FASHION
เจ้าชายจอห์น: เจ้าชายออทิสติกผู้โชคร้ายที่ค่อยๆ ถูกลบให้หายไปจากประวัติศาสตร์ราชวงศ์!คนเลือกเกิดไม่ได้ และบางทีก็เลือกที่จะใช้ชีวิตตามประสงค์ไม่ได้แม้จะเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ |
เนื้อหาสำคัญ
- เจ้าชายจอห์นทรงเป็นออทิสติกตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความรู้ทางการแพทย์ยุคนั้นทำให้คำว่าเจ้าชายไม่ได้สวยหรูเหมือนดั่งจินตนาการ
- ความรักจากไม่กี่คนที่ท่านทรงได้รับนั้นมีคุณค่ามาก เพราะเจ้าชายจอห์นทรงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อเข้ารับการรักษาที่ไม่มีผลยืนยันว่าทำเช่นนี้ได้ผล
- ภาพลักษณ์ราชวงศ์กลายเป็นเรื่องสำคัญเหนือจิตใจของเจ้าชายจอห์น เพราะพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชบิดา เจ้าชายจอห์นมิได้อยู่ตรงนั้น
_____________________________________________________
เมื่อพูดถึงราชวงศ์อังกฤษ เราก็มักจะพูดถึงเรื่องความปัจจุบันทันด่วนของข่าวสารในปัจจุบัน หรือย้อนอดีตความสวยงามหรือแม้กระทั่งเรื่องเร้นลับในอดีต ปริศนาซ่อนเงื่อนหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกตีแผ่มากขึ้นๆ ในยุคปัจจุบัน แต่มีสมาชิกราชวงศ์อยู่พระองค์หนึ่ง ช่วงประมาณกว่า 100 ปีที่แล้วที่แทบจะถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความผิดปกติทำให้เจ้าชายพระองค์นี้ทรงต้องเผชิญความโหดร้ายในโลกนี้โดยไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรมากนัก ติดตามอ่านเรื่องราวความน่าสนใจด้านล่างนี้ได้เลย
ภาพสมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษที่พระเจ้าจอห์นประทับบนร่างกายของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด / ภาพ: InternationalAutograph/BNPS
เรามาเริ่มกันส่วนของประวัติส่วนพระองค์กันก่อน โดยเจ้าชายจอห์นประสูติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1905 ในตำหนักซานดริงแฮม พระบิดาคือพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระมารดาคือเจ้าหญิงแมรี่แห่งเวลส์(ภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินี) ซึ่งเจ้าชายจอห์นหรือจอห์นนี่(ชื่อเล่น)นั้นอยู่ลำดับการสืบสันตติวงศ์ลำดับที่ 6 ท่านคือเจ้าชายคนสุดท้องของครอบครัว และนั่นยิ่งทำให้ความห่างไกลจากครอบครัวเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทว่ามันก็ไม่ได้สาหัสอะไรนักจนกระทั่งเจ้าชายจอห์นทรงมีอาการแปลกตา ผิดจากคนปกติทั่วไป ถึงแม้จะไม่มากแต่ทุกพระองค์ก็รู้สึกได้ว่าเจ้าชายองค์เล็กของครอบครัวต้องไม่ปกติแน่ๆ เรื่องราวชวนน่าติดตามจึงเกิดขึ้น
เจ้าชายจอห์นและเจ้าชายจอร์จขณะยังทรงพระเยาว์ / ภาพ: National Portrait Gallery
ปี 1909 ทุกคนก็เริ่มรับรู้ความจริงว่าเจ้าชายจอห์นหรือที่สมาชิกราชวงศ์เรียกกันว่า “จอห์นนี่” นั้นมีความผิดปกติทางสมอง มีแนวโน้มจะเข้าสู่อาการขั้นออทิสติก แต่เหมือนเจ้าชายจอร์จและพระชายายังทรงวางใจและทรงคาดหวังว่าอาการของเจ้าชายตัวน้อยจะดีขึ้น เพราะราชวงศ์อังกฤษเคยเผชิญกับสถานการณ์ด้านอาการทางสมองมาแล้วกับดยุกแห่งอัลบานี แต่พระองค์นั้นทรงค่อยๆ พัฒนาการเรียนรู้และอาการของท่านก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา ทว่าสำหรับเจ้าชายจอห์นมิได้เป็นเช่นนั้น เหมือนชะตาจะถูกขีดให้หนูน้อยผู้ถือยศวัยเพียง 4 ปีนั้นต้องมีชนักเรื่องโรคทางสมองติดหลังไปตลอดชีวิต
WATCH
พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งราชวงศ์อังกฤษ / ภาพ: Royal Photo
“เขาน่ารักดีนะแต่มีอาการแปลกๆ” มีบันทึกหลายฉบับกล่าวถึงเจ้าชายจอห์นว่าดูน่ารักและแปลกตาในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ท่านทรงแสดงออกในแบบน่ารักสมวัยพร้อมกับความสนิทสนมกับพระเชษฐาอย่างเจ้าชายจอร์จ แต่ทางสำนักพระราชวังมองถึงเรื่องภาพลักษณ์ความสมบูรณ์แบบของงานพระราชพิธีเสียมากกว่า พระเจ้าจอห์นจึงทรงมิได้เข้าร่วมพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชบิดา ในวันที่ 22 มิถุนายน 1911 เนื่องด้วยสาเหตุด้านพฤติกรรม และอาการไม่ปกติที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ต่อหน้าสาธารณชนของราชวงศ์ ซึ่งสมัยก่อนนั้นความมั่นคงของกษัตริย์มีนิยามถึงความสมบูรณ์แบบเกือบทุกด้าน เพราะฉะนั้นเจ้าชายจอห์นจึงหลุดจากผังเครือญาติของราชวงศ์อังกฤษไปทีละนิดๆ
ความน่ารักที่อาจไม่สมบูรณ์แบบในสมัยนั้นถูกมองว่าไม่เหมาะกับภาพลักษณ์ราชวงศ์ / ภาพ: Rotary Photo
ทรงโดนพรากจากพระเจ้าจอร์จอันเป็นที่รัก...ถึงแม้ความใส่ใจในราชวงศ์จะส่งมาไม่ค่อยถึงเจ้าชายจอห์นนักแต่เจ้าชายจอร์จยังคงสนพระทัยสมาชิกคนเล็กอยู่เสมอ ถึงกระนั้นการพลัดพรากก็ทำร้ายเจ้าชายจอห์นซ้ำอีกครั้ง มีรายงานว่าช่วงปี 1912 เจ้าชายจอร์จต้องเสด็จไปเรียนหนังสือแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ และเจ้าชายจอห์นทรงไม่ได้รับโอกาสเสด็จตามไป ตามการตัดสินพระทัยของพระราชบิดาและพระราชมารดา มากไปกว่านั้นด้วยอาการผิดปกติของเจ้าชายจอห์น พระองค์ทรงไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาภาคปกติแบบเด็กคนอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งจุดนี้ก็เข้าใกล้การเป็นเอเลี่ยนในหมู่สมาชิกราชวงศ์ขึ้นทุกที และยิ่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุแรงขึ้นเจ้าชายจอห์นก็ทรงแยกขาดจากสมาชิกพระองค์อื่นไปเกือบหมด เพราะทุกพระองค์ต่างติดภารกิจทางราชการหรือบางพระองค์ยังทรงเรียนหนังสืออยู่ต่างแดน ฉะนั้นเมื่อก่อนประชาชนอาจได้เห็นอัลบั้มส่วนพระองค์ที่มีภาพของเจ้าชายจอห์นปรากฏอยู่ แต่หลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่มีใครเคยเห็นเจ้าชายจอห์นอยู่ในอัลบั้มใดอีกเลย ถึงแม้พระองค์ยังคงอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ก็ตาม
Charlotte “Lala” Bill พี่เลี้ยงส่วนพระองค์ที่คอยดูแลเจ้าชายจอห์นเสมอมา / ภาพ: Wikimedia Commons
แม้จะเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายแต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ได้ความโอบอ้อมอารีใดๆ เลย สมเด็จพระนางเจ้าแมรี่ พระบรมราชินีทรงสนพระทัยพระราชโอรสคนเล็กอยู่เสมอ เจ้าชายจอห์นประทับอยู่ซานดริงแฮมตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์ และพระราชมารดาเองก็ทรงเชื่อมั่นในการดูแลพิเศษของ Charlotte “Lala” Bill พี่เลี้ยงคนสำคัญของราชวงศ์อังกฤษในยุคนั้น เจ้าชายทรงได้รับการดูแลอย่างดี ทว่าอาการของเจ้าชายก็มิได้ดีขึ้นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังหนักขึ้นอีก “Wood Farm” สถานที่มุมหนึ่งในซานดริงแฮมจึงถูกใช้เป็นตำหนักส่วนพระองค์สำหรับเจ้าชายจอห์นเพื่อทรงเตรียมรับการดูแลอย่างใกล้ชิดและจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าชายจอห์นกลายเป็นเอเลี่ยนแยกจากสมาชิกอื่นในราชวงศ์แทบจะสมบูรณ์
Hans Asperger แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ระบุนิยามของออทิสติกไว้หลังจากยุคของเจ้าชายจอห์นมากกว่า 30 ปี / ภาพ: Alamy
มาเบรกทำความเข้าใจเรื่องโรคออทิสติกในบริบทยุคนั้นกันสักนิดหนึ่ง ต้องบอกว่าในสมัย 100 ปีก่อนคนโรคนี้ยังไม่ปรากฏขึ้นในการบันทึกในแขนงการแพทย์เท่าไร เป็นเพียงอาการทางจิตที่แพทย์พิจารณาว่าผิดปกติซึ่งสร้างความหวาดกลัวและอับอายอยู่ไม่น้อย ความผิดปกตินี้ไม่ถูกทำความเข้าใจอย่างใจเย็น แต่จะถูกพิจารณารีบตัดสินให้แยกตัวเพื่อรักษาอย่างโดดเดี่ยว(และไร้หลักการยืนยันผลลัพธ์) สมเด็จพระนางเจ้าแมรี่ พระบรมราชินีทรงพระทัยสลายเมื่อทราบว่าเจ้าชายจอห์นต้องถูกกักตัวอย่างโดดเดี่ยวเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการสร้างความอับอายให้กับราชวงศ์ เรียกว่าออทิสติกไม่ได้ทำร้ายคนเท่ากับความหวาดกลัวและไร้ซึ่งความเข้าใจต่อโรคนี้เสียเอง
ภาพตำหนักซานดริงแฮมในช่วงยุค 100 ปีก่อน / ภาพ: The Royal Family
แต่เรื่องราวดีๆ ของก็ยังเกิดขึ้นบ้าง เหมือนแสงสว่างเล็กน้อยในยามมืดมิด สมเด็จพระนางเจ้าแมรี่ พระบรมราชินีทรงกำชับให้ลัลล่าดูแลเจ้าชายจอห์นให้ดีเสมอ ท่านทรงฝ่าฝืนกฎสำคัญด้วยการเชิญชวนเด็กท้องถิ่นมาเล่นกับเจ้าชายจอห์นทั้งๆ ที่แยกรักษาอย่างโดดเดี่ยว เชื่อไหมว่าเจ้าชายจอห์นยังคงปฏิสัมพันธ์สร้างความผูกพันดุจฉันมิตรกับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสาวชื่อ Winifred Owen ที่พระเจ้าจอห์นทรงสนิทชิดเชื้อมากที่สุด นอกจากนี้สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระอัยยิกา ทรงรับสั่งให้รักษาสภาพสวน ณ ตำหนักซานดริงแฮมให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเจ้าชายจอห์นโดยเฉพาะ นับว่ายังมีด้านดีๆ ให้ประวัติศาสตร์เขียนบันทึกถึงเจ้าชายจอห์นอยู่บ้างประปราย
ความพร้อมหน้าพร้อมตาที่หาไม่ได้อีกต่อไปเมื่อเจ้าชายจอห์นทรงต้องรักษาอาการทางจิตอย่างโดดเดี่ยว / ภาพ: Daily Mail
ช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเจ้าจอห์นก็ยังมีแง่มุมให้เราพูดถึงในแง่ความอบอุ่นบ้าง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้ที่แทบไม่เคยอยู่ในประวัติศาสตร์ชุดนี้ก็ปรากฏขึ้นในช่วงบันปลายชีวิตเจ้าชายจอห์น ณ วู้ดฟาร์ม ทั้งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายจอร์จทรงเล่นกับเจ้าชายจอห์นอย่างสนุกสนาน มีบันทึกตรงกันหลายฉบับว่าเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ทรงพาเจ้าชายตัวน้อยขึ้นรถเข็นและทรงเล่นสนุกจนหายลับตาไปเลยทีเดียว แต่ชีวิตก็ไม่ได้ใสสะอาดตลอดไป เพราะเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองทรงเคยเขียนจดหมายส่วนพระองค์เกี่ยวกับเจ้าชายจอห์นในแง่ลบที่เคยถูกตัดคำกล่าวไปพูดต่อว่า “เจ้าชายจอห์นก็เป็นเพียงน้องเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันแต่ก็ไม่มีอะไรมากกว่านั้น” จากความอบอุ่นที่เหมือนจะดีแต่กลับดูเลวร้ายขึ้นเพราะบางจังหวะของชีวิตที่ไม่มีใครเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นกับเจ้าชายจอห์น แต่เรื่องนี้ก็มีการเขียนจดหมายอีกฉบับเพื่อทำความเข้าใจใหม่แต่ก็ไม่ถูกพูดถึงเท่ากับฉบับแรกที่เนื้อหากัดกินหัวใจไม่น้อย
เจ้าชายจอห์นขณะประทับม้า ณ วู้ดฟาร์ม ที่ประทับที่สุดท้ายของชีวิต / ภาพ: Daily Mail
บางครั้งความน่าเห็นอกเห็นใจก็ทำร้ายตัวเขา...อาการของเจ้าชายจอห์นอาจรบกวนบรรดาสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ไม่ว่าอย่างไรเจ้าชายก็ต้องทรงเป็นที่รัก ทว่าสมาชิกบางคนก็ทรงรักจริง บางครั้งก็มีความรู้สึกถูกรบกวนบ้างเช่นกัน คริสต์มาสปลายปี 1918 คือการรวมตัวการของสมาชิกราชวงศ์แบบพร้อมหน้าครั้งสุดท้าย เจ้าชายจอห์นเสด็จมาที่ตำหนักซานดริงแฮมเพื่อเฉลิมฉลองวันสุดพิเศษ และกลับวู้ดฟาร์มในคืนเดียวกันทันที หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน วันที่ 18 มกราคม 1919 เจ้าชายจอห์นสิ้นพระชนม์ด้วยวัย 13 ปี ปิดตำนานเจ้าออทิสติกที่ถูกลืมเลือนจากประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของโลก แท้จริงแล้วมีสมาชิกราชวงศ์และคนอีกมากมายรักท่านอยู่เสมอ พระมารดาถึงขั้นทรงฝ่ากฎเพื่อเจ้าชายตัวน้อยอันเป็นที่รัก พระอัยยิกาก็ทรงยินดีมอบความรัก ในขณะที่พระเจ้าจอร์จและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงรักเสมอมา
หลุมศพดั้งเดิมของเจ้าชายจอห์น ณ ตำหนักซานดริงแฮม / ภาพ: Royal Collection Trust
บทประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้สำคัญเพียงเรื่องราวความพิเศษของเจ้าชายจอห์น แต่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องราวดราม่าทั้งหมดถูกให้ความสำคัญมากกว่าความรักที่ทุกพระองค์ทรงมอบให้(อย่างที่ควรจะเป็น) เพราะอย่างหลังไม่ได้ตื่นเต้นแต่อย่างใด การผลิตซ้ำและเขียนประวัติศาสตร์เหมือนที่เราเน้นเล่ากันในบทความนี้คือการตกผลึกของข้อมูลซึ่งทำให้เจ้าชายจอห์นทรงกลายเป็นตัวละครอันน่าสงสาร หากไม่ได้นับยศฐาบรรดาศักดิ์ท่านคือเด็กชายวัย 13 ปีที่ต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่ และทุกๆ ปัจจัยที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งอยากได้ แต่เมื่อกรอบข้อบังคับของราชวงศ์มีความเข้มงวดทั้งในเชิงปฏิบัติและมุมมองภาพลักษณ์ เจ้าชายจอห์นจึงเป็นหลุมดำทางประวัติศาสตร์ที่พร้อมเลือนหายไปทุกเวลาหากไม่มีใครย้อนนึกกลับมาเล่า วันนี้อาการออทิสติกเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม ทุกคนทำความเข้าใจอย่างเปิดใจมากขึ้น เราหวังว่าเรียนรู้เท่าทันตามวิทยาศาสตร์แล้ว อย่าลืมมองเรื่องจิตวิทยาว่าไม่ควรทิ้งคนเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง เพราะคนเหล่านี้ก็คือมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเราและเจ้าชายผู้น่าสงสาร “เจ้าชายจอห์น”
ข้อมูล: THE ART OF AUTISM, TrueRoyalty, The Vintage News, The Independent และ Mirror
WATCH