FASHION
ท่องโลกใบใหญ่ของสาวร่างจิ๋ว Sinéad Burke ที่จะเปลี่ยนแฟชั่นให้กลายเป็นเรื่องของทุกคน
|
เนื้อหาสำคัญ
- ช่วงเวลาวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นที่เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงต้องมีข้อจำกัดเรื่องแฟชั่นจนทำให้รู้สึกเหมือนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวัยรุ่นทั่วไป
- เมื่ออุดมการณ์ถูกแปรสภาพเป็นความมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จออกมาเป็นผลลัพธ์เชิงรูปธรรม
- จากเด็กน้อยผู้เรียกร้องผ่านการป่าวประกาศอย่างโดดเดี่ยวสู่การเป็นผู้นำเรื่องโอกาสในการเข้าถึงความสวยงามในแบบที่ทุกคนควรจะได้รับ
- ฐานะแขกคนสำคัญของแบรนด์ที่กว่าจะได้มาย่อมแลกด้วยน้ำพักและแรงที่พิสูจน์แล้วว่าเธอคือของจริง
_______________________________
หากพูดถึงแฟชั่นโชว์หรือแคมเปญต่างๆ ในแวดวงแฟชั่นเรามักจะนึกภาพนางแบบสาวรูปร่างสูงเพรียวพร้อมคาแรกเตอร์โดดเด่นมาอวดโฉมพร้อมเสื้อผ้าอาภรณ์สุดงดงามเสมอ หรือถ้าเป็นนายแบบก็มักจะมีกล้ามเนื้อสมนิยามชายชาตรีนิยมหรือไม่ก็มีซิลูเอตที่เด่นชัดเช่นแบบสกินนี่ที่ Hedi Slimane แห่ง Celine โปรดปราน แต่ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าความหลากหลายเชิงกายภาพนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์คนทั้งหมด เพราะถึงแม้ไม่ต้องเปิดกว้างให้รูปร่างทุกแบบเดินบนรันเวย์แต่เสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาขายในร้านต่างๆ ก็ไม่ตอบโจทย์ถึงแม้จะมีไซส์ตั้งแต่ XXS จนถึง XXL ก็ตาม ซึ่งมีสุภาพสตรีคนหนึ่งกำลังเดินหน้าเรียกร้องความงดงามประดับเรือนร่างของเธออย่างมีนัยยะสำคัญต่อสังคมแฟชั่นโลก...
Sinéad Burke กับหุ่นลองเสื้อผ้าที่จำลองจากรูปร่างของเธอ / ภาพ: Courtesy of Sinéad Burke
Sinéad Burke เมื่อพูดถึงชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูสักเท่าไรนัก แต่สตรีคนนี้คือผู้กล้าคนสำคัญที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงการนิยามความงามและเรียกร้องความเท่าเทียมให้ความหลากหลายเชิงกายภาพ เธอเริ่มลืมตาดูโลกตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 1990 พร้อมกับความผิดปกติทางร่างการ “Achlasia” ระยะแรกหรือภาวะความผิดปกติที่ทำให้แขนขาสั้นหรือที่เรารู้จักนิยามกันอย่างติดปากคือ “คนแคระ” การเริ่มต้นที่ไม่สมบูรณ์แบบของเธอได้กลายเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกในแบบของเธอจนถึงทุกวันนี้
Marino Insitute of Education สถาบันทีี่ Sinéad Burke จบการศึกษา / ภาพ: Emerald Cultural Institute
ซิเนดเข้ารับการศึกษาตามภาคปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไปก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่ Marino Institute of Education และจบการศึกษาในฐานะท็อปของชั้นเรียนคว้าเหรียญรางวัล Vere Foster เหรียญพิเศษซึ่งหมายถึงผู้ที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมที่สุดในรุ่น หลังจากนั้นเธอก็มุ่งหน้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาสิทธิมนุษยชนที่ Trinity College วิทยาลัยชื่อดังในเมืองดับลิน โดยเธอโฟกัสเรื่องการให้เด็กมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นในโรงเรียน แม้ในสายอาชีพเกี่ยวกับการศึกษาซิเนดก็พุ่งตรงมาเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมแบบไม่มีไขว้เขว
WATCH
ไซส์ความยาวเสิื้อผ้าคือปัญหาโลกแตกสำหรับกลุ่มคน Achlasia เสมอ / ภาพ: Business of Fashion
หญิงสาวร่างจิ๋วคนนี้คลางแคลงใจเกี่ยวกับแฟชั่นมานานพอสมควร เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอายุ 16 ปี เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถร่วมบทสนทนาเรื่องแฟชั่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ประสบการณ์ทั้งหลายดูแตกต่างจากเด็กวัยรุ่นคนอื่นเสียเหลือเกิน ข้อจำกัดเรื่องรูปร่างทำให้แฟชั่นเป็นสิ่งที่เธอตั้งคำถามมาตลอด...ตั้งคำถามยิ่งใหญ่ไปถึงเรื่องธรรมชาติของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ไม่ตอบโจทย์ความงดงามที่หลากหลายพอ สาวร่างจิ๋วไม่เคยถูกให้ความสำคัญเพราะหลายคนปฏิบัติราวกับว่าเธอไม่เหมาะอยู่ในแวดวงนี้ แต่แทนที่จะยอมแพ้...เปล่าเลยเธอเลือกจะยืนหยัดและตะโกนออกมาให้ดังที่สุดว่า “แฟชั่นเป็นเรื่องของทุกคนไม่มีใครควรถูกกีดกันออกจากมิติความสวยงามของเสื้อผ้าอาภรณ์” การปะทุเดือดครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ซิเนดกลายเป็นตัวแทนการเรียกร้องความเท่าเทียมเชิงโอกาสในการสวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ งามๆ
Liz Jackson ผู้ร่วมอุดมการณ์กับ Sinéad Burke / ภาพ: The Guardian
ซิเนดเป็นคนทำอะไรทำจริง! เธอมีโอกาสพบกับ Liz Jackson ผู้สนับสนุนกลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกายของสหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 มีความธงในใจคล้ายคลึงกันเรื่องความเท่าเทียมจึงตัดสินใจตั้ง Inclusive Fashion and Design Collective (IFDC) ขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันรองรับและขยายเสียงเล็กๆ ให้ดังถึงแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “สร้างความตระหนักให้กับเหล่าดีไซเนอร์ที่ไม่ค่อยเล็งเห็นถึงความหลากหลายเท่าที่ควร อยากให้คนคำนึงถึงการทำงานกับเหล่าผู้บกพร่องทางร่างกายทุกรูปแบบ และหาทางออกให้ดีที่สุดสำหรับประเด็นละเอียดอ่อนเหล่านี้” ซิเนดยังเสริมด้วยว่า “ความสวยงามมันสำคัญมากแต่เมื่อลองมองกลับไปถึงชิ้นงานต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อกลุ่มคนแบบฉันโดยเฉพาะ...จะเห็นว่ามันช่างดูน่าอัปลักษณ์” ความในใจของซิเนดเกี่ยวกับประเด็นความสวยงามอันหลากหลายที่หลายฝ่ายกำลังชูขึ้นในปี 2020 แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้สวยงามตามโฆษณา
Sinéad Burke ขณะขึ้นพูดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องงานออกแบบสำหรับคนบกพร่องทางร่างกาย / ภาพ: Business of Fashion
แนวคิดสุดเปิดกว้างของทั้งซิเนดและลิซเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจเข้าจนได้ พวกเธอได้รับเชิญจากประธานาธิบดี Barack Obama ให้เข้าพบ ณ ทำเนียบขาวในฐานะแขกคนสำคัญของงาน “Design for all” งานที่มีจุดมุ่งหมายเน้นเรื่องความสอดคล้องกันระหว่างแนวคิดการออกแบบกับการใส่ใจความหลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะข้อจำกัดด้านกายภาพ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การออกแบบเสื้อผ้าแต่ยังมุ่งเน้นถึงการออกแบบทุกสิ่งบนโลกใบนี้ที่ควรเอื้ออำนวยต่อทุกคนไม่ใช่แค่คนปกติครบ 32 เท่านั้น! ซิเนดมองว่างานออกแบบโดยเฉพาะงานออกแบบสาธารณะควรจะตอบโจทย์คนให้ครบถ้วนกว่านี้ และเธอจะคอยเป็นกระบอกเสียงต่อไปจนกว่าความยุติธรรมจะบังเกิดในสังคมสมัยใหม่
Sinéad Burke บนเวที TED talk กำลังพูดถึงหัวข้อ “Why design should include everyone” / ภาพ: TED Talks
หลังจากซิเนดเดินหน้าชี้ปัญหาการออกแบบไม่ตอบโจทย์คนครบทุกกลุ่มมาอย่างหนักแน่นและยาว ปี 2017 เธอมีโอกาสขึ้นเวที TED Talks เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บกพร่องทางร่างกายที่ประสบปัญหากับงานออกแบบที่ไม่ตอบโจทย์ในหัวข้อ “Why design should include everyone” นอกจากนี้ยังขึ้นเวทีพูดถึงประเด็น “Designing for Disability” และ “Designing for Everyone” บนเวที BoF VOICES 2017 และ World Economic Forum ในปีเดียวกันตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าการเรียกร้องของเธอมีความหมายและมีคนให้ความสำคัญ เธอจึงไม่หยุดอยู่แค่นี้ สาวผู้เปี่ยมด้วยพลังเดินหน้าต่อและแล้วเธอก็ก้าวเข้าสู่เรื่องแฟชั่นอย่างจริงจัง
เรียงจากซ้ายไปขวา: Lala, Sinéad Burke, Kim Kardashian และ Imran Amed (ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร BoF) ในงานปาร์ตี้ของ BoF / ภาพ: Courtesy of Sinéad Burke
ปี 2018 การเดินหน้าอีกก้าวหนึ่งของซิเนดก็เริ่มต้นขึ้น เธอมีโอกาสขึ้นปก The Business of Fashion ในเดือนพฤษภาคมหลังจากเคยขึ้นพูดบทเวทีของบีโอเอฟมาแล้วเมื่อปีก่อน ความยอดเยี่ยมของผู้หญิงตัวเล็กไม่หยุดแค่การขึ้นปกเพราะเนื้อหาภายในบทสัมภาษณ์ยังเปี่ยมไปด้วยแง่คิด แถมกระทบไหล่เซเลบริตี้ระดับโลกอย่าง Kim Kardashian ซึ่งถือเป็นช่องทางการกระจายเจตนารมณ์อันสำคัญของซิเนด หลังจากเธอเริ่มตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมบางอย่างในสังคม ตอนนี้นับวันเธอยิ่งมาไกลขึ้นเรื่อยๆ
Sinéad Burke ในชุดจาก Gucci เข้าร่วมงาน Met Gala 2019 และเธอยังปรากฏอยู่บนเล่มฉบับเดือนกันยายนของโว้กอังกฤษปีเดียวกัน / ภาพ: Vogue UK
เดินหน้ามาอีกปีเข้าสู่ปี 2019 ซิเนดเริ่มมีบทบาทสำคัญในแวดวงแฟชั่น ช่วงเดือนพฤษภาคมเธอสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงร่างจิ๋วคนแรกที่ได้เดินพรมแดงเข้าร่วมงาน เมต กาล่า งานสุดยิ่งใหญ่ประจำปีของเหล่าคนแฟชั่นและเซเลบริตี้ระดับโลก เธอปรากฏกายในชุดเดรสสีดำประดับโบว์ด้านหน้าสีฟ้า ที่คาดผมสีทอง พร้อมแหวน และตุ้มหูทั้งหมดจาก Gucci ซึ่งชุดนี้ถือเป็นการเปล่งเสียงสำคัญเพราะทั้งเธอและกุชชี่มีจุดยืนด้านความหลากหลายเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันของผู้ตระหนักถึงความสำคัญด้านนี้จึงเป็นการขยายเสียงสำคัญครั้งทำให้ซิเนดได้ส่งสารที่พยายามทำมาทั้งชีวิตออกไปได้ไกลและกว้างมากขึ้น ไม่หยุดอยู่แค่นั้นซิเนดคือผู้หญิง 1 ใน 15 คนที่ Meghan Markle เลือกขึ้นปกโว้กอังกฤษประจำเดือนกันยายนในฐานะผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย
เรียงจากซ้ายไปขวา: Sinéad Burke เข้าร่วมชมโชว์ Prada, Victoria Beckham, Gucci และ Salvatore Ferragamo / ภาพ: Prada - AFP - Lainey และ Zimbio
“ดีไซน์ควรจะเหมาะกับทุกคน” คำนี้กลายเป็นคำที่ทรงอิทธิพลที่สุดคำหนึ่งในปี 2020 ซิเนดทำสำเร็จ การริเริ่มจากความไม่เท่าเทียมเรื่องโอกาสในการเข้าถึงความสวยงามปรากฏให้เห็นเป็นผลเชิงบวก ซิเนดกลายเป็นแขกคนสำคัญของแบรนด์ดังทั้ง Victoria Beckham, Salvatore Ferragamo, Prada, Roksanda และอีกหลายต่อหลายแบรนด์ในช่วงแฟชั่นวีกประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2020 ที่ผ่านมา อาจจะฟังดูไม่ได้วิเศษวิโสอะไร แต่ถ้ามองว่าซิเนดยึดมั่นในอุดมการณ์อันแข็งกล้าเพื่อปกป้องสิทธิ์การเข้าถึงงานออกแบบและพยายามปรับเปลี่ยนมุมมองในแวดวงดีไซเนอร์ให้คำนึกถึงความงามอันหลากหลายมากขึ้น วันนี้เธอประสบความสำเร็จในระดับสูง ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้เห็นแฟชั่นจัดจ้านออกมาตอบโจทย์คนรูปร่างแตกต่างจากรูปร่างในอุดมคติเท่าใดนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณอันดีว่าพวกเขาเริ่มให้ความสำคัญอย่างน้อยก็กับตัวผู้นำความคิดอย่างซิเนด การเริ่มต้นพัฒนาผู้นำต้องได้รับความสนใจเช่นนี้จึงมีโอกาสก้าวต่อไป...
Sinéad Burke กับเทรนช์โค้ตตัวโปรดจาก Burberry / ภาพ: Courtesy of Sinéad Burke
ถ้าหากคนยังตั้งคำถามว่าก็แค่เป็นแขกของแบรนด์สำคัญเพียงใด...เราตอบตรงนี้เลยว่าสำคัญมากเพราะทุกคนจะจดจำและจับจ้องรวมถึงเป็นพยานต่อการกระทำเหล่านี้ของนักออกแบบ เราทุกๆ คนสามารถจับผิดได้อย่างชัดเจนนักออกแบบทำเพื่อสิ่งที่ซิเนดเรียกร้องจริงหรือไม่ หากไม่ทำจริงกระแสสังคมก็จะตีกลับโดยไว ตอนนี้มีแบรนด์หนึ่งทำเรียบร้อยก็คือ Burberry โดย Riccardo Tisci ดีไซเนอร์หัวขบถ ซิเนดจับมือกับผู้กุมบังเหียนงานออกแบบของแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากอังกฤษเพื่อออกแบบเสื้อเทรนช์โค้ตเอกลักษณ์ประจำแบรนด์ในไซส์ที่เหมาะกับรูปร่าง แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทำก็ทำได้เพียงแต่จะทำหรือไม่เท่านั้น เมื่อมีคนเริ่มตระหนักและลงมือทำจริงสุดท้ายทุกคนก็เห็นช่องทางการสร้างประโยชน์เอื้อกันและกัน ตอบโจทย์คนได้หลากหลายแบรนด์เองก็ได้ประโยชน์ คนรับประโยชน์จากแบรนด์ก็ได้รับความสวยงามในแบบที่พึงหา แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เกิดจากคนๆ เดียวไม่ได้ ทั้งหมดคือพลังแห่งการร่วมจิตร่วมใจกัน เพียงแต่ว่าสุภาพสตรีตัวเล็กคนหนึ่งเป็นกระบอกเสียงกระบอกใหญ่ที่ทำให้ผู้คนได้รับสารกันอย่างทั่วถึง และนี่คือโลกใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของสาวตัวเล็กๆ ชื่อ “ซิเนด เบิร์ก”
ช่วงโมเมนต์สำคัญที่ Meghan Markle พบกับ Sinéad Burke / ภาพ: Daily Mail
WATCH