FASHION
หรือผ้าไทยกำลังจะหายไป! เมื่อคนไทยต้องเรียนรู้เรื่องผ้าไทยจากฝรั่ง ณ 'สตูดิโอแน่นหนา'พูดคุยแบบเจาะลึกกับคุณลาโมนา แน่นหนา ฝรั่งหัวใจไทยเจ้าของ 'สตูดิโอแน่นหนา' เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาและทิศทางของสถานที่แห่งนี้ |
“สตูดิโอแน่นหนา” ชื่อแห่งความหนักแน่น สอดคล้องกับรากฐานอันแข็งแกร่งของความนิยมชมชอบและการศึกเกี่ยวกับผ้าไทย เรื่องนี้น่าสนใจอย่างมาก แต่ความพิเศษที่ทำให้เรื่องราวของสตูดิโองานฝีมือแบบฉบับดั้งเดิมน่าสนใจขึ้นไปอีกคือเจ้าของไม่ใช่คนถิ่น เอาจริงๆ คือไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ ความรักไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชนชาติ ศิลปะไม่เคยถูกขีดกั้นด้วยคำว่าคนชาติไหน งานฝีมือหากจะเก็บรักษาไว้ย่อมต้องมีคนมุ่งมั่นจะอนุรักษ์มันจริงๆ วันนี้เราอาจจะเกิดความฉงนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ดูแลที่แห่งนี้คือคนต่างชาติ! โว้กมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณลาโมนา แน่นหนา พี่สาวของซูซี่-สุษิรา แน่นหนา นางแบบสาวและนักแสดงชื่อดัง เพื่อรับข้อมูลเชิงลึกสำหรับการหลอมหลวมกันของความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้
บรรยากาศภายในสตูดิโอแน่นหนา
เริ่มต้นคุณลาโมนาเล่าว่า “ที่แห่งนี้เกิดจากความรักในเรื่องผ้าของคุณแม่แพทริเซีย ชีสแมน แน่นหนาที่ได้มีโอกาสมาอยู่เมืองไทย โดยทำอาชีพสอนวิชาศิลปะ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีโอกาสถึงเข้าชาวบ้าน ศึกษารากวิชาเกี่ยวกับผ้ามาเรื่อยๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นลงมาช่วยสอนเองจริงๆ” พอถึงวันหนึ่งเริ่มเข้าใจกลไกของผ้าไทยมากยิ่งขึ้น คุณแพทริเซียจึงสร้างบทบาทตัวแทนในการกระจายผ้าไทยสู่ระดับสากล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่เนื่องจากเมื่อ 30 ปีก่อนคนทอเองไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือช่องทางสื่อสารอื่นๆ เพื่อกระจายชื่อเสียงของผลงานให้ผู้คนภายนอกได้ยิน อย่าว่าแต่นอกประเทศเลย นอกชุมชนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว
บรรยากาศสุดสวยบริเวณโดยรอบสตูดิโอแน่นหนา
“ชาวอังกฤษกับวิถีแบบไทย ไปไกลถึงขั้นสอนศิลปะไทยให้คนไทย” ช่วงปี 1971-1980 คุณแพทริเซียมีโอกาสเข้าศึกษาศิลปะเพื่อพัฒนางานเซรามิก ณ ประเทศลาวภายใต้โครงการของสหประชาชาติ แต่โชคชะตาเหมือนสร้างให้หญิงสาวชาวอังกฤษต้องมาพัวพันกับผ้าจนได้ ปัญหาภายในประเทศลาวเป็นเหตุให้เหล่าชาวบ้านนำผ้าคุณภาพสูงมาขายในเวียงจันทน์ นั่นทำให้คุณแพทริเซียได้เริ่มศึกษาสิ่งเหล่านี้เพราะถูกอกถูกใจกับความสวยงามของเส้นใยอันมีสีสัน พอเริ่มมีความรู้ยิ่งกระตุ้นให้อยากรู้ขึ้นอีก คนเริ่มถามยิ่งอยากหาคำตอบ นี่คือรูปแบบความคิดอันสร้างสรรค์ของคุณแม่คุณลาโมนา จน 30 40 หรือ 50 ปีผ่านไปผู้อยู่เบื้องหลังของสตูดิโอแน่นหนาก็คงอยู่ศึกษาอยู่เรื่อยๆ ศึกษาชนิดที่ว่าความรู้ไม่มีคำว่าหยุดนิ่ง หลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยจะมีโครงการเปิดสอนเกี่ยวกับศิลปะไทยเธอจึงได้มีส่วนร่วมกับการหยั่งรากลึกของศิลปะไทยในตอนนั้นพอดิบพอดี
WATCH
คุณลาโมนา แน่นหนา ขณะกำลังบรรยายเรื่องผ้าไทยให้กับคนไทย / ภาพ: Vogue Runway
คุณลาโมนาก็ได้รับโอกาสมาอยู่ที่ไทยหลางจากย้ายถิ่นฐานมาแถบภาคเหนือซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสตูดิโอแห่งนี้ ความโดดเด่นของที่นี่เริ่มตั้งแต่งานศิลปะที่ถูกศึกษาลึกไปถึงต้นตอพร้อมมีคอนเซปต์เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและใส่ใจกับช่างทอทุกคน ไม่ใช่แค่ใส่ใจรายละเอียดงาน แต่หมายถึงใส่ใจไปถึงวิถีชีวิตและคอยสนับสนุนตลอดเวลา เพราะตระกูลแน่นหนายึดถือในคำว่า “ไม่เอาเปรียบ” หมายถึงคุณลาโมนาและคุณแม่มาพบเจอสร้างสัมพันธ์ดั่งครอบครัวกับผู้มีส่วนร่วมทุกคน พร้อมทั้งให้กำลังใจจึงผลักดันให้พวกเขารังสรรค์ผลงานศิลปะชั้นยอดออกมา นอกจากเรื่องคุณภาพยังหมายถึงความสม่ำเสมอในการผลิตอีกด้วย
คุณนี-ชาลิสา วีรวรรณ (คนที่ 3 จากซ้าย) กับยอดฝีมือการถักทอของสตูดิโอแน่นหนา และได้เห็นการสวมใส่ผ้าไทยในสไตล์ที่เรียบง่ายมากขึ้น
อย่างที่กล่าวไปว่าสิ่งทอของสตูดิโอแน่นหนาคืองานศิลปะชั้นยอด เพราะฉะนั้นจุดเด่นสำคัญของที่นี่คือเรื่องคุณภาพ เทคนิคโบราณถูกปรับเปลี่ยนทั้งลาย สี และรูปแบบการใช้งานเพื่อเอางานศิลป์ท้องถิ่นเข้าไปคาบเกี่ยวอยู่กับความโมเดิร์นยุคใหม่ คุณลาโมนายกตัวอย่างเรื่องดีไซน์ของผ้ามัดหมี่ที่มีการปรับเปลี่ยนให้มีลูกเล่นและเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่รู้สึกแปลกประหลาด อันที่จริงไม่ควรจะรู้สึกแปลกประหลาดกับลายผ้าเอกลักษณ์ของไทยเลยด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เมื่อเราปรับแบบตามสมัยนิยมแล้วนั้นก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนกดราคาลง เพราะจะยิ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจนถึงขั้นหนีหายไปจากวังวนของชิ้นงานอันทรงคุณค่านี้ ฉะนั้นดีไซเนอร์ต้องออกแบบให้เหมาะกับตลาด หาจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ขาย หญิงสาวชาวอังกฤษให้ความสำคัญอย่างมากในจุดนี้
การถักทอในแบบสโลว์ไลฟ์จึงออกมาเป็นงานคุณภาพระดับสูงตามคำกล่าวของคุณลาโมนา
ลองมองถึงความโดดเด่นของภาคเหนือจากมุมมองของชาวต่างชาติ เราได้คำตอบมาว่าจุดเด่นของวัฒนธรรมและพื้นที่ภาคเหนือโดยแฉพาะในเชียงใหม่คือ ความใกล้ชิดระหว่างวัฒนธรรมกับตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมภายในเมืองที่ผสมผสานความเป็นเมืองเก่าและเมืองใหม่ได้อย่างดี ที่สำคัญคุณลาโมนาชื่นชอบความ “สโลว์ไลฟ์” ชีวิตดำเนินไปตามครรลองเรื่อยๆ เปรียบเรื่องผ้ากับฤดูก็เหมือนเราต้องคอยดำเนินชีวิตตามฤดูกาล มีการปลูกคราม(ต้นครามเพื่อนำมาสกัด)เก็บเกี่ยวตามฤดูของมัน เพราะฉะนั้นแล้วเราไม่จำเป็นต้องเร่งรวบรัดธรรมชาติ สุดท้ายกลไกของธรรมชาตินี้เองจะช่วยให้วงจรการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นระเบียบไปโดยปริยาย
สีสัน เส้นใย และความละเอียดละออ ประกอบกันเป็นงานศิลปะสุดประณีต
พอคุณลาโมนาเล่าถึงการผูกโยงวัฒนธรรมเข้ากับคำว่าพรีเมียม...เท้าความก่อนว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้คือช่วงเวลาที่ทางโว้กประเทศไทยจัดแคมเปญร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในชื่อ #หลงไทย เพื่อให้คนไทยได้เที่ยวไทยแบบ #Amazingไทยแลนด์พรีเมียม ฉะนั้นการผูกโยงคำว่าพรีเมียมนั้นจึงถูกนิยามว่าความเรียบง่ายและดำเนินชีวิตอย่างช้าๆ นั้นยิ่งทำให้การใส่ใจเพิ่มสูงขึ้น รายละเอียดต่างๆ ถูกเจาะลึกอย่างทั่วถึง “ความใส่ใจในรายละเอียด เก็บงานให้จบ ไม่ครึ่งๆ กลางๆ ไปจนถึงการขายคือความพรีเมียมของงานถักทอสุดประณีต”
งานผ้าไทยลวดลายสุดเนี้ยบจากสตูดิโอแน่นหนา
“ถ้าคุณทำเสื้อผ้าที่ดีมีคุณภาพ ใส่และซักได้เป็นร้อยๆ ครั้ง ลงทุนแค่ 3-5 พันบาท” ฝรั่งมองถึงคุณค่าของผ้าไทยระดับพรีเมียมที่การลงทุนเพียงครั้งเดียวตอบแทนต่อผู้ใส่ไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่หมายถึงความคงทนด้วย ซึ่งถ้ามองถึงความคงทนและมั่นคงของสตูดิโอแน่นหนาเอง คุณลาโมนากลับยอมรับกับเราเลยว่าความมั่นคงเรื่องการทอผ้าค่อยๆ น้อยลงทุกปี “เราพยายามมากที่จะผลักดันและสนับสนุนให้คนเข้ามาเรียนรู้ แต่ไม่สามารถบังคับพวกเขาได้” ข้อความสะท้อนความกังวลมาถึงคนไทยทุกคน หรือวัฒนธรรมจะหายค่อยๆ หายไป มันเห็นได้ชัดถึงขนาดสาวหัวใจไทยกล่าวไว้ด้วยน้ำเสียงแห่งความกลุ้มอกกลุ้มใจ ยิ่งพูดถึงการบังคับแล้วเธอยังเน้นย้ำด้วยว่า “ใครทำอะไรด้วยการบังคับหรือแม้แต่การมีเงินเป็นที่ตั้งผลงานก็จะออกมาได้ไม่ดีทันที เพราะฉะนั้นเราต้องมีใจรัก”
เบื้องหลังการถักทอที่ต้องผ่านความยากลำบากและประสบการณ์
แล้วถ้าถามถึงเรื่องคนรุ่นใหม่ อนาคตของผ้าไทยจะไปในทิศทางใด...ลูกสาวจากตระกูลแน่นหนาเผยถึงแนวโน้มอันดีของศิลปะถักทอผ้าไทย ถึงแม้จะไม่ใช่คนถิ่นแต่มีคนจากนอกพื้นที่ให้ความสนใจมากขึ้น อาจเป็นเพราะยุคโลกาภิวัฒน์ วัฒนธรรมลื่นไหลราวกับของเหลว คนเสาะแสวงหาสิ่งที่ชอบจริงๆ มากกว่าแค่น้อมรับในวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ทว่าอีก 20 ปีสตูดิโอแน่นหนาก็ยังตั้งใจทำงานนี้ต่อไป ยินดีอย่างที่จะช่วยสนับสนุนในด้านที่หลายคนขาดโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจและการตลาด มองถึงความเป็นจริงพอต้องบริหารจัดการหลายอย่างอาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อด้านใดเลย เพราะฉะนั้นสตูดิโอแน่นหนาจะวางฐานะเหมือนมือสวรรค์คอยช่วยเหลือช่างถักทอในทุกๆ ด้าน
ซูมชัดกับการย้อมสีเหลืองเข้าใยผ้า เทคนิคพิเศษของสตูดิโอแน่นหนาที่คุณลาโมนานำมาสอนคนไทยเสียเอง
“ใช่! ลาโมนาเป็นคนไทยแล้วล่ะ” เธอกล่าวถึงประสบการณ์การผูกมิตรแบบไทยโดยไม่กังวลถึงความยากลำบากว่าคนจะมองฝรั่งอย่างเธอเป็นอื่นในชุมชน เริ่มจากคอนเน็กชั่น มีคนบอกต่อและพาไป ไม่ใช่แค่การบุกตะลุยไปหาคนทอผ้าเท่านั้น แต่ต้องมีชั้นเชิง จุดนี้เองสะท้อนแง่มุมสำคัญว่าต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมในเชิงลึก ไม่ใช่แค่งานศิลปะและวางตัวเป็นอาจารย์ แต่เป็นเหมือนชาวบ้านคนไทยคนหนึ่งและถ้าสามารถทำได้ หน้าฝรั่ง จีน อินเดียหรือแม้แต่ชาติไหนๆ ก็ไม่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ “ถ้าเราไม่ให้เกียรติเขา เราก็จะไม่ได้รับเกียรติคืน”
สีสันกับใยผ้าสำหรับถักทอแบบท้องถิ่นไทยในสตูดิโอแน่นหนาที่บางครั้งภาพเหล่านี้หายไปจากความทรงจำของคนไทย
หรือว่ามันถึงยุคที่คนไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมตัวเองจากฝรั่งแล้ว? คุณลาโมนาพูดถึงสุภาษิตของฝรั่งว่า “เรามักจะเห็นหญ้าอีกฝั่งหนึ่งของรั้วเขียวกว่าเสมอ” เปรียบได้กับการที่เราไม่เห็นค่าในสิ่งที่ตัวเองยืนอยู่ ทุกวัฒนธรรมเป็น ไม่ต้องกังวล เพราะจริงๆ เธอก็ไม่ได้วางตัวเป็นผู้สอน แต่การเรียนรู้จากชาวบ้านและนำมาแลกเปลี่ยนพร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ ในวิถีทางที่มีทางเลือกมากขึ้นคือสิ่งที่มองมากกว่า “จริงๆ เราก็เรียนรู้จากคนไทย คนลาว ชาวบ้านทั่วไป คุณแม่เรียนมาคุณแม่ก็สอนเรา เราก็สอนคนอื่นต่อ มันไม่ได้อยู่ที่สีผิวหรือหน้าตา อยู่ที่สมอง ถ้าเรามองเห็นว่าสวยงาม เราก็อยากเรียนรู้” ฝรั่งผู้รักงานถักทอคนนี้ยังเสริมด้วยว่า “อยากให้คนไทยใฝ่เรียนรู้ ไม่ใช่แค่รู้ว่าคืออะไรแล้วจากไป ต้องมีเหตุผล” สะท้อนถึงรากเหง้าว่าจริงๆ แล้วคนไทยขาดการตั้งคำถามถึงที่มา คำถามว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” หายไปจากสารบบแทบจะสิ้นเชิงและขาดการขวนขวายเช่นกัน “เขาก็แค่ทออย่างนั้นแหละ ใส่อย่างนั้นแหละ ใส่แบบที่เขาบอก” คำง่ายๆ ที่จะกลายเป็นดาบเล่มคมฟันคนไทยออกจากวัฒนธรรมของตัวเอง! เพราะแท้จริงแล้วทุกอย่างมีรากฐานที่มาเสมอ
ภาพสะท้อนความล้ำลึกเหมือนกับคาแรกเตอร์ของสตูดิโอแน่นหนาที่เจาะลึกกับผ้าไทยอย่างจริงจัง
“รู้นิดก็ต้องรู้อีก รู้ลึกก็อยากรู้อีก” มันเหมือนการเปิดหน้าต่างรับลมจากเคยอยู่ห้องมืดสกปรกโสมมวันที่ขวนขวายเจอสิ่งดีๆ เราก็พร้อมหาว่าหน้าต่างรอบห้องมันมีตรงไหนบ้าง ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องขวนขวายเรื่องผ้าไทยให้เหมือนการเปรียบเปรยหน้าต่าง ณ ห้องมืด ถึงตอนนี้แสงสว่างลอดหน้าต่างออกมาเล็กๆ เพื่อใบ้ให้คนได้เห็นตำแหน่งหน้าต่างแล้ว วัฒนธรรมไม่ถูกปิดกั้นและหวงแหนจนเกินงาม วัฒนธรรมมีพลวัตการปรับเปลี่ยน “อยากให้ใส่ผ้าไทยเยอะๆ คนทอจะได้มีกำลังใจ มีตลาดในการส่งออกความยอดเยี่ยมของฝีมือและประสบการณ์อันช่ำชอง พอตลาดไม่มีการทอผ้าจะหายไป...ช่วยกันนุ่งผ้าไทยกันเยอะๆ นุ่งจนเป็นเทรนด์แฟชั่นอันยืนยาว” สุดท้ายทุกอย่างก็เริ่มจากบรรทัดฐานของสังคม บางครั้งสังคมเราเองนี้ล่ะที่ตีตราหน้าเราเสมอว่า “แปลกประหลาด” เมื่อนุ่งผ้าไทยไปไหนมาไหน เปลี่ยนรากฐานความคิด เริ่มจากตัวเองและเราเชื่อว่าสักวันสังคมจะค่อยๆ ปรับตาม ถึงวันนั้นผ้าไทยจะมีเสน่ห์ ไม่ใช่จากความแปลกพิเศษในสังคม แต่จากความงดงามทางศิลปะที่ถูกใช้จริงในชีวิตประจำวัน
ความงดงามของรอยคราบแห่งศิลปะ
ซูมชัดกับรายละเอียดในหม้อย้อมคราม
การฟันไม้เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาสกัดเป็นสีธรรมชาติ
เส้นใย เส้นเลือด เส้นชีวิต...
ภาพ: ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ
WATCH