โรงละคร, opera house, ละครโอเปร่า
FASHION

เจาะลึกเรื่องบันไดในโรงละคร ผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นในอดีตมาเต็มๆ

แฟชั่น Crinoline ของสุภาพสตรียุคเก่ามีอิทธิพลถึงขั้นทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมภายในโรงละครต้องสร้างสรรค์ตามเพื่ออำนวยความสะดวก

     “แฟชั่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคม” คำกล่าวนี้มักจะถูกพูดถึงเสมอเมื่อการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือแฟชั่นรูปแบบต่างๆ ส่งผลต่อมิติหลากหลายด้านที่ทำให้เกิดการพัฒนาหรือสร้างรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เพื่อเลียนล้อไปกับแฟชั่นได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในหลายยุคหลายสมัย และวันนี้โว้กจะพาไปย้อนเรื่องราวของแฟชั่นสมัยยุคศตวรรษที่ 19 อันส่งผลถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในอาคารโรงละคร และใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบเพื่อฟังก์ชั่นการใช้งานตามธรรมเนียมด้านแฟชั่นโดยสมบูรณ์


     จุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นความทรงจำครั้งนี้คือทาง Royal Ballet and Opera นำเสนอคอนเทนต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียโดยเป็นการไขข้องสงสัยด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมของโรงละครยุคก่อนที่มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เจาะลึกไปที่รายละเอียดความกว้างของบันได และรูปแบบการจัดวางบันไดที่มีความเหมือนกันในหลายที่ นั่นคือบันไดกลางประจำอาคารนั้นมีขนาดใหญ่มหึมา บางที่มีราวจับกลางบันได ในขณะที่บางส่วนของโรงละครมีทางเดินที่แคบจนน่าสงสัยว่าทำไมทางเดินในอาคารรูปแบบเดียวกันถึงมีความแตกต่างกันมากเพียงนี้



WATCH




โรงละคร, opera house, ละครโอเปร่า

แฟชั่น Crinoline ของสุภาพสตรียุคเก่าที่มีอิทธิพลอย่างมากในหลายมิติ ณ ขณะนั้น / ภาพ: All That's Interesting

    เหตุผลสำคัญที่เกี่ยวโยงกับแฟชั่นโดยตรงคือสุภาพสตรีสมัยโบราณสวมใส่กระโปรงโครงแข็งหรือ ‘Crinoline’ หรือถ้าเรียกแบบทั่วไปให้คุ้นปากคือกระโปรงสุ่มอันคุ้นตา ซึ่งบันไดดังกล่าวออกแบบตามรูปแบบแฟชั่นสมัยนิยม การออกแบบบันไดที่กว้างจะทำให้สุภาพสตรีสามารถเดินขึ้น-ลงสวนกันได้โดยที่กระโปรงไม่เกี่ยวกันจนเกิดอุบัติเหตุ ในขณะเดียวกันราวจับตรงกลางบันไดก็เป็นดั่งที่พักสำหรับการทักทายขณะเดินสวนกัน และเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้เปิดสำหรับสุภาพสตรีด้วย เพราะบางพื้นที่ในสมัยก่อนอาจจำกัดผู้คนเข้าออกเฉพาะสุภาพบุรุษเท่านั้น นับเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลด้านแฟชั่นโดยตรง

โรงละคร, opera house, ละครโอเปร่า

รูปแบบโครงสร้างบันไดขนาดใหญ่ ณ Palais Garnier โรงละครสำคัญกลางกรุงปารีส / ภาพ: Archi

     ความน่าสนใจของการออกแบบทางเดินในยุคนั้นยังละเอียดอ่อนและซับซ้อนอีกด้วย เพราะแม้จะมีการออกแบบบันไดหลักที่กว้างมากพอสำหรับสุภาพสตรีและแฟชั่นของพวกเธอ ทว่าในอีกมุมหนึ่งของอาคารก็มีข้อจำกัดอย่างเห็นได้ชัด ห้องบางห้อง ยกตัวอย่างใน Royal Opera House กลางกรุงลอนดอนกับห้อง King’s Smoking Room ทางเดินเข้าแคบมาก แคบแบบเป็นขั้วตรงข้ามของบันไดหลักอย่างชัดเจน นั่นเพราะห้องดังกล่าวถูกออกแบบสำหรับสุภาพบุรุษโดยเฉพาะ และไม่อนุญาตให้สุภาพสตรีเข้าใช้ ตามหลักแล้วสุภาพสตรีแทบจะหมดสิทธิ์เข้าใช้ในเชิงปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะกระโปรงแบบสุ่มครีโนลีนไม่สามารถสอดไปในช่องทางเดินแคบๆ ได้ นอกเสียจากสุภาพสตรีจะแหวกขนบด้วยการสวมชุดแบบอื่น แต่เมื่อตัดสินใจทำเช่นนั้นคงไม่สามารถเข้าอาคารโรงละครหรือสถานที่สำคัญได้ตั้งแต่แรก

โรงละคร, opera house, ละครโอเปร่า

ห้องสูบบุหรี่สำหรับสุภาพสตรีห้องแรกของยุโรป ณ โรงแรม St. Pancras Renaissance ซึ่งมีการออกแบบความกว้างและเอื้อความสะดวกสำหรับแฟชั่นของเหล่าสุภาพสตรีที่เข้ามาชมละครโอเปร่า / ภาพ: St. Pancras Renaissance Hotel

     มาถึงจุดนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่าหากสุภาพสตรีสวมกระโปรงขนาดยักษ์ใหญ่แบบนี้จะเข้านั่งชมการแสดงได้อย่างไร คำตอบที่เหล่านักประวัติศาสตร์ต่างระบุตรงกันคือกระโปรงแบบนี้สามารถบีบและพับตามแนวตั้งได้ ซึ่งทำให้โครงกระโปรงพับเรียงกันจนสามารถทำให้สุภาพสตรีนั่งได้ อีกมุมหนึ่งคือสุภาพสตรีชั้นสูงที่ชมการแสดงระดับวีไอพี การอยู่บนระเบียงสุดพิเศษที่ไม่ได้มีเก้าอี้ล็อคเฉพาะอาจเป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุสมผลกว่า อีกทั้งเมื่อศึกษาย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่าสัดส่วนของสุภาพสตรีนั้นน้อยกว่าสุภาพบุรุษอยู่พอสมควร ดังนั้นจึงสะท้อนภาพของสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างทางเพศได้เป็นอย่างดี

โรงละคร, opera house, ละครโอเปร่า

ตัวอย่างการสวมกระโปรงโครงใหญ่ ณ บันไดทั่วไปในสมัยก่อนที่อาจไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว นำมาสู่สถาปัตยกรรมบันไดโรงละครที่เอื้ออำนวยให้แด่เหล่าสุภาพสตรี / ภาพ: Wiki Library

     เรื่องราวเหล่านี้บ่งบอกถึงรากฐานประวัติศาสตร์ที่พัฒนาผ่านกาลเวลาและสมัยนิยมได้เป็นอย่างดี สังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาปัตยกรรมลื่นไหลไปตามยุคสมัย ยุคหลังๆ เมื่อสุภาพสตรีสวมกระโปรงแบบดั้งเดิมน้อยลงและปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือแฟชั่นแบบนี้ในสารบบทั่วไป สถาปัตยกรรมก็เอื้ออำนวยต่อแฟชั่นตามสมัยนิยมไปด้วยเช่นกัน อาคารโมเดิร์นหลายแห่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้งานสอดรับกับแฟชั่นของคนทั่วไปในสังคม การสวมสูทผูกไทพร้อมรองเท้าหนังของสุภาพบุรุษเองก็เสื่อมนิยมลงไปเช่นกัน สะท้อนภาพความลำลองที่มากขึ้นเชื่อมโยงกับผลผลิตทางวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โรงละครกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่อาจจะเลอค่าทางศิลปะแต่ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับความนิยมในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ๆ ก็มีอิทธิพลและเชื่อมโยงกับสไตล์ของคนยุคปัจจุบันมากกว่า จุดประสงค์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยเก่าอาจกลายเป็นข้อสงสัยที่เกิดคำถามว่า “ทำไม” อย่างเช่นบันไดของโรงละคร ซึ่งคำตอบอันแน่ชัดจะกลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพอิทธิพลแฟชั่นที่มีต่อมิติด้านต่างๆ ของสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

WATCH