FASHION

VOGUE HISTORY | ย้อนประวัติ ‘ดอกคามิลเลีย’ สัญญะแห่งความรักบริสุทธิ์สู่ผลงานชิ้นไอคอนิกแห่ง CHANEL

เมื่อดอกคามิลเลียไม่ได้หมายถึงดอกจริงแต่อย่างใด ทว่าเป็นคำเปรียบเปรยไว้ใช้เรียกชื่อแบรนด์เก่าแก่สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง ‘CHANEL’ เพราะดอกไม้ดอกนี้เปรียบดั่งสัญลักษณ์และเป็นตัวแทนของ ‘Gabrielle Chanel’ หญิงสาวผู้หลงใหลในความโรแมนติกและความอิสระของการพลิ้วไหว นำมาซึ่งดีไซน์อันประณีตของเหล่าผลงานทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า เรื่อยไปจนถึงแอ็กเซสเซอรี่ที่มีการนำรายละเอียดของดอกคามิลเลียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประดับของไอเท็มและขึ้นชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่ครองใจเหล่าสาวกและอยากได้มาครอบครองตลอดกาล

     ‘เดือนแห่งความรักไม่ขออะไรมาก ขอแค่ดอกคามิลเลียสักดอกก็พอ’ ประโยคนี้คงเป็นประโยคแทนใจของสาวๆ หลายคนเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์หรืออยู่ในช่วงเทศกาลแห่งความรักตลอดทั้งเดือน ที่แน่ๆ พวกเธอไม่ได้หมายถึงดอกคามิลเลียดอกจริงแต่อย่างใด ทว่าเป็นคำเปรียบเปรยไว้ใช้เรียกชื่อแบรนด์เก่าแก่สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง ‘CHANEL’  เพราะดอกไม้ดอกนี้เปรียบดั่งสัญลักษณ์และเป็นตัวแทนของ ‘Gabrielle Chanel’ หญิงสาวผู้หลงใหลในความโรแมนติกและความอิสระของการพลิ้วไหว นำมาซึ่งดีไซน์อันประณีตของเหล่าผลงานทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า เรื่อยไปจนถึงแอ็กเซสเซอรี่ที่มีการนำรายละเอียดของดอกคามิลเลียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประดับของไอเท็มบางชิ้น Vogue History จึงขอพาผู้อ่านทุกคนย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของดอกคามิลเลีย ดอกไม้ที่เปรียบดั่งหน้าตาของชาเนล และขึ้นชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่ครองใจเหล่าสาวกและอยากได้มาครอบครองตลอดกาล

     หากกล่าวถึงดอกคามิลเลียจริงๆ นั้นมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ‘กุหลาบญี่ปุ่น’ เนื่องจากดอกไม้พันธุ์นี้เกิดขึ้นในแถบเอเชียก่อนจะถูกนำเข้ามาในแถบยุโรปโดยพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป แห่งประเทศฝรั่งเศส และพระเจ้าซาร์ แห่งรัสเซีย ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ดอกคามิลเลียยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความเย้ายวนและสง่างามของผู้หญิง ด้วยสีขาวเกลี้ยงบริสุทธิ์ ผสานกับกลีบดอกที่มนกลมเรียงซ้อนกันอย่างงดงาม เหล่าสตรีชนชั้นสูงจึงนำคามิลเลียมาประดับตกแต่งตามเสื้อผ้าและศีรษะ จนเข้าสู่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดอกคามิลเลียได้กลายมาเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในหมู่สตรีและบุรุษด้วยการนำมาประดับแจ็กเก็ต หรือแม้แต่หมวก หรือชุดสูทประจำวัน หนึ่งในผู้หลงใหลดอกไม้นี้คือกาเบรียล ชาเนล ผู้ซึ่งสนับสนุนและต่อยอดความสวยงามของดอกคามิลเลีย จึงนำดอกไม้นี้เข้าสู่แวดวงแฟชั่นและนำมาประดับเข็มขัดครั้งแรกในปี 1913

     แรงบันดาลใจของกาเบรียล ชาเนลที่มีต่อดอกคามิลเลียทวีคูณยิ่งขึ้นเมื่อครั้งเธอได้รับชมละครเวทีเรื่อง “The Lady of the Camellias” จากนวนิยายของ Alexandre Dumas โดยมี Sarah Bernhardt รับบทเป็นหญิงสาวโสเภณีนามว่า ‘Marguerite Gautier’ และได้รับฉายาเป็น ‘หญิงสาวแห่งดอกคามิลเลีย’ เพราะเธอใช้ดอกไม้นี้เป็นสัญญะในการสื่อสารโดยดอกสีแดงเปรียบเปรยถึงการมีฤดูรอบเดือนของเธอ และสีขาวคือรอบเดือนของเธอได้หมดลงแล้ว ก่อนที่หลายปีให้หลังจากนั้นบุรุษผู้เป็นคนรักและแรงบันดาลใจสำคัญของกาเบรียลอย่าง ‘Boy Arther Capel’ ยังเคยมอบช่อดอกคามิลเลียแก่เธอเพื่อบ่งบอกถึงความรักอันบริสุทธิ์และบานสะพรั่งระหว่างบอยกับกาเบรียลอีกด้วย

     ด้วยความทนทานต่อความหนาวและเป็นดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่นจนตีกับกลิ่นหอมอื่นๆ บนเรือนร่าง รวมถึงความพิเศษทางใจที่กาเบรียลต้องการสื่อถึงบอยว่าเธอมีความสุขเสมอเมื่ออยู่ท่ามกลางดอกคามิลเลีย ตลอดปี 1913 เธอจึงเริ่มนำดอกคามิลเลียที่ประดิษฐ์จากผ้าไหมประดับบนปกเสื้อและศีรษะ ก่อนที่จะนำไปตกแต่งในอพาร์ตเมนต์ของเธอ ทั้งการดัดแปลงเป็นดอกคามิลเลียคริสตัลที่ห้อยเป็นโคมไฟระย้า ตลอดจนการตกแต่งดอกคามิลเลียไว้ทั่วร้านบูติกชาเนลสาขาแรกของโลก ณ 31 Rue Chambon ประเทศฝรั่งเศส

     สืบเนื่องมาจนปี 1924 ดอกคามิลเลียได้ถูกนำมาประดับบนเสื้อผ้าอาภรณ์อยู่เสมอตั้งแต่สายรอบเอว ประดับบนเสื้อเชิ้ต เรื่อยไปจนถึงเดรสดำอันเป็นชุดไอคอนิกของกาเบรียล ชาเนล ก่อนที่ในปี 1927 จะเริ่มจำลองดอกคามิลเลียจากการรังสรรค์ด้วยผ้าปีเก้แทนการใช้ดอกจริง ดอกคามิลเลียจากผ้าปีเก้จึงกลายเป็นต้นแบบของเครื่องประดับ รวมถึงการตกแต่งบนเสื้อผ้า และกล่องใส่ของ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ชาเนลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     เมื่อมีการจำลองดอกคามิลเลียเสมือนดอกจริงขึ้นมาแล้ว แบรนด์ชาเนลจึงได้นำดีไซน์ของดอกคามิลเลียมารังสรรค์เป็นแอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ ตามรูปร่างของดอกไม้จริงโดยการนำวัสดุอื่นๆ มาออกแบบขึ้นใหม่จากการประดิษฐ์ขึ้นโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญ เริ่มต้นขึ้นในปี 1936 คือสร้อยคออันเป็นงานหัตถศิลป์ที่นำแก้วใสมาตกแต่ง โดยได้รับการดีไซน์มาจากช่างฝีมือห้องศิลป์กิปปัว ก่อนที่ในปี 1954 ช่างฝีมือนามว่า ‘อเล็กซานเดอร์’ ได้ออกแบบเครื่องประดับศีรษะรังสรรค์เป็นรูปดอกคามิลเลียเพื่ออุทิศให้เป็นส่วนหนึ่งของชาเนล หลังจากนั้นก็มีการดัดแปลงวัสดุของดอกคามิลเลียให้มีความแตกต่างและเหมาะสมต่อการใช้งานอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เป็นภาพลักษณ์และสร้างภาพจำให้แก่เหล่าสาวกผู้หลงใหลในดอกคามิลเลียนี้เช่นกัน

     จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ช่างฝีมือผู้มีความเชี่ยวชาญจาก Lemarie’s Flower จะรังสรรค์ดอกคามิลเลียเสมือนจริงมากกว่า 20,000 ดอกด้วยมือทั้งหมดผ่านการควบคุมจากชาเนลเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีความสวยงามสมมาตร สืบสานปณิธานของกาเบรียล ชาเนล ผู้ซึ่งยกย่องให้ดอกคามิลเลียเป็นตัวแทนของหญิงสาวผู้บริสุทธิ์และมีอิสระในการเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์แบบ เฉกเช่นที่ ‘CHANEL’ ต้องการให้เป็นเช่นนั้นเสมอมา

 

ตามไปอ่านบทความ VOGUE HISTORY เพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

WATCH