FASHION
คุยกับ ซัน - พิทยา แพเฟื่อง หนุ่มพิจิตรครึ่งฝรั่งเศสผู้ปลดปล่อยความสาวผ่านการเต้น VogueVogue ไม่ใช่แค่ชื่อของสื่อแฟชั่นหัวใหญ่ แต่คือวัฒนธรรมการเต้นสุดสนุกที่เกิดจากความอัดอั้นของชาว LGBT! |
คงอีกไม่นานเท่าไหร่ Vogue สำหรับคนไทยจะไม่ใช่แค่สื่อใหญ่สายเลือดแฟชั่นอย่างเราอีกต่อไป เพราะ ซัน - พิทยา แพเฟื่อง เด็กพิจิตรครึ่งฝรั่งเศสผู้จับพลัดจับผลูไปเติบโตที่นอร์เวย์ แม่แท้ๆ ยกให้ครอบครัวอุปถัมภ์เลี้ยงดู และสุดท้าย หลงรักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจโดยเฉพาะสายโว้ก (Vogueing) หนึ่งในศิลปะใต้ดินที่หล่อหลอมมาจากความอัดอั้นของสังคม LGBT ซันเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและการเต้นโว้กแบบคลุกวงในจาก 'Amazon' หนึ่งในครอบครัวโว้กชื่อดังติดอันดับในมหานครนิวยอร์ก แถมตอนนี้เขาได้บินกลับมาเป็นศิลปินพำนักในไทย ณ Tentacles Art Space ตระเวนสอนเต้นในราคา 50 บาท พร้อมๆ ไปกับการมองหาเด็กรุ่นใหม่มาร่วมปลูกเมล็ดพันธุ์โว้กให้เติบโตในไทยไปกับเขาด้วย
คุณเพิ่งย้ายกลับมาจากนอร์เวย์
ใช่ ย้ายกลับมาได้ 5 ปีแล้ว จริงๆ เราเกิดที่จ.พิจิตรแล้วไปโตที่จ.เพชรบูรณ์ จนกระทั่ง 3 ขวบย้ายตามคุณแม่ไปอยู่ที่นอร์เวย์ คุณพ่อแท้ๆ ของเราเป็นคนฝรั่งเศส แต่ตอนหลังเลิกกับแม่เพราะที่บ้านของคุณพ่อไม่ยอมรับ หลังจากนั้นคุณแม่ก็มาเจอกับพ่อเลี้ยงที่เป็นชาวนอร์เวย์และทำให้ได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น แต่ไม่กี่ปีต่อมา คุณแม่ก็ยกให้เราไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์แทน
เกิดอะไรขึ้น?
เล่าคร่าวๆ ก่อนว่าที่นอร์เวย์จะมีโครงการ Foster Home หรือครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเลี้ยงเด็กๆ ที่พ่อแม่มีปัญหา เช่น ติดยา ติดเหล้า หรือชอบทำร้ายร่างกายลูก โดยครอบครัวอุปถัมภ์จะคอยดูแลไปจนกว่าเด็กจะอายุครบ 19 ปี สำหรับซันเองได้ย้ายไปอยู่กับครอบครัวใหม่ตอนอายุ 12 ปี ส่วนแม่ก็ย้ายกลับประเทศไทย เรากับพี่ชายฝาแฝดก็ได้อยู่กับครอบครัวใหม่ยาวเลย
สาเหตุจริงๆ ที่แม่ยกให้ซันกับพี่ไปอยู่กับครอบครัวใหม่เพราะเขาอยากให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสมากขึ้น เขารู้สึกว่าไม่สามารถเลี้ยงดูเราได้ดีเหมือนคนอื่นๆ เพราะเขาไม่สบายและไม่มีอาชีพ เลี้ยงชีวิตด้วยเงินจากรัฐบาลเท่านั้น
สิ่งที่สัมผัสได้จาก 2 ครอบครัวคือ การเลี้ยงดูระหว่างครอบครัวไทยกับครอบครัวนอร์เวย์ค่อนข้างต่างกันมาก เหมือนคนไทยจะชอบเลี้ยงลูกให้เร่งเป็นผู้ใหญ่ โตเร็วๆ แต่ครอบครัวนอร์เวย์จะเข้าใจการใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นมากกว่า อีกอย่างคือคนไทยชอบตีลูก แต่ที่นอร์เวย์คือห้ามตีเลย เป็นกฎหมายที่เข้มงวดมาก ทำให้หลายครอบครัวคนไทยที่ย้ายไปอยู่ที่นอร์เวย์แล้วเจอกับปัญหานี้ ซึ่งเราตอนเด็กๆ ก็เคยโดนคุณแม่ตีเยอะอยู่เหมือนกัน เวลาเขาดุจะขึ้นเสียงสูงมาก ใจเราตอนนั้นคือไม่ชอบเลย จนตอนหลังเขารู้สึกผิดแล้วเข้ามาขอโทษ
แต่สุภาษิตไทยบอกว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’
คืออะไร? ทำไมรักลูกแล้วถึงไปตีเขาล่ะ? มันมีตัวอย่างบนโลกนี้อีกมากมายที่พ่อแม่ไม่ต้องตีลูก แล้วลูกก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมได้ รู้ไหมว่าพ่อแม่ตีลูกเพราะอะไร เพราะพวกเขาไม่มีสติ ไม่อยู่กับปัจจุบัน คุณตีเพื่อความรู้สึกของตัวเองที่รู้สึกว่าลูกทำผิด ไม่ทำตามที่เราสอน นี่แสดงว่าใช้อีโก้มาก เราโมโหเพราะรู้สึกว่าลูกทำไม่ดีอย่างที่เราตั้งใจใช่ไหมล่ะ
เด็กก็เป็นคนเหมือนกันกับเรา อย่าไปคิดว่าเราตีเขาได้ตามใจเพราะแค่เรามีอายุมากกว่า
ได้เจอคุณแม่แท้ๆ บ้างไหม
ไม่นานมานี้เอง หลังจากที่ซันย้ายกลับมาอยู่ไทยประมาณ 5 ปีครึ่งที่แล้ว เขาก็โดนจับในข้อหาค้ายาและติดคุกอยู่ 2 ปี ทุกวันนี้เราก็ส่งเงินช่วยคุณแม่ทุกเดือนล่ะ แม่ที่นอร์เวย์ยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าทำไมต้องให้เงินแม่ เพราะวัฒนธรรมเขาไม่เหมือนกันกับเรา แต่เราเองก็อยากให้
เกิดอะไรขึ้นตอนแม่อุปถัมภ์รู้ว่าคุณเป็นเกย์
ตอนแรกแม่อุปถัมภ์ก็เครียดและกังวลมากที่รู้ว่าเราเป็นเกย์ คือไม่ชอบเกย์เลย เขากลัวที่สุดคือกลัวว่าเราจะไปมีเซ็กซ์กับหลายคน จะติดเชื้อเอชไอวี และอะไรอีกหลายอย่างตามที่ผู้คนมองเกย์ในด้านลบเมื่อก่อน แต่สุดท้ายเขาก็ยังคอยดูและและสนับสนุนเราทุกอย่างเหมือนเป็นลูกชายจริงๆ สุดท้ายจนเราอายุครบ 19 ปีถึงย้ายออกจากบ้านไปเรียนต่อที่เมืองอื่น
เรารู้สึกผูกพันกับคุณแม่คนนี้จริงๆ เขารักลูกๆ มาก คอยบอกคอยย้ำเตือนตลอดว่าเรามีคุณค่าในชีวิตเยอะมากนะ
คิดยังไงที่สังคมยังมองเกย์ในด้านแย่ๆ
คนมักจะมองว่าเกย์คู่กับยาเสพติด ซึ่งเราอยากบอกว่ามันไม่ใช่ทุกคน แต่ก็ยอมรับนะว่าในสังคมเกย์มีคนที่ไม่เคยลองยาอยู่น้อยมากๆ ซึ่งมันอาจส่งผลให้คนมองเกย์ในเชิงลบ แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่พอรู้ว่าใครเป็นเกย์ปุ๊บก็จะตัดสินทันทีว่าเป็นคนเลว อีกอย่างคือไม่ใช่แค่เกย์ แต่ผู้หญิงหรือผู้ชายแท้ก็เล่นยากันเยอะมาก ถึงจะเห็นบ่อยๆ ว่าเกย์เป็นเอชไอวีหรือเล่นยากันเยอะ แต่สุดท้าย คุณก็ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเหมาะรวมกับทุกคนที่เป็นเกย์
เวลาที่โดนตัดสินจากคนอื่นๆ เราจะไม่คิดมากนะถ้าเขาเอาเรื่องพฤติกรรม นิสัย หรือว่าการทำดี/ไม่ดีมาพูด แต่เราไม่ชอบถ้าเขามาตัดสินแค่ว่า ‘ก็เพราะเขาเป็นเกย์ไง’ เวลาเราจะมองใครน่าจะมองจากการกระทำมากกว่าภายนอก
แล้วคุณมาจริงจังกับด้านการเต้นได้ยังไง
พอโตมาจนเริ่มเรียนไฮสกูล เราเลือกเรียนด้านวิจิตรศิลป์เพราะอยากเรียนอะไรที่สนุกและเราชอบ แล้วมาต่อที่ Oslo National Academy of the Art (KHiO) คณะ Modern and Contempolary Dance ซึ่งเป็นด้านการเต้นโดยเฉพาะ เราเริ่มเรียนที่ Jazz Dance ก่อน แล้วหัด Ballet และ Modern Dance เพิ่มต่อมา แรกๆ ยังไม่ได้ชอบ Vogueing แบบตอนนี้เลย
ทำไมถึงเปลี่ยนใจจากสายที่เรียนมาและกลายเป็นโว้กเกอร์แบบนี้
ที่ชอบโว้กเพราะเวลาที่เราเต้นคอนเท็มฯ เราต้องเอาตัวเองเข้าไปลึกมากๆ ตั้งแต่ร่างกายจนถึงจิต อีกอย่างคือสไตล์มันคนละแบบกันกับโว้กเลย โว้กมันทำให้เราสนุกและปลดปล่อยตัวเองออกมาได้เยอะมาก ซึ่งสายที่เราเต้นเป็น Vogue Femme มันทำให้เราจะแสดงความเป็นผู้หญิงในแบบ LGBT ออกมามากเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีการปิดกั้น ไม่มีกรอบอะไรเลยทั้งสิ้น
อีกอย่างที่ทำให้เราหลงรักการเต้นโว้กคือเรื่องของวัฒนธรรมสนุกๆ ภายในสังคมนี้ ทั้ง Ball Culture (งานที่ชาว LGBT โดยเฉพาะในนิวยอร์กจะมารวมกลุ่มและแข่งเต้น เดิน และแต่งตัวกัน) และการแบทเทิลต่างๆ ทุกอย่างมันดูสุด มันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เป็นเปิดเผยความเป็นตัวเอง ตรงข้ามกับตอนอยู่ในสังคมทั่วไปคงทำแบบนั้นไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากเข้ามาค้นหาด้วยตัวเองว่า ‘วัฒนธรรมโว้ก’ คืออะไร
คุณปลดปล่อยอะไรออกมาในยามที่ตัวเองเต้นโว้ก
เราปลดปล่อยทั้ง 'ความเป็นเรา’ และ 'สิ่งที่เราอยากจะเป็น' ไม่ว่ามุมที่เราออกหญิงมาก (ลากเสียงยาว) หรือการเป็นผู้หญิงที่ตอแหลมาก หรือเป็นหญิงที่แข็งแรงสุดๆ คือมันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย แค่คุณมีความเป็นผู้หญิงจากข้างในคุณก็สามารถนำมาแสดงออกในโว้กเฟมม์ได้แล้ว
เข้าไปคลุกวงใน Vogue ได้ยังไง
เมื่อ 3 - 4 ปีก่อนบินไปทำงานที่นิวยอร์กกับทีมเต้นสิงคโปร์ เลยได้ไปเจอคุณแม่ Leiomy แห่ง House of Amazon ซึ่งเป็นหนึ่งในบ้านที่ดังติดอันดับของที่นั่น เแล้วเขาเห็นเราเต้นเก่งเลยชวนไปเป็น Amazon Baby ของเขา หรือบางทีก็เรียกว่า Amazon Daughter/Son เคยเห็นคนออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แล้วก็ไต้หวันที่อยู่บ้านนี้เหมือนกันนะ แต่เราน่ะเป็นคนไทยคนเดียวเลย
House เหล่านี้เกิดจากการที่สังคมสมัยก่อนยังไม่ยอมรับ LGBT หรือแม้แต่พ่อแม่ด้วยซ้ำที่รับลูกตัวเองที่เป็นเกย์ไม่ได้จนไล่ออกจากบ้าน ก็จะมีแต่ชาว LGBT ด้วยกันที่อ้าแขนรับพวกเขา มันกลายเป็นคำถามว่าที่จริงแล้ว ‘ครอบครัว’ คืออะไรกันแน่? ปกติคนเราจะมองว่าพ่อแม่กับคือคนที่อุ้มท้องลูกมา 9 เดือน แต่ทำไมเขากลับรับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ ในขณะที่ในเฮาส์ต่างๆ เหล่านี้คือพ่อแม่ที่รักและยอมรับในสิ่งที่เราเป็นจริงๆ สำหรับซันแล้วชอบครอบครัวแบบหลังมากกว่า อย่างตอนนี้พอเราเริ่มสอนเต้นโว้กที่ไทยก็เริ่มมีลูกศิษย์มาเรียกว่าหม่าม๊าแล้ว (หัวเราะ)
เพราะอะไรถึงสอนให้คนไทยเต้นโว้ก
ที่ไทยยังไม่เคยมีวัฒนธรรมโว้กมาก่อนเลย เราอยากลองดูว่าจะมีคนไทยสนใจการเต้นแนวนี้มั้ย และเรากำลังมองหาเด็กที่มีแววด้วย ไม่แน่ในอนาคต ซันอาจตั้งบ้านในไทยก็ได้นะ เพราะเราเป็นคนแรกที่ได้ไปหาเรียนโว้กกับคนที่เป็นโว้กเกอร์จริงๆ ถึงที่ จนตอนนี้เราก็เหมือนเป็นคุณแม่ของคนเต้นโว้กในไทยแล้ว (หัวเราะ)
สุดท้ายคืออยากให้คนไทยได้รู้ว่า ‘โว้ก’ มีอะไรมากกว่าแค่การเต้น อยากให้มาเรียนรู้ด้วยกันว่าจริงๆ แล้วมีเรื่องราวการต่อสู้ยาวนานของชาว LGBT หล่อหลอมอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ของโว้กเยอะมาก ซึ่งมันกลายเป็นความสนุก ความสุข เป็นพื้นที่เปิดกว้างยิ่งกว่าที่ไหน แอบกระซิบว่าเดือนธันวาคมนี้เราอาจจัดงานบอลครั้งแรกในไทยด้วยนะ
ใครที่อยากเข้ามาสัมผัสความโว้กที่แท้จริงจาก Amazon Sun ไปเจอได้ที่เวิร์กช็อป Vogue Femme ล่าสุดของเขา ณ Groove Studio ในวันศุกร์ที่ 11 พ.ค.นี้ แล้วคุณจะได้รู้ว่าโว้กไม่ใช่แค่แฟชั่นหรือการเต้นสุดเริ่ดเท่านั้น!
ถ่ายภาพ: Sootket Jiwpanit
WATCH
WATCH