FASHION

อ่านก่อนถ้าไม่อยากงง! เจาะลึกธีมงาน MET GALA ปี 2018 ทำไมต้องแฟชั่นและศาสนา

#VogueFlash Like a Virgin: The MET gala 2018

ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 จาก Dior โดย John Galliano คอลเล็กชั่น Autumn/Winter 2005–6 Haute Couture / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US

 

งานกาล่าแห่งปีที่ผู้คนในแวดวงแฟชั่นทั้งโลกรอคอยที่จัดขึ้นโดย The Costume Institute of the Metropolitan Museum of Art หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า The MET Gala ครั้งนี้มาพร้อมกับธีมใหม่ที่ชื่อ Heavenly Bodies: Fashion and the Catholic Imagination แปลกันง่ายๆ ตรงตัวก็คือ แฟชั่นและศาสนานั่นเอง แต่ทำไม เพราะอะไร และอย่างไร #VogueFlash มีคำตอบ ผ่าน 4 ข้อควรรู้ก่อนดูงานนี้

 

ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 จาก Christian Lacroix คอลเล็กชั่น autumn/winter 2007–8 Haute Couture / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US

 

 Why? ทำไมต้องเป็นธีมนี้

ลองสังเกตดูดีๆ ว่าทุกครั้งธีมงานที่ถูกประกาศขึ้นล่วงหน้ากว่าครึ่งปี หรือหนึ่งซีซั่นแฟชั่นนี้ มักเป็นการบอกใบ้ให้เราลองจับทางมองกระแสแฟชั่นที่เกิด เพิ่งเกิด และกำลังจะเกิดต่อจากนี้อย่างน่าจับตามอง และช่วงปีที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรจะมาแรงแซงทุกกระแสมากไปกว่าเรื่องของ #metoo และ Diversity ที่เร่งเร้าให้เราทุกคนหันมาตั้งคำถามกับจริยธรรมทางสังคม เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการกระทำผิดทั้งต่อคนอื่นและผิดต่อจิสำนึกของตนเอง กลายมาเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่นที่สะเทือนไปตั้งแต่ดีไซเนอร์ ช่างภาพ นางแบบ นายแบบ หรือแม้แต่ Vogue และ Anna Wintour แม่งานคนสำคัญ

 

 Eisa ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 โดย Cristobal Balenciaga เมื่อปี 1949 / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US

 

What? งานนี้คืออะไรบ้าง

งานนี้เป็นอีกครั้งที่ Andrew Bolton รับหน้าที่เป็น curator หรือภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบทุกเนื้องานที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด นี่คือนิทรรศการแฟชั่นที่กินเนื้อที่ใน MET มากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ครอบคลุมตั้งแต่ฟากซ้ายไปขวาบวกด้วยสวนสวยตรงใจกลาง และนี่จะเป็นครั้งแรกที่ Vatican เองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานโดยให้ยืมของสำคัญล้ำค่ามาจัดแสดงนอกนครวาติกัน โดยตั้งใจเล่าเรื่องราวระหว่าง ศาสนา ศิลปะ และแฟชั่น ให้ครบด้านที่สุด มองดูเผินๆ เราอาจจะคิดไปว่า นี่คงเป็นงานแสดงผลงานแฟชั่นที่มีแค่ไม้กางเขน รูปภาพ งานปัก และโครงเสื้อที่มองปุ๊บก็ดูออกว่าดีไซเนอร์หยิบยืมแรงบันดาลใจมาจากศาสนา แต่ระดับ Boltonแล้ว แน่นอนว่าเขามองไกลกว่านั้น “ในฐานะคูเรเตอร์แล้ว คุณจำต้องให้ความสนใจอยู่เสมอว่าอะไรคือแรงขับความคิดสร้างสรรค์ เป็นพลังงานเบื้องหลังของดีไซเนอร์ หรือเหล่าศิลปินทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งผมคิดว่ามันคือความเชื่อทางศาสนา การเติบโตขึ้นมาในฐานะชาวแคทอลิคคนหนึ่ง จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาและขับดันความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร” ภัณฑารักษ์เจ้าของผลงานนิทรรศการใหญ่สร้างชื่อของ The MET เล่า

 

ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 จาก Mugler โดย Thierry Mugler คอลเล็กชั่น Autumn/Winter 1984–85 / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US  

 

“ผมคิดว่าดีไซเนอร์ที่โตมาในสังคมแบบแคทอลิคต่างมีเรื่องราวเรื่องเล่าแบบชาวแคทอลิคซุกซ่อนไว้ในใจอยู่แล้ว อย่างที่เราเห็นจากผลงานของพวกเขาที่ปรากฏบนชุดต่างๆ ในงานนี้ แต่ลึกๆ ลงไปแล้ว พื้นฐานสำคัญของมันก็คือ เรื่องราวของความเชื่อที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความคิดสร้างสรรค์ และกลายมาเป็นแรงขับดันเบื้องหลังผลงาน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ความเชื่อทางศาสนา นั่นเอง” พูดง่ายๆ ก็คือ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ซุกซ่อนภายในของเหล่าดีไซเนอร์ชื่อดังทั้งหลายที่ได้รับการนำชุดเด่นมาโชว์ในงานนี้ ไล่ตั้งแต่ Chanel, Versace, Dolce & Gabbana, Balenciaga, Valentino, Christian Lacroix, YSL, John Galliano จนถึงรุ่นใหม่อย่าง Rodarte และ Rick Owens เอาเป็นว่า เหมือนจับเอาดีไซเนอร์มาสารภาพบาปกับคนดูเพื่อเล่าถึงความคิด บอกถึงที่มาของชุดดังที่หลายคนคุ้นตากันดีนั่นแหละ

 

How? งานนี้จะเป็นอย่างไร

ถ้างานในปี 2015 อย่าง “China Through the Looking Glass คือการเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการ ปี 2016 “Manus x Machina: Fashion in the Age of Technology, คืองานบอกถึงงานสร้างสรรค์ของแฟชั่นในรูปแบบที่เป็นงานศิลปะ และงานปีที่แล้ว 2017 กับ “Rei Kawakubo / Comme des Garçons เกี่ยวกับการเล่าถึงบุคคลอัจฉริยะที่สร้างแฟชั่นและศิลปะในรูปแบบพิเศษ งานที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ก็คือการเฉลิมฉลองให้กับความคิดสร้างสรรค์และตัวตนอันแท้จริงของเหล่าผู้สร้าง เบื้องหลังที่หล่อหลอมให้คนๆ หนึ่งกลายมาเป็นดีไซเนอร์ที่มาพร้อมผลงานที่สามารถแสดงถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างชัดเจนที่สุด เหมือนอย่างที่เราเห็นตัวตนของ Riccardo Tisci ในฐานะศาสนิกชนชาวคริสต์และดีไซเนอร์คนหนึ่งนั่นเอง

 

ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 จาก Riccardo Tisci / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US

 

“ผมคิดว่าในงานนี้ พื้นฐานหลักของมันก็คือการเล่าถึงความสวยงาม และความจริงที่ว่าความสวยงามสามารถเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้ที่ศรัทธาหรือผู้ที่ไม่ศรัทธาในศาสนา ซึ่งถือเป็นแมสเสจหลักที่เราต้องการสื่อให้กับผู้ชม เล่าเรื่องราวว่าทั้งศาสนาและแฟชั่นต่างผสมผสานและถูกสื่อผ่านออกมาเป็นความงดงามได้อย่างไร” โดยผ่านห้องจัดแสดงต่างๆ ที่จะทยอยเล่าเรื่องราว ชี้ชวนให้เห็นผลงานที่มีตั้งแต่แฟชั่น ศิลปะ สถาปัตยกรรม จนถึงภาพถ่ายที่ร้อยเรียงจนคนดู ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อในศาสนาใด ต้องคล้อยตามและนึก สาธุ อยู่ในใจอย่างแน่นอน

 

ผลงานจัดแสดงในงาน MET GALA ปี 2018 จาก Rodarte โดย Kate Mulleavy และ Laura Mulleavy เมื่อปี 2011 / ภาพ: Corey Tenold, VOGUE US

 

Who? ใครจะมาร่วมงานนี้บ้าง

งานกาล่าเปิดตัวนิทรรศการนี้จะมีขึ้นในค่ำวันที่ 7 พฤษภาคมตามเวลานิวยอร์ก หรือเช้ามืดวันอังคารที่ไทย โดยมีเจ้าภาพคนดังอย่างแม่งาน Anna Wintour ที่นอกจากจะจัดซื้อจัดจ้าง ชี้ชวนกำกับในทุกอย่างของงานตั้งแต่รายชื่อแขก รายชื่อดีไซเนอร์ และแนวทางการจัดแสดงโชว์ทั้งหมด โดยปีนี้คนดังนำทีมโดย Rihanna(ที่กำลังจะมีหนังใหม่ Ocean’s 8 ที่ว่าด้วยการโจรกรรมเพชรในงาน MET gala!), Donatella Versace (ที่ชุด Versace คือการเล่นกับความหมิ่นเหม่ของศาสนาและเซ็กส์) และ Amal Clooney ภรรยาสาวคนดังของ George Clooney ที่เพิ่งลงหน้าปก Vogue US ไปหมาดๆ ร่วมกันรับแขกที่จะมาเดินพรมแดงในชุดสวยที่แบรนด์ดังต้องตีความเอาจากธีมหลักของงาน แต่ปีนี้มีธีมคร่าวๆ ให้คิดง่ายๆ คือ Sunday Best (ที่หมายถึงชุดสวยใส่ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์) แต่จะมาในลุคไหน ใครจะเกิด ใครจะดับ ใครจะงง ใครจะหลงธีม หรือใครจะมาทำไมให้เสียเงินค่าบัตรกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐฯ เรามาลุ้นกัน ส่วนใครที่อยากจะตีตั๋วไปชมงานจริง ไปได้ตั้งแต่ 10 พฤษภาคมจนถึง 8 ตุลาคมนี้เท่านั้น

 

WATCH