FASHION
โว้กประเทศไทยออกเดินทาง ตามรอยกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของศูนย์ศิลปาชีพฯ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนมจากดอนกอยโมเดลเมื่อปีก่อน สู่นาหว้าโมเดลในปีนี้ โว้กประเทศไทยยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าบนถนนอันคดเคี้ยวและทอดยาวของวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เพื่อปักหมุดหมายและยืนยันที่จะยืนหยัดอยู่ข้างเหล่าศิลปิน ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ทางภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย #VogueThailandAug2023 |
ช่างภาพ: วสันต์ ผึ่งประเสริฐ
สไตลิ่ง: กุลวิทย์ เลาสุขศรี
อาร์ตไดเร็กเตอร์: จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล
นางแบบ: Kseniya @WM
แต่งหน้า: สุรปรีย์ อชิรกุล
ผู้ช่วยสไตลิสต์: ฐิตาภรณ์ พุกพัก
เรื่อง: พีรณัฐ จันทร์สกุลณี
----------------------------------------------------------------------------------------------
...“โอ๊ย! สมัยนู้นนาหว้าต้องนั่งเกวียนกันเข้ามา ตอนนั้นมันยังเป็นป่าเป็นดง”... ประโยคบอกเล่าที่โพล่งออกมาจากปากคำของแม่วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ หัวหน้ากลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ขณะที่มือหนึ่งกำลังประคองแก้วน้ำเย็นขึ้นกลั้วคอ และอีกมือหนึ่งลูบไล้ไปตามผ้าไหมมัดหมี่ตราหมากนัดผืนเก่า ที่เพิ่งเอาออกมาจากตู้โชว์เพื่อเอามาให้ทีมงานโว้กประเทศไทยชมใกล้ๆ ซึ่งเป็นผ้าผืนเดียวกันกับที่แม่วงเดือนมีโอกาสถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง กับมือตัวเองเมื่อ 51 ปีก่อน แม่วงเดือนยังเล่าต่อไปว่า ตอนนั้นน้ำตามันไหลออกมาไม่รู้ตัว หลังจากที่ได้ยินพระสุรเสียงของสมเด็จพระพันปีหลวงเพียง 2 ประโยคว่า “ทอเองหรือจ๊ะ” “สวยมากจ้ะ” ด้วยความปลื้มปิติ...
จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ของโว้กประเทศไทยเริ่มขึ้นตรงนั้น ด้วยความตั้งใจสานต่อภารกิจสำคัญเพื่อยกระดับและสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย หลังจากผ่านเวลามาร่วมปี ครั้งนี้จุดหมายปลายทางยังคงอยู่ที่ภาคอีสาน แต่เขยิบออกไปไกลไม่กี่กิโลเมตรจากสกลนคร สู่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทีมโว้กตั้งต้นการทำงานครั้งนี้ที่กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัดธาตุประสิทธิ์ กินบริเวณเพียงแค่ 1-2 หลังคาเรือน ทว่าด้านในบรรจุกี่ทอผ้าเกือบ 20 ตัว และสหกรณ์จำหน่ายผ้าทอผลงานชาวบ้านละลานตา ซึ่งแม่วงเดือนบอกกับโว้กประเทศไทยว่า กลุ่มทอผ้าแห่งนี้เกิดขึ้นได้ ครั้งหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 และได้ทอดพระเนตรเห็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ชาวบ้านนำไปถวาย จึงมีรับสั่งให้ทอเพิ่มเพื่อส่งเข้าสำนักพระราชวังในขณะนั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะลงเอยที่การสร้างกลุ่มทอผ้านี้ขึ้นมา เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชนเป็นหลัก พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จากหลังคามุงแฝกกลายเป็นบ้านที่เรียกได้เต็มปากว่า “บ้าน” แม่วงเดือนบอกกับโว้กแบบนั้น
ตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กลุ่มทอผ้าไหมศิลปาชีพแห่งแรกแห่งนี้ที่แม่ของแผ่นดินก่อตั้งด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งต่อทักษะงานหัตถศิลป์จากรุ่นสู่รุ่น จากแม่วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ผู้ที่มีโอกาสได้ถวายผ้าไหมมัดหมี่คนแรกของกลุ่ม สู่รุ่นลูกอย่างแม่สุภาวดี อุดมเดชาเวทย์ ในนามของ “ทายาทหัตถศิลป์” ที่มารับช่วงต่อ ด้วยความเชี่ยวชาญในงานทอผ้ายกมุกลายโบราณที่หาตัวจับได้ยาก พร้อมสร้างสรรค์ลวดลายผ้าที่สร้างมูลค่าให้กับอาชีพศิลปินทอผ้าหลายแบบที่ขึ้นชื่อของกลุ่มทอผ้าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมลายยกมุก ซึ่งเป็นผ้าประจำจังหวัดนครพนม, ผ้ามัดหมี่ ที่เป็นผ้าซิ่นของชาวอีสานขนานแท้, ผ้ามัดหมี่คั่น ที่พัฒนาให้มีหลายสีมากขึ้น, โสร่งหางกระรอก เป็นลายตารางหมากรุก มีการเข็นไหมสองสีที่เรียกว่าการเข็นหางกระรอก ทำให้เรียกชื่อตามวิธีการทอ, ผ้าไหมพื้นเรียบ ที่ทอง่ายและนิยมนำไปตัดเสื้อ, ผ้าไหมลายลูกแก้ว ที่มีลายพริกไทย ลายกลาง และลายใหญ่ เป็นลายโดดเด่นของนาหว้า เรื่อยไปจนถึงผ้าไหมเปลือกนอก ที่เกิดจากการสาวไหมครั้งแรก ทั้งหมดนั้นคือคำตอบของความพยายามของกลุ่มแม่ๆ ศิลปินที่นั่งตั้งใจกระตุกกี่อยู่ในพื้นที่กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพแห่งนี้
หากเปรียบเอาว่า แม่วงเดือนในวัยเกือบร้อยคือรุ่นบุกเบิก และถากถางทางให้กับงานหัตถศิลป์สิ่งทอบ้านนาหว้า แม่สุภาวดีก็คงเปรียบได้กับรุ่นราวแห่งการสั่งสมประสบการณ์ที่พร้อมส่งต่อทักษะให้กับคนรุ่นหลัง “ตราบเท่าที่แรงกายยังไหว” แม่สุภาวดียังเล่าให้โว้กฟังว่า “แถวนี้เกือบทุกครอบครัวมีกี่ตั้งอยู่ในบ้านหมด เกิดมาตัดสายสะดือ ลืมตาร้องอุแว้ก็เจอกี่ในบ้าน โตหน่อยก็ปีนป่ายเล่นกี่ตามประสาซุกซน โตขึ้นมาอีกนิดก็ลองนั่งกระตุกกี่ไม่เป็นประสา โตขึ้นมาอีกหน่อยก็เริ่มนั่งกี่ทอผ้าที่แม่หรือยายทอทิ้งไว้ สลับกันทอทั้งบ้าน แป๊ปเดียวก็เสร็จเป็นผืนๆ บ้านแม่ก็เป็นแบบนั้น” แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากขึ้นนั่งตำกี่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และมีทางเลือกมากขึ้นนับไม่ถ้วน แต่เรื่องเล่าจากปากคำของแม่สุภาวดีนั้นคือประสบการณ์ตรงจากลูกสาวนามว่า “แพรวา อุดมเดชาเวทย์” ที่คุ้นเคยกับกี่ทอผ้ามาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งตอนนี้กลับมาสนใจงานหัตถกรรมสิ่งทอของบ้านนาหว้าอีกครั้ง เริ่มจากซื้อผ้าที่แม่และป้าๆ ทอเสร็จ ไปตัดชุดสวมใส่เองจนคนรอบข้างเห็นและเกิดความสนใจ ซึ่งแพรวายอมรับว่าประหลาดใจในตอนแรกที่คนทักมาขอซื้อชุดต่อ ลามไปจนถึงขอซื้อผ้าทอเป็นตั้งๆ แต่หลังๆ มาก็ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ประชาสัมพันธ์งานสิ่งทอของกลุ่มทอผ้า วัดธาตุประสิทธิ์ ผ่านผลงานเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ไปด้วยเลย กระทั่งที่ตอนนี้เธอก็ได้หันมาช่วยออกบูธตามงานหัตถกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับ “นายวีระศักดิ์ มาตชัยเคน” ศิลปินทอผ้ารุ่นใหม่ที่ขอเข้ามาสานต่องานหัตถศิลป์แห่งบ้านนาหว้าตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยความคิดที่ว่า “ผมไม่อยากให้มองว่าผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ หรืองานทอผ้ามันเป็นเรื่องของคนแก่ อย่างผมที่เข้ามานั่งทอผ้าแบบจริงจังนี้ ก็อยากจะเข้ามาช่วยพัฒนาทั้งในเรื่องของการตลาดและเรื่องของเฉดสีให้เข้ากับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปมากขึ้น แล้วก็ลวดลายที่อยากจะพัฒนาให้เป็นที่สนใจของกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น”
WATCH
จากรุ่นสู่รุ่น...จากการทรงบุกเบิกของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ถึงการสานต่อและพัฒนาของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงลงพื้นที่เพื่อตามรอยเสด็จของสมเด็จย่า พระองค์ได้ทรงนำทักษะการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์พื้นถิ่นเข้าไปให้ความรู้แก่เหล่าศิลปินผู้นั่งอยู่เบื้องหลังกี่ไม้ ทั้งวิธีการย้อมผ้าโดยใช้สีธรรมชาติที่ได้จากพืชพรรณอันหาได้จากละแวกบ้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสายป่านชีวิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เพื่อให้ผู้ค้าและลูกค้าไม่เป็นอันตราย ซึ่งสมาชิกหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่ที่รู้จักการย้อมสีธรรมชาติ วงการผ้าทอนาหว้าก็คึกคักขึ้นเป็นไหนๆ ทั้งเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจากเก่าเป็นเท่าตัว เรื่อยไปจนถึงกระแสความสนใจในผ้าย้อมสีธรรมชาติจากคนรุ่นใหม่ ที่ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของสมาชิกแห่งนี้ดีขึ้นถนัดตา ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านงานออกแบบ พระองค์ยังได้พระราชทาน “ผ้าขิดนารีรัตนราชกัญญา” ไว้เป็นต้นแบบ พร้อมด้วยกี่พระราชทานขนาดหน้ากว้าง 1.8 เมตร ซึ่งใหญ่กว่ากี่ปกติ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า ผลงานของแม่ๆ ศิลปินจะไม่ได้ถูกส่งไปทั่วประเทศ แต่ยังจะต้องถูกส่งต่อไปในต่างประเทศให้กับลูกค้าชาวต่างชาติที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าคนเอเชียด้วย และยังได้พระราชทานออกแบบ “ลายผ้านาหว้า” ที่มีลักษณะคล้ายตัว N ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มกันของ 6 กลุ่มทอผ้าแห่งอำเภอนาหว้า ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์, กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ, กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว, กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า, กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า ที่สร้างความคึกคักให้กับการค้าขายผ้าทอมือเป็นอย่างมาก กระทั่งที่นายวีระศักดิ์พูดกับโว้กเองด้วยท่าทีตื่นเต้นว่า “พี่รู้ไหมว่าไลน์เด้งไม่หยุดเลย มีแต่คนสั่งผ้าทอลายของพระองค์เยอะมาก แม่ๆ นั่งทอกันคึกคักเชียว”
จากย่าสู่หลาน จากแม่สู่ลูกสู่หลาน คือวัฏจักรการส่งต่อมรดกพื้นถิ่นล้ำค่าอันสำคัญของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ยังคงหล่อเลี้ยงเส้นไหมแห่งชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ยืดยาวต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
อนึ่ง การส่งต่อและพัฒนามรดกทางภูมิปัญญา ไม่เพียงแค่ทำให้ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จาก “นาหว้าโมเดล” ทว่าโครงการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน ที่ทรงริเริ่มโดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงต้องการเจริญรอยตามพระราชปณิธานของสมเด็จย่าที่ทรงมุ่งมั่นฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าลายโบราณให้มีความร่วมสมัยสู่สากล เพื่อการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านนาหว้า และมี “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย อยู่เบื้องหลังลงพื้นที่ลุยงานด้วยตัวเองเสมอมานั้น ยังสร้างความสำเร็จที่แผ่ขยายไปยังกลุ่มใกล้เคียงที่ก็พลอยได้ผลประโยชน์ตามๆ กันไป ดังเช่นพื้นที่โรงเรือนเลี้ยงไหม บ้านนางัว ที่เป็นหนึ่งในโครงการของนาหว้าโมเดล ที่เคยถูกทิ้งร้างไปนานกว่า 10 ปี ก็ฟื้นคืนอีกครั้ง ด้วยการเข้าไปพัฒนาใช้ประโยชน์จากที่ดินเดิม เพื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 2 สายพันธุ์หลักนั่นคือ หม่อนแก้ว และหม่อนพันธุ์สกลนคร ที่สร้างเสริมอาชีพให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งผลผลิตจากโรงเรือนหม่อนไหมดังกล่าวยังถูกกระจายไปสู่กลุ่มใกล้เคียงอื่นๆ ในโครงการนาหว้าโมเดล เพื่อต่อยอดเป็นผลงานผ้าทอต่อไปอีกด้วย และนอกจากนี้ในละแวกใกล้กันนั้น โว้กยังมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจากกก เหล่าพัฒนา ที่มีสมาชิกตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ที่ไม่เพียงผลิตผลงานจากกกออกขายกว่า 100 รายการ แต่ยังเกื้อหนุนกลุ่มทอผ้าต่างๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำสิ่งทอมาใช้ในผลิตภัณฑ์กก ซึ่งได้วางรากฐานเอาไว้อย่างรอบคอบในอนาคต ด้วยการบรรจุชั่วโมงเรียนงานหัตถกรรมจากกกลงไปในรายวิชาของโรงเรียนบ้านเหล่าพัฒนาแล้วเรียบร้อย เพื่อปลุกปั้นศิลปินรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาโอบอุ้มอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยต่อไป
จากดอนกอยโมเดลเมื่อปีกลาย สู่นาหว้าโมเดลในปีนี้ โว้กประเทศไทยยังคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าบนถนนอันคดเคี้ยวและทอดยาวของวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เพื่อปักหมุดหมายและยืนยันที่จะยืนหยัดอยู่ข้างเหล่าศิลปิน ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ทางภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย ไม่ว่าจะไกลแสนไกลหรือลำบากยากเข็ญเพียงใด ปณิธานอันแรงกล้าในการสนับสนุนผลงานพื้นถิ่นของโว้กประเทศไทยจะพาทีมงานทุกคนไปถึง ณ ที่แห่งนั้น เพื่อกอบเก็บเอาเรื่องราวอันล้ำค่าตามรายทางมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับฟังต่อไปไม่รู้จบสิ้น
WATCH