FASHION
ย้อนรอย 'STUDIO 54' จุดกำเนิดวัฒนธรรมปาร์ตี้สุดฉาวของเหล่าเซเลบริตี้ยุค 1970s
|
...ในยุคนี้ ถ้าคุณจะปาร์ตี้คุณจะคิดถึงที่ไหน...
...แล้วถ้าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อนล่ะ คุณจะคิดถึงที่ไหน...
ภาพของสไตล์ไอคอนตลอดกาลอย่าง เกรซ โจนส์ ในร่างอันเปลือยเปล่ากำลังระเริงเต้นบนฟลอร์ด้วยความสนุกสนาน และกองทัพคนแคระที่เข้ามาสร้างความบันเทิงในคืน “Saturday Night Fever” ท่ามกลางนกพิราบขาวที่บินฉวัดเฉวียนโกลาหลอยู่บนเพดาน แถมยังมีจอห์น เจอร์ราร์ด ช่างทำผมชื่อดังในยุค 1970s พาสัตว์เลี้ยงอย่างลิงหางขดเข้ามาด้วยในที่นี้ ที่ที่เราต่างขนานนามมันว่า STUDIO 54 ดิสโกเธกระดับวีไอพี สถาบันที่ให้กำเนิด "วัฒนธรรมปาร์ตี้" ที่อื้อฉาวที่สุดแห่งหนึ่งในบทบันทึกประวัติศาสตร์โลก ตั้งอยู่ท่ามกลางเกาะแมนฮัตตัน ในมหานครนิวยอร์ก ช่วง 254 West 54th Street ระหว่าง Eighth Avenue กับ Broadway ซึ่งอาคารดังกล่าวถูกก่อสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1927 เพื่อเป็นสถานที่แสดงอุปรากรโอเปราชื่อว่า Gallo Opera House ก่อนจะเปลี่ยนมือไปเป็นโรงละคร และสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์ช่อง CBS ในเวลาต่อมา และในปี 1977 สตีฟ รูเบลล์ และเอียน ชราเกอร์ คู่หูนักธุรกิจตัดสินใจเทกโอเวอร์อาคารดังกล่าว มาอยู่ภายใต้บริษัท Broadway Catering พร้อมให้กำเนิดปรากฏการณ์ในตำนานที่ใครก็ไม่อาจลืม...
ไม่เพียงแค่ดีไซน์การตกแต่งภายในเท่านั้น ที่ทำให้ STUDIO 54 แตกต่าง และโดดเด่นที่สุดในยุคที่เพลงดิสโกถูกเปิดทุกหัวมุมถนน หากพื้นที่ภายในอันโอ่อ่าของดิสโกเธกแห่งนี้ ที่มีฟลอร์เต้นรำที่สามารถรองรับจำนวนคนได้ถึงครึ่งพัน พร้อมเทคนิคการติดตั้งระบบเสียงแบบดีเยี่ยม กอปรด้วยไฟนีออนที่คอยสะท้อนแสงปลุกเร้าบรรยากาศ และอารมณ์ (กึ่งเมามาย) ของผู้คนที่หลงเข้ามาในอาณาจักรสุดเหวี่ยงแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีห้องวีไอพีที่ตั้งอยู่ ณ ชั้นใต้ดินไว้คอยรองรับรายชื่อแขกเอลิสต์ ลูกค้าขาประจำของที่นี่ ที่มีแต่ตัวแม่อย่าง ไดอานา รอสส์, เอลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์, แอนดี้ วอร์ฮอล์, ไมเคิล แจ็กสัน, คาลวิน ไคลน์, เอลตัน จอห์น, มาดอนนา, คริสตี้ บริงก์ลีย์ ไปจนถึง เกรซ โจนส์ ที่พร้อมจะเมาปลิ้น และสนุกสนานแบบถวายชีวิตให้กับเสียงเพลงที่อัดกระแทกอยู่ตลอดเวลาในดิสโกเธกแห่งนี้ ที่ได้สร้างเพลงฮิตติดหูไปทั่วโลกนับไม่ถ้วน อันได้แก่ ‘I Love the Nightlife’ ‘YMCA’ ‘Last Dance’ และอีกมากมาย
ภาพถ่ายของสองผู้ก่อตั้ง STUDIO 54 (ซ้าย) Steve Rubell และ (ขวา) Ian Schrager / ภาพ : Photofest
ที่แห่งนี้จึงไม่ใช่พื้นที่ดิสโกเธกธรรมดาที่ใครจะสามารถย่างกรายเข้าไปได้ง่ายๆ เพียงแค่แลกด้วยเงินค่าเข้า 15 ดอลลาร์เท่านั้น ทว่าสถานที่แห่งนี้ยังมีกลไกทางการตลาดอันแยบยล เพื่อสร้างกระแส และทำให้ทุกคนต่างต้องแย่งชิงความโดดเด่น เพื่อให้ได้เป็นคนที่ STUDIO 54 'เลือก' ให้ผ่านประตูไปด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นต่อให้มีเงิน 2 เท่าของค่าเข้ามาวางกองให้ตรงหน้า แต่ 'ไม่ถูกเลือก' คุณก็ไม่มีสิทธิ์ โดยสตีฟ รูเบลล์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งจะยืนเก๋าคอยอยู่บนเก้าอี้หน้าทางเข้า และมีส่วนร่วมชี้ว่า ใครคือผู้โชคดีที่สามารถผ่านประตูเข้าไปได้ หรือใครที่ต้องไสหัวกลับบ้านไป และด้วยสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้จึงทำให้เราได้เห็นคนสายแฟ(ชั่น)สู้กันตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทั้งจูงหมา ขี่ม้ามาเป็นพร็อพ กระทั่งแต่งตัวให้บ้าที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ และหากในค่ำคืนนั้นเขาหรือเธอไม่ใช่ผู้ที่ถูกเลือก เขาและเธอเหล่านั้นก็จะกลับมาใหม่ พร้อมการแต่งตัว และพร็อพที่จัดเต็มกว่าเคย จุดนี้เองที่ขับเคลื่อน 'ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่น' ของคนธรรมดา ให้หันมาสนใจแฟชั่นชนิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นอาวุธฟาดฟัน แลกสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมในสตูดิโอแห่งนี้ เพราะใครก็อยากจะเข้าไปคลุกคลีกับคนดังกันทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นในยุคดิสโกคึกคัก และสนุกสนานเป็นพิเศษ แม้แต่ศิลปินวง Chic ที่เคยถูกขัดขวางไม่ยอมให้เข้าไปมีส่วนร่วมใน STUDIO 54 มาก่อน ยังต้องรอจนกว่าเพลง ‘Le Freak’ ได้กลายเป็นเพลงฮิตประจำฟลอร์ของสถานที่แห่งนี้ก่อน สมาชิกวง Chic ถึงมีโอกาสได้ผ่านประตูอันศักดิ์สิทธิ์นั้นมาได้
WATCH
1 / 8
2 / 8
3 / 8
4 / 8
5 / 8
6 / 8
7 / 8
8 / 8
ดังนั้นแล้วหากจะพิจารณากันให้ดี STUDIO 54 จึงไม่ใช่สถานที่ที่จำกัดไว้เพื่อเหล่าเซเลบริตี้หรือคนดังเท่านั้น หากยังรวมไปถึงกลุ่มคนหลากหลาย ที่ถูกฉาบด้วยแฟชั่นสุดแซ่บที่บังเอิญโดนใจพนักงานเฝ้าประตูเข้า แล้วจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีส่วนร่วมในนั้น ที่แห่งนี้จึงเป็นดั่งสถานที่ที่ผสมผสานเอาความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังรวมไปถึงรสนิยมทางเพศ และสไตล์ ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าที่แห่งนี้มาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘Diversity’ อย่างแท้จริง เพราะในบางคืนเราก็อาจจะได้เห็นธุรกิจในชุดสูทไหล่กว้าง กำลังเต้นอย่างเมามันอยู่กับพนักงานแมคโดนัลด์ หรือเคเอฟซี จนกลายเป็นภาพชินตา อีกทั้งเหล่า Drag Queen คนดัง และกลุ่มคนข้ามเพศก็จะมีโอกาสเท่าเทียมคนอื่นในสถานที่แห่งนี้ ในห้วงอารมณ์เมามาย และบรรากาศที่คละคลุ้งไปด้วยความสนุกสนาน ที่ทุกคนสนใจแค่เสียงเพลง และแสงสีตรงหน้าเท่านั้น
ในช่วงปีแรก STUDIO 54 สามารถทำรายได้สูงสุดถึง 1 ล้านดอลลาร์ ทว่ายังมีการคาดการณ์ไว้ว่าจริงๆ แล้วอาจจะมากกว่าถึง 7 เท่า เพราะคู่หูผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คน ได้ทำบัญชีไว้ 2 เล่ม ซึ่งรายได้ที่ไม่เป็นทางการส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนั้นมาจากธุรกิจสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย ที่สถานที่แห่งนี้ใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า สิ่งผิดกฎหมายทั้งหมดอยู่รอดปลอดภัยมาได้นานเพียงแค่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น ก็พังไม่เป็นท่า... เมื่อพนักงานคนหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากงาน แอบเอาความลับที่ว่านี้ไปเปิดโปงกับพนักงานตรวจสอบบัญชีของรัฐ กระทั่งการบุกตรวจค้นในเดือนธันวาคม 1979 ที่เจ้าหน้าที่ได้ไปเจอเข้ากับสมุดบัญชีเล่มจริงของ STUDIO 54 ในตู้เซฟ พร้อมกับถุงขยะบรรจุเงินสดจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ และโคเคนที่ซ่อนอยู่ในผนังห้อง ทำให้รูเบลล์ และชเรเกอร์ ถูกฟ้องร้องคดีเลี่ยงภาษี จำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์ และในปี 1980 พร้อมถูกตัดสินโทษจำคุก 3 ปีครึ่ง
สุดท้ายแล้วกระแสของ STUDIO 54 ก็ต้องเริ่มแผ่วลงในช่วงต้นปี 1980 และบรรดาลูกค้าคนดังส่วนใหญ่ก็ไม่หวนกลับมาที่นี่อีกแล้ว กระทั่งในปี 1986 ก็ถึงเวลาอวสานของ STUDIO 54 อย่างบริบูรณ์ ที่มันได้ตายไปพร้อมกับไลฟ์สไตล์สุดโต่ง ที่ชนรุ่นหลังจะไม่มีวันได้เห็นมันอีก (นอกจากรูปถ่าย) แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า STUDIO 54 จะล่มสลายลงแบบเงียบๆ เพราะสถานที่แห่งนี้ยังได้จัดปาร์ตี้ส่งท้ายในช่วงต้นปี 1980 ที่ยังได้ ไดอานา รอสส์ มาร้องเพลงให้ พร้อมกับเซเลบริตี้ชื่อดังที่หวนกลับมาชื่นชมร่องรอยอารยธรรมที่ตัวเองได้สร้างไว้ ก่อนที่จะจากไปตลอดกาล...
แม้ว่า Studio 54 จะจากไป ทว่าได้ทิ้งกลิ่นของความรุ่งเรืองของมันให้ยังลอยคลุ้งไปทั่วอากาศ เป็นดั่งปกรณัมที่ถูกเล่าขานต่อกันแบบปากต่อปากมากระทั่งปัจจุบัน บนรันเวย์ของดีไซเนอร์ดังยังหยิบยก และฉวยเอาแรงบันดาลใจจากร่องรอยที่ Studio 54 ทิ้งไว้ให้ กลับมาคืนชีพอีกครั้งนับไม่ถ้วน ความน่าสนใจเมื่อถอดบทเรียนจากความรุ่งเรืองของ Studio 54 เราต่างพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ Studio 54 กลายเป็นตำนานคือ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างกระแสให้สถานที่ดังกล่าวกลายเป็นสถานที่ที่สังคมให้ความสนใจ การสร้างเงื่อนไข (แบบไม่ค่อยมีตรรกะ) ในการเลือกคนให้ผ่านเข้าประตู Studio 54 ตามความพึงพอใจ พร้อมโฆษณาว่าในอณาจักรวิเศษแห่งนั้นเต็มไปด้วยคนดัง ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาด ยิ่งทำให้ผู้คนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อตะเกียกตะกายขึ้นไปอยู่ในจุดนั้นพยายามในทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่ถูกเลือก และสิ่งนี้ก็สร้างการแข่งขันที่ส่งผลดีให้กับวงการแฟชั่นไม่น้อย เมื่อกลุ่มคนที่ต้องการเอาชนะหันมาสนใจแฟชั่น ซึ่งจะใช้เป็นอาวุธสู้รบในเกมนี้ สร้างภาพจำ และขับเคลื่อนให้ส่วนหนึ่งของวงการแฟชั่นน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในยุคนั้น จนอาจเรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองอีกยุคหนึ่งของวงการแฟชั่นก็ว่าได้ ที่เราได้เห็นเหล่าแฟชั่นนิสต้าประจำ STUDIO 54 แต่งตัวจัดเต็ม ผ่านภาพถ่ายหลายร้อย หลายพันใบ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสถาบันด้านไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้น กระทั่งยังส่งผลให้กลายเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรม 'ความหลากหลาย' ที่คล้ายเป็นพื้นที่จำลองให้คนทั่วไปได้เห็นว่าในหนึ่งหน่วยพื้นที่ 'ความหลากหลาย' สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จึงไม่แปลกใจที่แม้อณาจักรแห่งนี้ที่ล่มสลายมากว่า 42 ปี จะยังคงตั้งอยู่ในความทรงจำ และยากที่จะล่มสลายในความคำนึงของทุกคน...
WATCH