FASHION
เห็นพรมแดงเป็นอะไร...เมื่อเหล่าดาราไม่ได้มอง Red Carpet เป็นพื้นที่โชว์ความสวยอีกแล้วมาไกลมาก ตอนนี้พรมแดงเป็นอะไรไปแล้วในฮอลลีวู้ด |
เมื่อใครสักคนในวงสนทนาเริ่มกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า พรมแดง ขึ้นมา สิ่งที่ปรี่แล่นเข้ามาในหัวของเราๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น ภาพของเหล่าเซเลบริตี้ ดารา ศิลปิน และคนดัง ที่พร้อมพาเหรดชุดสวย จากแบรนด์ดังเดินอวดโฉมบนพรมแดงให้ได้เป็นที่พูดถึงกันชั่วข้ามคืน หากความหมายของ พรมแดง มิได้มีเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อเราได้เริ่มพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เรายังได้รู้ว่า พรมแดง ยังเป็นพื้นที่ซ่อนเร้นความหมายบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง ความเท่าเทียม และอีกมากมาย มากกว่าเพียงแค่เขตแดนของแฟชั่น และความสวยความงามเท่านั้น ฉะนั้นแล้วหากใครจะบอกว่า พรมแดง เป็นเพียงเรื่องไร้สาระ เป็นเพียงที่ให้เหล่าดารามาเดินอวดสวย ก็คงจะต้องบอกว่าคนๆ นั้นคิดผิดถนัด...
ภาพการแสดงละครเวทีตามตำนานปกรณัมเรื่อง Agamemnon / ภาพ : Greek Plays
ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่า วัฒนธรรมเรื่องพรมแดงนั้นเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ กระนั้นก็ยังมีเค้าลางให้ย้อนกลับไปถึงบทละครคลาสสิกในยุคสมัยกรีกโบราณ ตามตำนานปกรณัมเรื่อง Agamemnon (ที่เมื่อตามตัวอักษรมาถึงตอนนี้ ก็คงจะเลิ่กลั่กกันใหญ่ ว่าทำไมผู้เขียนจึงพาย้อนมาไกลขนาดนั้น ทว่านี่คงเป็นหลักฐานเดียวที่พอจะอ้างขึ้นมาได้) ในฉากที่ตัวละครเอกของเรื่องอย่าง Agamemnon นั้น ได้รับการต้อนรับกลับบ้านโดยภรรยาของเขา ด้วยพรมสีแดงเข้ม และสีม่วงเข้ม อันเป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญของปกรณัมเรื่องนี้ หากเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ปรัมปราถูกพร่าเลือนด้วยลมปากต่อปากของผู้คน จนในที่สุดเรื่องราวนี้จึงเหลือเพียง พรมสีแดงเข้ม สีเดียวเท่านั้น จากนั้น เหล่าเราจึงสันนิษฐานว่า "พรมแดง" เกิดขึ้นแบบนั้น...
นักแสดงมากความสามารถ Billy Porter ในชุดทักซิโด้กระโปรงสุ่ม ฝีมือการสร้างสรรค์โดย Christian Siriano บนพรมแดงงานออสการ์ประจำปี 2019 / ภาพ : Getty Images
ผ่านทศวรรษ ศตวรรษ และสหัสวรรษ พรมแดงทำหน้าที่เป็นทั้งทางทอดยาวรับผู้โดยสารขึ้นสู่โบกี้รถไฟ ณ ชานชลาทุกหัวมุมเมือง ไม่ต่างจากโรงแรมที่พร้อมทอดยาวพรมแดงรับผู้เข้าพักสู่ล็อบบี้ เมื่อแขกผู้นั้นมาถึงเช่นเดียวกัน แม้แต่ราชวงศ์ทั่วโลกยังต้องมีวัฒนธรรมย่างก้าว และวางเท้าบนพรมแดง เพื่อสร้างช่องว่างทางวัฒนรธรรมระหว่างชนชั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ พรมแดงที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี ก็คงหนีไม่พ้นการสถาปนาตัวเองเป็นดั่งสัญลักษณ์ของ การมาถึง ที่ไม่ว่าใครจะมาถึง พรมแดงที่ม้วนอยู่แน่นิ่ง ยังพร้อมสะบัด คลี่ต้อนรับแขกที่ได้รับเชิญทุกคนเข้างานเสมอมา
พรมแดง พัวพันอยู่กับหลากหลายวงการ หากที่โดดเด่น และเห็นกันอยู่บ่อยครั้งคงต้องยกให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะงานประกาศรางวัลต่างๆ ที่นอกจากจะทำหน้าที่ต้อนรับเหล่าเซเลบริตี้ที่ก้าวเท้ามาถึงงานแล้วนั้น พรมแดง ณ งานประกาศรางวัล ยังเป็นพื้นที่นำเสนอแฟชั่นชุดสวยได้ดีไม่ต่างจากรันเวย์ เพราะแบบที่สวมใส่ และพาเหรดชุดสวยทั้งหลายมานั้น เป็นถึงขั้นเซเลบริตี้ชื่อดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป พร้อมดึงให้คนทั่วไปที่ว่านั้น เข้าถึงชุดสวยจากแบรนด์ดัง มากกว่าที่นางแบบโนเนมได้สวมใส่บนรันเวย์เสียอีก จนเมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ก็ดูเหมือนว่า พรมแดงจะได้เปรียบรันเวย์อยู่ไม่น้อย ดังนั้นแล้วพรมแดงในบรรทัดนี้ คงจะเป็นทั้งสิ่งซึ่งแสดงถึงการมาถึง พื้นที่ของเหล่าคนพิเศษ ไปจนถึงพื้นที่แสดงออกทางแฟชั่น และความงามด้วยในคราวเดียวกันอย่างแน่นอน
WATCH
นักแสดงสาว Cate Blanchett เดินนำหน้าสุภาพสตรีอีก 82 ชีวิตเข้าสู่พรมแดงงานประกาศรางวัลเมืองคานส์ เพื่อแสดงพลัง #MeToo / ภาพ : AFP
ทว่าความหมายของพรมแดงไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เพราะเรายังเห็นว่าในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ พรมแดง ยังเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางความคิด พร้อมร่วมขับเคลื่อนกระแสสำคัญทางสังคมอีกหลายครั้งหลายครา ครั้งหนึ่งก็เมื่องานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 75 ประจำปี 2018 กับกระแสการเคลื่อนไหว Time’s Up ที่ไม่ได้หมายความว่า หมดเวลา อีกต่อไป หากคำนี้ถูกนำมาใช้ใหม่บนพรมแดงลูกโลกทองคำ เพื่อเป็นกระแสในการสนับสนุนให้หยุด และหมดเวลาแล้ว สำหรับความเงียบของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศ การแบ่งแยก ไปจนถึงความไม่เท่าเทียม โดย Time’s Up นั้น มีชนวนสำคัญมาจาก Weinstein Effect ที่ผู้หญิงหลายคนในวงการบังเทิง และอีกหลากหลายวงการได้ออกมาเปิดเผยกับสื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า ถูก Mr.Weinstein เจ้าของบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์หลายเรื่อง ล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมทั้งละเมิดสิทธิต่างๆ ของพวกเธอ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านราวกับไฟลามทุ่ง เกิดเป็นแฮชแท็กสุดโด่งดังบนทวิตเตอร์ #MeToo เพื่อแสดงความกล้า และพลังของหญิงสาวที่จะไม่นิ่งเฉยกับเรื่องราวเหล่านี้อีกต่อไป ก่อนที่เราจะได้เห็นเหล่าเซเลบริตี้บนพรมแดงในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งนั้น (ที่ลามไปถึงเมืองคานส์ด้วยเช่นกัน) พร้อมใจกันใส่ชุดสีดำมาเยือนพรมแดง เพื่อแสดงถึงการไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นที่โจทก์ขานไปไกล พร้อมบทบาทครั้งใหม่ของพื้นที่พรมแดง ที่ไม่ใช่เพียงเอาไว้เดินเล่นอวดชุดสวยของเหล่าเซเลบริตี้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากยังครองบทบาทเป็นอีกพื้นที่ขับเคลื่อนสังคมโลกให้พัฒนา และก้าวไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน
Kristen Stewart ถอดรองเท้าส้นสูงกลางพรมแดงงานประกาศรางวัลเมืองคานส์ ปี 2015 พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงต้องใส่ส้นสูงเดินพรมแดง / ภาพ : Express.UK
ไม่เพียง #MeToo เท่านั้น ที่ได้เฉิดฉายบนพรมแดง เพราะความลื่นไหลทางเพศยังโคจรมาพบกับพรมแดงด้วยเช่นกัน เฉกเช่น Cody Fern บนรองเท้าส้นสูง ท่ามกลางพรมแดงงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 76 หรือจะเป็น Billy Porter ในชุดทักซิโด้กระโปรงสุ่มบนพรมแดงงานออสการ์ปี 2019 ที่ผ่านมา ที่ต่างท้าทายพรมแดนแห่งเพศกันทั้งสิ้น พร้อมประกาศกร้าวเรื่องราวของการเคารพความเป็นคนของกันและกันในสังคมอยู่ในทีด้วยเช่นกัน หรือจะย้อนกลับไปไกลอีกสักหน่อย เมื่อครั้งที่นักแสดงสาว Kristen Stewart ถอดส้นสูงกลางพรมแดงเมืองคานส์ในปี 2015 ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจ ปลดแอกนิยามความงามแบบเก่าให้กับหญิงสาวทั่วโลกอีกนับไม่ถ้วน
Red Carpet is Everything ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงกว่าจริง แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรมแดงสมัยนี้ดูประดิษฐ์มากขึ้น ไร้ความเป็นธรรมชาติอย่างสมัยก่อน อีกทั้งกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมมากมายที่ว่าไปทั้งหมดนี้ ยังกลืนกินความเป็น Old Hollywood ให้หายไปจากพรมแดงอย่างน่าใจหาย กระนั้นก็ดูเหมือนว่าเรื่องราว และตัวตนที่ถูกนำเสนอบนพรมแดงก็ยังเป็นเรื่องน่าสนใจไม่มีตกเช่นกัน ซ้ำแล้วยังสร้างมิติของพื้นที่พรมแดงให้น่าสนใจขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นไหนๆ ดังนั้นแล้วก็คงจะไม่มีใครว่าอะไร หากผู้เขียนจะขอลุ้นต่อไปพร้อมๆ กับผู้อ่านว่าในปีหน้า หรือในการเดินพรมแดงครั้งหน้า จะเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นบ้าง...
WATCH