FASHION
VOGUE HISTORY | ย้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอดีตของ CHANEL ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดการมาถึงของ Karl Lagerfeld หลังจาก Coco Chanel เสียชีวิตไปนานกว่าทศวรรษ ทำให้เกิดความตึงเครียดจนถูกขนานนามว่าเป็น “สงครามเย็น” |
#VogueHistory จะพาทุกคนย้อนกลับสู่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของโลกแฟชั่น ศิลปะ วัฒนธรรม และวงการบันเทิง ที่มีความสำคัญและน่าจดจำ การพาย้อนเวลาครั้งนี้สะท้อนภาพรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่อาจส่งผลจนถึงปัจจุบันหรือเจาะลึกไปถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ ที่มีความหมาย วันนี้ตอนแรกของการย้อนประวัติศาสตร์ไปกับโว้กจะพาไปย้อนถึงช่วงเวลาที่ Karl Lagerfeld ก้าวเข้ามารับบทบาทหัวเรือใหญ่ของ Chanel หลัง Coco Chanel เสียชีวิต และผู้เขียนนิยามว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงสุดคลาสสิก” หรือ “The Classic Transition” ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับการเข้ามารับตำแหน่งของ Matthieu Blazy ต่อจาก Virginie Viard ในระยะเวลาไม่นาน และเป็นครั้งแรกที่แบรนด์แต่งตั้งดีไซเนอร์คนใหม่ โดยมาจากการแยกทางกันไม่ใช่ความตายที่พัดพราก
เรื่องราวย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 1971 หรือกว่า 54 ปีก่อน มาดามโคโค่ เสียชีวิตและทิ้งมรดกแบรนด์ชาเนลไว้อยู่ควบคู่กับโลกแฟชั่น ณ ตอนนั้น (และจนถึงปัจจุบัน) มหากาพย์การเปลี่ยนแปลงถูกคาดการณ์ไปสารพัด จนกระทั่งคาร์ล เลเกอร์เฟลด์ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนอย่างเป็นทางการในปี 1982 หากคำนวณแบบตรงไปตรงจะพบเวลาร่วม 12 ปีบนหน้าประวัติศาสตร์ชาเนลแทบจะหายไปจากสารบบ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “การเปลี่ยนแปลงสุดคลาสสิก” สำหรับแบรนด์อันเป็นมรดกของโคโค่และกำลังเข้าสู่สถานะ “แบรนด์ใกล้ตาย”
แบรนด์ไร้หัวใหญ่และดำเนินกิจการไปได้มากกว่าทศวรรษ...สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ควรจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ เพราะลูกค้าที่ยังจงรักภักดีและให้การสนับสนุนอยู่เสมอ แต่เมื่อความเรียบเฉยและขาดการพัฒนา รวมถึงการเชื่อมโยงทิศทางความสร้างสรรค์เข้ากับยุคสมัย ดูเหมือนว่าชาเนลกำลังเข้าสู่ขาลง มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า Jacques Wertheimer ไม่ได้สนใจการบริหารแบรนด์เท่าที่ควร แม้จะมีไลน์เรดี้ทูแวร์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1978 ทว่าความนิยมก็ค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งการมาถึงของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ที่ได้รับการโน้มน้าวให้มารับหน้าที่สำคัญนี้ออย่างเนิ่นนาน
“สงครามเย็น” การมาถึงของคาร์ลไม่ใช่การส่งไม้ต่อหรือการเข้ามากุมบังเหียนหลังการเสียชีวิตของดีไซเนอร์คนก่อนแบบฉับพลันทันที ระยะเวลามากกว่าทศวรรษมันสร้างพลังภายในมหาศาลที่พร้อมต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่าช่างฝีมือและทีมสตูดิโอของแบรนด์คือมือฉมังก์แห่งวงการ และรับใช้มาดามโคโค่กันมาอย่างต่อเนื่อง การทำงานอย่างอิสระโดยไร้ผู้นำสร้าง ‘กำแพงน้ำแข็งขนาดใหญ่’ กล่าวคือกำแพงที่สร้างมาปิดกั้นการรับรู้และทำงานร่วมกันกับคาร์ลอย่างหนาแน่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นโลก
คาร์ลเข้ามาพร้อมคาดคาดหวังระดับสูง ในขณะเดียวกันก็มีกรอบเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนักหน่วง ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้เขาต้องทำงานร่วมกับทีมงานที่ปักธงต่อต้านการเข้ามาของเขาด้วยความรู้สึกภายจิตใจ รอยยิ้ม ความเพิกเฉย และอารมณ์ผันผวนต่าง ๆ เกิดขึ้นในเฮาส์ออฟชาเนล คอลเล็กชั่นที่ปล่อยออกมาช่วงแรกจึงเป็นผลผลิตของความไม่สมดุลและปัญหาภายในที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มิหนำซ้ำคาร์ลยังดึง Hervé L. Leroux มาช่วยในส่วนเรดี้ทูแวร์ และ Mercedes Robirosa มาช่วยปรับจังหวะการทำงานอีกด้วย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบที่ยิ่งทวีความตึงเครียดอย่างมากทีเดียว
การทำงานของทีมสตูดิโอยึดติดวิถีของโคโค่ในช่วงบั้นปลาย ในขณะที่คาร์ลกำลังย้อนสู่ยุคทองของชาเนลในยุค 1920s – 1930s พร้อมตีความและปรับโฉมใหม่ให้สอดคล้องกับโลกในขณะนั้น ถึงแม้จะมีความตึงเครียด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน แต่ด้วยความมืออาชีพก็ยังรักษาไดนามิกการสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ตรงเวลาและมีคุณภาพทุกครั้ง (แต่ก็การทำงานก็ดำเนินไปอย่างยากลำบาก) จิตวิญญาณของโคโค่แบบดั้งเดิมกำลังถูกถ่ายทอดใหม่อีกครั้งผ่านเลนส์ของคาร์ล ณ ตอนนั้นคาร์ลก็พยายามหยุดยั้งความขัดแย้งด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นที่มาของการเปลี่ยนแนวคิดและถือกำเนิดคำกล่าวอมตะที่ว่า “ถึงเธอ(โคโค่) ไม่เคยทำเช่นนี้ แต่มันก็เป็นชาเนลมากเลยจริงไหมล่ะ?”
แน่นอนว่าเมื่อคาร์ลเดินเกมในสงครามเย็นด้วยวิถีที่นุ่มนวล กำแพงน้ำแข็งขนาดมหึมาเดิมก็ค่อยๆ ละลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตึงเครียดและความเป็นปฏิปักษ์อันแน่นหนาจะคงอยู่ จากแบรนด์ใกล้ตายที่กูรูแฟชั่นวิจารณ์ ค่อยๆ ลบล้างมลทินและเผยแสงสว่างแห่งความยิ่งใหญ่ ในช่วงวัยประมาณ 50 ปีของคาร์ลและยังไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นตำนานเฉกเช่นยุคใหม่ ไม่แปลกที่เหล่าทีมสตูดิโอที่รับใช้โคโค่มาทั้งชีวิตจะตั้งคำถามในการมาคุมหางเสือในสิ่งที่พวกเขาอุทิศชีวิตให้ แต่ด้วยการพัฒนาแฟชั่น กลวิธีการรับมือกับปัญหา และมีความตั้งใจในการถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของชาเนลในโดยไม่ละทิ้งวิสัยทัศน์ของโคโค่ผู้เป็นที่รัก ทำให้กำแพงน้ำแข็งค่อยๆ ละลายหายไปจนหมด ไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วกำแพงดังกล่าวมลายหายไปทั้งหมดเมื่อใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือคาร์ลกุมบังเหียนชาเนลยาวนานต่อเนื่องจนถึงปี 2019 ที่เขาเสียชีวิต และจิตวิญญาณของโคโค่ ชาเนลยังคงถูกรักษาและสืบทอดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เหล่าสาวกชาเนลก็รอคอยการมาถึงของแมทธิวว่าจะสร้างสรรค์ผลงานในยุคเปลี่ยนผ่านอีกครั้งออกมาอย่างไร ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกันอีกสักกี่ครั้ง เชื่อว่าผู้คนจะจดจำการเปลี่ยนแปลงสุดคลาสสิกที่อาจไม่ได้ถูกจดบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์มากนัก แต่เป็นเหตุการณ์ภายในครั้งสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยถึงขั้นถูกขนานนามว่า “สงครามเย็น”
สามารถติดตาม #VogueHistory ได้ทุกวันศุกร์ ทุกช่องทางของ Vogue Thailand
กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร
ภาพ : Courtesy of CHANEL
WATCH