FASHION

เปิดประวัติศาสตร์ชุดแอร์โฮสเตส! ครั้งหนึ่งแอร์ฯ สายการบินดังทุกคนสวมชุด Emilio Pucci

เมื่อชุดแอร์กลายเป็นแฟชั่นสุดจัดจ้านที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ ชื่อของ Emilio Pucci จึงถูกพูดถึงอีกครั้งโดยโว้ก

     แอร์โอสเตสหรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีภาพจำที่คนทั่วไปคิดติดใจอยู่เสมอคือเรื่องเครื่องแบบประจำเมื่อให้บริการบนเครื่องบิน ในยุคใหม่ความโดดเด่นของเสื้อผ้าแต่ละสายการบินมักเป็นเรื่องของการตลาด สร้างเอกลักษณ์ รวมถึงสร้างสีสันให้กับแต่ละไฟลต์ ทว่าหากย้อนกลับไปสมัยก่อนมีการรังสรรค์ชุดสำหรับพนักงานเหล่านี้โดยดีไซเนอร์ชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Emilio Pucci ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนที่เก่งกาจในเรื่องการใช้ลวดลายและสีสันจัดจ้าน ในยุค ‘60s และ ‘70s ยุคแห่งสีสันทำให้ความน่าสนใจของวัฒนธรรมบนเครื่องบินถูกทำให้สดใหม่ยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ลุคสีสันจัดจ้านที่ Emilio Pucci สรรสร้างให้กับ Braniff Airways / ภาพ: The Sir's Corner

     เมื่อครั้งที่ความเฉยชาน่าเบื่อของเทคโนโลยีที่ไม่ได้ก้าวกระโดดให้เราตื่นเต้นได้เท่ายุคนี้ การบริการบนเครื่องบินก็ไม่ได้เลิศเลอไปกว่าปกติเท่าไรนัก การดึงจุดเด่นออกมาของแต่ละสายการบินทำให้คนจดจำ และสร้างฐานคนรู้จักไว้ได้ไม่มากก็น้อย ต้องเท้าความกลับไปว่าสมัยนี้อาจไม่เหมือนปัจจุบันที่คนบินกับสายการบินอะไรก็ได้เปรียบเทียบผ่านระบบออนไลน์(โดยเฉพาะไฟลต์สั้น) สมัยนั้นการสร้างชื่อให้คนจดจำเพื่อให้ว่าที่ผู้โดยสารรู้สึกร่วมและนึกถึงก่อนเมื่อจะบินเสมอ การรังสรรค์ผลงานต่างๆ ที่มีความแปลกใหม่ของแต่ละสายการบินจึงเป็นเสมือนเวทีประลองความคิดสร้างสรรค์ เพราะต่างคนต่างมีไอเดีย ไม่ได้วิ่งตามจุดอุดมคติที่มีเพียงไม่กี่เส้นอย่างในปัจจุบัน

Mary Wells หญิงสาวผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่นในโลกของสายการบิน / ภาพ: NY Post

     “หมดยุคของเครื่องบินแบบเพลนๆ” แคมเปญเมื่อปี 1965 ของ Braniff Airways คือจุดเริ่มของความจัดจ้าน Mary Wells ขึ้นแท่นผู้ดูแลด้านโฆษณาของบริษัท จุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของสีสันอันจัดจ้านบนท้องฟ้าที่ทั่วโลกต้องจดจำ แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ต้องถอยหลังไปอีกปีหนึ่ง ปี 1964 Troy Post เจ้าของใหม่ของเครือ The Oklahoma แต่งตั้ง Harding Lawrence ให้มาดูแลสายการบินในฐานะประธานบริหารโดยให้โจทย์ใหญ่ว่าต้องผลักดันเลื่อนขั้นสายการบินนี้ให้กลายเป็นสายการบินระดับแถวหน้าให้ได้ ในจุดนี้จะเห็นว่านี่คือการผสมผสานกันของเทรนด์ทางวัฒนธรรมและเป้าหมายทางธุรกิจ แคมเปญที่สร้างสีสันบนท้องฟ้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง



WATCH




สีสันและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงสายการบินอย่างมาก / ภาพ: Courtesy of Emilio Pucci

     บทบาทของเอมิลิโอเริ่มขึ้นตั้งแต่แมรี่เข้ามารับตำแหน่งด้านโฆษณา เธอจ้างเขาทันทีพร้อมกับสถาปนิกชื่อดังอย่าง Alex Girard และนักออกแบบรองเท้าอย่าง Beth Levine ต้องบอกว่า ณ ตอนนั้นการจ้างดีไซเนอร์ชื่อดังมาทำเครื่องแบบให้แอร์โอสเตสเป็นเรื่องใหม่มาก แต่รับรองว่าความใหม่นี้เปลี่ยนโฉมโลกการออกแบบชุดพนักงานต้อนรับไปตลอดกาล โจทย์หินที่ดีไซเนอร์ดังชาวอิตาเลียนได้รับคือการผสมผสานคาแรกเตอร์ความสุขุมนุ่มลึกเดิมของบรานิฟฟ์ แอร์เวย์ส เข้ากับการสาดสีสันตามสไตล์ยุค ‘60s และลายเซ็นของแบรนด์เอมิลิโอ ปุชชี่

ภาพถ่ายที่สะท้อนถึงความแฟชั่นในยุคที่ Emilio Pucci ออกแบบชุดให้กับ Braniff Airways / ภาพ: Braniff International

     เซตแรกในการออกแบบเสื้อผ้าให้กับสายการบินเอมิลิโอหยิบเอาเทรนด์ช่วงนั้นมายึดเป็นแกนหลัก การระเบิดสีสันถูกใช้เป็นประเด็นหลักในการออกแบบ มันไม่ใช่แค่เรื่องตามแฟชั่นเท่านั้นแต่มันยังดึงดูดให้คนหันมาสนใจและจดจ่ออยู่กับความจัดจ้านที่เกิดขึ้นบนเครื่องได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในช่วงเวลานั้นชุดสำหรับพนักงานบริการก็คือไม่ได้หลุดจากกรอบฟังก์ชั่นการใช้งานและความเรียบง่ายของชุด ซึ่งเอมิลิโอก็นับว่าเป็นคนฉีกโลกเก่าเพื่อก้าวเท้าสู่โลกใหม่ในรูปแบบผู้นำเต็มรูปแบบ

สีสันที่มองเมื่อใดก็สะดุดตาเมื่อนั้น / ภาพ: Flashbak

     การออกแบบเซตแรกของเอมิลิโอก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการสายการบินแล้ว เพราะชุดที่เขาทำมีความแฟชั่นสูงมากทั้งซิลูเอตการเลือกสีสันรวมถึงการจับคู่สี ทุกอย่างถูกออกแบบวางตำแหน่งไว้อย่างเนี้ยบสมบูรณ์ ถึงแม้ชุดจะดูสดใสสนุกสนานแต่ซ่อนด้วยจังหวะจะโคนที่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างถี่ถ้วน เสื้อโค้ต ถุงมือ แจ๊กเก็ต กระโปรง หรือแม้แต่ถุงมือนั้นโดดเด่นมากจริงๆ จะกล่าวว่าสิ่งนี้กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ก็คงไม่ได้ถือเป็นการพูดเกินจริงเท่าไรนัก

ชุดเซตแรกที่โด่งดังสุดขีดจนบริษัทตุ๊กตาชื่อดังนำไปทำชุดคอลเล็กชั่นพิเศษ / ภาพ: Gerry Borg

     สีสันลวดลายถูกออกแบบแต่งเติมมาเรื่อยๆ แบบไม่เคยหยุดนิ่ง ระหว่างปี 1965 ถึงปี 1974 เป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่บรานิฟฟ์ แอร์เวย์ส กลายเป็นสายการบินที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วงนั้น ต้องขอบคุณเอมิลิโอจริงๆ แฟนโว้กเชื่อไหมว่าบาร์บี้ ซึ่งเป็นสุดยอดตุ๊กตาอมตะตลอดกาล เลือกหยิบเอาเครื่องแบบชุดนี้มาทำเป็นชุดสำหรับตุ๊กตาตัวโปรดของเด็กสาวด้วย ใครมีความฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตสในยุคนั้นต้องบอกเลยว่าพวกเธอคงไม่พลาดชุดบาร์บี้ผลจากการออกแบบของเอมิลิโออย่างแน่นอน

RainDome ทั้ง 2 รุ่น Bola (ซ้าย) และ Space Helmet (ขวา) / ภาพ: Braniff International

     ระหว่างเอมิลิโอทำงานให้กับบรานิฟฟ์ แอร์เวย์สเขาออกแบบผลงานไปกว่า 6 คอลเล็กชั่น แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่าเสื้อผ้าคือหมวก “RainDome” หรือ “หมวกโหลปลาทอง” ที่หลายคนแซวกันเคยเป็นเรื่องฮือฮาและฉีกทุกกฎเกณฑ์ในแฟชั่นของเหล่านางฟ้าติดปีกมาก เพราะแอ็กเซสเซอรี่ที่ดูเทอะทะนี้กลับถูกคิดมาอย่างใส่ใจ เอมิลิโอทำหมวกกลมใสนี้ไว้ให้ด้วยการให้เหตุผลว่า เหล่าแอร์โฮสเตสต้องเผชิญกับฝนและแรงลมต่างๆ ระหว่างเดินจากจุดเชื่อมต่อของสนามบินสู่ตัวเครื่อง ดีไซเนอร์อิตาเลียนคนนี้จึงคิดว่าถ้าสวมสิ่งนี้ทับผ้าโพกศีรษะอีกทีจะทำให้เหล่าสาวสวยไม่ต้องกังวลกับความกระเซอะกระเซิง สุดท้ายนอกจากฟังก์ชั่นมันก็กลายเป็นไวรัลที่ทุกคนต้องพูดถึง ซึ่งไอเท็มชิ้นเด็ดนี้ออกมาถึง 2 รุ่น! คือรุ่น “Bola” ที่ใช้ซิปกลางเพื่อสร้างโดมใส ส่วนอีกรุ่นนั้นถูกเรียกว่า “Space Helmet” ด้วยลักษณะการสวมหมวกกลมโดยใช้หลักวิธีประกบกัน(ไม่ใช้ซิป) ลักษณะกลมใสเหมือนหมวกนักบินอวกาศ ชื่อนี้จึงกำเนิดเป็นตำนานของวงการเสื้อผ้าลูกเรืออย่างแท้จริง ถึงแม้จะใช้กันได้ไม่นานก็ต้องเลิกไปเพราะมันแตกหักและเก็บรักษาไว้ค่อนข้างลำบากทีเดียว

โฆษณา Air Strip ที่ Braniff International นำเสนอเทคนิคการเปลี่ยนชุดด้วยวิธีถอดลดเลเยอร์ / ภาพ: The Sir's Corner

     แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ยิ่งกว่าชุดคือรูปแบบการเปลี่ยนชุดบนเครื่องที่สร้างความประหลาดใจอย่างมาก โดยปกติพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องเข้าห้องน้ำเพื่อเปลี่ยนจากชุดต้อนรับเป็นชุดบริการและมีเครื่องแบบอยู่ประมาณ 2 ชุดเท่านั้น แต่บรานิฟฟ์ แอร์เวย์สไม่ใช่แบบนั้น เพราะทางบริษัทออกโฆษณา “Air Strip” มา นำเสนอความสะดวกและหลากหลายของชุดๆ เดียวที่เอมิลิโอซ่อนเลเยอร์ไว้ราวกับเล่นมายากล แต่ละชุดมีความหนาเตอะในช่วงแรกและลูกเรือสามารถค่อยๆ ถอดทีละชิ้นจนกลายเป็นชุดจำนวนมากมายมหาศาลจากการสวมชุดตั้งต้นเพียงชุดเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเอมิลิโอคือดีไซเนอร์ผู้ใส่ใจตั้งแต่ความสวยงามของเสื้อผ้าไปจนถึงฟังก์ชั่นการใช้ประโยชน์ มากไปกว่านั้นเขากล้าคิดนอกกรอบในแบบที่ไม่มีใครเคยคิดจะทำกับเครื่องแบบสำคัญต่างๆ ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

เครื่องบินหลากสีของ Braniff Airways ที่โดดเด่นแม้บินอยู่บนฟ้า / ภาพ: Northwestern University

     คอนเซปต์นี้สอดคล้องไปกับทุกสิ่ง เพราะทางสายการบินไม่ได้เล็งเห็นแค่เครื่องแบบเท่านั้นแต่ยังอยากจะทำให้สายการบินมีการส่งอารมณ์ไปสู่ผู้โดยสาร(รวมถึงผู้รับชมโฆษณา)ไปในทางเดียวกัน เราจึงมีโอกาสย้อนกลับดูภาพตัวเครื่องบินอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร และพบว่าเครื่องบินหลายลำของบรานิฟฟ์ แอร์เวย์สถูกทำสีใหม่ให้กลายเป็นสีสดสะดุดตาทั้งภายในและภายนอก อาทิ สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง และสีส้ม เป็นต้น เรื่องแฟชั่นจึงกลายเป็นเรื่องสุดยิ่งใหญ่ในตอนนั้นเพราะสายการบินได้รับการพูดถึงอย่างมากและเครื่องแบบก็ล้อไปกับแฟชั่นพร้อมคุมโทนออกมาให้สอดคล้องกับสีเครื่องอย่างลงตัว

Emilio Pucci ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบชุดของสายการบิน Braniff Airways / ภาพ: The Fashion Model Directory

     สุดท้ายความสนุกสนานย่อมมีวันเลิกรา บรานิฟฟ์ แอร์เวย์สประกาศสิ้นสุดแคมเปญฟิวเจอริสติกและการออกแบบเสื้อผ้าจัดจ้านของเอมิลิโอลงในปี 1974 ผลประกอบการหลังจากนั้นก็ไม่ได้ดีเท่าไรด้วยหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การบินที่มีการเปลี่ยนแปลง ความโดดเด่นตลอดเกือบทศวรรษของบรานิฟฟ์ขายไม่ได้อีกต่อไป เอมิลิโอก็ไม่ได้ทำต่อ ทว่าเสื้อผ้าของเขาถูกจดจำและจารึกไว้เป็นหน้าประวัติศาสตร์การบินโลกว่าครั้งหนึ่งสายการบินเคยใช้บริการสุดยอดดีไซเนอร์เพื่อสร้างสีสันความจัดจ้านให้กับองค์กรและดึงความสนใจจากลูกค้า แม้บริษัทจะต้องปิดตัวลงแต่ความทรงจำเกือบ 10 ปีในช่วงที่บรานิฟฟ์ แอร์เวย์สโดดเด่นกว่าใครคงไม่ถูกลืมเลือนโดยง่าย เพราะวันนี้โว้กก็นึกถึงเขาอีกครั้งในวาระการจากการไปครบรอบ 28 ปีในเดือนพฤศจิกายน(วันที่ 28) ของดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนผู้ใช้ลวดลายและสีสันเป็นเอกลักษณ์ “เอมิลิโอ ปุชชี่”

 

ข้อมูล: The Sir's Corner, STUCK AT THE AIRPORT, MESSY NESSY CHIC และ Ultra Swank

WATCH