FASHION
ล้วงลึกพิสูจน์ความจริงกับภาพพอร์เทรต Vincent van Gogh ที่ใครก็บอกว่าปลอม!
|
ข่าวใหญ่แห่งวงการศิลปะ! แน่นอนว่าชื่อของ Vincent van Gogh จะต้องโผล่ขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ หากพูดถึงหมวดหมู่ศิลปิน งานศิลปะมากมายถูกรังสรรค์ผ่านพู่กันและมันสมองอันอัจฉริยะ งานของเขาหลายต่อหลายชิ้นโด่งดังอย่างมากเช่นภาพเสมือนของตนเอง ภาพดอกทานตะวัน และอีกมากมาย แต่ทว่าปัญหาของงานศิลปะของยอดฝีมือมักถูกตั้งคำถามเสมอว่าจริงหรือปลอม และภาพวาดเสมือนของแวนโก๊ะก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ โดยภาพเสมือนดังกล่าวไม่ใช่ภาพอันโด่งดังแต่กลับเป็นภาพเสมือนอีกหนึ่งภาพที่มีการลงสีที่ไม่สดใสเลียนล้อไปกับใบหน้าอันสะท้อนถึงความหม่นหมองภายในใจของศิลปินขณะวาด ที่น่าเศร้ากว่าคือมันถูกมองว่าไม่ใช่ผลงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะ และปัญหาแคลงใจนี้ก็ถูกคลายว่า “มันคือภาพจริง!”
บรรยากาศภายนอกของ Nasjonalmuseet กลางกรุงออสโล / ภาพ: Kleihues + Schuwerk
เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงปี 1910 ที่พิพิธภัณฑ์ Nasjonalmuseet ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ซื้อภาพเสมือนปี 1889 ของแวนโก๊ะมาเก็บไว้ในคอลเล็กชั่นเตรียมจัดแสดง ซึ่งพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาเอาไว้อย่างดีนับจากนั้น ปัญหาคือตลอดระยะเวลาหลายสิบปีไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสรุปแล้วเป็นของจริงหรือไม่ พอถึงปี 1970 เมื่อคนมีโอกาสเข้าถึงภาพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีข้อสงสัยขึ้นมาไม่ขาดสาย และทุกทางเห็นไปในทางเดียวกันว่าหลักฐานยืนยันว่าภาพนี้เป็นของจริงมีน้อยเกินไป จากจุดนี้ทำให้ภาพเสมือนแวนโก๊ะกลางกรุงออสโลถูกมองว่าของปลอมเสียมากกว่า...
Joseph และ Marie Ginoux เพื่อนของ Vincent van Gogh / ภาพ: Fine Art Biblio & Wikidata
เอนเอียงแต่ก็ยังไม่ฟันธง...ผู้คนตั้งแง่กับภาพนี้ว่าปลอมแต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลอมจริงๆ เช่นกัน พอถึงปี 2006 เจ้าของภาพก็ได้ใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่าอย่างน้อยภาพนี้ก็เป็นภาพที่ปรากฏอยู่ในเส้นเรื่องชีวิตของแวนโก๊ะจริง เพราะจากหลักฐานที่มาที่ไปนักวิจัยค้นพบว่าภาพเสมือนแวนโก๊ะในอารมณ์ซึมเศร้าเป็นของ Joseph และ Marie Ginoux เพื่อนของคนในภาพที่อาศัยอยู่ ณ เมืองอาร์ลส์ แต่คำว่า “มีเจ้าของ” ไม่ได้การันตีว่านี่คือฝีมือของแวนโก๊ะจริงๆ แม้ผู้ถือครองจะเป็นเพื่อนคนสนิทก็ตาม ภาพเสมือนสุดหม่นหมองก็ยังคงเป็นปริศนารอคนไขคำตอบต่อไป
WATCH
Louis van Tilborgh ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Vincent van Gogh โดยเฉพาะ / ภาพ: Van Gogh Museum
ความค้างใจนี้ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ผู้ครอบครองผลงานนี้ถึงกับเปิดให้ Louis van Tilborgh ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแวนโก๊ะที่อาศัยอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ บินลัดฟ้ามาเพื่อศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับภาพเสมือนที่เต็มไปด้วยข้อกังขานี้ ถ้าเกิดเป็นของปลอมหรือเป็นฝีมือของศิลปินคนอื่นขึ้นมาจริงๆ ก็ยังดีกว่าเป็นภาพอันสวยงามแต่ไร้ซึ่งคำยืนยัน สิ่งนี้จะยิ่งทำให้ภาพเสมือนของแวนโก๊ะถูกทอนคุณค่าลงเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญเริ่มรวบรวมข้อมูล ศึกษาประวัติศาสตร์ ปะติดปะต่อเรื่องราวของภาพ อารมณ์ของภาพ การใช้สี เทคนิค และหลายองค์ประกอบเข้ากับไทม์ไลน์ชีวิตของสุดยอดศิลปินชาวดัตช์
บรรยากาศโซนจัดแสดงภาพพอร์เทรตของ Vincent van Gogh / ภาพ: AFP/AFPTV/Sara Magniette
“เขาเจ็บปวดขณะวาดภาพนี้” หลุยส์ยืนยันว่าภาพนี้เป็นของจริง! หลังจากคาใจกันมากว่าร้อยปี วันนี้ผู้เชี่ยวชาญประกาศแล้วว่าเป็นภาพของแวนโก๊ะและวาดโดยแวนโก๊ะจริงๆ ก่อนหน้านี้ภาพถูกวิจารณ์ว่ามีการใช้เทคนิคไม่เหมือนแบบที่แวนโก๊ะใช้ในผลงานชิ้นโด่งดังต่างๆ แต่หลุยส์ระบุว่าการใช้เทคนิคสีแบบนี้แวนโก๊ะใช้เป็นประจำ แค่มีการปรับจุดที่ใช้ภายในภาพจึงทำให้ผู้ชมรู้สึกแปลกจนไม่แทบไม่เชื่อว่าเป็นภาพเสมือนของตัวผู้วาดเอง ประเด็นเรื่องเทคนิคถูกนำมาอธิบายเพื่อตอบคำถามที่คาใจกันมาเนิ่นนานเสียที แต่แน่นอนว่าเหตุผลเดียวไม่สามารถชะล้างข้อกังขาอื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นหลุยส์ต้องมีคำตอบในด้านอื่นด้วย
Saint-Paul Asylum สถานที่ที่ Vincent van Gogh ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายชีวิตอาศัยอยู่ / ภาพ: Musée d'Orsay
หลังจากใช้เวลารวบรวมข้อมูลกว่า 5 ปี ศาสตราจารย์ด้านศิลปะก็ได้ทำการอธิบายเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างช่วงชีวิตของแวนโก๊ะและภาพเสมือนในภาวะซึมเศร้านี้ ซึ่งเราจะพูดถึงช่วงชีวิตของแวนโก๊ะก่อนในปี 1888 ถึง 1889 เขาล้มป่วยและมีอาการผิดปกติทางจิต ซึ่งตามบันทึกบอกว่าวันที่ 22 สิงหาคม 1889 วินเซนต์ แวนโก๊ะอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชในเมืองแซงต์เรมี ตัวแวนโก๊ะเองก็บันทึกไว้ว่าเขารู้สึกกระวนกระวายใจแต่ก็ยังสามารถกลับมาวาดภาพได้ อีกประมาณเกือบ 1 เดือนต่อมา วันที่ 20 กันยายนปีเดียวกันแวนโก๊ะเขียนจดหมายอ้างอิงข้อมูลภาพวาดถึงน้องชายสุดที่รักว่า “มันเป็นผลงานขณะที่ฉันกำลังป่วย” ซึ่งจากข้อมูลชุดนี้เทียบกับช่วงชีวิตของตัวศิลปินและอายุของภาพวาดชิ้นนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงข้อมูลทั้งหมดจะลงล็อคพอดีราวกับลูกกุญแจมาไขห้องลับได้ถูกดอก
รายละเอียดระยะใกล้ของภาพเสมือน Vincent van Gogh เวอร์ชั่นหน้าตาเศร้าโศก / ภาพ: ARTNews
“แววตาสงสัย เอียงหน้าเศษ 3 ส่วน 4 เหล่มองผู้ชมตลอดเวลา” คำอธิบายของภาพวาดเสมือนชิ้นนี้ทำให้เราแยกความแตกต่างระหว่างภาพเสมือนสุดโด่งดังกับภาพเสมือน ณ กรุงออสโลได้เป็นอย่างดี เมื่อหลุยส์ลองวิเคราะห์ดูเขาเห็นว่าตามช่วงเวลาชีวิตของแวนโก๊ะเขาตรากตรำอยู่ในโรงพยาบาลทางจิต เขาหวาดกลัวที่จะอยู่ในที่แบบนี้ และการวาดภาพของเขาเปรียบเสมือนการสะท้อนเงาตัวเองในกระจก และสิ่งที่ศิลปินระดับตำนานผู้นี้วาดมันคือภาพสะท้อนความหม่นหมองของชายที่ชื่อวินเซนต์ แวนโก๊ะ ภาพสะท้อนจากกระจกที่ตะโกนออกมาว่า “นี่ไม่ใช่คนที่ฉันอยากเป็น”
ความงดงามของผลงานชิ้นนี้ถูกบันทึกผ่านโทรศัพท์มือถือ / ภาพ: Dejong—AP
ความมืดมนในใจของแวนโก๊ะนี้เองที่ทำให้ภาพวาดชิ้นนี้มันดูแตกต่างจนโดนฟันธงว่าเป็นของปลอม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ยิ่งทำให้ภาพเสมือนแวนโก๊ะเวอร์ชั่นไม่คุ้นตากลับยิ่งน่าจดจำ และแน่นอนว่ามันคือยาบรรเทาความทุกข์ที่เขามีต่อโลกนี้ ชีวิตศิลปินที่ไม่ได้สวยงามดั่งภาพวาด ความเจ็บปวดแสนทรมานถูกถ่ายทอดมาในโทนสีที่ยิ่งดูก็ยิ่งเหมือนโศกเศร้าตามแวนโก๊ะไปด้วย และด้วยความเข้มข้นทางอารมณ์ทำให้ภาพดูไม่เนี้ยบเหมือนกับผลงานชิ้นโบว์แดงอื่นๆ ภาพเสมือนแวนโก๊ะเวอร์ชั่นโศกเศร้านี้จึงกลายเป็นความพิเศษที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตำนานศิลปินผู้ล่วงลับคนนี้ได้อย่างลึกซึ้งที่สุดภาพหนึ่ง ปลายพู่กันสะบัดสีโน้มตามอารมณ์ของผู้วาดที่ดิ่งลึกเข้าไปในใจกลางความอัดอั้น ปี 1890 คือปีที่แวนโก๊ะจากไปแบบไม่มีวันกลับ แต่ 1 ปีก่อนหน้านั้นผลงานนี้ได้ถูกรังสรรค์ออกมาราวกับว่าพร้อมใช้เป็นรูปหน้าศพ เพราะปี 1889 ที่ภาพดังกล่าวเสร็จลุล่วงโดยฝีมือของวินเซนต์ แวนโก๊ะในช่วงเวลาที่เขาเหมือนตายทั้งเป็น ต่อไปนี้ภาพพอร์เทรตภาพนี้จะเป็นอีกหนึ่งภาพที่คนรักศิลปะจดจำและเก็บไว้ในส่วนลึกของหัวใจ แต่ใครจะรู้ในวันที่ผลงานชิ้นนี้เสร็จผู้วาดอาจจะอยากลืมช่วงเวลานั้นของชีวิตไปตลอดกาล...
ข้อมูล: New York Post, The Guardian, TIME และ BBC
WATCH