FASHION

ระลึกถึง Hubert de Givenchy ผ่านเรื่องราวที่โลกควรจารึก

VOGUE VOICES ชิ้นล่าสุดโดย สธน ตันตราภรณ์

หลายคนรู้จักสกุลของเขาในฐานะแบรนด์ดังระดับโลกซึ่งเพิ่งเปลี่ยนเก้าอี้ดีไซเนอร์หลักไปหมาดๆ ในขณะที่วงการแฟชั่นเทิดทูนเขาในฐานะกูตูริเยร์เจ้าของลมหายใจสุดท้ายจากยุคทองของแวดวงโอตกูตูร์ช่วงทศวรรษ 1950 บัดนี้ในจังหวะที่ผู้คนพากันสรรเสริญความยิ่งใหญ่และพรสวรรค์ของบุรุษผู้จากไปกันจนโซเชียลมีเดียแทบทะลัก สธน ตันตราภรณ์ ขอพาคนรักแฟชั่นหวนกลับไปรำลึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของอีกหนึ่งมาสเตอร์ระดับตำนานนาม อูแบรต์ เดอ จีวองชี

1. อูแบรต์ เดอ จีวองชี สูงถึง 6.6 ฟุต หรือ 198 เซนติเมตร และนั่นทำให้เขาได้รับฉายาว่า 'Le Grand Hubert' หรืออูแบรต์ผู้ยิ่งใหญ่ (สูงใหญ่)

2. อูแบรต์เคยถูกปฏิเสธงานจาก คริสโตบัล บาเลนเซียกา ไอดอลกูตูริเยร์ของเขา ก่อนจะมีโอกาสร่วมงานกับ เอลซา สเคียปาเรลลี ดีไซเนอร์จอมขบถยาวนานถึง 4 ปี จนตัดสินใจออกมาเปิดห้องเสื้อของตัวเองในปี 1952 และได้คริสโตบัลกลับมาเป็นทั้งคนสนิทและครูผู้ให้คำปรึกษา

3. แนวคิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นจาก "เส้นสาย" ของซิลูเอต มากกว่าจะมุ่งเน้นเรื่องการ "ตกแต่งประดับประดา" ของอูแบรต์ได้รับอิทธิพลตรงๆ มาจากคริสโตบัล อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คริสโตบัลเลือกเริ่มต้นกระบวนการจากการร่างแบบ ขึ้นโครงด้วยผ้าดิบ แล้วจึงเลือกผ้า อูแบรต์กลับให้ความสำคัญกับวัสดุก่อนเป็นอันดับแรก และปล่อยให้ลักษณะเฉพาะของวัสดุส่งผลต่อชิ้นงานจริงตามมา

4. เมื่อห้องเสื้อโอตกูตูร์บาเลนเซียก้าปิดตัวลงในปี 1968 คริสโตบัลคือคนแนะนำให้ลูกค้าเก่าของเขาหันไปใช้บริการตัดเสื้อที่ห้องเสื้อจีวองชีแทน ก่อนอูแบรต์เองจะตัดสินใจร้างลาวงการตามกันไปในอีก 20 ปีถัดมา หลังขายกิจการให้กับเครือธุรกิจลักชัวรี LVMH

1 / 4

ออเดรย์ เฮปเบิร์น และ แคเทอรีน เฮปเบิร์น


2 / 4

จากภาพยนตร์ Sabrina (1954)


3 / 4

จากภาพยนตร์ Sabrina (1954)


4 / 4

จากภาพยนตร์ Sabrina (1954)




WATCH




5. จริงอยู่ที่มิตรภาพระหว่างอูแบรต์และดาราสาวดาวค้างฟ้า ออเดรย์ เฮปเบิร์น นั้นเรียกได้ว่าเข้าขั้นตำนาน แต่การนัดพบกันครั้งแรกเพื่อปรึกษาเรื่องแบบเสื้อผ้าคอสทูมสำหรับภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Sabrina ที่ออเดรย์กำลังจะแสดงนำกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากอูแบรต์เข้าใจผิดว่า 'มิสเฮปเบิร์น' ที่ทางสตูดิโอนัดให้เจอคือ แคเทอรีน เฮปเบิร์น นักแสดงชื่อดังอันดับต้นๆ ของฮอลลีวู้ด ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อเสียงมากกว่าออเดรย์ผู้ยังไม่ทันแจ้งเกิดจากภาพยนตร์ Roman Holiday

อูแบรต์ เดอ จีวองชี และ ออเดรย์ เฮปเบิร์น ในปี 1991

6. แม้อูแบรต์จะมีความเห็นว่าลุคผมสั้น คิ้วหนา กับกางเกงขาแคบ เสื้อยืด รองเท้าบัลเลต์ และหมวกสานสไตล์นักพายเรือกอนโดลาของออเดรย์ในวันพบกันครั้งแรกนั้น "เยอะเกิน" แต่เมื่อได้เรียนรู้ว่าเธอช่างเข้าใจและแน่วแน่ในสไตล์ที่เขาออกแบบ ความสัมพันธ์ผ่านสไตล์จึงเริ่มต้นขึ้น

7. ด้วยเพราะห้องเสื้อกำลังอยู่ในช่วงเร่งรังสรรค์คอลเล็กชั่นใหม่ อูแบรต์จึงทำได้เพียงอนุญาตให้ออเดรย์ลองสวมชิ้นงานตัวอย่างจากคอลเล็กชั่นในอะเตลิเยร์ในขณะนั้น ด้วยทรวดทรงที่ผอมเพรียวเท่ากับนางแบบ นักแสดงสาวจึงสามารถสวมใส่ลุคต่างๆ ที่เธอเลือกด้วยตัวของเธอเองได้พอดีเป๊ะ ก่อนอูแบรต์จะไฟเขียวให้หยิบยืมชิ้นงานทั้งหมดไปถ่ายทำในภาพยนตร์จนท้ายสุดกลายเป็นภาพจำติดตัวออเดรย์ไปตลอดกาล

1 / 2

จากภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany's (1961)


2 / 2

จากภาพยนตร์ Funny Face (1957)


8. แม้ผลงานการออกแบบของอูแบรต์ซึ่งส่งให้ออเดรย์ในบทลูกเป็ดขี้เหร่สวยสง่ากลายเป็นหงส์ในภาพยนตร์เรื่อง Sabrina จะชนะรางวัลตุ๊กตาทองในปี 1954 แต่ผู้ที่ได้รับรางวัลบนเวทีกลับเป็น อีดิธ เฮด หัวหน้าฝ่ายคอสทูมผู้ดูแลเสื้อผ้าของตัวละครของออเดรย์ในช่วง 'ก่อนกลับจากปารีส' เพราะเป็นผู้เดียวซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในเครดิตภาพยนตร์ตามนโยบายของสตูดิโอ Paramount Pictures ในขณะนั้น แถมอีดิธยังไม่กล่าวถึงอูแบรต์เลยแม้แต่นิดเดียวในสปีชรับรางวัลของเธอ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของวงการภาพยนตร์และแวดวงเครื่องแต่งกายสำหรับนักแสดง โดยมีออเดรย์ เฮปเบิร์นเป็นตัวตั้งตัวตี

9. จริงอยู่ที่ โกโก้ ชาเนล คือส่วนสำคัญในการผลักดันความนิยมให้เกิดแก่เสื้อผ้าสีดำ แต่เมื่อว่ากันถึงทัศนะของหญิงสาวรอบโลกที่มีต่อ Little Black Dress แล้ว อูแบรต์ต่างหากที่เป็นผู้มีอิทธิพลหลักในแวดวงแฟชั่นโลก ผ่านผลงานเด่นๆ เช่นในหนัง Sabrina และที่ชัดเจนที่สุดย่อมหนีไม่พ้นชุดราตรีเปิดเรื่องในภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany's

10. รวมๆ แล้วดีไซเนอร์เชื้อเจ้าชาวฝรั่งเศสร่างสูงสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายในจอให้กับออเดรย์ซึ่งเป็นมิวส์ของเขามากถึง 16 เรื่องด้วยกัน ไม่นับรวมเสื้อผ้าอีกหลายร้อยลุคซึ่งเธอสวมใส่นอกจอ ตั้งแต่ชุดเดินพรมแดง ชุดในชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงชุดที่สวมใส่เพื่อเป็นนางแบบให้กับนิตยสารโว้ก

11. ถึงแม้ว่า แจกเกอลีน เคนเนดี อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาจะเป็นที่จดจำในผลงานการออกแบบแสนเรียบง่ายของดีไซเนอร์ โอเลก คาสซินี เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อครั้งเยือนพระราชวังแวร์ซายส์อย่างเป็นทางการในปี 1961 เธอกลับเลือกใช้บริการชุดราตรีสีเนื้อปักประดับลวดลายดอกไม้ฝีมืออูแบรต์ เดอ จีวองชี เพื่อซื้อใจชาวฝรั่งเศสและสื่อนัยยะทางการเมือง ผู้ที่ตกหลุมเสน่ห์เข้าเต็มเปาคือ ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ แห่งแดนน้ำหอม ซึ่งถึงขนาดอดไม่ได้ต้องชมเปาะว่า "มาดาม ค่ำนี้คุณดูราวกับเป็นสาวปารีเซีย

1 / 2

Wallis Simpson ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์และสหายในงานปาร์ตี้ ทั้งสองใส่ชุดลายขวางออกแบบโดย Givenchy


2 / 2

ชุดจาก Givenchy สำหรับร่วมงานศพของดยุคผู้เป็นพระสวามี


12. ครั้งหนึ่งเมื่อดยุคแห่งวินด์เซอร์ตรัสถามอูแบรต์ว่าเหตุใดราคาค่างวดของชุดสำหรับ วอลลิส ซิมป์สัน ภรรยาของพระองค์จึงสูงนัก วอลลิสชิงถามพระองค์กลับว่า "ท่านคิดว่าราคาของความสุขใจที่ดิฉันได้มอบให้กับท่าน ผ่านผลงานออกแบบงดงามจากจีวองชีนั้นสูงไปหรือคะ"

13. วอลลิสหรือดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ยังเลือกสวมชุดดำฝีมืออูแบรต์ในงานศพของดยุคผู้เป็นพระสวามี ซึ่งดีไซเนอร์ใช้เวลาตัดเย็บทั้งหมดเพียง 2 วันเท่านั้น

14. หลังร้างวงการออกแบบ อูแบรต์ยังคงวาดภาพต่อไปเรื่อยๆ โดยมากแล้วก็เพื่อรำลึกถึงออเดรย์ มิวส์ผู้เป็นที่รักของเขา

15. นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่แม้แต่คนแฟชั่นในอุตสาหกรรมเองมากมายกลับไม่รู้ว่าก่อนว่าดีไซเนอร์ระดับตำนานรายนี้ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึง 91 ปี...จนกระทั่งเขาเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

WATCH