอ เรามีใจเป็นห่วงคนไข้ และไม่ปล่อยให้คนป่วยต้องทุกข์ทรมาน อีกทั้งยังพร้อมช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาหายดี ในอนาคตถ้าคนไทยดูแลตัวเองได้ดีแบบนี้ไปเรื่อยๆ เชื้อโรคชนิดอื่นๆ ก็มีสิทธิ์จะหายไป”

 

ลลิตา ลวางกูร

หัวหน้าแผนกอาวุโส แผนกกล้องทางเดินอาหาร คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา

     “การให้กำลังใจทีมงานและดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับความเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันในช่วงระบาดเป็นเรื่องสำคัญ จากสถานการณ์นี้เราได้เห็นน้ำใจแม้จากคนที่ไม่รู้จักกัน บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่เลือกฐานะ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ปฏิเสธผู้ป่วย เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือดูแลผู้ป่วยและป้องกันผู้เสี่ยง ซึ่งเราทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศในโลก”

 

นุศรา สังข์ทอง

พยาบาลหัวหน้าแผนก ICU



WATCH




     “โรคนี้คืออุบัติกาลใหม่ที่น่ากลัวมากและเรายังไม่มีความรู้เพียงพอ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราเห็นความร่วมมือร่วมใจของผู้คนมากมาย ประทับใจแพทย์ด้านต่างๆ มาก เช่น ด้านการติดเชื้อ ด้านปอด รวมถึงกลุ่มผู้บริหารที่คิดถึงหัวอกของคนทำงานกับคนไข้ และวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคิดหาแนวทางเอาชนะวิกฤตินี้ โดยสอดคล้องไปกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข หลายคนยอมไม่กลับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงให้กับคนในครอบครัว และเลือกกักบริเวณเพื่อปฏิบัติภารกิจข้ามวันข้ามคืนอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยผู้ป่วย”

 

โสภิดา งามจันอัด

ผู้ช่วยแพทย์

     “อยากให้ทั้งคนที่ป่วยและไม่ป่วยรู้จักดูแลรักษาตัวเองให้สะอาดเป็นกิจวัตร รวมถึงรักษาวินัยเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือหรือการสวมหน้ากาก นี่คือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีของสังคม อยากให้ทุกคนทำให้ได้แบบนี้ตลอดไป”

 

พลวัฒน์ ฉายยิ่งเชี่ยว

พนักงานเวรเปล

     “แม้จะยุ่งยากที่ต้องคอยป้องกันดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย แต่กิจวัตรเหล่านี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานของเราทุกคน อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดในสังคมไทยคือน้ำใจ ที่คนมีให้กันเหลือล้นยามตกทุกข์ได้ยาก”

 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสิริอร วัชรานานันท์

อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

     “ไม่น่าเชื่อว่าแรงบันดาลใจกลับเกิดขึ้นจากการที่เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไข้โดยตรง ทั้งความอดทนของพวกเขาต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือแม้แต่การต่อสู้กับความยากลำบากที่คนไข้ต้องเผชิญ หลังจากนี้เชื่อว่าผู้คนจะเข้าใจความน่ากลัวของโรคระบาดมากขึ้นและเข้าใจว่ามันอยู่ใกล้ตัวเรา รวมถึงความจริงที่ว่าเราเอาเปรียบธรรมชาติมามากแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มใคร่ครวญถึงการใช้ชีวิตเรียบง่ายกันเสียที”

 

นันทิภาสิ์ สิริจินดาดิรัชต์

นายกสมาคมศูนย์กลางงานปราศจากเชื้อแห่งประเทศไทย

     “สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอ ในขณะเดียวกันความขาดแคลนก็ทำให้เห็นว่าคนไทยสามารถช่วยเหลือกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ มากมาย ไม่อยู่นิ่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และประเทศอื่นใด ใครมีอะไรก็แบ่งปันกัน มีวัสดุต่างๆ ก็นำมาดัดแปลงเป็นหน้ากากและสิ่งจำเป็น ระบบการเรียนการสอนก็เปลี่ยนรูปแบบไปเพราะเราปรับตัวได้ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของบุคลากรไทย”

 

เอมิกาญ ไชคินี

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลด้านการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อ

     “ในยามขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่เราไม่ขาดแคลนน้ำใจ มีคนนำเครื่องป้องกันร่างกายส่วนบุคคลมาบริจาคให้โรงพยาบาล บางคนมีหน้ากาก N95 อยู่ 3 ชิ้นก็ยังเอามาให้ บอกว่ามีเท่านี้ ประทับใจมากค่ะ เหมือนเรากำลังหลอมปืนใหญ่ไว้สู้กับข้าศึก มีโลหะอะไรก็เอามารวมกัน"

      สามารถติดตามภาพแฟชั่นเซ็ต และเรื่องราวของผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประคองชีวิตผู้คนหลายล้านให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ในนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2020 ได้แล้ววันนี้บนแผงหนังสือทั่วประเทศไทย

WATCH