FASHION

เจาะลึกหาคำตอบว่าเครื่องหนังที่ยั่งยืนมีจริงหรือไม่

ในขณะที่ Mulberry ก้าวเข้าสู่กระบวนการการจัดการซัพพลายเชนในรูปแบบใหม่ เรามาดูกันว่าเครื่องหนังจะสามารถผลิตด้วยวิธีการที่ยั่งยืนได้หรือไม่—และทำไมมันถึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าการใช้วัสดุอื่นๆ ทดแทน

เรื่อง: Emily Chan

 

     ตั้งแต่เครื่องหนังที่ผลิตมาจากเห็ดไปจนถึงสัปปะรดและกระบองเพชร เกิดกระแสการถอยห่างจากการใช้หนังสัตว์ในช่วงที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและหลักคุณธรรมจริยธรรม (Lyst ให้ข้อมูลว่า ‘vegan leather’ คือคำที่ได้รับการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปี) แต่เนื่องจากการใช้วัสดุอื่นๆ ทดแทนหนังสัตว์นั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมักจะมีส่วนผสมของวัสดุสังเคราะห์ปะปนอยู่ แบรนด์ลักชัวรีหลากหลายแบรนด์ต่างมองหาหนทางในการผลิตหนังวัวอย่างยั่งยืนกันมากยิ่งขึ้น

     หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ Mulberry ที่ล่าสุดเพิ่งให้คำมั่นว่าจะงดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ (carbon neutral) ในกระบวนการการผลิตเครื่องหนังภายในปี 2035 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ Made to Last Manifesto ทางแบรนด์ดำเนินรอยตามหลักปรัชญาด้วยการเริ่มเสาะหาวัสดุจากท้องถิ่น ด้วยหลักการ “จากฟาร์มสู่ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ (farm to finished product)” พร้อมด้วยเทคนิคการทำฟาร์มในรูปแบบใหม่—รวมไปถึง ‘rotational grazing’ หรือการปล่อยสัตว์ลงแทะเล็มแปลงหญ้าแบบหมุนเวียนเพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้ผืนดินกักเก็บคาร์บอนในปริมาณที่มากกว่าเดิม

ภาพ: Mulberry

     “เราผลักดันระดับความยั่งยืนจนถึงขีดสุดเพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องกันเข้ามา และเราเห็นว่านั่นเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ” Thierry Andretta ซีอีโอของ Mulberry เล่าให้โว้กฟังผ่านวิดีโอคอล “เมื่อคุณใช้ระบบเกษตรกรรมเพื่อฟื้นฟูผืนดิน (regenerative agriculture) นั่นทำให้เรากักเก็บคาร์บอนได้มากยิ่งขึ้น”

     เพื่อยืนยันความโปร่งใสและง่ายต่อการติดตาม Mulberry ร่วมงานกับซัพพลายเออร์ทางแถบยุโรปที่ทางแบรนด์ไว้เนื้อเชื่อใจเพียงเท่านั้น รวมถึงสมาชิกในกลุ่ม Scottish Leather Group—หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ และยังเป็นฟาร์มที่ปลอดคาร์บอนหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero CO2 emissions) “เราได้รับความร่วมมือจากกลุ่มพาร์ทเนอร์ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยม เราได้พูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตในรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์” Charlotte O’Sullivan ผู้อำนวยการด้านการตลาดและดิจิตัลจาก Mulberry กล่าว

ร่องรอยทางระบบนิเวศน์ของเครื่องหนัง

     แน่นอนว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างใหญ่หลวง อุตสาหกรรมนี้คือผู้รับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศถึง 14.5 เปอร์เซ็นต์ จากทั่วทั้งโลก เช่นเดียวกันกับ 36 เปอร์เซ็นต์ จากการตัดไม้ทำลายป่าระหว่างปี 2001 และ 2015 (ข้อมูลจาก World Resources Institute) ในขณะที่เครื่องหนังมักจะถูกกล่าวถึงในฐานะผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เรียกได้ว่าเป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากโครงสร้างหลักทางธุรกิจ—นั่นหมายความว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด

ภาพ: SKIIM

     ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวของ Mulberry สู่การฟื้นฟูเกษตรกรรมในรูปแบบใหม่จะค่อยๆ ลดการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ (Scottish Leather Group กล่าวว่ากระบวนการการผลิตเครื่องหนังของ Mulberry ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่ 1.4kg CO2 ต่อชิ้น เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 17kg CO2e ต่อตารางเมตร—ข้อมูลจาก Leather Panel) แต่ตลาดการซื้อ-ขายเครื่องหนังลักชัวรีที่มีอยู่อย่างกว้างขวางอาจทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วถึงในอุตสาหกรรมนี้ “ในกรณีที่ว่านี้ ขนาดของเราคือข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” Andretta กล่าว “เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้”

     นอกเหนือจากการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ขั้นตอนการฟอกหนัง—กรรมวิธีในการนำหนังวัวมาฟอกให้กลายเป็นเครื่องหนัง—เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย อย่างเช่น โครเมียม ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม Mulberry กล่าวว่า ขั้นตอนการฟอกหนังทั้งหมดจะได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดย Leather Working Group ส่วนแบรนด์อย่าง SKIIM Paris มุ่งมั่นที่จะนำเทคนิคการ ‘ฟอกฝาด’ หรือการนำหนังวัวมาฟอกด้วยสารที่สกัดจากเปลือกไม้มาใช้

     “เราพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะลดการใช้สารเคมีและนำวิถีทางธรรมชาติอย่างการฟอกฝาดมาใช้แทน” Caroline Sciamma-Massenet ผู้ก่อตั้ง SKIIM Paris อธิบาย “แต่จะมีการใช้โครเมียมสำหรับอะไรก็ตามที่เป็นสีดำ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้สีที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อใช้โครเมียมแล้ว การใช้น้ำก็จะลดลงตามไปด้วย นั่นคือการหาจุดสมดุลในอีกรูปแบบหนึ่ง”

 

ความยั่งยืนของเครื่องหนัง

     แม้จะมีสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงเพื่อให้กรรมวิธีต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้สนับสนุนต่างให้ความเห็นว่าเครื่องหนังในรูปแบบดั้งเดิมยังคงเป็นวัสดุที่ดีที่สุดในตลาด “ในความคิดของผู้คน หนังวีแกนมีความยั่งยืนมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันประกอบไปด้วยพลาสติกจำนวนมาก” Sciamma-Massenet กล่าว “เครื่องหนังตามธรรมชาตินั้นมีความยั่งยืนมากกว่า ถ้ามองในแง่ของการเก็บรักษามาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น มันคือการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง”

     สำหรับ Mulberry ก็เช่นกัน ความยั่งยืนคือสิ่งจำเป็น ทางแบรนด์ต้องซ่อมบำรุงกระเป๋าถึง 10,000 ใบต่อปี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริการหลังการขายเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่ากระเป๋าแต่ละใบยังคงได้รับการใช้งาน เช่นเดียวกับการเปิดตัวแพลตฟอร์มอย่าง Mulberry Exchange สำหรับการรีเซลสินค้าโดยเฉพาะ (แน่นอนว่าการซื้อเครื่องหนังที่ผ่านเจ้าของมาก่อนหน้าคือตัวเลือกที่รักษ์โลกที่สุดแล้ว) “เราทำทุกวิถีทางที่จะยืดอายุการใช้งานของสินค้า และเมื่อเราได้รับสินค้าที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เรานำสินค้าชิ้นนั้นเข้าโครงการแปรสภาพขยะเพื่อให้มันกลายมาเป็นพลังงาน” O’Sullivan เสริม “วิถีการแปรสภาพสิ่งของให้กลายมาเป็นพลังงานคือสิ่งที่ธุรกิจเครื่องหนังกำลังให้ความสนใจ”



WATCH




ภาพ: Mulberry

     นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น การนำเส้นใยของเศษหนังมารีไซเคิล (recycled leather-waste fibre) โดยแบรนด์ Spinnova ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการยืดอายุเครื่องหนังให้ยาวนานขึ้นกว่าแต่ก่อน “หนึ่งในโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการที่เราสามารถหยุดวงจรซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เรามี—ถือเป็นการค้นพบที่น่าทึ่งมากๆ” Janne Poranen ซีอีโอจาก Spinnova กล่าว

     ขณะที่นวัตกรรมการผลิตเครื่องหนังในรูปแบบต่างๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตเครื่องหนังในรูปแบบดั้งเดิมโดยยึดวิถีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม—และผลิตสินค้าที่จะยืดหยัดเหนือกาลเวลา—คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Mulberry “เราเปิดรับ [วัสดุที่ใช้ทดแทนเครื่องหนังแบบดั้งเดิม]” Andretta กล่าว “แต่เราไม่อยากให้คุณภาพของสินค้าต้องลดลง และเราไม่อยากจะผิดคำมั่นต่อปรัชญา Made to Last ที่เราให้ไว้”


ผู้เขียน: Emily Chan

แปล: Janisara (ชนิสรา)

ข้อมูล: vogue.in

WATCH