ชุดราตรี สมเด็จพระพันปีหลวงฯ Balmain
FASHION

VOGUE HISTORY | ย้อนรอยฉลองพระองค์สมเด็จพระพันปีหลวงฯ โดยฝีมือของดีไซเนอร์ในตำนาน Pierre Balmain

#VogueHistory ขอพาย้อนภาพแห่งความทรงจำกับพระสิริโฉมอันงดงามภายใต้ฉลองพระองค์ของ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ในฉลองพระองค์อันทรงคุณค่าที่ได้แบรนด์ระดับโลกอย่าง ‘Balmain’ มาร่วมออกแบบจนเกิดเป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการแฟชั่นไทยเป็นอย่างยิ่ง

Vogue History ขอพาทุกคนย้อนเรื่องราวความเป็นมาของพระสิริโฉมอันงดงามภายใต้ฉลองพระองค์ของ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ กับภาพ ‘ชุดไทย’ ไอคอนิกที่ได้แบรนด์ระดับโลกอย่าง ‘Balmain’ มาร่วมรังสรรค์จนเกิดเป็นภาพแห่งความทรงจำครั้งสำคัญที่สะท้อนความเป็นไทยผ่าน ‘ชุดประจำชาติ’ หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์และแสดงออกถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่น

คอลเล็กชั่นฉลองพระองค์มีทั้งแบบชุดไทยและชุดสากล เรื่อยไปจนถึงการออกแบบที่เป็นไปตามบริบทของประเทศที่เสด็จฯ ไปเยือน อย่างคอลเล็กชั่นฉลองพระองค์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรปจนเป็นที่โด่งดังล้วนออกแบบโดย ‘ปิแอร์ บัลแมง’ (Pierre Balmain) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศสและผู้ก่อตั้ง ‘Balmain’ แบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในเรื่องความสง่างามและความซับซ้อนของรายละเอียดที่เปรียบการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นดั่งสถาปัตยกรรมแห่งการเคลื่อนไหว ผลงานของปิแอร์ที่ประดับผ่านพระสิริโฉมอันงดงามของสมเด็จพระพันปีหลวงได้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกและสื่อมวลชนอย่างเอิกเกริก ความเข้ากันอย่างล้ำเลิศนี้ส่งให้พระองค์ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่แต่งตัวดีที่สุดตลอดกาลของโลก ด้วยการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างสไตล์ส่วนพระองค์กับการออกแบบที่งดงามสมพระเกียรติของราชินี

โดยผลงานที่ปิแอร์ชื่นชอบที่สุดคือฉลองพระองค์ชุดราตรี เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอิตาลีและอังกฤษ ในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พระราชวังควิรินาเล กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1960 ตัวชุดตัดเย็บด้วยไหมซาติน ปักประดับด้วยลูกปัด เส้นไหม เลื่อม และดิ้นขนสีทอง ฉลองพระองค์ชุดนี้ตัดเย็บแบบฝรั่งซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลวดลายตกแต่งแบบที่นิยมกันในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยผลงานนี้สะท้อนถึงความทันสมัยและรสนิยมส่วนพระองค์ เหนือไปกว่านั้นคือกาลเทศะที่เป็นไปตามบริบทของประเทศที่เสด็จฯ ไปเยือน จนได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศทั้งอิตาลีและอังกฤษ โดยสื่อทั้งสองล้วนชื่นชมพระสิริโฉมอันโสภาของพระองค์ ตั้งแต่นั้นมาชื่อนักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้อยู่เบื้องหลังฉลองพระองค์อันงดงามนี้อย่าง Pierre Balmain ก็เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว

หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และ Balmain คงต้องเกริ่นก่อนว่ากว่าชุดไทยจะมาเป็นชุดประจำชาติอย่างที่รู้จักกันในทุกวันนี้ล้วนเป็นผลพวงมาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' และสมเด็จพระพันปีหลวงฯ เสด็จฯ เยือนต่างประเทศในช่วงปี 1960-1969 ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศแต่ละครั้งล้วนต้องคำนึงถึงบริบทและประเพณี การเลือกดีไซเนอร์ต่างชาติจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนับเป็นมาตรฐานทั่วไปของราชวงศ์ในการเลือกตัดชุดกับนักออกแบบที่โด่งดังมีชื่อเสียง โดยโอกาสครั้งใหญ่นี้ได้ไปตกอยู่ที่ปิแอร์ ในครั้งที่เสด็จฯ เตรียมตัวเยือนต่างประเทศประจวบเหมาะกับที่ปิแอร์ได้เดินทางมายังประเทศไทยพอดิบพอดี จึงได้ถูกทาบทามเข้ามาให้คำปรึกษาก่อนจะยกระดับมาเป็นการออกแบบชุดที่ทำจากทั้งผ้าไทยและผ้าสากลจนกลายมาเป็นคอลเล็กชั่นที่น่าจดจำจนถึงทุกวันนี้

ในการร่วมมือกับปิแอร์ พระองค์ได้ทรงแนะนำเรื่องการใช้ผ้าตลอดไปจนถึงการปักประดับฉลองพระองค์ด้วยลวดลายแบบไทย ออกแบบและตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์สวมใส่ในทุกวาระโอกาสที่เสด็จฯ เยือนต่างประเทศหรือต้อนรับบุคคลสำคัญ โดยมักเห็นพระสิริโฉมภายใต้ฉลองพระองค์อันงดงามจนเกิดเป็นกระแสนิยมและกลับมามีชีวิตชีวา โดยความลงตัวระหว่างฝีมือของปิแอร์และสไตล์ส่วนพระองค์ที่แฝงความเป็นไทยเข้าไป ไม่เพียงแต่การนำเสนอชุดไทยในมุมมองที่หรูหราและร่วมสมัย แต่ปิแอร์ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชุดไทยที่มีความงดงามวิจิตรตระการตาในทุกรายละเอียด นับเป็นผลงานและความสำเร็จที่เปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง กลายมาเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานอย่างชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ

คอลเล็กชั่นชุดไทยโดย Balmain ของพระองค์ล้วนเป็นการผสมผสานระหว่างการเลือกใช้ผ้าไทยมาตัดเป็นชุดแบบสากล และการเลือกใช้ผ้าสากลมาตัดเป็นชุดไทย ด้วยพระราชปณิธานส่วนพระองค์จากการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นหลายจังหวัด ทรงทอดพระเนตรเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านกับงานฝีมือที่สะท้อนเรื่องราวและวิถีชีวิตผ่านการรังสรรค์ผืนผ้า จนเกิดเป็นความประทับใจในความงานของผ้าท้องถิ่น พระองค์จึงมีปณิธานที่จะส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะด้านแฟชั่นและการออกแบบเสื้อผ้า โดยพระองค์มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการฟื้นฟูและพัฒนาชุดไทยไปจนถึงการสวมใส่ในพระราชกรณียกิจสำคัญ อย่างการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ สมเด็จพระพันปีหลวงฯ ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดไทยที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างแท้จริง สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์และสืบสานธรรมเนียมการแต่งกายแบบไทย และการผสมผสานการแต่งกายแบบสตรีไทยในราชสำนักโบราณเข้ากับยุคสมัยได้เหมาะแก่วาระต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง

การนำเสนอชุดไทยให้ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศของสมเด็จพระพันปีหลวงฯ ไม่ได้สะท้อนถึงพระราชปณิธานของพระองค์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการแฟชั่นไทยเป็นอย่างมาก และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าพระองค์เองก็เป็นบุคคลสำคัญที่ปลุกกระแสนิยมของชุดไทย ด้วยรายละเอียดที่ละเอียดลออและมีความสวยงามอันวิจิตรตระการตา ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นพระราชปณิธานหรือเรื่องราวของผ้าที่สะท้อนวิถีชีวิตผู้คนในแต่ท้องถิ่น โดยปัจจุบันสามารถชมคอลเล็กชั่นฉลองพระองค์ที่รังสรรค์โดย Balmain ได้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ หอรัษฎากรพิพัฒฯ ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอก

นับตั้งแต่การร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวงฯ และแบรนด์ระดับโลกอย่าง Balmain ในการออกแบบชุดที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยครั้งนั้น ชุดไทยก็ได้ถือกำเนิดใหม่เป็นชุดประจำชาติ ด้วยมาตรฐานเครื่องแต่งกายที่ล้วนเป็นผ้าไทยทั้งสิ้น บวกกับดีเทลที่ตระการตาและอ่อนช้อย ส่งให้ชุดไทยกลายเป็นหนึ่งในชุดประจำชาติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว หรือมักเห็นได้จากการประกวดนางงามบนเวทีระดับโลกกับรอบโชว์ที่จะให้เหล่านางงามนำเสนอชุดประจำชาติของตน เพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของประเทศนั้นๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของสมเด็จพระพันปีหลวงฯ ไม่เพียงแต่เผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ทรงคุณค่าเท่านั้นแต่ยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

 

สามารถติดตาม #VogueHistory ได้ทุกวันศุกร์ ทุกช่องทางของ Vogue Thailand

 

ภาพ: Getty Image

กราฟิก: จินาภา ฟองกษีร

WATCH