FASHION
เปิดตัว THAI TEXTILES TREND BOOK S/S2022 ผลงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯเปิดตัวหนังสือผ้าไทยที่นักออกแบบทุกคนต้องมี! สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงจัดทำเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ขึ้นเพื่อนักออกแบบ ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา |
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่รุ่มรวยไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าซึ่งสืบต่อกันมาช้านาน จึงไม่แปลกที่ชาวต่างชาติต่างดั้นด้นเดินทางมาถึงประเทศเราเพื่อครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้ชื่นชมและสัมผัสด้วยตัวเอง หากอีกหนึ่งหน้าที่ในการเป็นคนไทยคือการดูแลรักษา ปกป้อง สืบต่อภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ตระหนัก และเข้าใจถึงรากเหง้าของตัวเอง โว้กในฐานะสื่อแฟชั่น หัวข้อที่เราให้ความสนใจอยู่เสมอเห็นจะเป็นเรื่องของ “ผ้าทอ” ผลงานศิลปะที่สะท้อนคุณค่าภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และการย้อมสีด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อรังสรรค์ขึ้นเป็นผ้าไทยผืนสวย
หากการดูแลรักษาและต่อยอดวัฒนธรรมผ้าไทยที่เราได้เห็นกันอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผ้าไทยเป็นอย่างมาก ทรงวางรากฐานให้กับราษฎรได้ช่วยกันดูแลฟูมฟักวัฒนธรรมเหล่านั้นภายใต้โครงการ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์” ด้วยทรงเล็งเห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยมีฝีมือด้านศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพโดดเด่นไม่แพ้ใคร และแน่นอนว่าพระองค์ไม่เพียงแค่อนุรักษ์ผ้าไทยให้สืบไปเท่านั้น หากสิ่งนี้ยังเป็นการหยิบยื่นโอกาสในการเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวของชุมชนด้วย วันนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชนัดดาในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสานต่องานโครงการ พร้อมปรับให้มีความทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น ทรงมีความเชื่อมั่นเฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าผ้าทอของไทยเรานั้นไปได้ไกล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ขณะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร ณ บ้านดอนกอย หมู่บ้านย้อมผ้าสีคราม จังหวัดสกลนคร โดยมีเป้าประสงค์ส่วนพระองค์ในการพัฒนาชุมชมและวิถีชีวิตชาวบ้านให้ดำเนินไปได้กับความร่วมสมัย พร้อมทั้งทรงให้กำลังพระทัยต่อชาวบ้านทุกคนในเรื่องการรักษาเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้านไว้อย่างมั่นคง
พระองค์ทรงต่อยอดพระราชปณิธานด้วยการผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานที่มีอยู่ จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์เองด้วยทรงเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI BANGKOK” ที่จัดแสดงโชว์คอลเล็กชั่นอยู่หลายครั้งทั้งในประเทศไทย ไปจนถึงการจัดแสดงผลงานที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งยังทรงได้รับรางวัลศิลปาธร หรือรางวัลศิลปินร่วมสมัยดีเด่นประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) “ทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย” ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย
WATCH
ด้วยเหตุนี้ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 ขึ้น และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in chief) ด้วยพระองค์เองร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และทีมที่ปรึกษา ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลกขึ้น โดยหนึ่งในคณะที่ปรึกษาได้แก่ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปมอบให้ราษฎรและผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประกอบสัมมาอาชีพ ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่านี้ต่อไป โดยมีเทรนด์บุ๊กเล่มนี้เป็นเสมือนคู่มือ
พระองค์ทรงพระนิพนธ์คำนำไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และทีมที่ปรึกษาของข้าพเจ้าได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึก และทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ทำให้หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 สามารถใช้งานได้จริง ข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์ด้านแฟชั่นทั้งจากการที่ได้ไปเรียนต่อและศึกษาดูงานในต่างประเทศ การลงมือปฏิบัติจริง การได้มีโอกาสเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และได้ลงพื้นที่ในต่างจังหวัดหลายจังหวัดทำให้เห็นมิติอันหลากหลาย รวมทั้งความรู้ความสามารถที่มีมอบไว้กับหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เหล่านักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน ช่างทอผ้า และผู้ที่อยากเป็นนักออกแบบในทุกสาขาทั่วทุกภูมิภาค เพื่อรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทูลกระหม่อมปู่และสมเด็จย่าของข้าพเจ้าได้พระราชทานคำแนะนำและสอนข้าพเจ้าเสมอมา เรื่องการสร้างอาชีพ ให้แก่ราษฎรซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน ทำให้ราษฎรมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้”
ตัวอย่างการนำผ้าไทยมาปรับใช้ให้เข้ากับแฟชั่นในยุคปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคู่มือสำหรับนักออกแบบทั่วทุกสาขาที่สามารถหยิบเอาไปใช้ต่อยอดในงานสาขาที่เกี่ยวข้องได้ โดยภายในจะบอกเล่าตั้งแต่ประเภทของเนื้อผ้า การเลือกสี การออกแบบลวดลาย รวมไปถึงเทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาข้อมูลทั้งหมดไปประยุกต์ใช้กับงานผ้าไทยได้อย่างมีทิศทาง โดย THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 นำเสนอ 6 เทรนด์ ที่ได้จาก 6 กลุ่มสีที่ผ่านการเลือกสรรและเป็นตัวแทนของ “สีโทนไทย” ที่จะสามารถโดดเด่นอยู่ในแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในอนาคต โดยแต่ละโทนสีจะให้ภาพลักษณ์และอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป ยังรวมไปถึงวัสดุที่เลือกใช้ ลวดลาย และเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ
- แถบสีเหลือง (The Value of Dusit Lagacy): นำเสนอถึงความรุ่งเรืองหรูหราในยุค 1920 เหมาะกับกลุ่มผู้นำแฟชั่น The Influencer ที่ชอบเข้าสังคมและมีเสน่ห์ดึงดู
- แถบสีแดง (Holistic Elegance): เป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดสำหรับผ้าทอพื้นเมืองไทย เนื่องจากสื่อถึงความหมายที่คลาสสิกร่วมสมัย เหมาะกับกลุ่ม The Admirer ผู้ให้คุณค่ากับความงามแบบองค์รวม
- แถบสีย้อมธรรมชาติ (Social Creation): เพื่อตอบโจทย์ความเป็นธรรมชาติสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเป็นผู้ให้ของ The Caregiver
- แถบสีเขียวโศก (Nostalgic Dream): เล่าถึงความฝันและความไร้เดียงสา รวมไปถึงความแฟนตาซีของกลุ่ม The Dreamer
- เฉดสีดำ (New Wave Ego): สำหรับ The Ruler ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล การบริหารอำนาจ และกฎระเบียบ
- เฉดสีเทา (Change for Redemption): สัญลักษณ์ของการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับสังคม เพื่อบ่งบอกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงและแก้ไข The Revolutionist
“วัฒนธรรมท้องถิ่นจะยืนหยัดอย่างมีคุณค่าท่ามกลางโลกาภิวัตน์เมื่อหยั่งลึกถึงรากเหง้า และภูมิปัญญา โดยหลอมรวมเข้าเป็นคุณค่าระดับสากล”
เสื้อผ้าแฟชั่นประยุกต์จากผ้าทอของประเทศไทย
หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 นี้ จะเปิดตัวในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ณ Iconsiam Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม ซึ่งภายในงานจะมีการจัดประชุมวิชาการ Symposium การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล โดยทีมงานได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาเป็นองค์ประธานในการเสวนา พร้อมเปิดนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ที่ได้เหล่าดีไซเนอร์แถวหน้าระดับประเทศจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI, Tirapan, Kai, Asava, Theatre, Wisharawish, Vatanika, Kloset, Tube Gallery, ARCHIVE026, Milin และ TandT มาร่วมจัดแสดงผลงานที่สร้างสรรค์จากผ้าไทย
ผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการครั้งนี้สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 13-17 ธันวาคม ณ Iconsiam Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม
WATCH