FASHION
นกยูงในโลกศิลปะ แนวทางการใช้สัญญะนกยูงของศิลปินไทยและความรักที่แตกต่างแต่น่าจดจำเสมา-สุบรรณกริช ไกรคุ้ม รังสรรค์ผลงานชื่อ ‘Tri-OrbiT’ ที่แอบซ่อนเรื่องราวประสบการณ์ความรักส่วนตัวอันทรงคุณค่า |
“นกยูง” สัตว์รูปลักษณ์งดงามปรากฏโฉมบนงานศิลปะมาแล้วนานหลายศตวรรษ รูปแบบตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้สะท้อนภาพความเลอค่าที่น่าประทับใจ ด้วยมิติความสวยงามเป็นหลักสำคัญทำให้นกยูงกลายเป็นสัตว์ที่ถูกวาดเขียนลงบนงานศิลปะหลายประเภทจากหลายพื้นที่ทั่วโลก ทว่าความหมายของมันก็หลากหลายตามแต่ละพื้นที่เช่นกัน ซึ่งการตีความนกยูงในผลงานศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับบริบท รากฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่อยไปจนถึงเรื่องราวส่วนตัวของศิลปิน บางครั้งนกยูงในภาพศิลปะอาจซ่อนความหมายลึกซึ้งจนทำให้ผู้เสพงานศิลป์ประทับใจ
The White Peacock งานศิลปะจากปี 1750 / ภาพ: Durham University
ความหมายของนกยูงอ้างอิงตามคำเขียนเกริ่นถึงงานศิลปะนกยูงอันทรงคุณค่าโดย Marie Hawkins บนเว็บไซต์ ART UK ระบุว่านกยูงปรากฏบนงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยโบราณ มันเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม การเกิดใหม่ และความร่ำรวย และจากรากฐานประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เจาะลึกไปถึงสมัย 4,000 ปีก่อนกับการนิยามสัญญะถึงนกยูงอินเดียว่าเป็นสัญญะแห่งราชวงศ์ ก่อนที่ยุค 1800s จะมีการสร้างนิยามใหม่ๆ ผ่านงานศิลปะที่หลากหลาย พร้อมมุมมองการมองงานศิลปะแบบยุโรป รวมถึงมิติการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อความสวยงามด้วยรายละเอียดของนกยูงอีกด้วย
A Species of Chinese Peacock ผลงานศิลปะไม่ทราบศิลปินจากยุคราชวงศ์หมิง / ภาพ: Wellcome Collection
นอกจากประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เชื่อมโยงกับคนทั้งโลกแล้ว นกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์หมิงในหน้าประวัติศาสตร์จีนด้วย ซึ่งนกยูงมีความหมายเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ ความสวยงาม พลังอำนาจ และยศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้ยังหมายถึงวัฒนธรรมและความศิวิไลซ์อีกด้วย ซึ่งความหมายทั้งหมดทั้งมวลอาจดูเป็นนามธรรม ทว่าประสบการณ์ร่วมของคนส่วนใหญ่สามารถยึดโยงสัญญะนกยูงเข้ากับสิ่งหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ “ความสวยงาม” และผู้เขียนก็ได้สัมผัสกับเรื่องราวสุดพิเศษที่แอบซ่อนในงานศิลปะของคนไทยที่มีโอกาสจัดแสดงงานในระดับสากลร่วมกับแบรนด์จิวเวลรีระดับโลก
WATCH
เสมา-สุบรรณกริช ไกรคุ้ม พร้อมผลงาน Tri-OrbiT ด้านหลังที่ได้จัดแสดง ณ นิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี Cartier Trinity ณ ประเทศสิงคโปร์ / ภาพ: Courtesy of Cartier
เสมา-สุบรรณกริช ไกรคุ้ม คือศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี Cartier Trinity ณ ประเทศสิงคโปร์ ชื่อผลงาน ‘Tri-OrbiT’ ถูกนำเสนอผ่านการตีความวงล้อ 3 วงที่เชื่อมโยงต่อกันเลียนล้อไปกับแหวน 3 วงที่ร้อยเรียงเป็นเอกลักษณ์ของคาร์เทียร์ ผลงานชิ้นดังกล่าวสร้างความประทับใจกับรูปแบบการเล่าเรื่องเชื่อมโยงระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นำมาสู่จุดหลอมรวมแห่งจิตวิญญาณทางศิลปะ อันเต็มไปด้วยมิติความสร้างสรรค์ ปัญญา และศรัทธา แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจคือรายละเอียดที่ศิลปินคนนี้สอดแทรกเรื่องราวชีวิตส่วนตัวผ่านสัญญะนกยูงที่เปี่ยมด้วยความหมายและอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในจิตใจ
ผลงาน Tri-ObiT ของ เสมา-สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ที่สอดแทรกสัญญะนกยูงพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ความรักในแบบเฉพาะตัวลงบนบริเวณด้านซ้ายของผลงาน / ภาพ: Courtesy of Cartier
นกยูงคือสิ่งสวยงามเช่นกันในสายตาของเสมา เขามองว่านี่คือตัวแทนแห่งความงดงามที่สามารถสื่อสารได้อย่างทรงพลัง รายละเอียดในผลงานจิตรกรรมไทยที่อาจไม่ได้ใหญ่โตหรือเป็นจุดเด่นชนิดสะดุดตาจนแย่งความสนใจจากองค์ประกอบอื่นนั้นกลับซ่อนเรื่องราวความรักส่วนตัวเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาเชื่อมโยงลักษณะของนกยูงที่สวยงามนี้เข้ากับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนกยูงที่แพนหางอย่างสวยงามตามภาพจำของคนทั้งโลกคือนกยูงตัวผู้ ไม่ใช่ตัวเมียแต่อย่างใด นี่คือสัญญะที่เขาหยิบยกมาใส่ในผลงานเพื่อกล่าวถึงคนรัก เขาเผยรายละเอียดเรื่องนี้ขณะกำลังอธิบายผลงานในนิทรรศการ ระบุว่าเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงมิติความงดงามเกี่ยวกับแฟนของเขาซึ่งเป็นทรานส์ มันคือความรักที่ไร้กรอบ ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดประสบการณ์การผ่านร้อนผ่านหนาวมาในช่วงชีวิตต่างๆ มาด้วยกัน นับว่าเป็นการสะท้อนภาพความรักและความงดงามผ่านนกยูงรูปแบบใหม่ นำเสนอด้วยการสอดแทรกองค์ประกอบและนำประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวมาบอกเล่าได้อย่างมีชั้นเชิง นี่ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้สัญญะในงานศิลปะเปิดโลกการเสพศิลปะและแอบซ่อนความหมายเป็นดั่ง ‘Easter Egg’ ที่น่าสนใจเสียจริง
WATCH