FASHION

บรรณาธิการบริหารโว้ก 26 ประเทศทั่วโลกร่วมแชร์ภาพที่มอบความหวังให้พวกเขาในปี 2020

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 128 ปี ที่โว้กทั้ง 26 อิดิชั่นทั่วโลกจับมือกันนำเสนอเนื้อหาในธีมความหวัง เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวโปรเจกต์ Hope บรรณาธิการบริหารของแต่ละประเทศขอแบ่งปันภาพจากในเล่ม และอธิบายให้เราฟังว่าทำไมภาพนั้นจึงให้ความหวังกับพวกเขา

เด็กน้อยกำลังจ้องมาที่กล้องผ่านส่าหรีบางใส ฮ่องกงยามรุ่งสาง ใบหน้าเปื้อนยิ้มของผู้กองทอม อดีตทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ คือภาพบางส่วนที่จะอยู่ในโว้กฉบับเดือนกันยายนของทั้ง 26 อิดิชั่นทั่วโลก ซึ่งร่วมมือกันนำเสนอในธีม “ความหวัง”

 

เนื่องในโอกาสเปิดตัวโปรเจกต์ใหญ่นี้ บรรณาธิการบริหารโว้กทั้ง 26 อิดิชั่นได้เลือกภาพถ่ายหรือภาพศิลป์ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินท้องถิ่นมาบอกเล่าให้ฟังว่าทำไมภาพนั้นถึงมอบความหวังในอนาคตให้กับพวกเขา บางประเทศเชิดชูบุคคลสาธารณะที่ทุ่มเทช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะโรคระบาด ในขณะที่บางประเทศเลือกศิลปินที่พยายามฉีกกรอบแบบเดิมๆ ภูมิทัศน์สงบร่มรื่นซึ่งย้ำเตือนถึงพลังของธรรมชาติ และภาพของคนรุ่นใหม่ซึ่งตั้งมั่นจะเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น เลือกเปิดดูภาพอันน่าทึ่งและรับฟังเรื่องราวสุดประทับใจเบื้องหลังภาพเหล่านั้นจากบรรณาธิการแต่ละประเทศได้ที่นี่


 

“ระหว่างภาวะโรคระบาด แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ทำงานตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีของเราอย่างสิ้นเชิง แอนดรูว์ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ เขาช่วยให้เราอุ่นใจ และตัดสินใจจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง สำหรับฉันเมื่อถามถึงความหวัง จึงไม่มีใครเหมาะสมกว่าเขาอีกแล้ว ความคิดเห็นที่ท่านผู้ว่าการแสดงออกเกี่ยวกับปัญหานี้ ทำให้ฉันภูมิใจที่ตัวเองเป็นคนนิวยอร์ก บางครั้งคำพูด (และโลโก้เอ็นวายในตำนานของมิลตัน เกลเซอร์) ก็ช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนที่สุด” - Anna Wintour บรรณาธิการบริหารโว้กอเมริกา

 

 

“ผู้กองทอมสะท้อนภาพความหวังในรูปแบบของชาวอังกฤษ วีรบุรุษสุดซื่อสร้างวีรกรรมอันน่าทึ่งในสภาวะแวดล้อมที่ไม่น่าจดจำ ย้อนไปในเดือนเมษายน ไม่กี่สัปดาห์หลังวันเกิดครบรอบปีที่ 100 อดีตทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่สองตัดสินใจลุกขึ้นมาเดินร้อยรอบในสวนหลังบ้าน เพื่อระดมทุน 1,000 ปอนด์ให้กับระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) แต่เมื่อความตั้งใจของเขาถูกสื่อมวลชนเอาไปนำเสนอจนกลายเป็นที่สนใจในวงกว้าง ภายในเวลาไม่กี่วันผู้กองทอมสามารถระดมเงินบริจาคได้ถึง 500,000 ปอนด์ และเพิ่มสูงขึ้นแตะ 32 ล้านปอนด์ในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานยศอัศวินให้กับเขา ในขณะเดียวกันตัวผู้กองทอมเองก็ช่วยมอบสิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดในเวลานี้ให้กับคนทั้งประเทศ สิ่งนั้นคือความหวัง” - Edward Enninful บรรณาธิการบริหารโว้กอังกฤษ

 

 

 “A Fishing Hope ภาพวาดที่ถูกยึดของ Sumayyah Al Suwaidi  ศิลปินชาวเอมิราติ ได้ผสมผสานหนึ่งในสัญลักษณ์อมตะของตะวันออกกลาง ซึ่งก็คือเรืออะบรา เรือพื้นบ้านที่สร้างจากไม้ลงไปในผลงานศิลปะของเธอ เรืออะบราในผลงานศิลปะเหนือจริงชิ้นนี้ ถ่ายทอดออกมาในฐานะภาชนะแห่งความหวัง ศิลปินอธิบายถึงงานของเธอว่า ‘ชาวประมงออกไปตกปลาด้วยความหวังว่าจะจับอะไรให้ได้สักอย่าง ก่อนจะออกไปเขาต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดี เขาจะไม่มีวันจับอะไรได้เลย ชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อนำพาตัวเองสู่ความสำเร็จ และปล่อยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของชะตากรรม’ ผมคิดว่าผลงานของศิลปินชาวอาบูดาบีรายนี้น่าทึ่งและประทับใจ มันสะท้อนภาพตะวันออกกลางในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมไปกับการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม” - Manuel Arnaut บรรณาธิการบริหารโว้กอาระเบีย

 

 

 “การเกิดคือความหวัง ภาพโคลสอัพใบหน้าของเด็กทารกแรกเกิด (จากภาพถ่าย New World ของสุดเขต จิ้วพานิช) สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่แค่ชีวิต แต่ยังเป็นสภาพแวดล้อมของเด็กคนนี้ด้วย สุดเขต จิ้วพานิชเป็นช่างภาพอิสระของโว้กตั้งแต่เริ่มต้น คนจำนวนมากต่างชื่นชอบอารมณ์และความละเอียดอ่อนที่ซ่อนอยู่ในภาพถ่ายของเขาทุกภาพ

 

 

“ศรัทธา คือรูปแบบของความเชื่อที่กระจายอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างทางศาสนาอย่าง วัด เจดีย์ หรือพระพุทธรูป พระพุทธรูปองค์นี้ (Under Construction โดยเอกรัตน์ อุบลศรี) เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ องค์พระจะกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธา และความหวังของคนไทยทั้งชาติ” - Kullawit Laosuksri บรรณาธิการบริหารโว้กไทย

 

 

“งิ้วเป็นส่วนประกอบสำคัญในวัฒนธรรมของเรา และถึงแม้ว่าประชากรทั้งหมดจะไม่ได้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ แต่ฉันก็เชื่อว่าทุกคนต่างหวังว่าคำอธิษฐานของตัวเองจะสมปรารถนา พิธีเสี่ยงทายด้วยไม้สีแดงทรงจันทร์เสี้ยว หรือที่เรียกกันว่า ปัวะโป้ยในภาษาไต้หวัน เมื่อโยนแล้วไม้หนึ่งหงายและอีกไม้คว่ำดังที่เห็นในรูป คือการสื่อว่าเทพเจ้าทรงตอบ ‘ตกลง’” - Leslie Sun บรรณาธิการบริหารโว้กไต้หวัน

 

 

 “เบ็ตตี้ มัฟเฟลอร์ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินที่น่าทึ่งเท่านั้น แต่เธอยังเป็นแพทย์แผนโบราณพื้นเมืองออสเตรเลีย (Ngangkari) มากพรสวรรค์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้อื่นผ่านจิตวิญญาณและการสัมผัส เธอมาจากศูนย์ศิลปะ Iwantja Arts ในชุมชน Indulkana อันห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ห่างจากเมืองอลิซสปริงส์ไปทางใต้ 400 กม. หลังเกิดเหตุไฟไหม้ป่าครั้งรุนแรงเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเรียกร้อง Black Lives Matter ฉันอยากเลือกภาพที่แสดงความเป็นออสเตรเลียซึ่งแสดงถึงความหวัง การเยียวยา และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนมานำเสนอ พลังรักษาของเบ็ตตี้ที่ฝังลึกอยู่ในผลงานชิ้นนี้ถูกสื่อออกมาด้วยเม็ดสีแดงอิฐส่งตรงจากท้องถิ่นของเธอ และเส้นคล้ายลายฉลุซึ่งแสดงภาพจิตวิญญาณของเธอโผบินสู่ท้องฟ้า” - Edwina McCann บรรณาธิการบริหารโว้กออสเตรเลีย

 

 

“ศิลปิน Samuel de Saboia และช่างภาพ Rafael Pavarotti (ที่ถ่ายภาพของ de Saboia) คือสองนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ของบราซิล พวกเขาเป็นตัวแทนความเข้มแข็งและเป็นเลิศด้านวัฒนธรรมของคนผิวสีในประเทศเรา ในผลงานชิ้นนี้ นกคือสัญลักษณ์ของสายพันธุ์ต่างๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือใช้ชีวิตในกรง แต่ยังสามารถเปล่งเสียงร่วมกันได้ นับเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและความเป็นหนึ่งเดียว สีสันของภาพส่งพลังสะเทือนอารมณ์ถึงความใฝ่ฝันที่จะโบยบินสู่ชีวิตอิสระ” - Paula Merlo บรรณาธิการบริหารโว้กบราซิล

 

 

 “ศิลปินชาวจีน หวัง หย่ง มองหาแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์โบราณ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานชื่อ Circle เขามองหาแรงบันดาลใจจากราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน สิ่งก่อสร้างในยุคนั้นจะมีชายคาทรงกลม ซึ่งวงกลมนั้นจะจารึกภาพวาดและตัวอักษรอวยพรให้โชคดีเอาไว้”

 

“กระเบื้องของหวังได้แรงบันดาลใจจากยุคฮั่น เขาสลักตัวอักษร 12 ตัวลงไป สื่อความหมายถึงสันติและการมีสุขภาพที่ดี ถ่ายทอดสู่ผู้คนทั่วโลก วงกลมสื่อถึงเลขศูนย์สะท้อนความปรารถนาของศิลปินที่ภาวนาให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงเหลือศูนย์ในอนาคต วงกลมยังแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสมบูรณ์แบบ”

 

“ศิลปินจริงจังกับโปรเจกต์นี้มาก และยังศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างละเอียดเพื่อหาแรงบันดาลใจที่เหมาะสม คนอ่านตัวอักษรภาษาจีนจะสามารถรับรู้ได้ถึงความหม่นหมองที่ศิลปินต้องการสื่อ พร้อมกับถ่ายทอดเนื้อสารที่ชวนให้ทุกคนมองโลกในแง่ดีและมองไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยความหวัง”

 

“เราทุกคนล้วนเชื่อมโยงได้ถึงข้อความที่ศิลปินต้องการสื่อในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ หวังมักจะสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธีที่หลากหลาย แต่ครั้งนี้เขาเลือกใช้วิธีพื้นฐาน นั่นคือการใช้หมึกกับกระดาษ และปาดสีแดงลงไป ซึ่งสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความสุขในวัฒนธรรมจีน” - Angelica Cheung บรรณาธิการบริหารโว้กจีน

 

 “ปี 2020 เป็นปีที่เปิดหูเปิดตาและปลุกให้เราได้รับรู้ความจริงหลายๆ อย่าง แค่การทำสมาธิเงียบๆ นั้นยังไม่พอ ความหวังหนึ่งเดียวของเราคือต้องลุกขึ้นมาและลงมือทำ เปล่งเสียงออกไป และยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญ ต้นสนในภาพนี้สามารถยืนต้นอย่างโดดเดี่ยวมาตลอด 350 ปี ผ่านกาลเวลาและพายุมาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งพายุในธรรมชาติและพายุการเมือง ผ่านภัยพิบัติทั้งจากน้ำมือมนุษย์และด้วงเปลือกไม้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรับฟังและเรียนรู้จากธรรมชาติ” - Andrea Běhounková บรรณาธิการบริหารโว้กสาธารณรัฐเช็ก

 

 

 “ในสายตาฉัน ศาสตราจารย์แพทย์หญิง Marylyn Addo คือสัญลักษณ์แห่งความหวังของเรา ความหวังที่ว่าไม่ช้าก็เร็วทุกอย่างจะกลับมาเป็น ‘ปกติ’ อีกครั้ง ในสภาวะ new normal ซึ่งทุกอย่างแตกต่างจากที่เคยเป็น ในฐานะหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าของโลกด้านการติดเชื้อวิทยาและวิทยาไวรัส เธอเชื่อว่าเร็วๆ นี้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะถูกผลิตออกมา ความเชื่อมั่นในทางบวกของเธอที่มีต่อการร่วมมือทางวิทยาศาสตร์อย่างไร้พรมแดนตอกย้ำความหวังของฉัน ที่ต้องการจะเห็นโลกไร้พรมแดนในใจเรา” - Christiane Arp บรรณาธิการบริหารโว้กเยอรมนี

 

 

 “ภาพนี้ย้ำเตือนทุกคนในทีมของฉันถึงความทรงจำฤดูร้อนในวัยเด็ก ในช่วงเวลานั้นเราอยู่กับธรรมชาติอย่างสุขใจไร้กังวล เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขกับชีวิตอย่างเต็มที่ นี่คือภาพของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความสุข โอบกอดกัน ดำดิ่งสู่ท้องทะเลและแสงสว่าง แสงสว่างที่เราต้องการในชีวิต แสงสว่างที่มอบความหวังให้กับเรา ความหวังที่วันใหม่จะสดใสกว่าเดิม” - Thaleia Karafyllidou บรรณาธิการบริหารโว้กกรีก

 

 

 “สำหรับทุกคนที่โว้กฮ่องกง รุ่งสางคือสัญลักษณ์ของความหวังเมื่อเริ่มต้นวันใหม่ ภาพถ่ายสวยงามและบอกเล่าเรื่องราวอย่างสละสลวยภาพนี้ เป็นฝีมือของช่างภาพ Michael Wolf รุ่งอรุณเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน เราต่างอยู่ใต้แผ่นฟ้าผืนเดียวกัน” - Kat Yeung บรรณาธิการบริหารโว้กฮ่องกง

 

 

“ในภารกิจตามหาความหวัง เราพบความเป็นมนุษย์ในตัวเรา สายสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนรุ่นต่อไปที่จะสืบทอดโลกนี้ต่อจากเรา ภาพในจินตนาการนั้นเรียบง่าย สายตาของเด็กน้อยที่มองผ่านส่าหรีทอมือซึ่งออกแบบโดยหนึ่งในดีไซเนอร์แนวหน้าของประเทศ และผลิตโดยช่างฝีมือของเรา ถ่ายไว้โดยหนึ่งในช่างภาพที่กำลังมาแรงของประเทศ สื่อถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของอินเดียไปพร้อมๆ กัน” - Priya Tanna บรรณาธิการบริหารโว้กอินเดีย

 

 

 “เราอยากแสดงความหวังในรูปของแสงสว่างซึ่งทะลายความมืดมิด เราจึงเลือกภาพถ่ายของ Massimo Vitali มานำเสนอ สัญลักษณ์อันรื่นเริงของฤดูร้อนที่มาเยือนหลังผ่านพ้นฤดูหนาวเย็นเยียบ ชีวิตเสรี ทัศนคติใฝ่สุข ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวอิตาลี สัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความรัก“ - Emanuele Farneti บรรณาธิการบริหารโว้กอิตาลี

 

 

 “ที่ญี่ปุ่น ภูเขาไฟฟูจิเป็นสถานที่บูชาธรรมชาติมาตั้งแต่โบราณ และยังสืบทอดต่อมาในฐานะสัญลักษณ์ของความปรารถนาและความหวังของผู้คน ภูเขาไฟฟูจิไม่ได้สำคัญแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสร้างความรู้สึกเกรงขามที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ และยังทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย ภาพถ่ายภูเขาไฟฟูจิภาพนี้มาจากบ้านของ Daidō Moriyama หนึ่งในช่างภาพแนวหน้าของญี่ปุ่น ภูเขากำลังเฝ้ามองบ้านเมืองและผู้คนอยู่เงียบๆ ในยามอาทิตย์อัสดง ความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาไฟฟูจิให้ความรู้สึกเหมือนความหวังอันเลือนรางท่ามกลางค่ำคืนอันมืดมิด” - Mitsuko Watanabe บรรณาธิการบริหารโว้กญี่ปุ่น

 

 

“สิ่งเดียวที่จะช่วยเพิ่มมนุษยธรรมในช่วงเวลาหลังวิกฤติไวรัสโคโรน่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันอีกแล้ว ที่เกาหลีเรามี Deokbune Challenge ซึ่งแปลว่า ‘ชาเลนจ์ขอบคุณ’ เหล่าคนดังและประชาชนทั่วไปโพสต์สัญลักษณ์นี้ทางโซเชียลของตัวเอง เพื่อแสดงความขอบคุณและเคารพต่อบุคลากรที่ต่อสู้กับไวรัส ภาพนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเราและต่อมาก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นตราและสติ๊กเกอร์ ผู้นำวงการแฟชั่นของเกาหลี (ชินฮยอนจี จองโซฮยอน พัคฮีจอง และแบยุนยอง) มาส่งต่อความหวังด้วยการโพสท่า Deokbune” - Kwangho Shin บรรณาธิการบริหารโว้กเกาหลี

 

 

“ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา กองบรรณาธิการของเราต้องทำงานจากที่บ้าน วิกฤติในเม็กซิโกและลาตินอเมริการุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ทั่วโลกและในภูมิภาคก็ยังไม่มั่นคง ความเชื่อที่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเดือนกันยายนยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในลาตินอเมริกาก็คือ เรายังคงมีความหวังอยู่เสมอ”

 

“ความหวัง หรือ esperanza ในภาษาสเปน เป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวลาตินอเมริกาถูกสอนตั้งแต่ยังเด็ก หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาเคยผ่านสงครามกลางเมือง สงครามยาเสพติด รัฐบาลคอรัปชั่น ความรุนแรงในครอบครัว และวิกฤติต่างๆ ซึ่งสร้างความไม่มั่นคงให้กับประเทศมานักต่อนัก เราเชื่อว่าพลังของชุมชนและการร่วมมือกันจะช่วยสร้างพื้นที่ที่ดีกว่าให้กับคนที่เรารัก”

 

“โดยเฉพาะในช่วงนี้ เรายิ่งเชื่อมั่นในพลังของชุมชนและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เราเคยร่วมงานกับ Stefan Ruiz  ช่างภาพชาวละตินที่แชร์ภาพของชาวประมงคนหนึ่งจากหมู่บ้านเล็กๆ ในเมือง Pátzcuaro ประเทศเม็กซิโก ในขณะกำลังตกปลา  ชาวประมงเหล่านี้หาปลาด้วยเทคนิคเฉพาะตัว และพวกเขามักร่วมมือกันหาปลาเป็นกลุ่มเสมอ ดังนั้นพวกเราในฐานะชาวละตินด้วยกันจึงต้องร่วมมือกันสร้างอนาคตที่สดใสและเต็มไปด้วยความหวังให้กับคนรุ่นต่อไป ความร่วมมือจะช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคมากมายที่ขวางอยู่ข้างหน้า” - Karla Martínez บรรณาธิการบริหารโว้กเม็กซิโกและลาตินอเมริกา

 

 

“การเสียสละสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากกว่า เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่มากระหว่างมาตรการ social distancing ในช่วงล็อกดาวน์ หญิงสาวชาวเนเธอร์แลนด์ Dunja van der Heijden กักตัวเฟรด คุณปู่อายุ 94 ปีของเธออยู่นานถึงสองสัปดาห์ และเมื่อตรวจพบว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 เธออยู่ข้างๆ ตอนที่เขาเสียชีวิต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงการจากกันตลอดกาล ภาพของเธอถูกถ่ายเอาไว้ในขณะที่ Dunja สวมใส่เสื้อคลุมหาปลาตัวโปรดของคุณปู่” - Rinke Tjepkema บรรณาธิการบริหารโว้กเนเธอร์แลนด์

 

 

“ในช่วงวิกฤตินี้ ฉันดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มนำบรรณาธิการของโว้กทั้ง 26 อิดิชั่นมาร่วมมือเพื่อนำเสนอเนื้อหาในธีมเดียวกันอย่างหนักแน่น ในฐานะโว้กปารีส เราตัดสินใจโดยคำนึงถึงเยาวชน ความหลากหลาย ตัวตนของผู้คนทุกกลุ่ม และความตระหนักรู้ ซึ่งในมุมมองของเราคือตัวอย่างที่ชัดเจนของความหวังในยุคปัจจุบัน” - Emmanuelle Alt บรรณาธิการบริหารโว้กปารีส

 

 

“โปแลนด์กำลังตกอยู่ท่ามกลางความโกลาหล ความหวังของผมที่มีต่อประเทศและโลกของเราอยู่ในมือคนหนุ่มสาว พวกเขากระตือรือร้น ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้เหมือนกัน หรืออาจจะดีกว่าเราด้วยซ้ำ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี ผมประทับใจในวุฒิภาวะ การมองโลกในแง่ดี บุคลิก และความเป็นธรรมชาติของพวกเขา ในบางครั้งผมรู้สึกว่าคุณสมบัติเหล่านี้ขาดหายไปในคนรุ่นก่อนหน้า ทั้งความเปิดเผยตรงไปตรงมา ความรับผิดชอบ และความเห็นอกเห็นใจ โว้กโปแลนด์เลือกภาพนักเรียนกลุ่มนี้มานำเสนอ ถึงแม้พวกเขาจะมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่กลับสนใจในเรื่องเดียวกัน ก็คือการทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่ดีขึ้น ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำได้ในที่สุด ต้องขอบคุณพวกเขาจริงๆ” - Filip Niedenthal บรรณาธิการบริหารโว้กโปแลนด์

 

 

“การช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน เป็นตัวเราเองในแบบที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราจะพยายามให้กำลังใจทุกคนรอบตัว และไม่ผลักไสพวกเขาออกไป ความหวังคือการได้รู้ว่ายังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด สิ่งนั้นแหละที่เรียกว่าความหวัง ดังนั้นภาพ allegory of spoons ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับภาพของเราจึงเข้ากับหัวข้อนี้มาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันเข้ากับช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างยิ่ง ช่วงเวลาที่ความรักกลายเป็นความเกลียดชังได้ในเสี้ยววินาที เราทำได้แค่หวังว่าทุกคนจะร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกัน” - Sofia Lucas บรรณาธิการบริหารโว้กโปรตุเกส

 

 

 “เจ้าของภาพปกโว้กรัสเซีย ฉบับเดือนกันยายน คือ Erik Bulatov เขาเป็นศิลปินแนวโซตซ์-อาร์ตดั้งเดิม (โซเวียตป๊อปอาร์ต) ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ David Hockney และ John Baldessari ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ท้ายยุคสมัยของสหภาพโซเวียต เขามีชื่อเสียงจากการนำวาทกรรมจากโปสเตอร์เชิญชวนของโซเวียต และภาพวาดทิวทัศน์มาผสมผสานกันเพื่อสร้างผลงาน ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในกรุงปารีส และยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงและสร้างผลงานที่มีมูลค่าสูงที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย นิทรรศการแสดงผลงานล่าสุดของ Gosha Rubchinskiy ต่อยอดจากผลงาน Freedom ของเขา Надежда (‘ความหวัง’ ในภาษารัสเซีย) โบยบินอยู่เหนือหมู่เมฆ เป็นสัญลักษณ์สากลที่เราทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกคนบนโลกสามารถตีความหมายและจุดมุ่งหมายของภาพได้ในรูปแบบของตัวเอง พวกเราที่โว้กต่างเชื่อในพลังของคำพูด ศิลปะ และนามธรรม เช่นเดียวกับสไตล์และรสนิยม” - Masha Fedorova บรรณาธิการบริหารโว้กรัสเซีย

 

 

“เมื่อต้องเลือกภาพหนึ่งมาสื่อถึงความหวังของสิงคโปร์ เราต้องการผสมผสานอดีตกับอนาคตเข้าด้วยกัน ดอกกล้วยไม้แวนด้าได้รับเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติของสิงคโปร์ในปี 1981 เนื่องจากสีสันที่สดใสและสามารถออกดอกบานสะพรั่งได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของจิตวิญญาณความเป็นสิงคโปร์ รวมถึงโว้กสิงคโปร์ในยุคใหม่นี้

 

“เพื่อตอบโจทย์ เราตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ตามนิตยสาร ดอกกล้วยไม้แวนด้าโว้ก ที่เราสร้างขึ้นจากภาพกราฟิกสามมิติ เพื่อสื่อให้เห็นว่า ถึงแม้เราจะภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมแค่ไหน เราก็ให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตเช่นกัน”

 

“ผสมผสานด้วยข้อความร้อยแก้วของนักเขียนชาวสิงคโปร์และนักเขียนอายุน้อยที่สุดซึ่งชนะรางวัลวรรณกรรมสิงคโปร์ Amanda Lee Koe เราปรารถนาให้ดอกกล้วยไม้แวนด้าโว้กสามมิติของเราเป็นดวงไฟแห่งความหวัง เน้นย้ำว่าเราต้องสู้เพื่อคว้าสิ่งที่ดีๆ มาครอบครอง ความฝันไม่มีทางสำเร็จได้หากปราศจากการต่อสู้ ดังนั้นเราจะผ่านอุปสรรคและแกร่งกว่าเดิมได้ด้วยการร่วมมือกัน” - Norman Tan บรรณาธิการบริหารโว้กสิงคโปร์

 

“The Edge of the Sea คือผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดย Coco Capitán สรุปความฝันของประเทศสเปนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แสดงภาพอิสระของท้องทะเลและความหวังว่าพายุจะพัดผ่านไป Coco เป็นศิลปินชาวสเปนตัวฉกาจ เธอถ่ายภาพนี้เอาไว้ที่มายอร์ก้า ตอนอายุ 18 ปี เกือบสิบปีต่อมา เธอผสมผสานลายมือที่เป็นเอกลักษณ์ลงไปในภาพ เพื่อถ่ายทอดในความหมายที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง” - Eugenia de la Torriente บรรณาธิการบริหารโว้กสเปน

 

 “Grand Bazaar ผ่านภัยพิบัติมามากมาย และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ตลาดแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง การฟื้นคืน และความหวัง ที่นี่คือศูนย์รวมของช่างฝีมือ วัฒนธรรม การรวมกลุ่มและความแตกต่างมาหลายศตวรรษ ช่วยย้ำเตือนว่าไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอะไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกว่าเราจะฝ่าฟันจนผ่านไปได้เสมอ ด้วยการยึดมั่นในค่านิยมสำคัญที่ยึดถือมา เราถ่ายภาพพิเศษนี้จากด้านบนของตลาดเพื่อถ่ายทอดความสวยงามของหลังคาและโดมตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม ในฐานะสถานที่อันเป็นเอกลักษณ์ของตุรกี ที่นี่คือศูนย์รวมแห่งความหวังที่รวบรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกัน มันเชื่อมอิสตันบูลเข้ากับโลก และเชื่อมโลกเข้ากับอิสตันบูล” - โว้กตุรกี (บรรณาธิการบริหารลาออกจากทีม ดังนั้นข้อความนี้จึงมาจากกองบรรณาธิการโว้กตุรกี)

 

 

 “ศิลปินและนักจัดสวน  Alevtina Kakhidze ใช้การวาดภาพและข้อความที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา ความเรียบง่ายของผลงานชิ้นนี้ทำให้เราประทับใจ Alevtina เกิดที่ยูเครนตะวันออก เธอใช้ผลงานภาพวาดศึกษาเพศสภาพ ปัญหาสังคมและสภาพแวดล้อม ปัญหาสภาพแวดล้อมคือหัวข้อของผลงานที่เราเลือกมา เธอวาดภาพตัวเองในอนาคตสวมใส่เสื้อผ้าที่ถักทอจากเส้นใยพืชแทนที่จะเป็นใยสังเคราะห์ และตั้งชื่อภาพว่า ‘Alevtina Kakhidze ขอบคุณพืชสำหรับถุงน่องในปี 2050’ ทั้งชวนประทับใจและยังให้ความหวังกับเรา ผสมผสานมุกกัดจิกเบาๆ ที่แฝงเอาไว้ในผลงาน ทำให้เรารู้สึกทึ่งในตัวศิลปินรายนี้” - Vlasov Philipp บรรณาธิการบริหารโว้กยูเครน

 

WATCH

TAGS : HOPE