ไทยดีไซเนอร์
FASHION

The Next Phenomenon! 13 ไทยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ จาก 12 แบรนด์ดัง ที่คุณต้องทำความรู้จักในปีนี้

โว้กรวบลิสต์รายชื่อดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่แห่งยุค ที่กำลังสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในระดับอินเตอร์

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ดีไซเนอร์ไทยหลายรุ่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสร้างผลงานและส่งต่อแรงบันดาลใจ จนทำให้ปัจจุบันวงการแฟชั่นไทยไม่ได้เฟื่องฟูแค่ในประเทศ แต่ยังเป็นที่จับตามองในระดับอินเตอร์ และนี่คือ 13 ดีไซเนอร์ไทย จาก 12 แบรนด์ที่กำลังสร้างหมุดหมายใหม่ให้วงการแฟชั่นไทย ด้วยความคิดสร้างสรรค์ วิสัยทัศน์ใหม่ๆ และการปรับตัวซึ่งจะพาพวกเขาและอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสด้วยกัน

1 / 12

ภิพัชรา แก้วจินดา (เพชร) แบรนด์ PIPATCHARA

"จุดเริ่มต้นเราคิดเพียงว่าจะนำเอางานคราฟต์และศิลปะเข้าไปอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนให้ได้ แต่พอปรึกษาคุณแม่ เราก็ได้คิดและตั้งคำถามอีกมุมด้วยว่าแล้วเราจะทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากแบรนด์นี้ได้อย่างไร เลยทำให้เกิดชุมชนช่างฝีมือที่อยู่เบื้องหลังงานคราฟต์ของแบรนด์ เป็นการผลักดันพวกเขาให้ได้เป็นศิลปินจริงๆ และเมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่อง Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในวงการแฟชั่นไทยอีกด้วย"



2 / 12

โชน ปุยเปีย แบรนด์ SHONE PUIPIA

"โชนตั้งใจอยากจะมีพื้นที่เพื่อนำเสนอโลกงานออกแบบของเรา เลยเป็นที่มาของการเปิดตัวสตูดิโอ soi sa:m พร้อมๆ ไปกับการสร้างแบรนด์ ตอนนั้นคิดว่ากรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่ที่สามารถเปิดให้คนที่สนใจงานของเราได้เข้ามาสัมผัสแง่มุมต่างๆ ของแบรนด์ ได้แอบมองเข้าไปเห็นกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ ได้พูดคุยทำความรู้จักกับคนเบื้องหลังที่ทำงานจริงๆ ซึ่งมันเป็นไอเดียโรแมนติกอันหนึ่งในหัวที่เราอยากส่งต่อประสบการณ์นั้นให้คนที่ใส่งานของเรา"



3 / 12

ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นก) แบรนด์ PATTARAPHAN

"แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างทั้งเรื่องของโลจิสติกส์และการแข่งขันที่สูง ไปจนถึงการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในตลาดสากล แต่นกคิดว่าการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียก็เป็นประโยชน์มากที่จะทำให้แบรนด์ไทยเข้าถึงลูกค้าและตลาดระดับโลก ซึ่งตอนนี้ตลาดโลกก็เริ่มให้คุณค่ากับแบรนด์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับงานช่างฝีมือซึ่งเป็นจุดขายของแบรนด์ไทยหลายแบรนด์"



4 / 12

ธนาวุฒิ ธนสารวิมล (นุ๊กนิ๊ก) แบรนด์ T AND T

"อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมาก ยิ่งในปัจจุบันที่มีเรามีโอกาสบนเวทีระดับโลกมากขึ้น ก็ควรได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันจากภาครัฐ เพราะเราทำกันเองมันไปได้ไกลเท่าที่เราทำได้ แต่ถ้ามีการสนับสนุนจากภาครัฐมันจะไปได้ไกลและมีผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะงานของคนไทยเป็นงานที่มีฝีมือดี มีสไตล์ มีเอกลักษณ์ และมีความหลากหลาย แต่เรายังขาดแรงสนับสนุนที่จะทำให้เราไปได้ไกลกว่านี้"



5 / 12

ณัชชา เมฆรักษาวานิช (เตย) แบรนด์ NASHA

"เมื่อโลกใกล้กันมากขึ้นด้วยโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้ดีไซน์ของทั่วโลกมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น ส่งผลให้การค้นหาตัวตนและเอกลักษณ์ของแบรนด์ยากขึ้นตามไปด้วย เพราะมีคู่แข่งที่มีสินค้าใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมากในตลาด ในแง่ของบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และเจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไป ส่วนตัวเตยคิดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป คือคนอาจจะไม่จงรักภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเหมือนยุคก่อนๆ แล้วซึ่งแบรนด์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวในระยะยาว"



6 / 12

ขนิษฐา ดรุณเนตร (นิดหน่อย) แบรนด์ CANITT

"ขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นทำแบรนด์คือพยายามวางหมุดหมายตัวตนและคาแร็กเตอร์ของผู้หญิงในแบบฉบับ Canitt ให้ชัดเจน และพยายามสื่อสารออกไปให้ถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด การสร้างแบรนด์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทุกขั้นตอนล้วนต้องใช้เวลาและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ รวมถึงการโฟกัสในทุกๆ ด้านก็เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ"



7 / 12

ฟ้า จักษุเวช แบรนด์ FAHCHAK

"ย้อนกลับไปตอนที่ตัดสินใจทำแบรนด์ มีความคิดเดียวเลยคือลงมือทำเลยค่ะ ไม่ต้องคิดเยอะ แต่ต้องทำให้ดีที่สุดแล้วค่อยมาดูว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร เพราะงานแฟชั่นเป็นงานที่หนักและต้องทุ่มเทจริงๆ ในตอนที่ฟ้าเปิดแบรนด์แรกๆ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมีคือความใจเย็น และรอดูภาพรวมในระยะยาว ซึ่งฟ้ารู้สึกว่าการทำงานโดยให้ความใส่ใจต่อโปรดักต์และดีไซน์อย่างละเอียดนั้นจะทำให้คนรักแบรนด์เราจริงๆ "



8 / 12

สรลักษณ์ ติกขะปัญญา (ฝน) แบรนด์ ARCHIVE026

"ฝนคิดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยตอนนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เราได้เห็นความหลากหลายมากขึ้นกว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์หรือความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ รวมไปถึงช่องทางการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ หรือการไลฟ์สด ส่งผลให้โอกาสของดีไซเนอร์ไทยในเวทีระดับโลกมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่การออกไปสู่เวทีระดับสากลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างการทำคอลเล็กชั่นให้ตรงตามตารางฤดูกาลสากลคือบททดสอบด่านแรกที่ไม่ง่ายสำหรับดีไซเนอร์ไทย"



9 / 12

วัจณา เจริญสมสมัย (เมย์) แบรนด์ CHATO STUDIO

"ตอนนั้นไฟแรงมาก เพราะอยากเห็นกระเป๋าที่เราคิดไว้เป็นจริง อยากเห็นคนถือด้วยความภูมิใจว่าเป็นกระเป๋าแบรนด์ไทย แต่สิ่งที่ยากจริงๆ สำหรับเมย์คือช่วงหลังจากนั้น คือการทำให้แบรนด์คงอยู่ได้ต่อไป ซึ่งต้องใช้ทักษะที่มากกว่าแค่แพชชั่น มันคือความสมดุลระหว่างการจัดการกับการบริหาร ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ยอมรับความผิดพลาด แล้วแก้ไขมันเพื่อจะเดินหน้าต่อ"



10 / 12

สรัญชลี ปริยวัฒน์ (นิว) แบรนด์ PATARASIRI

"แบรนด์เริ่มต้นเมื่อ 40 ปีก่อนโดยคุณแม่ ชื่อ Patarasiri เป็นชื่อของคุณแม่ นิวก็เลยอยากจะสานต่อในสิ่งที่คุณแม่สร้างและตั้งใจทำมาตลอด ตัวนิวเองเป็นคนชอบทดลองเลือกแมตทีเรียลและงานเทคนิคในการทำชุดต่างๆ ชอบคิดค้นวิธีการสื่อสารความเป็นตัวตนของผู้สวมผ่านดีไซน์และมูฟเมนต์ ผลงานชุดแต่งงานและชุดกาวน์ของแบรนด์จึงสะท้อนเชื่อมโยงถึงศิลปะที่มีชีวิตผ่านตัวตนของผู้สวมแต่ละคนที่แตกต่างอย่างโดดเด่นด้วยงานช่างฝีมือ รวมถึงดีไซน์อันไร้กาลเวลาที่ไม่ว่าลูกค้าจะกลับมาดูรูปอีกกี่ครั้งก็จะมีแต่ความสุข"



11 / 12

ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ (ฝน) และ วิณ โชคคติวัฒน์ (แชมป์) แบรนด์ VINN PATARARIN

"ตอนนี้โลกเปิดกว้างมาก ถ้าผลงานดี ตอบสนองต่อตลาด โลกก็จะหันมาหาคุณเอง จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะบริหารโอกาสนั้นอย่างไร ตามความเหมาะสมและความสามารถของคุณเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราควรต้องร่วมมือกันผลักดันกลุ่มไทยดีไซเนอร์ไปสู่เวทีโลกให้ได้ และต้องแสดงให้เวทีโลกเห็นว่าไทยดีไซเนอร์นั้นมีตัวตนอย่างไร"



12 / 12

ชนาภา ตรีรัตนชาติ (ปุ้น) แบรนด์ IRADA

"คนไทยมีความรู้ความสามารถและภูมิปัญญาเป็นของตัวเอง ทั้งเรื่องสิ่งทอและงานหัตถกรรมต่างๆ แต่เรายังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นเดินทางไปอยู่บนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ ทั้งในแง่ของเงินทุน การทำธุรกิจ และการยกระดับภาพลักษณ์ของการสร้างแบรนด์ ที่ปุ้นคิดว่าเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยยังต้องทำการบ้านอย่างหนัก อีกทั้งการให้คุณค่าต่อแบรนด์ไทยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมได้ด้วยเช่นกัน"



ช่างภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช 
แฟชั่นไดเร็กเตอร์: จงกล พลาฤทธิ์ 
เรื่อง: พีรณัฐ จันทร์สกุลณี




WATCH

 
Close menu