FASHION

ก่อนจะเป็นแอนนา วินทัวร์ คือผู้ชายเหล่านี้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโว้ก!

แท้จริงแล้วเบื้องหลังของโว้กคือผู้ชายมาตั้งแต่แรก

เหล่าบรรณาธิการบริหารชายผู้กุมบังเหียนโว้กหลายประเทศในยุคปัจจุบัน

 

แม้จะไม่ใช่นิตยสารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง แต่ 125 ปี ของ Vogue ที่เริ่มเข้าสู่ปีที่ 126 ในปีนี้ก็ได้สร้างบรรทัดฐานให้กับแฟชั่นในแต่ละประเทศที่มีโว้กมาตลอด ดังนั้น การยกย่องว่าโว้กคือไบเบิลของวงการแฟชั่นจึงปราศจากข้อกังขา และในวาระครบรอบ 5 ปี ขึ้นปีที่ 6 ของ Vogue Thailand เราเลยอยากให้คุณรู้จักโว้กมากยิ่งขึ้น

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโว้กมาพร้อมกับตำนานที่อิงความจริงทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเรื่องที่ Diana Vreeland ส่งทีมแฟชั่นไปญี่ปุ่นในยุค 1960 ด้วยงบประมาณหนึ่งล้านเหรียญ ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยปรากฏอีกเลยว่ามีนิตยสารเล่มไหนทำแฟชั่นเซตด้วยงบสูงเท่านี้ หรือเรื่องโว้กอังกฤษส่งนางแบบ Lee Miller ที่เคยเป็นคนรักของ Man Ray และเรียนการถ่ายภาพจากเขาเข้าไปในเยอรมนีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หมาดๆ จนได้ภาพที่เป็นประวัติศาสตร์มาตีพิมพ์ บ่งบอกว่าโว้กไม่ใช่แค่นิตยสารแฟชั่น

 

ข่าวของโว้กที่ฮือฮาเมื่อกลางปีที่แล้วคือการแต่งตั้ง Edward Enninful เป็นบรรณาธิการโว้กอังกฤษ เขาคือผู้ชายคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ที่อิดิชั่นเมืองผู้ดี ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วโว้กประเทศไทยเองก็เปิดตัวอย่างครึกโครมพร้อมกับบรรณาธิการบริหารชายที่ชื่อกุลวิทย์ เลาสุขศรี ซึ่งนั่งแท่นคุมเกมอุตสาหกรรมแห่งสไตล์จนติดโผ 500 บุคคลแห่งโลกแฟชั่นใน Business of Fashion ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน แต่ผู้ชายที่ได้รับตำแหน่งบรรณาธิการโว้กอันทรงเกียรตินี้ เป็นคนแรกของประวัติศาสตร์โลกคือ Franco Sartori บรรณาธิการโว้กอิตาลี ตั้งแต่ปี 1966-1988 เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ของโว้กตั้งแต่เริ่มแล้วคงไม่มีใครแปลกใจถ้าจะบอกว่าเบื้องหลังของโว้ก คือผู้ชายมาตั้งแต่แรก

 

Condé Montrose Nast วีรบุรุษแห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์ผู้พลิกประวัติศาสตร์ด้วยการชุบชีวิตให้กับโว้ก

 

การเป็นบรรณาธิการโว้กประเทศไทยของกุลวิทย์ เลาสุขศรีสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงโว้ก ด้วยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาบรรณาธิการโว้กนั้นมีแต่ผู้หญิง ถ้ามองย้อนไปยังประวัติศาสตร์ 125 ปี เราจะเห็นว่าโว้กถือกำเนิดจากความคิดของ Arthur Turnure ในปี 1892 ที่ต้องการนำเสนอนิตยสารรายสัปดาห์เกี่ยวกับวงสังคม ออกแนวกอสสิปและมีเรื่องราวของแฟชั่น ช่วงที่อาร์เทอร์ใกล้เสียชีวิตและโว้กอาจต้องปิดตัว Edna Woolman Chase ผู้ไต่เต้ามาจากการทำงานในแผนกรับสมัครสมาชิกของโว้กได้รับความวางใจให้เป็นบรรณาธิการ เธอพยายามหานายทุนมายืดอายุนิตยสารฉบับนี้แล้วก็ได้ Condé Montrose Nast เข้ามาซื้อกิจการและเปลี่ยนให้โว้กมีความยูนิเซ็กซ์ เรื่องกอสสิป ในวงสังคมหายไป เน้นเรื่องแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากขึ้น

 

สิ่งที่กองเด นาสต์ให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีการพิมพ์และการถ่ายภาพ โว้กจึงเป็นที่รวมของบรรดาช่างภาพดาวรุ่ง แม้การถ่ายภาพจะไม่ใช่ของใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่การถ่ายภาพแฟชั่นถือเป็นของใหม่ที่ก้ำกึ่งระหว่างการถ่ายภาพบุคคลกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้า แม้นิตยสารจะเป็นผลพวงของแนวคิดจากบรรณาธิการ แต่หากไม่ได้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ก็ย่อมจะทำให้นิตยสารนั้นไม่อยู่ในยุคสมัยได้ ยุคนี้ออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับสื่อสิ่งพิมพ์ แต่มองย้อนไปในยุคที่การพิมพ์ยังเป็นระบบเรียงพิมพ์และเป็นการพิมพ์ภาพขาวดำ นิตยสารจะไม่มีทางแจ้งเกิดด้วยความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์หากนิตยสารไม่ได้นำเสนอภาพเต็ม 2 หน้ากระดาษ หรือการพิมพ์ภาพสีที่สวยงามชวนตะลึงสำหรับคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

 

เนิ่นนานนับศตวรรษในยุคที่ยังไม่ใช้ภาพถ่ายขึ้นปก นิตยสารโว้กนำเสนอหน้าปกด้วยภาพวาดอันงดงาม

 

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของกองเด นาสต์และเขาก็ทำให้โว้กเป็นนิตยสารที่น่าตื่นตาที่สุดบนแผงในยุคนั้น การลงทุนกับโว้กส่งผลให้กองเด นาสต์กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยในอันดับต้นๆ ของอเมริกา ก่อนเสียชีวิตไม่นานเขาขอบคุณเอ็ดน่าด้วยการตบงบ 100,000 เหรียญให้เธอตกแต่งบ้านตากอากาศที่ลองไอแลนด์ของเธอ และผู้ชายที่กองเด นาสต์ไว้วางใจถึงกับเอ่ยปากให้รับตำแหน่งบรรณาธิการโว้กก็คือ Alexander Liberman ศิลปินและผู้อำนวยการฝ่ายประจำโว้ก

 

อเล็กซานเดอร์อพยพมาอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีเชื้อสายรัสเซีย จบการศึกษาในอังกฤษและเล่าเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส เริ่มงานกับนิตยสาร VU ของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะย้ายมาเริ่มงานกับโว้ก(อเมริกา) ในปี 1941 หลังจากที่เขามาสมัครงานที่โว้กแล้วถูกปฏิเสธว่าสไตล์ของเขาไม่เหมาะกับนิตยสาร (เขาถูก Alexey Brodovitch ปฏิเสธที่ Harper’s Bazaar เช่นกัน) แต่กองเด นาสต์ได้เจอเขาและขอดูผลงานก่อนจะเรียกเขา มาทำงานที่โว้กในวันรุ่งขึ้น

 

 

Carmel Snow (แถวหน้า คนที่ 2 จากขวา) ขณะชมแฟชั่นโชว์ที่กรุงปารีส และ Alexander Liberman (ชายหนุ่มเพียงคนเดียวในแถวที่ 2) ผู้แปลงโฉมโว้กในยุคปฏิวัติงานศิลป์

 

เรื่องนี้ทำให้ Dr.Mehemed Fehmy Agha ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของโว้กที่ปฏิเสธงานของอเล็กซานเดอร์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟและขู่ว่าจะลาออก (แล้วเขาก็ลาออกจริงๆ) ปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเตอร์เมเฮเหม็ดคือผู้วางรากฐานงานกราฟิกให้นิตยสารต่างๆ ในเครือกองเด นาสต์ เขาได้รับการยกย่องให้เป็น หนึ่งในอาร์ตไดเร็กเตอร์ที่ยกระดับงานพาณิชยศิลป์ของอเมริกาให้โดดเด่น เขาทำให้โว้กเป็นนิตยสารฉบับแรกๆ ที่ใช้ภาพถ่ายสีมาเป็นหน้าปก กล่าวคือฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1932 ภาพนางแบบสวมชุดว่ายน้ำนั่งยกลูกบอลชายหาดขนาดใหญ่เหนือศีรษะถ่ายโดย Edward Steichen

 

อเล็กซานเดอร์ ลิเบอร์แมนไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องงานกราฟิกอย่างเดียว เขายังสนใจศิลปะแขนงต่างๆ สร้างงานประติมากรรม และสนใจสิ่งที่มีผลต่อวัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นจุดที่กองเด นาสต์มองว่าเขาเหมาะที่จะเป็นบรรณาธิการโว้กถ้าเมื่อไรที่เอ็ดน่าลงจากตำแหน่ง แต่อเล็กซานเดอร์คือผู้เลือกดีอาน่า วรีแลนด์ บรรณาธิการแฟชั่นของฮาร์เปอร์ส บาซาร์ มาเป็นบรรณาธิการโว้กในช่วงซิกซ์ตี้ส์ อีกทั้งยังเป็นคนสนับสนุนให้ Grace Mirabella มาสืบทอดตำแหน่งแทนดีอาน่าเมื่อเห็นว่าเธอยากที่จะควบคุม โว้กเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเบจตามรสนิยมของเกรซ และการมาถึงของนิตยสาร Elle จากฝรั่งเศสที่อเมริกาซึ่งมาแรงทำให้ผู้บริหารของบริษัทกองเด นาสต์คิดว่าโว้กต้องการบรรณาธิการรุ่นใหม่ อเล็กซานเดอร์จึงสนับสนุนความคิดของ Samuel Irving Newhouse Jr. ประธานบริษัท นำ Anna Wintour สาวอังกฤษสุดเก๋ในนิวยอร์กมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของโว้ก ก่อนจะส่งเธอไปเป็นบรรณาธิการโว้กอังกฤษ แล้วดึงกลับมาปรับโฉมนิตยสาร House & Garden ให้กลายเป็น HG และท้ายสุดคือทำให้เธอได้เป็นบรรณาธิการโว้ก อเมริกาสมใจในที่สุด

 

(กลาง) แอนนา วินทัวร์ Artistic Director ของบริษัทกองเด นาสต์ในอเมริกา

 

ฉากหน้าของโว้กในรอบร้อยกว่าปีมานี้มีผู้หญิงกุมบังเหียนตำแหน่งบรรณาธิการ แต่ถ้ามองไปเบื้องหลังราชรถที่มีสตรีกุมบังเหียนกลับมีบุรุษนั่งกำหนดแนวทางต่างๆ ของโว้ก ในทางกลับกันในปัจจุบัน เมื่อโว้กเริ่มมีบรรณาธิการเพศชายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโว้กประเทศไทย เกาหลี ไต้หวัน อาหรับ อังกฤษ อิตาลี และโปแลนด์ ผู้บงการบนราชรถของโว้กกลับกลายเป็นสตรีที่ชื่อแอนนา วินทัวร์ เพราะตั้งแต่ปี 2013 เธอได้รับตำแหน่ง Artistic Director ของบริษัทกองเด นาสต์ในอเมริกาซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของอเล็กซานเดอร์ ลิเบอร์แมนนั่นเอง

 

เรื่อง: เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา

WATCH