FASHION
คุยกับสาวไทยผู้สร้าง RAYA เจาะลึกกว่าจะมาเป็นแอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์จากเนื้อเรื่องของคนไทย“ฝน-วีระสุนทร” ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานครั้งสำคัญมากมายกับดิสนีย์ ที่ล่าสุดเธอยังได้รับหน้าที่สำคัญนั่งแทนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราว (Head of Story) ของ “Raya and the Last Dragon” |
“เราไม่ค่อยได้เห็นวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทมากนักในวงการภาพยนตร์แอนิเมชั่นโลก”... นั่นเป็นคำบอกเล่าส่วนหนึ่งจากปากของสาวไทยหัวครีเอทีฟที่ความพยายาม และความสามารถของเธอผลักดันให้เธอไปไกลถึงค่ายดิสนีย์ สถานที่ทำงานของเธอที่เมื่อนับมาถึงตอนนี้ก็กินเวลานับ 10 ปีแล้ว ที่ “ฝน-ประสานสุข วีระสุนทร” ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานครั้งสำคัญมากมายกับดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็น “Frozen”, “Zootopia,” ,“Moana” “Ralph Breaks the Internet” และ “Frozen 2” ที่ล่าสุดเธอยังได้รับหน้าที่สำคัญนั่งแทนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราว (Head of Story) ของ “Raya and the Last Dragon” หรือในชื่อภาษาไทยที่ว่า “รายาและมังกรตัวสุดท้าย” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดจากค่ายดิสนีย์ที่ได้รวบรวมเอาวัฒนธรรม ศิลปะ ความเชื่อ และประเพณีร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาประยุกต์เอาไว้ในแอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรก ที่ครั้งนี้โว้กมีโอกาสได้นั่งพูดคุยผ่าน Zoom คุณฝนแบบตัวต่อตัว เจาะลึกเบื้อหลังที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ อุ่นเครื่องก่อนที่จะตามไปดูความยิ่งใหญ่ในโรงภาพยนตร์วันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้
V: จุดเริ่มต้นการเป็น Head of Story ของแอนิเมชั่นเรื่อง “รายาและมังกรตัวสุดท้าย”
F: จริงๆ ฝนทำงานที่ดิสนีย์มาประมาณ 10 ปีแล้วค่ะ เริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2011 แล้วที่ผ่านมาก็ได้ร่วมงานกับผู้กำกับหลายๆ คน ได้ทำงานใกล้ชิดกับโปรดิวเซอร์ชื่อดังมากมาย แล้วพอเวลาผ่านมาถึงจุดหนึ่งเขาก็มองว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมีความรับผิดชอบ และบทบาทมากขึ้น ก็เลยชวนให้เรามาร่วมทำงานในเรื่องนี้ ประกอบกับว่าเขาคิดว่าเราซึ่งเป็นคนเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ น่าจะมีมุมมองอะไรบางอย่างที่รู้ลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมในถิ่นกำเนิดของเรา ซึ่งก็ยอมรับว่าจริง นั่นก็เป็นข้อดีที่ทำให้เราไม่ต้องทำรีเสิร์ชมาก ก็สามารถเริ่มงานเรื่องนี้ได้เลย
V: แล้วจุดเริ่มต้นของ “รายาและมังกรตัวสุดท้าย” เกิดขึ้นตอนไหน
F: ต้องเท้าความก่อนว่า ก่อนที่ฝนจะมาร่วมงานนี้ ทีมงานมีการวางโครงเรื่องคร่าวๆ ไว้ก่อนแล้วประมาณว่า พื้นที่ 5 ดินแดน ที่มีแม่น้ำที่แบ่งกั้นดินแดนเหล่านี้อยู่ แล้วเขาก็มีตัวละครมังกรอยู่ในโครงเรื่องนั้นด้วย ซึ่งเราก็คิดขึ้นมาได้ทันทีเลยว่า มันก็เหมือนแม่น้ำโขงเลยเนอะ แล้วเราก็แตกออกมาเป็นความเชื่อในเรื่องของพญานาคอะไรเทือกๆ นี้ เอาไปเล่าให้เขาฟังว่ามันมีความเชื่อแบบนี้อยู่ที่ว่า นาคในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบดั่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมความเชื่อร่วม ในฐานะของเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง อีกทั้งยังยึดโยงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาว่าเป็นทางเชื่อมต่อจากพื้นดินสู่สรวงสวรรค์ แบบที่เราได้เห็นตามวัดที่จะมีรูปปั้นพญานาคตามขั้นบันได นั่นก็เลยประจวบเหมาะกับเนื้อเรื่องของทีมงานที่ต้องการจะสร้างให้ตัวละครในเรื่องนั้นมีความร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งเขาก็เล็งเห็นว่ามุมมองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมาะสมที่สุด หลังจากนั้นก็เกิดการรีเสิร์ชขึ้นในพื้นที่แถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และอีกมากมาย ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าความเป็นชุมชนของภูมิภาคนี้ มันมีอะไรที่น่าสนใจ ที่เขาไม่เคยสัมผัสจากที่อื่นมาก่อน ซึ่งมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นอเมริกัน
V: คุณฝนคิดว่าทำไมดิสนีย์ถึงวกกลับมาใช้แรงบันดาลใจจากภูมิภาคนี้
F: สำหรับฝน มองว่าบุคคลิกภาพของภูมิภาคนี้มันเข้ากับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก มันมีเหตุผลมากกว่า ภาพสวย หรืออะไรที่ฉาบฉวย แล้วเราก็รู้สึกดีใจด้วย เพราะที่ผ่านมาเราก็ไม่ค่อยได้เห็นภูมิภาคนี้ในสื่อหลักมากสักเท่าไหร่
V: ในอดีตดิสนีย์เคยสร้างแอนิเมชั่นที่เป็นวัฒนธรรมเอเชีย (และพื้นที่ภูมิภาคใกล้ๆ นี้) จนประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้วหลายเรื่อง แล้วการสร้าง Raya ในครั้งนี้มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง
F: ย้อนกลับไปตอนที่ทำเรื่อง Moana (ซึ่งเป็นแอนิเมชั่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมในบริเวณหมู่เกาะแปซิฟิก) ฝนไม่ได้ไปร่วมทริปรีเสิร์ชกับเขา ส่วนตอนที่ไปรีเสิร์ชทริปของรายา เราก็เดินทางไปเหมือนกับนักท่องเที่ยว มีผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ คอยให้ความรู้ ที่คอยชี้ให้เราได้เห็นหลายๆ จุดที่เป็นวัฒนธรรมสำคัญที่แฝงอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เราได้เห็นว่าการสร้างสถาปัตยกรรม หรือประติมากรรม ขึ้นมาทุกชิ้นในภูมิภาคนี้มันมีเหตุผลในตัวของมันเองทั้งหมด ซึ่งมันดีมาก ที่เราจะทำหนังที่มีมีกลิ่นอายของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงๆ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งการทำของเราคือการเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ และจักรวาลวิทยาของพื้นที่นี้ แล้วพอเราเข้าใจจักรวาลทั้งหมดของมันแล้วเนี่ย เราก็นำมันมาใส่ในเมืองสมมติในภาพยนตร์เรื่องนี้
WATCH
V: ถามได้ไหมว่า เราได้นำรายละเอียดอะไร จากประเทศไหน ไปใส่ไว้ตรงไหนของแอนิเมชั่นเรื่องนี้บ้าง
F: คือเราไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้คือประเทศนี้ หรือว่าจุดนี้คือของประเทศไหน แต่อย่างที่บอกว่าเราเอาความคิดร่วม และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในภูมิภาคนี้ มาดัดแปลงโดยรวมให้กลายเป็นของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของวิถีชีวิตในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักจะเป็นชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำเสียเยอะ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ก็จะมีภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำอยู่มาก เพราะเราเชื่อว่าตัวละครในเรื่อง กับคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความคิดที่คล้ายๆ กัน อย่างในเรื่องนี้ก็จะได้เห็นว่าเราได้เอาความเชื่อที่เกี่ยวกับนาค (ที่ถูกทำออกมาให้ไม่เหมือนนาค) มาใส่ไว้ด้วย แต่เราไม่ได้อยากเอานาคจริงๆ มาใส่ เพราะเราคิดว่าคงไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เพราะตัวนาคเองมันก็เป็นสิ่งที่ยึดโดยงกับเรื่องของศาสนาด้วย เราก็ต้องระวังเรื่องนี้
V: รู้สึกอย่างไรบ้างพอเราได้เห็นรายาเป็นรูปเป็นร่างขนาดนี้
F: ส่วนตัวฝนคิดว่า ฝนโตมากับการดูการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนจีน การ์ตูนเกาหลี ซึ่งเราก็มีความรู้สึกว่าวัฒนธรรมของเรามันไม่เคยมีโอกาสได้มายืนอยู่แบบนี้บ่อยๆ ในโลกสากล จนเราคิดไปเองแล้วว่าวัฒนธรรมของเราไม่น่าสนใจหรือ ไม่ดีพอหรือเปล่า ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความจริงหรอก แค่ว่าเรายังไม่มีโอกาสได้มาทำในเวทีโลกก็เท่านั้นเอง ก็หวังว่าการที่เราได้โอกาสนี้มา เราก็รู้สึกดีใจที่เด็กๆ จากที่ไหนก็ตามในภูมิภาคนี้ได้มาดูก็จะได้เห็นว่าเรามีจุดยืนนะ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนเอเชียแบบชาติอื่นๆ แต่เราสามารถเป็นคนเอเชียในแบบของเราได้ แล้วก็ได้ภูมิใจต่อศิลปะ และวัฒนธรรมของภูมิภาคของตัวเองไปด้วย
V: คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ รายานับเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ไหม
F: ถ้าคิดว่าโมอานาเป็นเจ้าหญิง เพราะว่าเป็นลูกของหัวหน้าชนเผ่าโมโทนุย ซึ่งเทียบได้ว่าเป็นเจ้าหญิง รายาก็เป็นลูกของผู้นำชนเผ่าเช่นกัน เราคิดว่าถ้าเป็นมาตรฐานเดียวกันแบบนั้น ก็ใช่ค่ะ
V: ทำไมต้องเป็นตัวละคร “รายา”
F: ตอนเด็กๆ เราเป็นพวกทอมบอยวิ่งไปวิ่งมาแถวบ้าน ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักหมด ซึ่งตอนเด็กๆ ตอนนั้นเราก็อยากจะมีโรลโมเดลเป็นผู้หญิงที่เก่งกล้า ไม่กลัวใคร สามารถดูแลตัวเองได้ มีความก๋ากั่น แล้วพอมาคุยกับนักเขียนอีกคน ก็คิดประมาณเดียวกัน คืออยากจะเห็นตัวละครแบบนี้ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กับตัวละครผิวสี ตาคมๆ แตกต่างจากเดิมๆ มีความมั่นใจ ต่อสู้ได้ จนกลายเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตัวละครนี้ขึ้นมา
V: คนที่ได้ดู “รายาและมังกรตัวสุดท้าย” เขาจะได้อะไรกลับไปบ้าง
F: ความสำคัญของแอนิเมชั่นเรื่องนี้คือ ความเชื่อใจกัน ทำอย่างไรที่เราจะสามารถเชื่อใจคนที่เคยหักหลังมาก่อนได้อีดครั้ง ซึ่งเราคิดว่าโลกปัจจุบันมันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ประมาณว่าพอทะเลาะกันแล้วก็ไม่โทรหากันแล้ว ซึ่งก็หวังว่าพอดูแอนิเมชั่นเรื่องนี้จบแล้ว อาจจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหากันกับคนที่เคยมีปัญหาในอดีต และกลับมาคุยกันอีกครั้ง กลับมาก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอีกครั้ง
WATCH