FASHION

เศษผ้าเก่า-เล่าเรื่องใหม่ โว้กพาคุยกับ SC GRAND รุ่นที่ 3 การถักโลกใบใหม่ด้วยเส้นใยรีไซเคิล

“เรากำลังถนอมโลกใบนี้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้” วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์

ภาพน้ำทะเลสีข้นจนเกือบดำลานตาไปด้วยขยะจำนวนมหาศาลทำเอาเรานอนไม่หลับไปพักใหญ่ เมื่อคิดถึงว่านี่คือผลจากสิ่งที่ทั้งตัวเราและอุตสาหกรรมทุกแขนงทั้งใช้และบริโภคกันอย่างสนุกสนานมาเป็นระยะเวลานาน และผลที่ได้ก็อย่างที่เห็นธรรมชาติมีสภาพเป็นแบบนี้ แม้ว่าทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการเป็นต้นเหตุ หากวันนี้เราขอพูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือสิ่งทอโดยเฉพาะ เมื่อแฟชั่นกับฉากหน้าอันสวยงามที่เรามักเห็นนางแบบเดินไขว้ขากันไปมาบนรันเวย์เพื่ออวดโฉมฝีมือการตัดเย็บและสีสันฉูดฉาดของเหล่ากูตูริเยร์ เบื้องหลังกลับกลายเป็นอุตสาหกรรมลำดับ 2 ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนนับไม่ถ้วน และเมื่อเราพบเข้ากับวิกฤตระดับโลกที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ ส่งผลให้วิถีการบริโภคและการซื้อขายของในตลาดกลับเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เหมือนสัญญาณบางอย่างที่กำลังปลุกเราให้ตื่นขึ้นจากความฝันพร้อมพบกับความจริงที่ว่าเราทำร้ายธรรมชาติกันไปมากแค่ไหนแล้ว 

ในขณะที่บางแบรนด์กำลังทบทวนตัวเองอย่างหนักและหันกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง แบรนด์ SC GRAND กลับเดินนำหน้าอยู่บนเส้นทางนั้นอย่างมั่นคงมาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี จะบอกว่าทำนายอนาคตได้ก่อนก็ไม่น่าถูก จะพูดว่าอินเทรนด์ก่อนใครก็ไม่น่าใช่ เมื่อ SC GRAND ไม่ได้มองเห็นเพียงแค่เสื้อ 1 ตัว แต่กลับมองเห็นเส้นใยหลายร้อยเส้น น้ำหลายพันลิตร (อาจมากกว่านั้น) และกระบวนการในอุตสาหกรรมทางเคมีอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นเพื่อสร้างเพียงเสื้อ 1 ตัว นี่คงเป็นการตอบคำถามได้อย่างดีแล้วว่าทำไมทายาทรุ่นที่ 2 ของแบรนด์ถึงเลือกที่จะนำเศษผ้าเก่ามาคัดแยกสีเพื่อปั่นเป็นด้ายเส้นใหม่ แทนการย้อมฟอกให้กลายเป็นสีเดียวกัน ทั้งหมดก็เพื่อรักษาทรัพยากรน้ำ เพื่อรักษาโลกของเราเอาไว้นั่นเอง

เราขอเล่าย้อนกลับไปสักนิด หากคุณรู้จักแบรนด์นี้ดีอยู่แล้วย่อมต้องรู้ว่าการบุกเบิกอุตสาหกรรมสิ่งทอของแบรนด์นี้ในรุ่นที่ 1 คือการซื้อเศษผ้ามาเพื่อขายออกไปเท่านั้น ก้าวสู่การพัฒนาในรุ่นที่ 2 กับการต่อยอดมาเป็นเส้นด้ายรีไซเคิลด้วยการคัดแยกสีและปั่นทอ โดยมีสินค้าที่ทำได้ ณ ตอนนั้นคือม็อบถูพื้นที่มีเนื้อผ้าค่อนข้างหยาบเท่านั้น จุดพลิกธุรกิจอยู่ที่ตรงนี้เมื่อรุ่นที่ 3 ที่เรากำลังสนใจคือการพาแบรนด์ให้ก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่มั่นคงในแบบที่รักษ์โลกมากขึ้น เราพูดคุยกับ วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่น 3 ที่เล็งเห็นเส้นทางการเดินแล้วว่าเราจะไม่หยุดแค่เส้นด้ายเท่านั้น เมื่อหมุดหมายของธุรกิจนี้อยู่ที่การเป็นแบรนด์วัตถุดิบ และฮับของการรีไซเคิล “ในอนาคตเราเองอยากจะเป็น Top Brand เมื่อพูดถึง Sustainable Textile หรือผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเราอยากจะเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เขาคิดถึง รวมถึงการเป็นขาด้านรีไซเคิลฮับ นั่นคือสิ่งที่เราจะทำเพื่อเป็นแบรนด์วัตถุดิบที่ให้คุณเอาไปต่อยอดได้อีก”



WATCH




"มากกว่าแค่การขายเส้นด้าย" 

มากกว่าเส้นด้ายรีไซเคิลคือการเป็นขาที่สนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นในการเป็นทรัพยากรทางเลือกให้ผู้ผลิตได้ช็อปปิ้งเส้นด้ายหรือผ้าเหล่านี้ในการนำไปใช้ในการผลิตเสื้อผ้า ทายาทรุ่นที่ 3 กับการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเส้นด้ายรีไซเคิลที่ได้คุณภาพและหลากหลายประเภทมากขึ้นเพื่อสนับสนุนตลาดแฟชั่น เพื่อให้คนหันกลับมาตระหนักรู้ว่าเสื้อผ้าที่เราใส่ในแต่ละวันใช้น้ำจำนวนมาหาศาลถึง 7000 ลิตรสำหรับการฟอกย้อม ในขณะที่ผลจากการวิจัยก็พบว่าคน 1 คนสวมเสื้อผ้า 1 ตัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 7 ครั้งเท่านั้น จำนวนของทรัพยากรที่เสียไปบวกลบคูณหารแล้วอย่างไรก็ดูจะไม่เท่ากับสิ่งที่จะได้มา 

เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของอุตสาหกรรมที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปในทางที่ถูกต้องและหันกลับมาให้ความสำคัญถึงทรัพยากรที่มีอยู่อีกครั้ง วัธทำความเข้าใจและบอกกับเราว่า “ในอดีตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบ Linear Economy ทำเสร็จขึ้นมาใช้แล้วทิ้งไป แต่ในอนาคตมันไม่สามารถทำได้แล้ว ทั่วโลกตอนนี้เขาหันมาพูดคุยกันถึงเรื่องของ Circular Economy คือการเป็นเศรษฐกิจแบบระบบปิด เราผลิตทุกอย่างแล้วมันต้องวนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก” ไม่ถึง 5% ของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ชิ้นส่วนของเสียถูกเลือกมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล นับว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อยมาก การรู้คุณค่าของทรัพยากรที่มีจึงอาจไม่เพียงพอต่อไปแล้วเมื่อเราต้องลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง มันคืออนาคตของโลกที่ไม่เช่นนั้นทรัพยากรของโลกมันจะหมดไป

"ก้าวเข้าสู่โลกของแฟชั่น"

หากการก้าวเข้าสู่ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีทั้งการผลิตเส้นด้ายให้กับแบรนด์แฟชั่นและการเริ่มต้นลงมือทำคอลเล็กชั่นเองทำให้แบรนด์พัฒนาไปอีกขั้นเมื่อได้เห็นถึงข้อจำกัดและปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา “เรามั่นใจว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะทำได้ แต่เมื่อเราเริ่มต้นทำกับแบรนด์แฟชั่นจริงๆ ก็มีปัญาหาเหมือนกัน มันต้องปรับสูตรหลายอย่างเพื่อให้ได้ออกมาตามที่ลูกค้าต้องการเช่น เนื้อผ้าหยาบไป ตัวปุ่มหรือพวกเม็ดๆ มีเยอะเกิน และเราก็ควบคุมสีไม่ได้ 100% มันมีความผันผวนเรื่องเฉดสี เพราะผ้าของเราเส้นด้ายของเราไม่ได้ผ่านการฟอกย้อม แต่มันก็คือเสน่ห์ของการรีไซเคิลของเรา” วัธพูดต่อว่า “แต่เราต้องพัฒนาและปรับตัวตลอดเวลา แม้เราจะขายของเดิมแต่ก็ต้องมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ เพราะเขาเองก็จะกังวลเรื่องผ้าว่าจะอันตรายไหม ปลอดภัยไหม ซึ่งเราเองก็ส่งผ้าไปทดลองที่สถาบันเพื่อชูให้เห็นว่ามันไร้สารเคมี สะอาดและปลอดภัย เป็นมิตรเทียบเท่ากับผ้าธรรมดานั่นแหละ” หากสิ่งหนึ่งที่วัธและแบรนด์ SC GRAND ช่วยได้แน่ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นคือการช่วยยืดอายุของทรัพยากรและเศรษฐกิจให้ยาวนานและยั่งยืนขึ้นด้วยผ้ารีไซเคิล วัธบอกกับเราว่าเสื้อยืดและ 80% ของเสื้อผ้าแบรนด์ SC GRAND ไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม จึงช่วยลดการใช้น้ำจำนวนมหาศาลที่มากถึง 2700 ลิตร เทียบเท่ากับที่คนใช้ดื่มกินได้ถึง 3 ปี นี่คือสิ่งที่ทายาทรุ่นที่ 3 พาแบรนด์ให้ก้าวเดินมาไกลมากกว่าการทำเส้นด้ายเพื่อเป็นเพียงแค่ม็อบถูพื้น

"ไกลกว่านั้นคือสั่งเสื้อได้เหมือนสั่งข้าว"

ไม่เพียงแค่การเริ่มต้นคอลาบอเรตกับแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยเพียงเท่านั้น เมื่อทายาทรุ่นที่ 3 คนนี้เริ่มหันมาลงมือทำคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าเองบ้าง และหวังในอนาคตอันใกล้ว่าอีกไม่กี่ปีเสื้อที่คุณสั่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตระหนักได้ว่าเรากำลังมีส่วนร่วมในการช่วยโลกใบนี้อยู่ด้วยเสื้อตัวเก่าที่เรามี “ในอนาคตคุณสามารถ Customize เสื้อเก่าที่จะเอามาทำใหม่กับเราได้ว่าอยากใส่เส้นใยรีไซเคิลเท่าไหร่ ใยธรรมชาติเท่าไหร่ ใยจากขวด PET เท่าไหร่ เพื่อสร้างเสื้อ 1 ตัว คุณสามารถดีไซน์เองได้เลย” สั่งเสื้อได้เหมือนสั่งข้าวจานโปรดนี่คือแวบแรกที่เราคิดกับประโยคที่วัธพูด มันไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าให้กับของที่มีอยู่ แต่ยังเพิ่มมูลค่าทางจิตใจให้กับเจ้าของเสื้อตัวเก่าได้กลับมาตระหนักมากขึ้นอีกด้วย และคงอีกไม่นานนักเราเชื่อว่าจะได้ใช้บริการสั่งเสื้อได้เหมือนสั่งอาหารตามสั่งนี้อย่างแน่นอน

 

ก่อนจะก้าวไปถึงเส้นชัยตรงนั้นกัน ช่วงเวลา ณ ปัจจุบันนี้ SC GRAND ยังคงเดินหน้ากระตุ้นโลกยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มต้นจับมือกับแบรนด์แฟชั่นในประเทศไทยแล้วก็หันมาร่วมมือกับนิตยสารโว้กประเทศไทยในการส่งต่อความหวังและความยั่งยืนที่เราทั้งคู่กำลังพูดและสื่อสารภาษาเดียวกันอยู่ “สำหรับโปรเจกต์ VOGUE HOPE มันคือความหวัง มันมีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนที่จะสร้างอนาคตที่ดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับอนาคตคนรุ่นต่อไป นี่คือข้อคิดเห็นที่ตรงกันว่าเรากำลังสร้างการรับรู้และสร้างความหวังให้กับอนาคต แบรนด์เราตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น เราดีใจที่โว้กก็คิดแบบเดียวกัน เพราะมันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องสร้างบางอย่างให้กับอนาคตที่ดีขึ้น เราอยากเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะจุดประกายให้คนหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability” 

มีนักวิจัยท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่าถ้าเรายังใช้ทรัพยากรแบบนี้อยู่ เราต้องใช้โลกถึง 3 ใบเพื่อสร้างอนาคตเลยทีเดียว และนี่ก็คงเป็นภาพที่ SC GRAND เห็นก่อนใครทำให้แบรนด์กลายเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอรุ่นแรกๆ ที่ไหวตัวทัน เช่นเดียวกับโลกแฟชั่น ณ ตอนนี้ที่ก็เริ่มหันมาตั้งคำถามและตอบปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วว่าเราจะมีโอกาสช่วยพัฒนาไอเดียและต่อยอดให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้คงอยู่อย่างไรได้บ้าง แม้จะช้าไปเสียหน่อยแต่การเริ่มต้นตระหนักและเริ่มหาทางออกก็แสดงให้เห็นว่าโลกแฟชั่นไม่ได้นิ่งดูดาย เราเองก็ทำให้อุตสาหกรรมอื่นเห็นว่าแฟชั่นเรากำลังพยายามที่จะปรับตัวไปด้วย และนั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้โปรเจกต์ VOGUE HOPE เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

ซึ่งในโปรเจกต์นี้ทุกคนจะยังได้เห็นว่าเสื้อทีเชิ้ตที่แบรนด์กล่าวเอาไว้ว่าทอขึ้นจากเส้นใยรีไซเคิล 100% นั้นนอกจากจะทำได้จริงแล้ว คุณภาพที่ได้ออกมายังเรียกว่าไม่เป็นรองใครอีกด้วย หากใครสนใจเสื้อทีเชิ้ตที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยรีไซเคิลหรือกากของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็ตามไปเลือกชมและช็อปปิ้งกันได้ที่งานนิทรรศการ VOGUE HOPE AT SIAM CENTER จัดขึ้น ณ ชั้น G โซนเอเทรียม 1 สยามเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 3-10 กันยายน 2563

หลังจากเต็มอิ่มกับการนั่งพุดคุยกันมาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่การท้าวความกลับไปที่ต้นทางความคิดเดินทางมาถึงการต่อยอดในปัจจุบัน และความคาดหวังในอนาคต วัธทิ้งทายไว้กับเราว่า “เราเป็นแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้นที่ให้คุณเลือก ยังมีอีกหลายฮับรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราดีใจมากที่สุดตอนนี้คือการที่เราเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมในการสร้างให้คนหันมาตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเรากำลังถนอมโลกใบนี้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ นอกจากเราจะแต่งตัวให้ดูดีดูสวยแล้ว เรายังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ด้วย มันมีทางเลือกเยอะมาก เราควรต้องช่วยกันในทุกอุตสาหกรรม ทุก Supply Chain ที่ไม่ใช่แค่แฟชั่นหรือสิ่งทอเท่านั้น เพื่อให้โลกใบเดียวใบนี้ยังคงดีอยู่” 

 

ภาพ: ธนัสธรณ์ กังวาลสงค์วงษ์, นาทนาม ไวยหงษ์

 

WATCH