FASHION
‘Prada Marfa’ ร้านปลอมๆ กลางทะเลทรายที่กลายเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะและแฟชั่นจากเดิมที่ตั้งใจกันไว้ว่าจะให้มันทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ถึงตอนนี้มันถูกอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว |
ถ้าจะถามเรื่องปั่นป่วนชวนอลเวงในประวัติศาสตร์แฟชั่นคงจะมีหลายเรื่องราวให้เล่าขานกันนับไม่ถ้วน แต่ละเรื่องล้วนมีความพิเศษในตัวมันเองอยู่เสมอ เพราะด้วยความแปลกแตกต่างจึงเกิดความสร้างสรรค์ในการริเริ่มโปรเจกต์ชวนงุนงงกันอยู่เสมอ ซึ่งแนวทางการเนรมิตสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาลามเชื่อมโยงไปถึงวงการศิลปะ และมันก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่เป็นสีสันให้เราได้พูดถึงกันจวบจนปัจจุบัน วันนี้เราจะพาย้อนกลับไปสู่การเปิดร้านแบรนด์หรูแบบหลอกๆ เลียบถนนกลางทะเลทราย ร้านที่ทำให้คนต้องตกตะลึงและกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นที่โลกนี้ต้องจดจำ
Michael Elmgreen และ Ingar Dragset ศิลปินเจ้าของผลงาน Prada Marfa / ภาพ: Art Space
“Prada Marfa” คือโปรเจกต์ในความทรงจำที่เราอยากจะย้อนรำลึกให้สายแฟ(ชั่น)รุ่นใหม่ได้สัมผัสกับเรื่องราวชวนป่วนสมองที่ทำให้มันกลายเป็นตำนานอยู่จนถึงทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของที่นี่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ศิลปินที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ Prada ต้องการรังสรรค์งานอินสตอเลชั่นขนาดใหญ่โดยใช้คอนเซปต์การเปิดร้านปราด้าเป็นคอนเซปต์หลัก และต้องการสร้างมันในที่ห่างไกล หรือสถานที่ที่คนนึกไม่ถึงว่าร้านปราด้าจะเปิดและตั้งตระหง่านอยู่ได้ เขา 2 คนนี้มีนามว่า Michael Elmgreen และ Ingar Dragset หรือคนในวงการรู้จักกันในนาม “Elmgreen & Dragset”
Prada Marfa ตั้งตระหง่านอย่างสวยงามท่ามกลางทะเลทรายในรัฐเท็กซัส / ภาพ: Prada Group
“จะไม่มีการซ่อมแซมและมันจะเสื่อมไปตามกาลเวลา” จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างร้านปลอมๆ นี้ขึ้นคือต้องการทำงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ โดยศิลปินทั้ง 2 คนตั้งใจสร้างสรรค์ร้านนี้ขึ้นอย่างใหม่เอี่ยมในปี 2005 และปล่อยมันทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนมันถูกทำให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม แม้รูปแบบของร้านจะไม่ได้รับการตรวจสอบจากปราด้า แต่ Miuccia Prada ผู้ก่อตั้งก็ไม่ได้ติดขัดอะไรกับโปรเจกต์นี้ อีกทั้งเธอและศิลปินทั้ง 2 คนยังเคยร่วมงานกันมาแล้วในปี 2001 ด้วยความสัมพันธ์อันดีทำให้มิวเซียตัดสินใจมอบไอเท็มหลายชิ้นในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2005 เพื่อนำไปจัดแสดงในร้านปลอมๆ กลางทะเลทรายอีกด้วย
WATCH
บรรยากาศ Prada Marfe ยามค่ำคืน / ภาพ: Texas Highways Magazine
ช่วงเดือนตุลาคมปี 2005 ไมเคิลและอิงการ์ริเริ่มโปรเจกต์อย่างเป็นทางการ โดยพวกเขาจับมือกับ Ronald Rael และ Virginia San Fratello สถาปนิกชาวอเมริกันเพื่อรังสรรค์ร้านปลอมๆ ขึ้นจากอิฐสีขาวขนาดใหญ่ ความพิเศษอยู่ที่การตกแต่ง ศิลปินตั้งใจรังสรรค์ร้านให้มีหน้าตาเหมือนกับร้านปราด้าจริงๆ มากที่สุด มีการใช้โลโก้ปราด้าอย่างชัดเจน อีกทั้งยังออกแบบให้มีความเรียบง่ายแต่หรูหรา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของร้านปราด้า ที่แม้จะไม่ได้มีรายละเอียดหน้าร้านที่หวือหวานัก แต่ก็มอบความรู้สึกที่พิเศษให้กับผู้พบเห็นได้เสมอ
ตอนนี้ Prada Marfa กลายเป็นสถานที่ที่ใครแวะผ่านถนนเส้นนี้ต้องลงมาเก็บภาพความทรงจำ / ภาพ: The Guardian
ย้อนไปก่อนหน้าเขาต้องการรังสรรค์โปรเจกต์นี้ขึ้นที่รัฐเนวาดา ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทรายคล้ายคลึงกับที่นี่ แต่กลับหาคนมาหนุนหลังโปรเจกต์นี้ไม่ได้ ต่อมาพวกเขาได้รับการช่วยเหลือจาก “Art Production Fund” องค์กรสนับสนุนศิลปินในมหานครนิวยอร์กติดต่อกับกลุ่มศิลปินในแถบนี้มาร์ฟาให้ แผนการตั้งร้านในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของมาร์ฟาจึงเกิดขึ้น และมันก็ยังคงตั้งตระหง่านและสร้างเรื่องราวด้วยตัวมันเองอยู่จวบจนปัจจุบัน แต่เรื่องราวความพิเศษดังกล่าวมันไม่ได้มีแค่ตัวร้านที่ตั้งอยู่ แต่ปฏิกิริยาของคนนั้นยิ่งทำให้มันพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก
สภาพ Prada Marfa ที่เคยถูกขีดเขียนอย่างเละเทะมาโดยตลอด / ภาพ: Insider
ผู้คนให้ความสนใจมากมาย และรู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่มีร้านปราด้ามาตั้งตระหง่านอยู่บนถนนกลางทะเลทรายแบบนี้ ทว่าในอีกมุมหนึ่งมันกลายเป็นเป้าสำหรับการขีดเขียนบางอย่าง เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อร้านปลอมนี้เปิดได้เพียง 3 วันร้านเต็มไปด้วยรอยกราฟฟิตี้มากมาย นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าในคืนที่ร้านนี้เปิดวันแรก แม้มันจะไม่มีทางเข้าที่ใช้ได้จริง (ประตูหลอก) และมีกระจกขนาดใหญ่ขวางกั้นอยู่ แต่มันกลับโดนงัดแงะและมีไอเท็มปราด้าหายไปถึง 15 ชิ้น นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไมเคิลและอิงการ์ต้องติดระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม แม้ความตั้งใจแรกจะให้ทุกอย่างมันเสื่อมไปตามกาลเวลาก็ตาม
การขีดเขียนและติดป้ายแบรนด์ Toms ที่ Prada Marfa ฝีมือของ Joe Magnano / ภาพ: Texas Monthly
ปี 2013 ร้านปลอมแห่งนี้เกือบถูกถอนรากออกจากริมถนนหลังเปิดมาเกือบทศวรรษ โดยทางการขนส่งประจำรัฐเท็กซัสให้เหตุผลว่ามันเป็นเหมือนโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แต่ Ballroom Marfa กลุ่มผู้สนับสนุนศิลปินทั้ง 2 คนก็รักษามันได้โดยขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ถึงแม้มันจะแปรสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วแต่ก็ยังมิวายโดนขีดเขียนอย่างต่อเนื่อง และในปี 2014 ก็มีเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง โดย Joe Magnano ศิลปินชาวท้องถิ่นได้มาวาดภาพโลโก้แบรนด์ Toms หน้าร้านและแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง เรื่องนี้เป็นผลทำให้เขาโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 10,700 เหรียญสหรัฐฯ และโดนค่าปรับอีกราว 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
นับตั้งแต่ปี 2005 จนถึงตอนนี้ Prada Marfa ก็ยังคงตั้งตระหง่านอย่างสวยงามเสมอ / ภาพ: Prada Group
ในวันแรกที่เปิดมันสร้างความงุนงงสงสัยให้กับผู้คนไม่น้อย แต่ตอนนี้ ‘Prada Marfa’ กลายเป็นสถานที่สุดไอคอนิกที่ใครผ่านถนนเส้นนี้ก็ต้องแวะลงมาชมผลงานศิลปะเสมือนจริงชิ้นนี้กันแทบทุกคน ที่แห่งนี้สร้างเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้วงการแฟชั่นและศิลปะหลากหลายรูปแบบตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมันยังคงตั้งตระหง่านอยู่ตรงที่เดิมเสมอ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Ballroom Marfa และ APF เพื่อใช้ในการทะนุบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตอนแรกจะมีความตั้งใจว่าจะปล่อยให้มันทรุดโทรมไปตามอายุขัยของมันเองก็ตาม และสถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากผู้คนแถบนั้นแม้แต่นิดเดียว เพราะย่านดังกล่าวไม่ใช่ย่านที่เจริญหนัก พวกเขาไม่ได้ต้องการเบียดเบียนเงินทุนของคนพื้นที่ให้มารักษางานศิลปะสุดแปลกแยกเช่นนี้ อีกทั้งยังไม่ต้องการเปิดเผยด้วยว่ามันต้องใช้เงินจำนวนมากเพียงใดในการรักษาสภาพสถานที่แห่งนี้ให้คงสภาพอยู่เสมอ และนี่ก็คือ ‘Prada Marfa’ ร้านปราด้าปลอมๆ ที่ถูกตั้งขึ้นกลางทะเลทราย และต่อมามันกลายเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องถูกจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นและศิลปะอย่างแน่นอน
ข้อมูล:
WATCH