FASHION

Pierre Cardin กูตูริเยร์ผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่นฝั่งเอเชีย และจุดประกายแฟชั่นจีนสู่เวทีโลก

เมื่อกูตูริเยร์ชาวฝรั่งเศสพัฒนาแฟชั่นโดยใช้กลไกทางการทูตจนสามารถสร้างรากฐานสำคัญให้แฟชั่นฝั่งเอเชียก้าวไกลได้ในระดับสากลดั่งในปัจจุบัน

     ข่าวร้ายปลายปี 2020 ของวงการแฟชั่นส่งท้ายกันด้วยการจากไปของตำนานดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง Pierre Cardin ที่เสียชีวิตด้วยวัย 98 ปี ปิแอร์ฝากผลงานให้กับโลกแฟชั่นไว้มากมายนานกว่าครึ่งศตวรรษ เขาคือผู้นำเสนอแฟชั่นแบบฟิวเจอริสติกในยุคที่แฟชั่นกำลังเริ่มหาทางออกที่ใหม่ ความล้ำยุคและแนวคิดทันสมัยทำให้เขาโดดเด่นจนได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง Elsa Schiaparelli หรือแม้แต่การเป็นช่างใหญ่ของ Dior ในยุคหนึ่ง แบรนด์แฟชั่นของเขาเองก็ตีตลาดและอยู่อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน แต่อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นรากฐานปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการปฏิวัติวงการแฟชั่นเอเชียซึ่งส่งผลให้โลกแฟชั่นในยุคนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามที่ด้านล่างนี้ได้เลย...

 

     ก่อนอื่นต้องย้อนเล่าให้ฟังก่อนว่าสมัยยุค ‘50s หรือทศวรรษหลังสงครามโลกนั้นแฟชั่นฟื้นตัวอย่างเบ่งบาน และมุ่งไปในทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องศิลปะในยุโรปเสียส่วนมาก ยังไม่มีการกระโดดข้ามวัฒนธรรมหรือเผยแพร่ผลงานหลายๆ อย่างออกสู่สายโลกฝั่งเอเชียมากนัก โลกที่เราเห็นว่าไร้พรมแดนในปัจจุบันยุคนั้นมันไม่ง่ายเอาเสียเลยที่จะหยิบเอาศิลปวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบระเบียบและได้รับการตอบรับอย่างเต็มใจกับคนท้องถิ่น ถ้าไม่ใช่บุคคลระดับปรมาจารย์ก็ไม่ค่อยมีใครนักจะยอมรับ แต่สำหรับปิแอร์เขาคงเป็นข้อยกเว้นเพราะการออกเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกครั้งแรกก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม

Pierre Cardin ในช่วงที่เขาไปเยือนประเทศญี่ปุ่น / ภาพ: Trendsmap

     ย้อนกลับไปปี 1957  หลังการเปิดแบรนด์ภายใต้ชื่อตัวเองได้ 7 ปีและสร้างสรรค์ผลงานเลื่องชื่ออย่าง “Bubble Dresses” ที่ใช้เทคนิคอันซับซ้อนรังสรรค์ชิ้นงานอันงดงามจนเป็นกระแสดังกระหึ่มโลก เขาได้ไปเยือนดินแดนฝั่งตะวันออกเป็นครั้งแรกในฐานะศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านการออกแบบที่วิทยาลัยการออกแบบบุนกะ (Bunka Fukosa) เพื่อสอนเกี่ยวกับมิติการตัดเย็บ 3 มิติอันเลื่องชื่อให้กับนักเรียนแฟชั่นนานถึง 1 เดือนเต็ม และเขาเองก็ถือเป็นกูตูริเยร์ฝรั่งเศสคนแรกที่มองหาโอกาสในการขยายวัฒนธรรมสู่ตลาดแฟชั่นเอเชีย ครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโลกฝั่งเอเชียให้เสพแฟชั่นในแบบกูตูร์ตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก ซึ่งจากจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กระแสแฟชั่นในญี่ปุ่นมุ่งตรงสู่ระดับสากล แม้จะเพิ่งผ่านพ้นความหนักหน่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่ถึง 15 ปี

Pierre Cardin บนหน้าปกนิตยสารไทม์วันที่ 23 ธันวาคม 1974 / ภาพ: Pinterest

     ฝั่งญี่ปุ่นเริ่มเปิดโลกและพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างความมาตรฐานแฟชั่นสู่ระดับสากลนับจากนั้น ความพิเศษในการพัฒนาโลกแฟชั่นของปิแอร์ไม่ได้หยุดแค่ดินแดนอาทิตย์อุทัย หลังเยือนญี่ปุ่นเขาใช้เวลาประมาณ 20 ปีในการพัฒนาผลงานตัวเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกับนักแสดงชื่อดัง พัฒนาให้ไลน์โอตกูตูร์สามารถตีตลาดเชิงรุกในแง่ธุรกิจ เริ่มเปิดโลกแฟชั่นโชว์ด้วยการจัดแสดง ณ ห้างสรรพสินค้า เปิดไลน์เสื้อผ้าผู้ชายและคอลเล็กชั่นสำหรับเด็ก ร่วมงานกับองค์กรนาซ่า และเนรมิตความพิเศษให้กับโลกแฟชั่นอีกมากมายจนถึงขั้นได้เป็นกูตูริเยร์คนแรกที่ขึ้นปกนิตยสารไทม์ในวันที่ 23 ธันวาคมปี 1974 หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นสุดยอดนักออกแบบที่ชื่อเสียงขจรขจายไปถึงแดนมังกร...



WATCH




การเยี่ยมชมจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1978 / ภาพ: Vestoj

     ปี 1978 เขาได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศจีนให้ไปเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรกและเขาก็ได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับกำแพงเมืองจีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำประเทศ แต่หน้าที่สำคัญนั้นไม่ใช่การไปเยือนเพื่อภาพลักษณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปิแอร์เล่าถึงการไปเยือนโดยมีจุดประสงค์สำคัญและชัดเจนว่า “ไปเพื่อแนะนำเรื่องการออกแบบรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อที่จะเจาะตลาดฝั่งตะวันตกให้กับชาวจีน” ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดรูปแบบของสินค้าแฟชั่นสิ่งทอในประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นรากฐานมั่นคงจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลเลือกปิแอร์จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพิเศษในตัวปิแอร์ที่โดดเด่นจนรัฐบาลจีนต้องเจาะจงเลือกเขาโดยเฉพาะ

Pierre Cardin ในกรุงปักกิ่งปี 1979 / ภาพ: MissXO

     และแล้ว 1 ปีถัดมาในปี 1979 เขาก็เปิดโลกแฟชั่นตะวันตกให้กับจีนเต็มรูปแบบด้วยการจัดโชว์ขนาดมหึมาในกรุงปักกิ่ง ตามรายงานระบุว่าเขาส่งเสื้อผ้ากว่า 220 ชิ้นพร้อมทั้งนางแบบจำนวนมากมาที่นี่ โดยยุคนั้นแฟชั่นโชว์ถือเป็นเรื่องใหม่มากในจีน ผู้คนโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวต่างตื่นเต้นถึงขนาดต้องแย่งชิงเข้าพื้นที่ National Culture Palace ซึ่งงานนี้มีแต่ผู้เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่สามารถเข้าชมได้ ยังไม่ได้เปิดเป็นโชว์สาธารณะทั่วไป แฟชั่นของปิแอร์เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบยุโรป ชุดเดรส เสื้อเบลาส์ และอื่นๆ อีกมากมายสำหรับผู้หญิง ฝั่งผู้ชายก็มีเสื้อผ้าหลายรูปแบบรวมถึงกางเกงรัดติ้วสุดฉีกแนวที่สร้างความตกตะลึงอย่างมาก เพราะแฟชั่นในจีนยุคนั้นเต็มไปด้วยชุดเหมา คงจะแปลกไม่น้อยเมื่อแฟชั่นโชว์ที่วาดลวดลายจัดจ้านเต็มไปด้วยผู้ชมที่แต่งตัวเหมือนกันทั้งหมด

โชว์แรกของ Pierre Cardin ในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1979 / ภาพ: Vestoj

      ต้องบอกว่าถึงแม้จะตื่นเต้นและแปลกใหม่ แต่ความแปลกใหม่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวัฒนธรรมจีนไม่น้อย เพราะการใช้นายแบบ-นางแบบในการนำเสนอเสื้อผ้าไม่ใช่แนวคิดแบบจีนเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะฝั่งผู้หญิงที่ต้องสวมเสื้อผ้าแบบยุโรปซึ่งมีการเผยสัดส่วนรวมถึงดีไซน์จัดจ้านของเสื้อผ้าทำให้เป็นเหมือนการกระตุกต่อมวัฒนธรรม ในมุมมองของคนจีนสายอนุรักษ์นิยม ณ ตอนนั้นไม่ได้มองแฟชั่นเหล่านี้เป็นความสวยงามแต่เป็นความไม่เหมาะสมมากกว่า แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่ารากฐานวัฒนธรรมของจีนก็แข็งแกร่งและฝังลึกในสังคมเป็นเวลานาน การมีสิ่งใหม่เข้ามาอย่างฉับพลันเช่นนี้จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเกิดขึ้น

ช่วงเวลาการเตรียมตัวของ Pierre Cardin และนายแบบก่อนโชว์ในปี 1981 / ภาพ: SINA

     ถามว่าปิแอร์ยอมแพ้ต่อคำวิจารณ์เหล่านั้นหรือไม่...เราคงตอบได้ทันทีว่าไม่เพราะเขาเดินหน้าพัฒนาโปรเจกต์การเผยแพร่วัฒนธรรมในจีนอย่างต่อเนื่อง ปี 1981 โชว์ใหญ่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งถูกจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เขาได้รับการสนับสนุนจากรองนายกฯ ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งในช่วงช่องว่าง 2 ปีนั้นในจีนมีการเคี่ยววัฒนธรรมใหม่ให้เข้ากับสังคมมากขึ้นจนค่อยๆ เปิดกว้างรับแฟชั่นแบบตะวันตกได้มากขึ้น แต่คนยุคเก่าก็ยังมองว่าแฟชั่นแบบยุโรปไม่ใช่เรื่องน่าประทับใจนักอยู่ดี ทว่าครั้งนี้ปิแอร์เริ่มใช้แบบเป็นคนจีนมากขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว รวมถึงมีการออกแบบเสื้อผ้าให้ล้อไปกับวัฒนธรรมเพื่อให้เห็นถึงความกลมกล่อมลงตัวซึ่งเราสามารถเห็นได้ปัจจุบัน แต่ปิแอร์ริเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่เกือบ 40 ปีก่อนเลยทีเดียว และด้วยผลงานทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ส่งผลให้จีนเริ่มมีการเปิดสอนแฟชั่นซึ่งเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลียนล้อไปด้วยกันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความขัดแย้งกันเชิงวัฒนธรรม

โชว์เสื้อผ้าระดับโอตกูตูร์ครั้งแรกในจีน ฝีมือของ Pierre Cardin เมื่อปี 1985 / ภาพ: Adrian Bradshaw

     ปี 1985 เขากลับมาจีนอีกครั้งกับโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนและตัวเขาเอง(ระหว่างนั้นก็ยังพัฒนาโลกแฟชั่นในจีนในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมา) ด้วยผู้ชมเรือนหมื่นเขานำแฟชั่นแบบยุโรปทั้งชุดทักซิโด้ ชุดเดรส V-Cut ชุดแต่งงานและอื่นๆ อีกมากมายมานำเสนอให้เห็นเป็นประจักษ์มากขึ้น เหล่านายแบบ-นางแบบจีนก็กลายเป็นเรื่องคุ้นเคยมากขึ้น โชว์นี้กลายเป็นหมุดทางประวัติศาสตร์ที่สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้แฟชั่นจีน และในปีเดียวกันปิแอร์ก็เชิญนางแบบระดับท็อปของจีนจำนวน 9 คน(บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามากถึง 12 คน)ไปเยือนปารีสเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวงการนางแบบเอเชียเลยก็ว่าได้

ภาพหมู่ของ China Performance Team ที่เป็นต้นแบบของการเฟ้นหานางแบบจีนในปัจจุบัน เมื่อปี 1981 / ภาพ: Sohu

     เรื่องโมเดลลิ่งเราขอย้อนกลับไปสักนิดสู่ปี 1980 ทางรัฐบาลจีนมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อเป้าประสงค์นี้โดยเฉพาะ เริ่มมีการคัดเลือกหญิงสาวจากโรงงานผ้าต่างๆ เพื่อพัฒนาเส้นทางนางแบบไปควบคู่กับการเปิดโลกแฟชั่นของปิแอร์ อย่างที่กล่าวไปว่ากลุ่มคนอนุรักษ์นิยมก็ไม่ปลื้มสักเท่าไหร่แต่ก็เป็นสัญญาณอันดีที่เจ้าหน้าที่รัฐของจีนบางส่วนมีหัวก้าวหน้าในจุดนี้จึงดำเนินการเรื่องนี้เรื่อยมา เพราะปิแอร์เป็นผู้ปลุกกระแสวงการนางแบบจีนจึงเดินหน้าอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงครึ่งทศวรรษและปี 1985 ก็เป็นปีทองของการริเริ่มอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น

การเปิดโลกด้วยการพานางแบบจีนไปปารีสของ Pierre Cardin เมื่อปี 1985 / ภาพ: Shizhuang ฉบับที่ 4

     ไม่ใช่แค่หยิบพวกเขาไปเป็นหุ่นแต่ปิแอร์หยิบวัฒนธรรมจีนไปเผยแพร่ในระดับสากลด้วย เมื่อเขาพานางแบบไปต่างประเทศเขาไม่สร้างพวกเธอเป็นหุ่นสวมชุด แต่เขาเอาเสื้อผ้าอาภรณ์แบบฉบับจีนไปเผยแพร่กลางกรุงปารีส เริ่มมีการส่งนางแบบไปประกวดในเวทีระดับโลกที่ลอสแอนเจลิสในปี 1986 เขาใช้วิธีเชิงการทูตได้เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งกับแบรนด์ โลกแฟชั่น และประเทศจีน นางแบบจีนจึงเป็นผลผลิตอันยิ่งใหญ่ของโลกแฟชั่นที่ปิแอร์เริ่มสร้างมาตั้งแต่ต้น ไม่แน่ถ้าไม่มีเขาเราอาจไม่ได้เห็นนางแบบเอเชียที่สามารถโลดแล่นในเวทีอย่างมิลานหรือปารีสแฟชั่นวีกได้ดั่งในปัจจุบัน

บรรยากาศโชว์ฉลองครบรอบ 70 ปีแบรนด์ Pierre Cardin ณ กรุงปักกิ่ง / ภาพ: China Daily

     นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดปิแอร์ยังไปเยือนจีนสม่ำเสมอ สร้างรากฐานทางธุรกิจ พัฒนาฐานการผลิต เผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกพร้อมทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเสมอ นอกจากนี้เขายังจัดแฟชั่นโชว์ประจำฤดูกาลของแบรนด์ตัวเองในจีนอยู่เป็นระยะจนถึงปี 2016 มากไปกว่านั้นงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของแบรนด์ก็จัดที่ Beijing 751D Park ซึ่งเป็นโชว์บัลเลต์แฟชั่นชั่นขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความผูกผันกับประเทศจีนอย่างสุดซึ้งและพร้อมพัฒนาแฟชั่นฝั่งตะวันออกให้ก้าวสู่ระดับสากลอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะถามว่าใครคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแฟชั่นจีนสู่วัฒนธรรมแฟชั่นมหาภาคคงตอบได้อย่างรวดเร็วว่าคือกูตูริเยร์ชาวฝรั่งเศสคนนี้นี่เอง โว้กขอร่วมลำรึกแด่การจากไปอย่างสุดซึ้ง “ปิแอร์ การ์แดง” มา ณ ที่นี้

อีกหนึ่งบรรยากาศความประทับใจที่ Pierre Cardin จัดแฟชั่นโชว์บนกำแพงเมืองจีน / ภาพ: Herald Sun

 

ข้อมูล: Pierre Cardin, Los Angeles Times, Pierre Cardin China, Vestoj, Yumpu, China Daily, และ Global Times

WATCH

TAGS : PierreCardin