FASHION

ทำไมเป็น บ.ก. โว้กถึงทั้งหรูหราและลำเค็ญ บรรณาธิการโว้กจะตอบคำถามนี้อย่างไร!

ถ้าไม่ใช่โว้กประเทศไทย สธน ตันตราภรณ์อยากทำโว้กประเทศไหน

โว้กไทยฉลองวันเกิดครั้งสำคัญด้วยการเสาะหาแง่มุมแห่งความเป็น "โว้ก" จากมุมมองของคนทำโว้กว่าสำหรับพวกเขาแล้วโว้กคืออะไรกันแน่ หลังคุยกับกุลวิทย์ เลาสุขศรีบรรณาธิการบริหารกันไปแล้ว วันนี้ถึงคิวของ สธน ตันตราภรณ์ Managing Editor อีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในโว้กประเทศไทย

 

ทำไมมาทำงานที่โว้กประเทศไทย

พี่ฟอร์ดชวนมาทำในตำแหน่งรองบรรณาธิการหลังจากลาออกจากเล่มก่อนหน้าและใช้เวลาอยู่กับตัวเองนานเกือบปี ก่อนหน้านั้นเคยคิดกับตัวเองว่าจะไม่กลับมาทำหนังสืออีก แต่เมื่อผู้ใหญ่ยืนยันว่า “ไว้ใจ” ก็ขอลองดู (อีก) สักตั้ง...และปฏิเสธไม่ได้ว่าจะอย่างไรเสีย โว้กก็คือโว้ก นี่คือชื่อที่เราศรัทธามาตั้งแต่เด็ก

 

ถ้าไม่ใช่โว้กประเทศไทย อยากทำโว้กประเทศไหน

โว้กอังกฤษในยุคของ Alexandra Shulman เพราะส่วนตัวเชื่อในเรื่อง Substance ที่มาพร้อมกับ Style ที่จับต้องได้ อิดิชั่นนี้หนักแน่นที่สุดในส่วนของบทวิเคราะห์แฟชั่นและบทความต่างๆ แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้อยากเป็นนักเขียนก็มาจากงานเขียนเก่าของอดีตบรรณาธิการหญิงรายนี้ และส่วนตัวก็ชอบที่เธอพิสูจน์ความเป็นโว้กผ่าน “งาน” หาใช่ “ภาพลักษณ์”

 

โว้กคือใคร กรุณาบรรยายเพศ นิสัยส่วนตัว นิสัยในการอ่านว่าอ่านบนกระดาษหรือบนแกดเจ็ต และมีจุดร่วมอะไรกับคนอ่านโว้ก

โว้กในปี 2018 ในความคิดของเราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของ “เพศ” (หญิง) อีกต่อไป หากอธิบายผ่าน “รสนิยม” และ “วิธีการมองชีวิต” ต่างหาก โดยส่วนตัวเชื่อว่าคนคนนี้ดื่มด่ำกับความเป็นไปของโลก โดยไม่ได้ถูกขีดคั่นจำกัดด้วยความสามารถในการเสพลักชัวรีหรือความยากจน ความแตกต่างระหว่างคนไม่ได้เกิดจากการสัมผัสเนื้อกระดาษหรือคลิกหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แต่อยู่ที่ “เนื้อหาสาระ” ที่เขาเลือกเสพ ซึ่งจะเป็นใครก็ตามแต่ “ผู้อ่านโว้ก” คือ “ผู้อ่านโว้ก”

 

Ston's Favourite

 

โว้กประเทศไทย Issue 53 เดือนมิถุนายน 2017 ปกอมิตา ยัง สีณพงศ์ภิภิธ / ภาพ: ณัฐ ประกอบสันติสุข

"เต็มอิ่มไปด้วยเซอร์ไพรส์ ทั้งยังกลมกล่อมในแง่การสร้างงานเพราะเนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่แฟชั่นถึงเลย์เอาต์ ล้วนเล่นกับปรากฏการณ์เทรนด์ 1990" - สธน ตันตราภรณ์

 

การเข้ามารับหน้าที่สำคัญในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นดิจิทัล ต้องทำอะไร เปลี่ยนอะไร สร้างอะไร

ต้องขยัน ต้องเปลี่ยนหมวกให้เป็น และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรม...เพราะสื่อในวันนี้ไม่มีแบบแผนชัดเจน ไม่มีตำรา โลกดิจิทัลได้สลายชนชั้นในวงการสื่อที่มีมาแสนนานและปรับให้ผู้เล่นมากมายต้องกลับไปเริ่มใหม่ ณ จุดสตาร์ตเหมือนๆ กัน คุณจะใช้สูตรสำเร็จเดิมในการสร้างงานไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากเกมเปลี่ยนทิศแล้ว เช่นเดียวกับการถือกำเนิดของตัวละครใหม่ๆ ในวงการซึ่งสะท้อนให้เห็นรสนิยมของตลาดและความต้องการที่แท้จริง ฉะนั้น คนขยันผู้เฝ้าสังเกตตลาดอยู่เสมอพร้อมๆ ไปกับการลองผิดลองถูกย่อมมีสิทธิ์จะ “นำ” และตอบโจทย์ตลาดได้ตรงใจกว่าคนที่นิ่งเฉยเปิดแต่ตำราเล่มเดิม เรื่องบทบาทนั้นต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน วันนี้เอดิเตอร์ต้องสวมหมวกหลายใบ อาจจะเหนื่อยขึ้นหน่อย แต่มันก็สะท้อนให้เห็นกลไกหลายๆ อย่างที่ “จริง” กว่าการ “อยู่บนหิ้ง” ซึ่งเราเชื่อเรื่องกระบวนการและกลไกที่มาที่ไป เพราะมันประกอบด้วยเหตุและผลเสมอ...เช่นดียวกับแฟชั่น

 

อะไรคือความหรูหราและความลำเค็ญในการเป็นเอดิเตอร์โว้ก

ความหรูหราคือการได้รับเชิญไปร่วมงานยิ่งใหญ่ที่เปิดประสบการณ์ชีวิต รวมถึงการได้มีโอกาสพูดคุยหรือสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหาศาล ส่วนความลำเค็ญคือการที่บรรณาธิการยุคใหม่ต้อง เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง” ทำหลายหน้าที่และต้องแข่งกับเวลาทั้งไลฟ์สดและเขียนลงนิตยสารเพื่อรายงานความเป็นไปในโอกาสหรูหราข้างต้นจนบางครั้งไม่มีเวลาให้ตกตะกอนทางความคิด  

 

สิ่งที่คุณรักที่สุดเมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของโว้กประเทศไทยคืออะไร

การได้รู้ว่าตัวเองยังมีประโยชน์...และความจริงที่ว่าพลังงานจากผู้ชายคนหนึ่งซึ่งบ่อยครั้งเลือกนั่งทำงานที่ตนเองรักมากอย่างเงียบๆ ที่โต๊ะทำงานตัวเล็กๆ ของเขาสามารถช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้

 

โว้กแปลว่าอะไร (ในความคิดของคุณ)

“ความตั้งใจ” และ “โอกาส”

 

จงอวยพรวันเกิดโว้กวัย 5 ขวบ

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโว้ก เราจะยินดีมากกว่าถ้าได้ยินคำอวยพรจากผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราถือคติว่าจะไม่ปรบมือให้กับตัวเอง

WATCH