เจาะลึกเบื้องหลังสุดยอดช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้รังสรรค์ผลงานที่นำทุกอย่างใส่ไว้ในถุงสูญญากาศ
ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้แสดงถึงแนวคิดความสร้างสรรค์ทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังสะท้อนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ในมุมมองที่แตกต่างอีกด้วย
มีคนเคยกล่าวกันไว้ว่างานศิลปะจะโดดเด่นและกลายเป็นสิ่งที่คนจดจำก็ต่อเมื่อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนสามารถระบุเจ้าของผลงานได้ทันทีแม้ไม่เห็นคำอธิบาย ภาพถ่ายก็เช่น ดังนั้นช่างภาพจึงมีคอนเซ็ปต์และรูปแบบการนำเสนองานเฉพาะตัวจนเหมือนเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวโดยไม่ต้องใส่ลายน้ำหรือสัญลักษณ์เพื่อกำกับบ่งบอกถึงผลงาน วันนี้โว้กจะพาไปรู้จักกับ Photographer Hal ช่างภาพและนักสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์ในการนำเสนอแบบที่ไม่มีใครเหมือน และผลงานความสร้างสรรค์ก็พาเขาคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย
แท้จริงแล้วชื่อ “Photographer Hal” เป็นเพียงนามสมมติในวงการถ่ายภาพ เพราะชื่อจริงของนักสร้างสรรค์คนนี้คือ Haruhiko Kawaguchi เขาเป็นช่างภาพวัย 50 ปีจากกรุงโตเกียว เส้นทางการเป็นช่างภาพไม่ได้เกิดจากความหลงใหลเรื่องการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ฮารุฮิโกะต้องการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก ในระหว่างศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเขาโหยหาการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมของหลายพื้นที่นอกญี่ปุ่นเพิ่มเติม การเดินทางบนโลกของศิลปะ ณ ประเทศอินเดียและแถบตะวันออกกลางจึงเริ่มขึ้น
ในระหว่างการเดินทางเพื่อศึกษาวัฒนธรรมนั้นเขาก็ตระหนักถึงทักษะการถ่ายภาพ เพราะเขามองว่าภาพถ่ายเป็นภาษาสากลที่ใช้สื่อสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่เหมือนภาษาพูดที่มีความแตกต่างกันทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อนได้ จุดเด่นสำคัญที่เป็นเหมือนลายเซ็นของฮารุฮิโกะคือการหยิบจับบุคคลและสิ่งของต่างๆ มาอัดแน่นประกอบกันถ่ายทอดออกมาเป็นแง่มุมศิลปะเฉพาะตัว เราจะเห็นว่าเขามักเลือกให้สิ่งของหรือแม้แต่มนุษย์บีบรัดกันอยู่ในกรอบแคบๆ ทุกอย่างถูกห่อหุ้มไว้อย่างดีเหมือนการกักเก็บความงดงามและสอดประสานกับกลิ่นอายความแน่นแฟ้นอย่างลงตัว
WATCH
อัลบั้มอันโดดเด่นที่เราเลือกมานำเสนอเป็นแกนหลักของบทความนี้คือ “Flesh Love” อัลบั้มนี้ฮารุฮิโกะต้องการรังสรรค์ผลงานถ่ายทอดความรักที่เขามองว่าเป็นพื้นฐานที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังของงานศิลปะ ทุกสิ่งบนโลกล้วนมีพื้นฐานเป็นความรัก พลังความต้องการตรงนี้ยิ่งทำให้เขาเลือกผลิตมุมมองขึ้นมาใหม่โดยเซต Flesh Love นี้จะเต็มไปด้วยการสร้างมิติความอัดแน่นตามสไตล์ฮารุฮิโกะ เขาใช้วิธีคลุมทุกอย่างในภาพด้วยถุงพลาสติกพื้นผิวพิเศษให้อารมณ์เหมือนอยู่ในถุงสูญญากาศจริงๆ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจในการบีบรัดให้มนุษย์สิ่งและสิ่งของแนบแน่นกันโดยสมบูรณ์
วิธีการเลือกโลเคชั่นก็สำคัญ เพราะถึงแม้ช่างภาพจะถ่ายภาพออกมาสวยและมีคอนเซ็ปต์น่าสนใจเพียงใด แต่การเล่าเรื่องราวผ่านภาพยังคงต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ฮารุฮิโกะจึงถ่ายภาพกลุ่มบุคคลแต่ละภาพในสถานที่ที่แตกต่างกันไป โดยสถานที่เหล่านั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของตัวแบบเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ห้องภายในบ้าน หรือแม้แต่สวนสาธารณะในความทรงจำ แน่นอนว่าการแพ็กมนุษย์ให้อยู่ในถุงสุญญากาศอาจจะดูแปลกประหลาด แต่ถ้ามองถึงความตั้งใจและแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานอย่างถี่ถ้วน เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาออกแบบภาพมาให้เกิดการอัดแน่นซึ่งนำไปสู่ความแน่นแฟ้นเชิงกายภาพ และสร้างเส้นใยสัมพันธ์ทางความรักหลากหลายรูปแบบอยู่เสมอ
ช่วงเวลาที่คนต้องเว้นระยะห่างและรู้สึกโดดเดี่ยวโดยเฉพาะในช่วงยุคโควิดแบบนี้ เขาเชื่อว่ามนุษย์โหยการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ตัวที่เรารัก ดังนั้นภาพทั้งหมดในอัลบั้มนี้จึงเหมือนกับการผูกสัมพันธ์ให้มนุษย์ได้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่นอีกครั้ง น่าแปลกที่เขาไม่ได้ทำให้ถุงสูญญากาศสร้างความรู้สึกอึดอั้นให้กับผู้ชม แต่กลับใช้สิ่งนั้นกระตุ้นต่อมความคิดให้เราได้เข้าใจถึงวลีเปรียบเทียบที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ได้อย่างยอดเยี่ยม มากไปกว่านั้นยังแสดงให้เห็นแง่มุมความอ่อนแอของมนุษย์ที่ต้องการพลังจากสิ่งรอบตัว ในอีกมุมหนึ่งก็แสดงถึงความแข็งแกร่งภายในภาพไปในเวลาเดียวกัน ถือเป็นผลงานที่เล่าทั้งเรื่องราวเชิงกายภาพ และถ่ายทอดกลิ่นอายศิลปะในรูปแบบนามธรรมออกมาได้น่าสนใจอย่างยิ่ง
ผลงานอัลบั้มนี้กลายเป็นผลงานเลื่องชื่อที่พาเขาคว้ารางวัลมามากมาย รวมถึงรางวัล Top 50 Photographer จากเวที Critic Mass 2020 จุดเด่นสำคัญนอกจากผลงานที่แปลกใหม่คือการลงทุนลงแรงอย่างแท้จริง เพราะภาพทั้งหมดไม่ใช่การตัดต่อเติมแต่งถุงสูญญากาศภายหลัง แต่คือการใช้ถุงนั้นคลุมส่วนประกอบของภาพจริงๆ ความทุ่มเทสร้างสรรค์ตรงนี้ยังทำให้เขาติดอันดับ Top 10 Lens Culture จาก Critics’ Choice 2021 นอกจากนี้ฮารุฮิโกะยังพาอัลบั้ม Flesh Love ไปปรากฏตัวในสื่อศิลปะชื่อดังทั่วโลก และเขากำลังจะได้ไปโชว์ผลงานที่นิทรรศกาลศิลปะในงาน PhEST ที่เมืองโมโนโปลี ประเทศอิตาลีในปีนี้อีกด้วย เราอยากให้เปิดใจลองชมผลงานของช่างภาพหัวสร้างสรรค์จากโตเกียวคนนี้สักครั้งแล้วจะรู้สึกทันทีว่าคำจำกัดความของคำว่า “ศิลปะ” ไม่ได้อยู่แค่ในหน้าพจนานุกรมแน่นอน
WATCH