FASHION
โว้กชวน 3 ดาวเด่นสายกีฬา มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่อาบด้วยน้ำตาจากความพ่ายแพ้ และรอยยิ้มแห่งชัยชนะ!#VogueThailandJuly2024 พาทุกคนมาล้วงลึกทำความรู้จักกับเหล่าดาวเด่นในสายกีฬา ผู้เคยร่วมประสบการณ์ระดับ 'ทีมชาติไทย' มาแล้ว กว่าจะถึงจุดที่หลายคนใฝ่ฝัน พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง |
“ทีมชาติ” ถือเป็นจุดสูงสุดจุดหนึ่งของนักกีฬาที่ใครๆ ก็อยากไปให้ถึง แม้จะต้องแลกกับอะไรหลายอย่างในชีวิต โว้กชวน 3 ดาวเด่นสายกีฬามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ล้ำค่าที่อาบด้วยน้ำตาจากความพ่ายแพ้และรอยยิ้มแห่งชัยชนะ
อธิษฐ์ มิเคล โรมานิค
สำหรับมิกกี้ ทะเลคือบ้าน จากเด็กที่แล่นเรือใบครั้งแรกในวัย 9 ขวบ จนกระทั่งแรงลมและเกลียวคลื่นทำให้เขาตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในมหาสมุทร พร้อมกับตั้งความฝันว่าจะเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย วันนี้ความมุ่งมั่นตั้งใจนั้นนำเขามาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว
จุดเริ่มต้นของความฝัน
ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ชอบขับรถจากกรุงเทพฯ ไปพัทยาบ่อยๆ สถานที่ประจำของเราคือสโมสรราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากคุณพ่อรักการนั่งเรือ ท่านเคยแล่นเรือยอช์ตจากพัทยาไปภูเก็ตกับเพื่อนๆ และพอผมอายุ 9 ขวบ คุณพ่อให้ลองแล่นเรือใบครั้งแรก เป็นเรือขนาดเล็กชื่อ Optimist ยังจำได้ว่าตอนอยู่ในทะเลโดนคลื่นซัดไปมา พอกลับขึ้นฝั่งก็ยืนตรงแทบไม่ได้ (หัวเราะ) ไม่สนุกเลยครับ แดดก็ร้อน ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลงเรือด้วย แต่พอเล่นเป็น ได้ไปซ้อมทุกวันเสาร์อาทิตย์กับเพื่อนๆ วัยเดียวกันก็รู้สึกชอบกีฬานี้มากขึ้น พออายุ 14 ปีก็ขยับมาแล่นเรือใบประเภทเลเซอร์ สิ่งที่ทำให้ผมชอบเรือลำนี้คือเป็นการแข่งขันที่อุปกรณ์ไม่ได้เป็นปัจจัยทั้งหมดว่าคุณจะชนะการแข่งขัน เพราะยังมีเรื่องการวางแผน ฝึกอ่านทิศทางลมและน้ำ เพื่อให้เรือแล่นได้เร็วที่สุด
ตอนอายุ 17 ปี ผมได้เป็นคู่ซ้อมของพี่ท็อป-กีรติ บัวลง นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยที่เคยไปแข่งโอลิมปิก เขาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากไปถึงจุดนั้น จึงพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ พออายุ 19 ปีก็ขยับมาแล่นเรือใบอิลก้าเซเว่น (ILCA7) ซึ่งเป็นประเภทที่มีแข่งขันในโอลิมปิก และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันเรือใบเยาวชนชิงแชมป์โลก ( Under-21 World Championships) ที่ประเทศโปแลนด์ ผมเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 10 ตอนนั้นดีใจมากๆ ครับ เหมือนไปได้ไกลขึ้นอีกขั้น ยังจำได้ว่าพี่ท็อปบอกว่าผมมีโอกาสไปโอลิมปิกเหมือนกัน ฝึกซ้อมให้เข้มข้น และทำให้ดีที่สุด...
อนิกา จาติกวณิช
WATCH
ย้อนกลับไปปี 2023 คือช่วงเวลาที่แฟนกรีฑาได้รู้จัก “อนิกา จาติกวณิช” นักกีฬากระโดดค้ำถ่อดาวรุ่งในการแข่งขันกรีฑาประเภทลานเก็บสถิติโลก Golden Fly Series Thailand 2023 ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แต่เรื่องราวที่น่าสนใจของอนิกาเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายปี ทั้งการฝึกซ้อมอย่างหนักและการบาดเจ็บนับครั้งไม่ถ้วน
ก้าวแรกของกรีฑา
กีฬาเข้ามาในชีวิตตั้งแต่ยังเด็กเลยค่ะ (ยิ้ม) คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนด้านนี้มากๆ สมัยเรียนที่โรงเรียนบางกอกพัฒนาลองเล่นกีฬาหลายประเภท เริ่มจากยิมนาสติก เทนนิส สควอช บาสเกตบอล ฟุตบอล ซอฟต์บอล ว่ายน้ำ และกรีฑาที่เริ่มจากวิ่ง 100 เมตร กระโดดไกล ก่อนที่โค้ชจะแนะนำให้เล่นกระโดดค้ำถ่อ เพราะรูปร่างของเราเหมาะกับกีฬานี้ นอกจากนั้นยังมีทักษะกระโดดไกล และเคยเล่นยิมนาสติก ซึ่งนักกีฬากระโดดค้ำถ่อส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานนี้มาก่อน
ช่วงเดือนแรกโค้ชให้เดินสร้างความคุ้นเคยกับไม้ค้ำอยู่เป็นเดือน เพื่อเรียนรู้วิธีการถือไม้ จากนั้นจึงเริ่มถือไม้วิ่ง และฝึกกระโดดในตำแหน่งที่ถูกต้อง ยังจำได้ว่าพอโค้ชให้ลองกระโดดครั้งแรก รู้สึกกลัวมาก แล้วก็พลาดล้มลงมาจริงๆ (หัวเราะ) ตอนนั้นยังเด็กด้วยค่ะ อายุเพิ่ง 15 ปี แรงยังไม่มี กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอด้วย เป็นกีฬาชนิดแรกที่คุณพ่อไม่อยากให้เล่นเท่าไร เพราะกลัวว่าลูกจะได้รับบาดเจ็บ ตอนฝึกใหม่ๆ พ่ออยากให้ใส่หมวกป้องกันด้วย แต่เราไม่ใส่นะ รู้สึกไม่เท่(หัวเราะ) ส่วนค่าอุปกรณ์ก็แพงพอสมควร เพราะเมื่อตัดสินใจเล่นจริงจังก็ต้องซื้อไม้ส่วนตัวประมาณ 7-10 อัน ราคาไม้ละ 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกชอบกีฬาค้ำถ่อไปแล้ว เพราะต้องใช้ทักษะหลายเรื่อง ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงองค์ประกอบของแรงลมที่ส่งผลต่อการเลือกไม้ เช่น ถ้ามีลมต้านทิศทางการวิ่งต้องใช้ไม้ที่มีความอ่อนตัว แต่ถ้ามีลมส่งก็ต้องใช้ไม้ที่แข็งหน่อย การวิ่งในแต่ละครั้งจึงต้องคิดและวางแผนไม่เหมือนกัน...
ศุภ สง่าวรวงศ์
18 ปีคือห้วงเวลาที่เอสใช้ชีวิตอยู่ในสระว่ายน้ำ พื้นที่ที่ทำให้เขาเติบโตเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยและผ่านเกมการแข่งขันสำคัญมากมาย ตั้งแต่ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์โลก พร้อมกับประสบการณ์ของความพ่ายแพ้และเหรียญรางวัล ซึ่งทั้งหมดนั้นคือเส้นทางที่เขาภูมิใจและเป็นบันทึกหน้าสำคัญของชีวิต
ความฝันที่อยากไปให้ถึง
ผมเริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบครับ แต่ในช่วงแรกๆ ว่ายน้ำเป็นแค่กีฬา ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะติดทีมชาติ แต่พอทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสแข่งขันรายการต่างๆ ตอนอายุ 12 ปี ผมได้เป็นที่หนึ่งในรุ่นอายุต่ำกว่า 13 ปีของรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ทำให้ติดเยาวชนทีมชาติเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นทุกอย่างก็จริงจังขึ้น
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนนานาชาติที่ภูเก็ตเปิดรับสมัครให้ทุนนักกีฬาว่ายน้ำโดยมีโค้ชโอลิมปิกของออสเตรียเป็นผู้ฝึกสอน ถือเป็นหนึ่งในทีมระดับโรงเรียนที่เก่งที่สุดของอาเซียนในขณะนั้น ผมบอกแม่ทันทีว่า อยากไป ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้และไม่เคยไปต่างจังหวัดไกลๆ คนเดียว แต่ผมอยากไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะไล่ตามความฝันได้ดีขึ้น ซึ่งภาพตอนนั้นชัดเจนแล้วคือการติดทีมชาติไทย
จากที่เคยซ้อมแค่หลังเลิกเรียน ที่ภูเก็ตผมต้องตื่นมาซ้อมตั้งแต่ตี 5 จากนั้นไปเรียนแล้วกลับมาซ้อมช่วงเย็นต่อ โปรแกรมหนักขึ้น 2 เท่า ไหนจะภาษาอังกฤษที่ต้องรีบพัฒนา ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เจอความท้าทายรอบด้าน แต่ผมยอมเหนื่อย เพราะอยากเก่งขึ้น และระหว่างนั้นก็เข้าแข่งขันในระดับเยาวชนมาตลอด เช่น ชิงแชมป์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผมได้ 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง รวมถึงรายการชิงแชมป์เอเชียและยุวชนโลก แต่ทั้งหมดเป็นการแข่งในกลุ่มอายุ 15 ปีและ 18 ปี เป้าหมายของผมคือการติดทีมชาติในรุ่น Open หรือคนเก่งที่สุดของการว่ายน้ำแต่ละประเภทจริงๆ ซึ่งในทีมชาติจะมีนักกีฬาหญิงและชายรวมกัน 20 คน และในที่สุดผมก็ทำได้สำเร็จตอนอายุ 18 ปี ได้ร่วมทีมเแข่งซีเกมส์ปี 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์...
สามารถตามไปอ่านบทสัมภาษณ์เจาะลีกชีวิตของทั้ง 3 คนได้แบบเต็มๆ ในนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2024 วางแผงทั่วประเทศเร็วๆ นี้
WATCH