
FASHION
VOGUE HISTORY | ย้อนรอยความสัมพันธ์ของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตและดีไซเนอร์คนโปรดอย่าง Christian Diorโว้กพาย้อนเรื่องราวของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน และ Christian Dior ในฐานะดีไซเนอร์คนโปรดที่เป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างแฟชั่นชั้นสูงและราชวงศ์อังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้ |
"ไม่มีประเทศไหนในโลกนอกจากบ้านเกิดของฉันที่ฉันชื่นชอบวิถีชีวิตมากเท่านี้ ฉันรักขนบธรรมเนียมอังกฤษ ความสุภาพของชาวอังกฤษ สถาปัตยกรรมอังกฤษ แม้แต่อาหารอังกฤษ ฉันก็รัก" คงเป็นเรื่องยากที่เอ่ยถึง Christian Dior แล้วจะไม่นึกถึงกรุงลอนดอนและราชวงศ์อังกฤษกับฉายา Princess of Dior ของเจ้าหญิงไดอาน่า และอีกหนึ่งพระองค์อย่าง เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้หลงใหลห้องเสื้อแห่งถนนมงแตญจ์จนนำมาสู่การเปิดทางให้ Christian Dior ได้ก้าวเข้าสู่สังคมชั้นสูงของหนึ่งในเมืองที่เขาหลงรัก Vogue History ขอพาย้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตและดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสคนโปรดของพระองค์อย่าง Christian Dior
Christian Dior มีความผูกพันกับสหราชอาณาจักรเป็นพิเศษ เนื่องจากเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกๆ ที่เปิดรับแฟชั่นจากดีไซเนอร์ฝรั่งเศสอย่าง Christian Dior ในขณะที่ราชวงศ์อังกฤษคนอื่นๆ ยังคงนิยมเสื้อผ้าจากห้องเสื้อของอังกฤษเป็นหลัก ด้วยรสนิยมส่วนตัวของพระองค์ที่หลงใหลในความหรูหราและสง่างามแบบปารีเซียงส่งให้เจ้าหญิงกลายมาเป็นลูกค้ากิตติมศักดิ์ของ Dior ไปโดยปริยาย หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตและ Christian Dior ในฐานะดีไซเนอร์คนโปรดแล้ว คงต้องย้อนกลับไปในปี 1949 ช่วงที่พระชนมายุได้ 18 พรรษา โดยพระองค์ทรงได้ออกเดินทางไปเยือนประเทศอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะมาถึงปารีส ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวชมเมืองหลวงของฝรั่งเศสแล้ว พระองค์ทรงได้พบปะดีไซเนอร์หลายคนนั่นรวมไปถึง Jean Desès, Jacques Fath, Molyneux รวมถึง Dior และนี่คือครั้งแรกที่ทั้งสองได้พบกัน
การจะหาชุดโอตกูตูร์ที่โดดเด่นสะดุดตาในขณะนั้นคงไม่มีใครเหมาะไปกว่า Christian Dior ชายผู้เปลี่ยนแปลงนิยามของโลกแฟชั่นผ่าน 'New Look' ปรากฏการณ์หลังสงครามที่ทวงคืนความสง่างามของสตรีผ่านซิลูเอตอันเป็นเอกลักษณ์อย่างเอวที่คอด กระโปรงสุ่มพอง และการตกแต่งด้วยรายละเอียดหรูหรา นับเป็นการปิดฉากยุคสมัยแห่งความหม่นหมองมาสู่ความเฟื่องฟูครั้งใหม่ผ่านแฟชั่นที่หลุดจากกรอบเดิม สอดคล้องกับพื้นเพศิลปะของ Christian Dior ในฐานะอดีตผู้ดูแลแกลเลอรี ผ่านการนำความละเมียดละไมแบบศิลปินมาหล่อหลอมเป็นแฟชั่นที่สะท้อนเสน่ห์ของสตรีได้อย่างไร้ที่ติและงดงามส่งให้ปรากฏการณ์ New Look ไม่เพียงแต่ได้ครองใจสตรีทั่วโลก ราชวงศ์อังกฤษที่มีขนบธรรมเนียมการแต่งกายอันเคร่งครัดเองก็หลงใหลในสไตล์นี้เช่นกัน
หนึ่งในภาพถ่ายราวเทพนิยายที่ทำให้เจ้าหญิงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นแฟชั่นไอคอนระดับโลกกับพระสิริโฉมอันงดงามภายใต้ชุดซินเดอเรลล่าที่สั่งตัดจาก Dior สำหรับเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 21 ของพระองค์ กับรายละเอียดผ้าทูลล์สีงาช้างประดับด้วยงานปักลายดอกไม้แสนประณีต โดยพระองค์สั่งตัดจากคอลเล็กชั่น 'Oblique' ที่เปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิ ตัวเสื้อเข้ารูปเสริมโครงทำจากผ้าไหมออร์แกนซ่าซ้อนทับผ้าซาติน เดิมทีชุดนี้เป็นสีขาวแต่เนื่องจากเนื้อผ้าที่บางเบาและโปร่งแสงจึงทำให้ผ้าเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป ผนวกกับรายละเอียดของสายคล้องไหล่บริเวณต้นแขนขวาที่รังสรรค์ขึ้นมาราวกับให้สายคล้องหลุดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
เช่นเดียวกับรายละเอียดเสื้อ กระโปรงทรงพองก็มีความซับซ้อนอันประกอบไปด้วยเลเยอร์เจ็ดชั้นที่จับจีบอย่างชาญฉลาดเข้ากับรอบเอว ชั้นในสุดเป็นท่อผ้าไหม ถัดมาเป็นตาข่ายแข็งสามชั้น และปิดทับด้วยออร์แกนซ่าสองชั้น มีแผงผ้าแบบอสมมาตรด้านหน้าเสริมเข้ามา โดย Christian Dior ได้ถามเจ้าหญิงว่าทรงโปรดสีเงินหรือสีทองมากกว่ากัน และคำตอบของเจ้าหญิงก็ได้ปรากฏบนลวดลายปักสีทองที่ละเลงบนชุด โดยชุดนี้สะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่ทั้งโลกจะได้ประจักษ์การเปลี่ยนผ่านจากเจ้าหญิงน้อยสู่เจ้าหญิงผู้งดงามที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจผ่านรสนิยมชั้นสูง
"เธอคือเจ้าหญิงในเทพนิยายอย่างแท้จริง อ่อนช้อย งดงาม และเลอค่า" Christian Dior เขียนถึงเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตในอัตชีวประวัติของเขา Dior by Dior หลังจากการพบกันครั้งแรกต่อมาในปี 1950 Dior ได้จัดแฟชั่นโชว์สุดพิเศษตามพระราชประสงค์ของราชวงศ์อังกฤษ ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงลอนดอนอันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการรังสรรค์ชุดไอคอนิกในตำนานของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ซึ่งการสั่งตัดชุดฉลองวันพระราชสมภพในปี 1951 ครั้งนั้นยิ่งส่งให้ Christian Dior มีความผูกพันกับราชวงศ์อังกฤษเป็นพิเศษโดยเฉพาะเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต โดยนับเป็นการวางรากฐานให้กับความสัมพันธ์ระหว่างแฟช่ั่นชั้นสูงและราชวงศ์ที่ยังคงเห็นอยู่ในทุกวันนี้ อาทิ ความผูกพันของแคทเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์กับผลงานของ Sarah Burton ครั้งที่ยังเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่ง Alexander McQueen ที่ได้รังสรรค์ฉลองพระองค์สำหรับพิธีเสกสมรสในปี 2011
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงและ Christian Dior ไม่ได้สิ้นสุดลงในปี 1951 แต่อย่างใด พระองค์ยังคงเป็นลูกค้ากิตติมศักดิ์ของ Dior จนเกือบตลอดพระชนม์ชีพ โดยเปลี่ยนจากการสั่งตัดเสื้อโอตกูตูร์มาเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทน และการพบกันครั้งสุดท้ายของทั้งสองอยู่ที่งานแฟชั่นโชว์การกุศล ณ พระราชวังเบลนไฮม์ในปี 1954 สามปีก่อนที่ Christian Dior จะเสียชีวิตอย่างกะทันหันในเวลาต่อมา เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงเก็บรักษาชุดซินเดอเรลล่าสุดไอคอนิกจากฝีมือ Christian Dior ไว้นานถึง 17 ปี ก่อนจะทรงบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์ลอนดอนในปี 1968 โดยชุดนี้ได้ถูกบูรณะและนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ แม้จะมีร่องรอยของกาลเวลาแต่ก็นับเป็นหลักฐานชั้นดีว่าชุดนี้เคยถูกสวมใส่อย่างมีชีวิตชีวาและเป็นที่ประจักษ์ถึงฝีมือการปักแสนประณีตของ Christian Dior ด้วยงานโอตกูตูร์ที่แข็งแกร่งราวเกราะเหล็ก กาลเวลาที่ผ่านไปกว่าเจ็ดทศวรรษหลังจากค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองครั้งนั้น ชุดซินเดอเรลล่าจากฝีมือการรังสรรค์ของ Christian Dior ที่สวมใส่โดยเจ้าหญิงผู้เป็นดั่งภาพในเทพนิยายก็ยังคงเป็นหนึ่งในไอคอนที่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์แฟชั่นแห่งราชวงศ์อังกฤษ ด้วยความวิจิตรและเรื่องราวเบื้องหลังส่งให้ชุดนี้เป็นมรดกแห่งความสง่างามที่เป็นตำนานเหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง
ตามไปอ่านบทความ VOGUE HISTORY เพิ่มเติมได้ ที่นี่
กราฟิก: จินาภา ฟองกษีร
ภาพ: Bettmann from Getty Images
WATCH