FASHION

ย้อนชม 10 ลุคและโมเมนต์ไอคอนิกแห่งกีฬาโอลิมปิกที่เหล่านักกีฬาไม่ได้ฝากความสวยงามไว้แค่ชัยชนะ

#VogueScoop สัปดาห์นี้ขออุ่นเครื่องด้วยการพาผู้อ่านทุกคนย้อนไปชมถึง 10 ลุคไอคอนิกแห่งสนามกีฬาโอลิมปิกในแต่ละปีว่าจะมีเหล่าผู้แข่งขันจากประเทศใด ที่มาสร้างความสวยงามบนความแข็งแกร่งในสายกีฬา พร้อมกับสร้างภาพจำอันงดงามนั้นไปตลอดกาลบนผืนประวัติศาสตร์ร่วมหลายทศวรรษ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประจำปีนี้ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่กำลังจะถึงนี้

     ‘สัญลักษณ์ 5 ห่วง 5 สี’ หากใครได้เห็นคงรู้ได้ทันทีว่าสิ่งนี้คือสัญลักษณ์ของการแข่งขัน ‘กีฬาโอลิมปิก’ ที่ในปี 2024 นี้ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าถือเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจับตามองมากที่สุด ตั้งแต่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศที่มีความงดงามทั้งอารยธรรม ศิลปะ เรื่อยไปจนถึงแฟชั่นอย่างเป็นฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ แน่นอนว่าจุดสนใจในการแข่งขันครั้งนี้คงจะไม่จบแค่เพียงประเภทกีฬา หรือศักยภาพของนักกีฬาในแต่ละประเทศที่พร้อมจะมาวาดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ทั่วโลกได้ประจักษ์เท่านั้น ทว่ายังมีเหล่าภาพลักษณ์หรือชุดกีฬาในแต่ละปีก็เป็นจุดสะกดสายตาได้ดีไม่แพ้กัน

     ต้องเล่าย้อนก่อนว่ากีฬาโอลิมปิกนั้นมีที่มาอย่างยาวนาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรกรีซโบราณ ณ เทือกเขาโอลิมปัส โดยสมัยนั้นเป็นการประลองฝีมือของเหล่านักรบก่อนจะพัฒนามาเป็นกีฬาประเภทกรีฑาเป็นส่วนใหญ่ จนเวลาล่วงเลยมาถึง 1,200 ปีก่อนที่โอลิมปิกจะถูกยกเลิกไปและนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในปี 1889 โดยขุนนางชาวฝรั่งเศสอย่างบารอน ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง ได้หารือร่วมกับฝั่งประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เพื่อรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และได้ริเริ่มการแข่งขันครั้งแรกในวันที่ 6 เมษายน 1896 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่รับหน้าที่เปิดประเดิมเป็นเจ้าภาพแรก และได้รับการตอบรับจากประเทศที่เข้าร่วมถึง 15 ประเทศอีกด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมากีฬาโอลิมปิกจึงถูกกำหนดให้จัดขึ้นทุกๆ 4 ปีและมีกีฬาหลากหลายประเภทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพบปะกันของแต่ละประเทศ และอีกหนึ่งจุดประสงค์สำคัญคือต้องการนำเสนอกีฬาจากหลายๆ ปรเทศรวมกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นเลิศทางกีฬาที่แต่ละประเทศถนัดแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นสัญลักษณ์ 5 ห่วงไขว้กันทั้ง 5 สี ที่ประกอบไปด้วยสีฟ้า, สีเหลือง, สีดำ, สีเขียว และ สีแดงจึงหมายถึงทวีปทั้ง 5 ทวีปอย่างทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา, ทวีปออสเตรเลีย, ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชียจะผสานเป็นผืนแผ่นเดียวบนธงสีขาวอันแสดงถึงความสามัคคีและปรองดองกันนั่นเอง

     ความข้างต้นที่ผู้เขียนเกริ่นทิ้งเอาไว้ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่ากีฬาโอลิมปิกนั้นต้องมีหลากหลายสิ่งที่เกิดขึ้นจนสามารถดึงดูดความสนใจไปได้อย่างล้นหลามไม่แพ้กับการแข่งขันกีฬา ทั้งโมเมนต์ของพิธีเปิดหรือปิดของโอลิมปิก หรือแม้แต่แฟชั่นโมเมนต์ของเหล่านักกีฬาที่ร่วมสร้างสรรค์โททัลลุคให้แฟนๆ ได้เห็นถึงความสวยงามของเสื้อผ้าที่สามารถผสานไปกับการแข่งขันของกีฬาได้อย่างลงตัว #VogueScoop สัปดาห์นี้จึงขออุ่นเครื่องด้วยการพาผู้อ่านทุกคนย้อนไปชมถึง 10 ลุคไอคอนิกแห่งสนามกีฬาโอลิมปิกในแต่ละปีว่าจะมีเหล่าผู้แข่งขันจากประเทศใด ที่มาสร้างความสวยงามบนความแข็งแกร่งในสายกีฬา พร้อมกับสร้างภาพจำอันงดงามนั้นไปตลอดกาลบนผืนประวัติศาสตร์ร่วมหลายทศวรรษ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกประจำปีนี้ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่กำลังจะถึงนี้

 

 

1. Florence Griffith-Joyner (1988)

     ขอเริ่มต้นที่นักกรีฑาหญิงสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘Florence Griffith-Joyner’ ที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้วในวัยเพียง 38 ปี แต่ฟลอเรนซ์ยังถือเป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักวิ่งฝ่ายหญิงที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก ทั้งนี้เธอยังเป็นเจ้าของสถิติโลกและเหรียญทองประเภทวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตรในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1988 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และกล่าวได้เต็มปากว่าสถิติของเธอยังไม่มีนักกีฬาหญิงคนใดมาล้มล้างได้มาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือไปจากสถิติอันน่าทึ่งแล้ว แฟชั่นของเธอในวันนั้นก็สร้างภาพจำให้กับคนทั้งโลก โดยเธอมาในชุดบอดี้สูทรัดรูปสีแดงสลับขาวพร้อมเชื่อมกับฮู้ดดี้เพิ่มความคล่องตัวที่ผสานความเท่ไปพร้อมกัน แมตช์กับรองเท้าสนีกเกอร์สำหรับวิ่งและจิวเวลรีทั้งกำไลและแหวนเข้ากับสีเล็บอันสะดุดตาตามคติประจำใจของฟลอเรนซ์ว่า “แต่งตัวให้ดูดีเพื่อให้รู้สึกดี และรู้สึกดีที่ได้วิ่งเร็ว”

 

 

2. Synchronised swimming team (2012)

     การแข่งขันระบำใต้น้ำในกีฬาโอลิมปิกประจำปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นที่กล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะทีมระบำใต้น้ำจากประเทศบราซิลอย่าง ‘Lara Teixeira’ และ ‘Nayara Figueira’ ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมด้วยท่วงท่าที่สวยงามในชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกายวิภาค โดยด้านหน้าแสดงให้เห็นถึงระบบประสาท พร้อมเผยลวดลายโครงกระดูก และหมวกที่ออกแบบให้ดูเหมือนสมองเพื่อช่วยเติมเต็มลุคดังกล่าวให้สมจริง ทว่าไม่ดูน่ากลัวจนเกินไป

 



WATCH




 

3. Tonya Harding (1994)

     เพียงแค่ชื่อก็สามารถเรียกความสนใจจากเหล่าผู้คนไปได้อย่างท่วมท้นกับนักกีฬาสเกตน้ำแข็งชาวอเมริกันที่สามารถทำท่า Triple Axel คนแรกของโลกได้อย่าง ‘Tonya Harding’ ที่โดดเด่นด้วยบอดี้สูทสีแดงอมสีม่วง พร้อมกิมมิกฟูฟ่องช่วงแขนและชายกระโปรงสั้นที่ปักคริสตัลทั่วชุดตัดกับดอกไม้สีทองด้านหน้าของเธอพอเป็นดีเทลให้น่าสนใจ ทว่าประเด็นอันร้อนแรงที่ทำให้เธอเป็นที่กล่าวถึงมาจวบจนทุกวันนี้คือคดีลอบทำร้ายคู่แข่งอย่าง ‘Nancy Kerrigan’ เธอจึงถูกแบนจากการแข่งขันตลอดชีวิตหลังจากสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวจริงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1994 จนนำมาซึ่งภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘I, Tonya’ นำแสดงโดย Margot Robbie ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของทอนยา และมาร์โกต์ได้สวมชุดสีแดงอมม่วงนี้เสมือนเป็นการย้อนไปยังเหตุการณ์จริงอย่างไรอย่างนั้น

 

 

4. Olympic Snow Globe (1992)

     พิธีเปิดก็ถือเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ที่หลายคนตั้งตารอคอย เรื่อยไปจนถึงการแต่งกายของเหล่าผู้คนที่ร่วมนำเสนอในพิธีเปิดแต่ละปีอีกด้วย ประเทศฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าภาพในปี 1992 ยังคงถูกนำรูปเก่ามาแชร์อยู่ทุกๆ ปี โดยความน่าสนใจอยู่ที่การนำบุคคลมาสวมชุดมาสคอสเป็นลูกแก้วหิมะหรือ Snow Globe เพื่อนำทางประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันเคลื่อนขบวนพาเหรดไปยังพื้นที่รอบๆ ในพิธีเปิดในเมืองอัลเบิร์ตวิลล์

 

 

5. Zola Budd (1984)

     อีกหนึ่งโมเมนต์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดจนกลายเป็นแฟชั่นโมเมนต์ไปโดยปริยายคือ ‘Zola Budd’ นักกีฬาวิ่งสัญชาติแอฟริกาใต้เป็นตัวแทนแข่งขันให้กับเกาะบริเตนใหญ่ โดยเธอเป็นที่รู้จักจากการฝึกซ้อมและแข่งขันด้วยเท้าเปล่า และทำลายสถิติโลกในการแข่งขันวิ่งระยะ 3,000 และ 5,000 เมตรในโอลิมปิกฤดูร้อนที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1984 ซึ่งการไม่สวมรองเท้าของเธอนั้นทำให้หลายคนเป็นห่วงฝ่าเท้าของเธอไปตามๆ กัน แต่ก็ถือเป็นภาพจำข้ามเวลาเพราะคงไม่มีนักกีฬาคนใดสวมชุดวิ่งโดยไร้รองเท้าเช่นนี้อีกแล้ว

 

 

6. Niconner Alexander (2000)

     ยังคงอยู่กับกีฬาสายวิ่งกับการแข่งขันกีฬาวิ่งผลัด 4x100 เมตร ซึ่ง ‘Niconner Alexander’ นักกีฬาจากตรินิแดดและโตเบโกสร้างแฟชั่นโมเมนต์ในการแข่งขันโอลิมปิกประจำปี 2000 ณ นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะแว่นกันแดดที่มีดีไซน์ขาแว่นครอบศีรษะราวกับอยู่ในอวกาศ พร้อมกิมมิกสีเงินเมทัลลิกตัดกับเลนส์สีแสดทรงกลมที่แมตช์เข้ากับบอดี้สูทสีแดงเข้าชุด จึงทำให้ลุคดังกล่าวยังคงถูกพูดถึงอยู่เรื่อยมา

 

 

7. Yura Min และ Alexander Gamelin (2018)

     ดูโอนักกีฬาสเกตน้ำแข็งสัญชาติเกาหลีและอเมริกันอย่าง ‘Yura Min’ และ ‘Alexander Gamelin’ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2018 ณ เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ โดยแมตช์โททัลลุคให้เข้ากันพอดิบพอดีเสมือนนำเสนอความโรแมนติกผ่านท่วงท่าและชุดที่สวมใส่ โดยยูราสวมชุดเดรสเข้ารูปสีแดงดีเทลคัตเอาต์ช่วงหน้าท้องและเอว พร้อมชายกระโปรงรูปทรงดอกกุหลาบ ส่วนอเล็กซานเดอร์สวมชุดสีดำเข้ารูปพร้อมเย็บปกเสื้อสีแดงด้านใด ประกอบกับการเคลื่อนไหวอันสง่างามของทั้งสอง จึงสามารถสะกดผู้ชมได้อยู่หมัดราวกับหลุดออกมาจากภาพยนตร์

 

 

8. Aliya Garayeva (2012)

     ยังคงอยู่กับกีฬาที่นำเสนอความสวยงามผ่านท่าทางและลีลาการเคลื่อนไหว โดย ‘Aliya Garayeva’ เป็นหนึ่งในนักกีฬายิมนาสติกสัญชาติรัสเซีย-อาเซอร์ไบจานที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันยิมนาสติกลีลาในกีฬาโอลิมปิกประจำปี 2012 แน่นอนว่าท่วงท่าการวาดลวดลายนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมทั้งโลกอยู่แล้ว ทว่าชุดของเธอในวันนั้นก็เป็นสิ่งที่เรียกความสนใจได้ไม่แพ้กัน ซึ่งหลายๆ คนคงจะคุ้นชินที่นักกีฬาส่วนใหญ่มักสวมชุดสีสันจัดจ้านกันเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าอลิยาเลือกที่จะนำเสนอสีสันเฉดนีออนปักกับคริสตัลระยิบระยับ ซึ่งส่งให้เธอเปล่งประกายในกรุงลอนดอนช่วงเวลานั้นได้อย่างดีเยี่ยม

 

 

9. Katarina Witt (1988)

     การแข่งขันกีฬาสเกตน้ำแข็งในโอลิมปิกถือเป็นอีกหนึ่งกีฬาแห่งความสวยงามที่ผู้คนตั้งตารอดูท่าทางและชุดสำหรับสวมใส่ในการแข่งขันเสมอ ‘Katarina Witt’ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เข้าแข่งขันจากเยอรมนีตะวันออกที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด โดยเธอสวมชุดนี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 ที่เมือง Calgary ในแคนาดา ซึ่งชุดดังกล่าวเป็นทรงบอดี้สูทรัดรูปเรียงรายไปด้วยขนนกสีน้ำเงินช่วงไหล่และต้นขา พร้อมปักคริสตัลตามแนวทรวดทรงด้านหน้า และถึงแม้จะเป็นชุดที่สวยงามในช่วงเวลานั้น ทว่าก็มีข้อโต้แย้งตามมาว่าคาทาริน่าไม่ยอมสวมกระโปรงเข้าแข่งขัน จึงเกิดเป็น ‘กฎ Katarina’ ขึ้นมาภายหลังว่าผู้เข้าแข่งขันหญิงทุกคนจะต้องสวมกระโปรงเพื่อปกปิดทั้งขาหลังและขาส่วนบน แต่ก็ถูกเพิกถอนไปในปี 2003 ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

 

10. Lucile Lefevre (2022)

     ปิดท้ายด้วยแฟชั่นโมเมนต์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างนักกีฬาสโนว์บอร์ดกลางอากาศสัญชาติฝรั่งเศส ‘Lucile Lefevre’ ที่ในขณะนั้นเธอได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า ทว่าไม่สามารถละทิ้งความรับผิดชอบและหน้าที่ของเธอได้ อีกทั้งลูซิลียังตัดสินใจแล้วว่าการแข่งขันที่กรุงปักกิ่งจะเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้าย เธอจึงมุ่งมั่นทำการแข่งขันต่อไป พร้อมฝากโมเมนต์อันน่าจดจำผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่ไว้อีกด้วย ซึ่งโดยปกติเธอมักสวมชุด Wild Suit หรือสวมชุดที่มีลวดลายคล้ายสัตว์อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เธอแปลงโฉมตัวเองเป็นเสือที่โดดเด่นด้วยการพิมพ์ลายสีน้ำตาลอมส้มตัดดำราวกับลายพาดกลอน ทั้งยังมีหางโผล่ออกมาช่วงบั้นท้ายที่มอบความน่ารักของลุคนี้อีกด้วย นี่จึงถือเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอที่สามารถสร้างภาพจำได้สำเร็จแล้วจริงๆ

 

กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร
ข้อมูล : Vogue Australia, Good Housekeeping, People, Business Insider

WATCH