#VogueOpinion ถอดรหัสสิ่งที่ซ่อนอยู่ใน Saint Laurent คอลเล็กชั่น Fall 2021
"ดีไซเนอร์มากมายมีแม่แบบในการสร้างงานเป็นดีไซเนอร์ด้วยกันเอง"
เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ตัดสินใจจัดโชว์ประจำฤดูกาลใบไม้ร่วงนอกตารางปารีสแฟชั่นวีกอย่างที่เคยเป็นมา ที่แม้ว่าหลายคนอาจเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจทำให้กระแสของแบรนด์นั้นเงียบเหงา แต่ดูเหมือนว่าเหล่านักวิจารณ์สายแฟ(ชั่น)จะคาดผิดถนัด เพราะหลังจากที่ทุกคนได้เห็นความเปรี้ยวเท่ของเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นล่าสุดของ Saint Laurent ไปแล้ว กลับมีมุมมองให้ได้โจษขานต่อกันไปอีกหลายชั่วโมงถึงประเด็นน่าสังเกตที่ปรากฏบนเสื้อผ้าชิ้นคีย์พีซในครั้งนี้ว่า "ทำไมจึงแตกต่างจากงานของแซ็งต์โลร็องต์ที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ราวกับเราไม่ได้นั่งชมโชว์ของแซ็งต์โรล็องต์ด้วยซ้ำ" ทว่าคำตอบของคำถามดังกล่าว ก็ถูกไขให้กระจ่างด้วยข้อความบนบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวของ สธน ตันตราภรณ์ Managing Editor โว้กประเทศไทย ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นเชิงประวัติศาสตร์แฟชั่นไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า "ดีไซเนอร์มากมายมีแม่แบบในการสร้างงานเป็นดีไซเนอร์ด้วยกันเอง"...
"เมื่อวิดีโอพรีเซ็นเทชั่นจากแบรนด์ Saint Laurent โดย Anthony Vaccarello คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง 2021 จบลงเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่แล้ว ความทรงจำเดียวที่วงการแฟชั่นจะหวนระลึกได้ จำต้องย้อนพากันกลับไปไกลถึงปี 1972 ครานั้น Yves Saint Laurent กำลังขึ้นหม้ออย่างยิ่งยวด หลังบุกเบิกเปิดช้อป Rive Gauche ในปี 1966 เพื่อตีตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูป ความนิยมในตัวเขาก้าวไปไกลเกินกว่ากรุงปารีส แต่เลยล่วงไปถึงมหานครนิวยอร์ก ซึ่งงานหลายต่อหลายชิ้นปรากฏเป็นชิ้นงานเกรดมิเรอร์ภายใต้ป้ายยี่ห้อ Halston"
(ซ้าย) ผลงานของ Yves Saint Laurent ในช่วงปี 1970s ที่ได้หยิบยืมสไตล์มาจากมาดมัวแซลกาเบรียล ชาเนล / (ขวา) ภาพจัดแสดงโชว์ผลงานของ Yves Saint Laurent จาก FIT Museum ในช่วงยุคเดียวกัน
สธนกล่าวต่อไปว่า "ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง โลกแฟชั่นเพิ่งสูญเสียจักรพรรดินีแห่งห้องเสื้อเอกคือ มาดมัวแซล Gabrille Chanel ไปหมาดๆ ในปี 1971 จังหวะสุญญากาศนี้เอง คือช่วงหัวใสที่ดีไซเนอร์หนุ่มนามอีฟส์ ผู้เปิดเผยชัดเจนเสมอมาว่ามีไอดอลในดวงใจเป็นนักออกแบบหญิงใหญ่ผู้ล่วงลับ นำเสนอคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่หยิบยืมสไตล์มาจากวิธีคิดหลักของมาดมัวแซล ทั้งงานวัสดุผ้าถักผ้าทอ เรื่อยไปจนถึงซิลูเอตชิ้นงานเกือบทั้งคอลเล็กชั่น ในทางหนึ่งมันคือการสดุดีแด่ตำนานที่เขาเทิดทูน หากเมื่อมองกัน ในแง่กลยุทธ์ ตลาดที่สูญผู้คุมเกมไปกะทันกันก็ย่อมเผยเนื้อที่เค้กชิ้นใหญ่ให้น้ำลายไหลมิใช่หรือ"
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่มีคำถามถึงคอลเล็กชั่นดังกล่าวในใจ ก็คงจะเริ่มร้องอ๋อ...ไปตามๆ กัน เพราะสิ่งที่เราได้เห็นตรงหน้าเมื่อคืนนั่นเอง คือร่องรอยผลงานการเทิดทูนจักรพรรดินีโคโค่แห่งวงการแฟชั่นโลกผู้ล่วงลับ ผู้เป็นดั่งแม่แบบของผู้ก่อตั้งห้องเสื้อ Saint Laurent ที่ได้ส่งไม้ต่อให้ Anthony Vaccarello โต้โผใหญ่คนปัจจุบัน ได้หยิบยืมแรงบันดาลใจดังกล่าวมาใช้อีกครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสธนยังสะกิดให้เหล่าสาวกได้ตั้งคำถามกับตัวเอง และลองพิสูจน์ถึงสิ่งที่เขาได้กล่าวไปแล้วข้างต้นต่อไปว่า "ย้อนกลับมาที่ริมหน้าผาล่าสุดของแซ็งต์โลร็องต์ คุณเห็นการเชื่อมต่อของเรื่องต่างๆ หรือยัง คุณเห็นพลังของแรงบันดาลใจที่ซ้อนแล้วซ้อนอีกไหม ไม่ว่าแฟ้มข่าวแจกสื่อจะเขียนเช่นไร แต่สัญชาตญาณของเราเล่ากำลังบอกว่าเสื้อผ้าหลายชิ้นในคอลเล็กชั่นนี้ ซ้อนทับกับเสื้อผ้ายุค 1970s ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชาเนลอย่างไม่มีผิดเพี้ยน แล้วยังชิ้นงาน Super Chanel-inspired เหล่านั้นอีกเล่า จากสร้อยไบแซนไทน์ที่ยกมาตรงๆ ถึงกระเป๋าหนังสีดำบุลายข้าวหลามตัด...อะไรคือเบื้องลึกของความคล้ายคลึงนี้"
WATCH
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
อย่างไรก็ตามสธนได้ปิดท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจ และตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการข้ามสายพันธุ์ทางแฟชั่นที่เพิ่งเกิดไปไม่นานนี้ว่า "ความสนุกมันอยู่ตรงที่แอนโทนีอาจจะก้าวไปไกลเกินกว่า 'YSL on Gabrielle' แต่มีสิทธิ์จะสำรวจรหัสของแบรนด์ชาเนลในยุคของ Virginie Viard ด้วย เพราะหลายลุคนั้นก็ไม่ต่างกับกระบวนการที่ Gucci เพิ่งจะสร้างสรรค์งานร่วมกับ Balenciaga ไป แตกต่างเพียงแต่ "การข้ามสายพันธุ์" ในครั้งนี้ย้อนรอยกลับไปถึงได้เพียงฝ่ายเดียว"
หากว่าความสนุกของดีไซเนอร์คือการเฟ้นหาแรงบันดาลใจอันมากมายหลากหลาย เพื่อนำมาประกอบสร้างเป็นเสื้อผ้าแล้วล่ะก็ ความสนุกของผู้ชม และเหล่าสายแฟ(ชั่น) ก็คงจะหนีไม่พ้นการนั่งไขรหัสลับตามลายแทงที่เหล่าดีไซเนอร์วาดขึ้นมาให้ชมกันในแต่ละฤดูกาลไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเองที่เป็นมากกว่าเพียงการเสพความบันเทิง หรือความสวยงามเปลือกนอกของอุตสาหกรรมแฟชั่นเท่านั้น ในยุคสมัยที่เสื้อผ้าแต่ละชิ้นมีความหมายยิ่งว่าอาภรณ์หุ้มห่มร่างกายเช่นนี้
WATCH