FASHION

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 'โรคระบาด' ต้นกำเนิดความงามแบบวิกตอเรียน สู่เคต มอสส์ ในวงการแฟชั่นโลก!

"วัณโรค" เปลี่ยนแปลงโลกแฟชั่นไปอย่างไรบ้าง...โว้กมีคำตอบ

     น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักภาพยนตร์สุดคลาสสิกขึ้นหิ้งอย่าง Moulin Rouge ที่นอกจากจะส่งให้เพลง Lady Mamalade และนักแสดงมากความสามารถอย่าง Nicole Kidman โด่งดังเป็นพลุแตกแล้วนั้น ตำนานโศกนาฏกรรมความรักของภาพยนตร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่อง La Traviata ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้ชมไม่เสื่อมคลาย เมื่อ "วัณโรค" เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพรากความรักของตัวละครหนุ่มสาวให้จบลงอย่างไม่สมหวัง นั่นคือในฝั่งตะวันตก หากเมื่อย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย เราก็ยังได้เห็นโรคระบาดอย่างวัณโรค เข้ามามีบทบาทเช่นเดียวกันนี้ในวรรณกรรม และภาพยนตร์ อย่างเรื่องข้างหลังภาพ กับตัวละครที่หลายคนรู้จักกันดีนั่นคือ "คุณหญิงกีรติ" ที่ก็ต้องพบจุดจบเดียวกับตัวละครหญิงในเรื่อง มูแลง รูจ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นเอง จนนักวิจารณ์วรรณกรรม และภาพยนตร์หลายท่านยังได้วิพากษ์เอาไว้ว่า สิ่งนี้คือมรดก และร่องรอยของการแพร่ระบาดของวัณโรค ที่โลดแล่นอยู่ในโลกของวรรณกรรม และภาพยนตร์ คือโรคประจำตัวของเหล่านางเอก คือเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์รักเรื่องนั้นจบลงแบบโศกนาฏกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมรสให้วรรณกรรม และภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ โรแมนติกขึ้นมาไม่ใช่น้อย...

 (ซ้าย) นิโคล คิดแมน จากภาพยนตร์เรื่อง Moulin Rouge / (ขวา) คารา พลสิทธิ์ ในบทบาทของ คุณหญิงกีรติ จากภาพยนตร์เรื่อง "ข้างหลังภาพ"

 

     ไม่เพียงแค่ในพื้นที่ Pop Culture อย่างในโลกของวรรณกรรม และภาพยนตร์เท่านั้น ที่วัณโรคทิ้งร่องรอยเอาไว้ ทว่าในโลกของศิลปะ วัณโรคก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมไว้ไม่น้อยเช่นเดียวกัน อย่างที่หลายท่านทราบว่า บนหน้าประวัติศาสตร์โลก โรคระบาดอย่าง "วัณโรค" ที่หลายคนเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกานั้น ได้คร่าชีวิตชาวยุโรปไปมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีทั้งหมด หนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องจากโลกใบนี้ไปด้วยน้ำมือของวัณโรคยังรวมไปถึงเหล่าศิลปินชื่อดังระดับโลกจำนวนนับไม่ถ้วน ดังเช่น Claude Monet ศิลปินชาวฝรั่งเศส และภรรยานามว่า Camille Doncieux ที่ทั้งคู่ต้องเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากวัณโรค ก่อกำเนิดภาพจิตรกรรมก้องโลกในชื่อ "Camille Monet on her deathbed" กับการถ่ายทอดความงามจากความตายด้วยโรควัณโรคของภรรยาตัวเอง ให้กลายเป็นงานศิลปะที่ได้รับการพูดถึงมาแล้ว

(ซ้าย) โคลด์ โมเนต์ จิตกรชาวฝรั่งเศส / (กลาง) ภาพวาดอันเลื่องชื่อ "Camille On Her Deathbed" / (ขวา) คามีย์ โมเนต์ ภรรยาของโคชด์ โมเนต์

 

     ภาพวาดคามีย์ดังกล่าวของโมเนต์ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่วัณโรคทิ้งร่องรอย และสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเท่านั้น เพราะในช่วงยุคเดียวกันที่แวดล้อมไปด้วยศิลปินชื่อดังระดับโลกที่ทรงอิทธิพลต่อสังคม ที่ต่างล้มป่วยด้วยวัณโรคด้วยกันทั้งสิ้น และคนเหล่านี้ยังได้สร้างวัฒนธรรมการบรรยายความงาม (Romanticized) ของหญิงสาวที่ป่วยเป็นวัณโรคผ่านผลงานของตัวเองนับไม่ถ้วน นั่นจึงทำให้ภาพของวัณโรคกลายเป็นโรคประจำตัวของเหล่าศิลปินมากความสามารถ กลายเป็นโรคสุดเก๋ เป็นโรคแห่งความโรแมนติก จนในช่วงหนึ่งยังเกิดปรากฏการณ์ Fake Tuberculosis หรือการแกล้งป่วยเป็นวัณโรค เพราะต้องการเป็นคนเก๋ในสังคมของสุภาพสตรีชนชั้นสูงในสังคมตะวันตก โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งนั้นได้ฝังรากลึกลงไปในบรรทัดฐานความงามของสังคมที่พร้อมจะส่งต่อแล้วเป็นที่เรียบร้อย



WATCH




     การเสพผลงานทั้งศิลปะ บันเทิง หรือวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ "วัณโรค" ที่ตกทอดมาเรื่อยๆ ทำให้ความงามแบบวัณโรควนเวียนอยู่รอบตัวของเราจนถึงทุกวันนี้ หนำซ้ำยังได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างความงาม สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมในหลากหลายมิติ ไม่เพียงในพื้นที่ของป็อปคัลเจอร์ แต่ยังรวมไปถึงมิติของมายาคติความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความสวยงาม ไปจนถึงอุตสาหรกรรมแฟชั่นในยุคต่อๆ มาที่ยากจะลบเลือนอีกด้วย

     และก็น่าขบคิดเหลือเกินว่า จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ มันจะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น และบันเทิง อีกทั้งจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้รุนแรงมากแค่ไหนอีกด้วย...

ภาพของสุภาพสตรี และการแต่งตัวในยุควิกตอเรียน / ภาพ : lingerie addict  

 

     เราได้เห็นสุภาพสตรีในขณะนั้น ต่างพยายามเคลื่อนไหวความงามของตัวเองไปตามแรงกระเพื่อมของสังคมในเวลานั้น หญิงสาวพยายามปฏิบัติตัวให้เหมือนกับเป็นผู้ป่วยวัณโรค เลียนแบบการแสดงออกของอาการโรคดังกล่าวต่างๆ นานา ต้องขาวซีด แก้ม และใบหน้าต้องอมแดงชมพู ราวกับว่าต้องมีเลือดฝาดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องรักษาหุ่นตัวเองให้ผอม (แบบหนังหุ้มกระดูก) อยู่เสมออีกด้วย กระทั่งยังเคยมีการแข่งขันกันโชว์ให้เห็นกระดูกไหปลาร้าของกลุ่มหญิงสาวในช่วงหนึ่ง ซึ่งนิยามความงามดังกล่าวได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการรัดคอร์เซ็ตในยุควิกตอเรียน และอีกมากมาย ไปจนถึงการดีไซน์ชุดคว้านช่วงคอให้ลึกลงไปเพื่อเผยให้เห็นผิวขาวซีด และกระดูกไหปลาร้าอันปูดโปน ที่สังคมสมัยนั้นมองว่า "สวย" นั่นเอง

     อย่างไรก็ตามมรดกด้านความงาม และแฟชั่น ที่วัณโรคทิ้งไว้ให้ก็มิได้หยุดลงเพียงแค่ยุควิกตอเรียนเท่านั้น เพราะคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความผอม และความขาวนั้น ยังคงฝังรากลึกในนิยามความงาม ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ใครก็ยังอยากขาว และผอม กระทั่งอุตสากรรมแฟชั่นในยุค 1990s - 2000s ยังเคยสถาปนาความงามแบบเคต มอสส์ ขึ้นเป็นหนึ่งในความงามหลักที่โลกต้องหมุนตามมาแล้ว และถ้าถามว่า ความงามแบบเคต มอส เป็นเช่นไร ก็คงไม่ต้องพูดให้มากความ เพียงเสิร์ชในกูเกิ้ลว่า Kate Moss รูปภาพนับหมื่นนับพันที่ขึ้นมาต่อหน้า ก็คงทำให้หลายคนประจักษ์ได้แล้วว่า แม้แต่วามงามยุคใหม่ยังมีร่องรอยของความงามแบบวัณโรคอยู่ไม่น้อย

WATCH