FASHION
ไม่ได้เรียนแฟชั่นแต่ปังมาก! รวม 10 สุดยอดดีไซเนอร์ที่จบไม่ตรงสายแต่ดังบรรลือโลกรวม 10 ดีไซเนอร์ที่สร้างสรรค์ผลงานระดับโลกทั้งที่ไม่ได้เรียนจบเอกแฟชั่นดีไซน์ |
การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ไม่ใช่เส้นทางที่เรียบง่ายโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน ความพยายามแสนสาหัส การเอาชนะขีดจำกัดทั้งด้านความสามารถและจิตใจ รวมถึงก้าวข้ามกรอบความสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปก็สามารถตอบโจทย์ได้แต่ในแง่เทคนิคไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเขียนแบบ ขึ้นแพตเทิร์น ตัดเย็บและเข้าใจสัดส่วนของเสื้อผ้าได้หากไม่ได้เรียนการออกแบบแฟชั่นโดยตรง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะไม่มีแฟชั่นดีไซเนอร์ที่จบไม่ตรงสายมาทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก เพราะความจริงนั้นมีและมีจำนวนไม่น้อยเสียด้วย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเหล่าดีไซเนอร์ที่เรียนจบมาไม่ตรงสายแต่กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและโด่งดังในเวทีแฟชั่นโลก
1.Karl Lagerfeld (เรียนประวัติศาสตร์ด้านศิลปะ)
ภาพ: Karl.com
เริ่มกันที่สุดยอดตำนานแห่งวงการอย่าง Karl Lagerfeld ที่สร้างสรรค์ผลงานมาหลายสิบปีก่อนที่จะเสียชีวิตลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ใครจะรู้ว่าสุดยอดดีไซเนอร์คนนี้ไม่เคยเรียนแฟชั่นดีไซน์อย่างจริงจัง เขาเริ่มจากพรสวรรค์การสเกตช์รูปและออกแบบเสื้อโค้ต รวมถึงฝึกฝนมันด้วยตัวเองมาเสมอ เพราะในปี 1964 สิ่งที่เขาเรียนจริง ๆ คือประวัติศาสตร์แขนงศิลปะที่อิตาลี แต่ช่วงชีวิตตอนนี้เหมือนพรสวรรค์จะทะลุกรอบการเรียนเพราะในช่วงชีวิตตอนนั้นเขาก็มีโอกาสทำงานกับ Chloé ในปีเดียวกัน หลังจากนั้นชีวิตนักศึกษาประวัติศาสตร์ก็ผันเปลี่ยนเป็นจุดเริ่มต้นตำนานบทใหญ่แห่งวงการแฟชั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2.Hedi Slimane (เรียนประวัติศาสตร์ด้านศิลปะ)
ภาพ: @celine
เรายังคงอยู่ในสายประวัติศาสตร์เช่นเดิม Hedi Slimane หนุ่มจอมขบถผู้พร้อมปฏิวัติเสื้อผ้าทุกรูปแบบให้ออกมาในกลิ่นอายสไตล์ของเขา แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าหนุ่มหัวอาร์ตคนนี้ไม่ได้จบแฟชั่นดีไซน์หรือเกี่ยวข้องกับการออกแบบแขนงใดเลยแม้แต่นิดเพียงแค่เขาได้รับกล้องตัวแรกตอนอายุ 11 เริ่มถ่ายรูปจนชำนาญและเริ่มสนใจรวมถึงลองออกแบบเสื้อผ้าด้วยตัวเองในวัยเพียง 16 ก่อนที่ชีวิตหลังจากนั้นจะศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ École du Louvre และฝึกงานที่ห้องเสื้อบุรุษเพื่อฝึกปรือฝีมือก่อนที่หลังจากนั้นเอดี้จะกลายเป็นช่างภาพสายแฟชั่นและดีไซเนอร์ที่คนพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้
3.Vivienne Westwood (เรียนแขนงวิชางานฝีมือการทำเครื่องเงิน)
WATCH
ภาพ: The Argus
ศิลปะกับผู้หญิงไม่ใช่สิ่งคู่กันนักในสมัยก่อน ผู้หญิงควรเป็นแม่ศรีเรือนดูแลปรนเปรอสามีตามอุดมคติของคนยุคก่อนและการเรียนหนังสือเองก็ยังไม่เปิดกว้างโดยเฉพาะแง่มุมศิลปะ เด็กสาว Vivienne Westwood เกิดช่วงสงครามโลกพอดีแต่โชคดียังมีโอกาสเข้าเรียนในระบบการศึกษาและใครจะเชื่อว่าจะมีผู้หญิงลงเรียนในสาขาการทำเครื่องเงินที่ Harrow School of Art ในช่วงปี 1958 ถึงแม้ไม่ใช่แฟชั่นดีไซเนอร์โดยตรงแต่ก็พอเป็นพื้นฐานให้วิเวียนก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะมีประสบการณ์ทำจิวเวลรี่ขายต่อยอดไปถึงเสื้อผ้าและพบกัน Malcolm McLaren ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสายพังก์ให้วิเวียนตั้งแต่ตอนนั้นส่งต่อความสนุกสนานของงานออกแบบจนถึงวันนี้
4.Christian Dior (เรียนรัฐศาสตร์สายการทูต)
ภาพ: Dior
Christian Dior เกิดมาเพียบพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะรากฐานครอบครัวชนชั้นสูงของฝรั่งเศสที่คาดหวังว่าลูกจะศึกษาและมีชีวิตในเส้นทางที่สูงส่ง ฉะนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการทูตและสายสังคมที่ Ecole des Sciences Politiques หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม Sciences Po ช่วงปี 1923 – 1926 แต่เขาไม่จบการศึกษา คริสเตียนมุ่งเน้นไปที่การเปิดแกลลอรี่ ขายภาพสเกตช์และการออกแบบเสื้อผ้าแต่ก็ติดภาวะสงคราม ถึงแม้ว่าอุปสรรคจะหนักหนาแค่ไหนความเฉลียวฉลาดยังคงเป็นสิ่งที่สถาบันการเมืองแห่งฝรั่งเศสนี้การันตีได้ว่าคริสเตียนมีคุณภาพ และในอีกทางหนึ่งเขาก็มีพรสวรรค์ทางด้านแฟชั่นในแบบที่ยากจะหาใครเทียบ
5.Yohji Yamamoto (เรียนกฎหมาย)
ภาพ: Neil Bedford
ควางดงามของชีวิตคนเราอาจจะมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันของ Yohji Yamamoto ก็เช่นกัน ความยากลำบากของครอบครัวที่สูญเสียพ่อไปในช่วงสงครามโลกและความรักแม่สุดหัวใจเขาจึงทำตามความตั้งใจของแม่ด้วยการเรียนจบด้านกฎหมายสาขาวิชาที่การันตีความมั่นคงให้ชีวิตได้สูงสุดสายหนึ่งในโลกใบนี้ที่มหาวิทยาลัยเคโอ แต่มันเหมือนไม่ใช่ตัวตนของโยห์จิเขาเลยลงเรียนต่อที่บุนกะแฟชั่น พลิกหน้าชีวิตจากว่าที่นักกฎหมายสู่การตอบสนองตัวเองด้วยสิ่งที่ชอบและผูกพันกับแม่มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคือการทำชุดและเริ่มทำแบรนด์ตัวเองก่อนเดินทางสู่ปารีสจนกลายเป็นดีไซเนอร์หัวคิดสร้างสรรค์ผู้ดูแลหลากหลายโปรเจกต์ที่น่าติดตามจนถึงทุกวันนี้
6.Miuccia Prada (เรียนรัฐศาสตร์ระดับดุษฎีบัณฑิต)
ภาพ: wellmadeclothes
Maria Bianchi Prada หรือ Miuccia Prada ที่เรารู้จักกันดียอดฝีมือเจ้าของแบรนด์ Prada และ Miu Miu เส้นทางของเธอมีแค่ภูมิหลังที่บ้านมีธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนัง แต่เธอไม่ใช่นักออกแบบและไม่ได้มีหัวด้านนี้แต่แรกด้วยซ้ำ เพราะเธอสนใจด้านการเมืองและมุมมองทางความคิดแบบซ้ายจัดถึงขนาดเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และสิ่งที่เธอเลือกเรียนคือรัฐศาสตร์ซึ่งมาเรียจบปริญญาเอกสาขานี้ในปี 1973 แต่จุดหักเหคือความรับผิดชอบต่อธุรกิจที่บ้าน และพัฒนาต่อในแง่มุมการออกแบบและบริหารธุรกิจซึ่งมาเรียเคยติดอันดับผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอันดับที่ 73 ของนิตยสารฟอรบส์เลยทีเดียว
7.Giorgio Armani (เรียนแพทยศาสตร์)
ภาพ: WWD
สายสังคมและศิลปะยังดูมีความสอดคล้องไปด้วยกันได้ แต่ลองนึกภาพคุณหมอมาเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้าให้สาว ๆ ดูสิคงจะจินตนาการยากไม่น้อย Giorgio Armani คือบุคคลที่ทำสิ่งเหลือเชื่อนี้ในวัยเด็กจอร์โจเริ่มอ่านวรรณกรรมเรื่อง The Citadel จนทำให้อยากเป็นหมอแต่เรียนที่มหาวิทยาลัยมิลานไม่กี่ปีก็ต้องหยุดเพราะร่วมกองทัพ ด้วยพื้นฐานทางการแพทย์เขากลายเป็นหน่วยแพทย์ทหาร ความโหดร้ายของสงครามและงานอันหนักหนากับสภาวะอันน่าหดหู่หักเหความคิดให้จอร์โจเลือกเดินในสายอาชีพที่ต่างออกไป พอจบสงครามเขาทำงานจัดแต่งหน้าร้าน ขายสินค้าแฟชั่นจนมีโอกาสได้ออกแบบและนั่นคือที่มาขอความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ที่มีไลน์เยอะที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก
8.Thom Browne (เรียนบริหารธุรกิจ)
ภาพ: Alastair Nicol
ดีไซเนอร์ที่สร้างสรรค์ผลงานสุดแปลกตาบนรันเวย์เสมอแต่กลับไม่จบจากสายแฟชั่นโดยตรง แต่ที่ Thom Browne ยืนหยัดได้ด้วยชื่อแบรนด์ของตัวเองเขาเองไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทอมจบการศึกษาสาขาวิชาด้านการบริหารธุรกิจ และเป็นนักว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม คอลเล็กชั่นที่อวดโฉมบนรันเวย์และแคมเปญที่สอดแทรกความชื่นชอบด้านกีฬา รวมถึงไอเท็มไลน์สำหรับการขายก็ตอบสนองลูกค้าได้ดีเสียยิ่งกว่าดี ถึงแม้ไม่ได้จบการศึกษาด้านแฟชั่นโดยตรงแต่ทอมก็พิสูจน์แล้วว่าเขาไม่ธรรมดาในวงการนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางธุรกิจที่เขาจบมา
9.Pierre Balmain (เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์)
ภาพ: The Fashion Model Directory
Pierre Balmain สุดยอดแฟชั่นดีไซเนอร์คนหนึ่งของโลกมีความประทับใจในโลกแห่งแฟชั่นตั้งแต่เด็ก ธุรกิจเสื้อผ้า งานอดิเรกและโอกาสได้พบเจอผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้ากูตูร์ แต่สิ่งที่เขาเรียนกลับเฉียดแฟชั่นดีไซน์ไปสักหน่อยเพราะเขาเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ École des Beaux-Arts ในปี 1933 แต่ก็ดรอปเรียนออกมาทำงานกับ Edward Molyneux ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษและทำงานกับ Lucien Long ในช่วงสงคราม จากสถาปัตย์แปรเปลี่ยนสู่แฟชั่นดีไซน์ เพราะฝีมือการวาดภาพและความคิดสร้างสรรค์พาให้ปิแอร์กลายเป็นผู้หักเหชะตาตัวเองจนสามารถตั้งแฟชั่นเฮาส์อันโด่งดังนามว่า “Balmain”
10.Franco Moschino (เรียนศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการวาดภาพ)
ภาพ: The Fashion Model Directory
วาดภาพเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบแฟชั่นและนี่คือสิ่งที่ Franco Moschino ถนัดและสนใจมากที่สุด ฐานะครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยช่องทางแห่งโอกาสของฟรังโก้ไม่ได้สวยงามมากนัก ความสนใจต้องแลกมาด้วยความพยายาม ครอบครัวชนชั้นแรงงานคาดหวังว่าเขาจะต้องทำงานด้วยแรงกายแลกเงินแต่เขากลับปฏิเสธเส้นทางที่เขาไม่ได้เลือก เขาหนีออกจากบ้านและเริ่มเรียนที่ istituto Maragoni ในเมืองมิลานเกี่ยวกับการวาดภาพ ด้วยฝีมือที่สะท้อนให้เห็นถึงพรสวรรค์อันเปี่ยมล้นตรงข้ามกับฐานะอันยากจน เขาจึงผันตัวเป็นแฟชั่นอิลลัสเตรเตอร์ให้กับแบรนด์แฟชั่นและนิตยสารมากมาย และเรียนจบในปี 1971 จนมีโอกาสได้วาดภาพแฟชั่นกับ Gianni Versace ก่อนที่ได้เปิดแบรนด์ “MOSCHINO” ซึ่งเป็นการออกแบบจากความชื่นชอบของตัวเองถ่ายทอดจากภาพวาดชั้นครูมาสู่งานแฟชั่นอันน่าตื่นเต้น
จากเรื่องราวของทั้ง 10 คนแสดงให้เห็นว่าพรสวรรค์ประกอบกับพรแสวงสร้างสิ่งที่น่าเหลือเชื่อได้เสมอ ถึงแม้การเรียนตรงสายจะเป็นเรื่องที่เหมาะกับทำงานสายอาชีพนั้น ๆ แต่ไม่ใช่ว่าการเรียนไม่ตรงจะไม่มีโอกาส เพราะดีไซเนอร์เหล่านี้ต่างขวนขวายหาช่องทางในการประสบความสำเร็จกับการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ด้วยตัวเองทั้งนั้น จงอย่ายอมแพ้หากเรารู้ตัวช้านั่นไม่ผิดแต่อาจจะต้องพยายามมากกว่าคนอื่น สิ่งที่จะปิดกั้นโอกาสทั้งหมดไม่ใช่เงินทองหรือการเรียนมีแต่ “ตัวเราเอง” เท่านั้นที่ทำได้
WATCH