FASHION

วัชรินทร์ ผ่องใส คนทำโว้กเล่มแรกของไทยผู้มองเห็นเสื้อผ้าเป็นตัวหนังสือ!

มุมมองในแบบโว้กคือการเป็นผู้นำและไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อ แต่โว้กทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นแอตติจูด

อีกแง่มุมแห่งความเป็น "โว้ก" จากมุมมองของ "วัชรินทร์ ผ่องใส" คนทำโว้กเล่มแรกของประเทศไทยและรองบรรณาธิการโว้กประเทศไทยฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2013 - ธันวาคม 2015

 

โว้กเข้ามาอยู่ในชีวิตตั้งแต่ตอนไหน
พี่โตที่บ้านคุณป้าซึ่งอ่านสกุลไทย สมัยก่อนมีโฆษณาที่ Serge Lutens ทำให้ Shiseido ชอบดูมาก แต่ก็เลยมาถึงช่วงมหาวิทยาลัยแล้วที่ได้อ่านโว้กดีเลย์ประมาณ 4 เดือน เพราะเรียนที่เชียงใหม่ กว่าจะไปถึงก็นานหน่อย แล้วเราไม่ได้เปิดอ่านอย่างเดียว เราดูแล้วจำได้หมด นางแบบชื่ออะไร โพสท่าไหน ใส่รองเท้าอะไร ช่างภาพคนไหนถ่ายเซตไหน เคยตัดสินใจไปลอนดอน 2 ปีก็เพราะอินสไปร์จากโว้กนี่แหละ

เป็นมาอย่างไรถึงได้เป็นนักเขียนและนักวิจารณ์แฟชั่นคนแรกของเมืองไทย
เดิมพี่เป็นนักเขียนอยู่ที่นิตยสารแต่งบ้านที่เอาเรื่องเทรนด์และแฟชั่นเข้ามาเขียนด้วยเพราะเราชอบอ่านโว้ก ซึ่งหลังจากกลับจากอังกฤษ พี่ฟอร์ดที่ทำนิตยสารแฟชั่นอยู่ก็ชวนให้มาเขียนเรื่องให้ เราเรียนวรรณคดีวิจารณ์มาก็จะปรับใช้เรื่องการรีเสิร์ชและการวิเคราะห์ข้อมูล ให้เหมือนว่าเราไปรู้อะไรมาแล้วต้องคิดเองอีกที ไม่ใช่เอาข้อมูลมาเล่าต่อ แต่ไปหาสภาพแวดล้อมต่างๆ ว่าดีไซเนอร์คนนี้เรียนที่ไหน เขาคิดงานจากอะไร ยุคนั้น LVMH เพิ่งซื้อ Givenchy กับ Dior ดีไซเนอร์อย่าง John Galliano และ Alexander McQueen ยังเป็นหน้าใหม่อยู่เลย และเป็นคนที่สร้างงานออกมาจากสปิริตจริงๆ พออ่านเจอเรื่องราวพวกนี้ทำให้รู้สึกว่าแฟชั่นมีอย่างอื่นตั้งเยอะ เป็นอะไรที่ยิ่งรู้ยิ่งสนุก และแฟชั่นไม่ได้จบที่การเอาเสื้อผ้ามาขาย มันต้องเป็นคนฉลาดที่มาทำงานตรงนี้ หมายถึงต้องเก่งรอบด้านมาก ในการเขียนก็จะมีโว้กที่เป็นแกนเพราะเป็นแหล่งข้อมูลของเรา

 

พอวันหนึ่งไม่ใช่แค่ได้เขียนให้โว้ก แต่ทำโว้กเล่มแรกของประเทศไทย
เราคาดหวังมากเพราะเราเป็นคนเยอะและอ่านโว้กมาเยอะ ต้องทำให้ถึง ต้องทำให้ได้ เพราะโว้กแต่ละประเทศทำออกมาดีๆ ทั้งนั้นเลย ซึ่งในการทำงานตั้งแต่วันแรก ทางเมืองนอกบอกให้เราสร้างโว้กจากตัวเราเอง เหมือนโว้กอังกฤษหรืออเมริกาที่เนื้องานออกมาจากตัวคนทำ ไม่มีการเปิดดูหนังสือเล่มอื่น ไม่มีการแปลเกิดขึ้น แฟชั่นก็เป็นคาแร็กเตอร์ของเขา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสิ่งที่เราได้มากที่สุดคือการที่เราได้เรียนรู้กันด้วยทีมของเราเอง เหมือนทางเมืองนอกยื่นหัวมาให้เราด้วยความมั่นใจว่าเรามีวิชั่นพอที่จะลอนช์โว้กได้ คล้ายๆ ว่าเขาส่งผ้าใบมาให้ศิลปินกลุ่มหนึ่งแล้วให้ใช้คาแร็กเตอร์ของยูวาดเอาเองเลย เราทำหน้าที่เหมือนศิลปินที่ลองผิดลองถูกกันเอง ความยากที่สุดเลยเป็นการค้นหาว่าเราจะเป็นใคร สิ่งที่เราทำมาแต่แรกคือการตีความความเป็นไทยและการไป Exist ที่ต่างประเทศ พี่ฟอร์ดยืนยันมาโดยตลอดว่าต้องถ่ายปกที่เมืองนอก ซึ่งวันนี้เห็นชัดแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนั้น เพราะแฟชั่น ในระบบสากลเป็นกลไกที่ทำงานพร้อมกันทั้งแบรนด์ นางแบบ ช่างภาพ และเอเจนซี่ ถ้าเราทำกันเองเฉพาะในบ้านเรา ขายแต่ในบ้านเรา ถึงจุดหนึ่งจะพาไปเมืองนอกได้ยาก

 

Watcharin’s Pick

 
โว้กประเทศไทยฉบับที่ 25 เดือนกุมภาพันธ์ 2015 ปก Zuzanna Bijoch / ภาพ: ณัฐ ประกอบสันติสุข

“เป็นปกที่ Deliver ความเป็นไทยได้อย่างอินเตอร์เนชั่นแนลและเป็นวิชั่นแบบโว้กไทยแลนด์ เป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างสมบูรณ์”


จาก Fashion Writer มาเป็น Deputy Editor ของโว้ก การทำงานเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

พี่ดูตั้งแต่เลย์เอาต์ เลือกเรื่อง เลือกคนทำงาน การทำงานแฟชั่นคือการอยู่ตรงกลางระหว่างทุกอย่างแต่ต้องขมวดให้ทุกอย่างเป็นศิลปะให้ได้ คนทำต้องเป็นคนฉลาดรอบรู้พอสมควรที่จะ Deliver งานออกมาได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง เราไม่ได้พูดถึงการวางเลย์เอาต์แล้วก๊อบสิ ทำแบบโว้กอังกฤษเลยสิ แต่เรากำลังพูดถึงงานที่ออกมาเป็น Individual จริงๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นโลกมันเปลี่ยน เราไม่ได้เขียนเรื่องจากความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ แล้ว ต้องเอามาบิดเล่าใหม่ ใส่คาแร็กเตอร์เข้าไปให้เป็นภาษาและมุมมองของโว้ก ต้องไวที่สุด ใกล้ชิดที่สุด ไม่เหมือนใคร และเริ่ดกว่าใคร เพราะโว้กคือที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการทำงาน ชื่อตำแหน่งกับตัวงานที่รับผิดชอบมันเป็นเรื่องของใจ เพราะหนึ่ง เราได้ทำงานกับพี่ฟอร์ด คนที่เป็นเมนเทอร์ของเรา และสอง เราได้ทำนิตยสารที่เราอ่านมาตั้งแต่เด็ก เราจำได้หมดนะ แล้วมันมีอยู่ที่บ้านเราเกือบหมด เราแทบจะไม่ต้องเปิดโว้กเล่มไหนดูเลยในการทำงานของพี่กับพี่ฟอร์ด ไม่ต้องมีเรเฟอเรนซ์ เราพูดออกมาแล้วนึกภาพตรงกันได้เลยว่าพูดถึงใคร ยุคไหน ภาพไหน ชุดไหนของดีไซเนอร์คนไหน พอทำงานกับคนที่มีเซนส์เดียวกันแล้วสนุกมาก

 

ช่วงเวลาที่โว้กคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตการทำงานหรือเปล่า

ใช่ สำหรับครึ่งชีวิตแรก เพราะเราเป็นคนรักแฟชั่นและรู้ตัวเองมาตลอดว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เห็นผ้าแล้วเห็นเป็นเสื้อเหมือนดีไซเนอร์ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเห็นเสื้อผ้าไปอยู่บนตัวใครได้เหมือนสไตลิสต์ แต่เราเห็นเสื้อผ้าแล้วมองเห็นเป็นตัวหนังสือบนหน้านิตยสาร ชัดเจนมากว่าเป็นคนชอบนิตยสารแฟชั่น และความชอบนี้ไม่เคยเบี่ยงไปทางอื่นเลย ถึงวันนี้พี่ก็ยังมองว่ามุมมองในแบบโว้กคือการเป็นผู้นำและไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อ แต่โว้กทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นแอตติจูดหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแฟชั่นจะเล่าผ่านเรา เพราะโว้กมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง เข้าไปเชื่อมโยงกับการสร้างดีไซเนอร์ การสร้างเทรนด์ ซึ่งมันคือ Value ที่ดีที่สุดของเรา จริงๆ แล้วโว้กคือมุมมองแฟชั่นที่ออกมาในรูปแบบนิตยสารแค่นั้นเอง

 

 

WATCH