FASHION
ไขรหัสความสำเร็จของ Olivia Colman ทำไมบทพระราชินี 2 ยุคถึงส่งเธอรับรางวัลใหญ่ 2 ปีติด
|
ถ้าจะพูดถึงนักแสดงล่ารางวัลชื่อของ Olivia Colman จะต้องขึ้นมาอยู่ลำดับต้นๆ ของลิสต์รายชื่ออย่างแน่นอน ด้วยฝีไม้ลายมือการแสดงที่สร้างอารมณ์ร่วมราวกับเธอคือตัวละครตัวนั้นจริงๆ ผู้ชมทุกคนต่างเชื่อ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งรู้สึกถูกเคี่ยวไปกับบทที่ส่งให้ตัวละครของเธอแต่ละตัวพุ่งไปแตะขีดจำกัดของมนุษย์เสมอ พอความเข้มข้นในการสวมบทบาทของโอลิเวียผนวกเข้ากับบทบาทที่ถูกสร้างจากองค์ประกอบความเป็นมนุษย์อย่างเรื่องราวลึกลับราชวงศ์จึงทำให้เธอกลายเป็น 1 ในสุดยอดนักแสดงในรอบปีมานี้
บรรยากาศขณะประกาศรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 2019
ปีที่แล้วต้องบอกว่าชื่อของ Glenn Close กับบทบาทภรรยาที่ดิ่งลึกลงถึงห้วงอารมณ์จากภาพยนตร์เรื่อง The Wife กลายเป็นชื่อเต็งหนึ่งจากทุกสำนักเซียน ออสการ์ตัวแรกของนักแสดงสาวรุ่นใหญ่กำลังจะเป็นจริง… “And The Oscar goes to…” ประโยคนี้ดังออกจากปากผู้เชิญรางวัลอย่าง Sam Rockwell ก่อนที่ Frances McDormand จะเอ่ยชื่อโอลิเวียขึ้นมาพร้อมกับความช็อกของกองเชียร์และสำนักเซียน เพราะเรียกได้ว่าเกลนน์นั้นมาแบบเต็งจ๋า นั่นคือจุดเริ่มต้นความสำเร็จของบทบาทราชวงศ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดมาตลอดรอบปีนี้
WATCH
ฉากแสดงห้วงอารมณ์ที่ดูเหมือนว่างเปล่าแต่มีความหมายของ Queen Anne
มาเจาะลึกกันถึงตัวละครของโอลิเวีย ความบิดเบี้ยวทางอารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นโจทย์หินที่โอลิเวียต้องตีให้แตกเพื่อส่งออกภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมอย่าง “The Favourite” ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ความพิเศษที่ทำให้นักแสดงหญิงวัย 44 ปี ณ ขณะนั้น (ปัจจุบันอายุ 45 ปี) ดูโดดเด่นเหลือเกินคือความสามารถในการเล่าเรื่องราวให้ผู้ชมรู้สึกจริง เธอถ่ายทอดมาราวกับว่าเลียนแบบเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่บทพูด การสื่ออารมณ์ผ่านสีหน้า แววตา และน้ำเสียง รวมถึง จังหวะและเวลาการสร้างเหตุการณ์ในฐานะราชินีแอนน์ในสมัยต้นศตวรรษที่ 18 คือความลึกซึ้งที่โอลิเวียทำให้ทุกคนเชื่อ! เชื่อในทุกๆ การกระทำที่เกิดขึ้นแม้พลอตของภาพยนตร์จะสอดแทรกเรื่องแต่งไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ฉากการร่ำไห้สุดท้ายที่ทำให้หลายคนอดรู้สึกสงสารตามไม่ได้
กุญแจสำคัญของเรื่อง “The Favourite” จนถึง “The Crown” มีจุดเหมือนที่ทำให้โอลิเวียสวมบทบาทสมาชิกราชวงศ์อังกฤษได้อย่างแนบเนียน แม้ว่าสมเด็จพระราชินีแอนน์และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 จะอยู่ในช่วงเวลาที่ห่างกันกว่า 200 ปี กุญแจดอกนั้นก็คือแง่มุมความใหม่ของเรื่องราวที่ผู้คนไม่เคยเสพจากการเล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ในแบบฉบับดั้งเดิม ทุกคนเริ่มตื่นเต้นกับเส้นเรื่องทั้ง 2 เรื่อง ราชินีแอนน์มีความผิดปกติเกี่ยวกับสภาพจิตใจและร่างกาย ความรักต่อกระต่ายทรงเลี้ยง 17 ตัว ความตื่นเต้นเกี่ยวกับด้านลับของตัวละครที่เคยปรากฏขึ้นจริง แม้มันจะดูเกินจริงแต่โจทย์นี้คือกุญแจสำคัญเพราะโอลิเวียแสดงถึงการศึกษาและเข้าใจตัวละครเหมือนเข้าไปอยู่ในใจของราชินีและเปลี่ยนเรื่องราวน่าเหลือเชื่อต่างๆ ให้ผู้ชมรู้สึกจริงและคล้อยตามไปกับบริบทแต่ละช่วงของเหตุการณ์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ถ้านึกภาพตามไม่ออกลองคิดถึงช่วงเวลาความแปลกประหลาดทางความรู้สึกของราชินีแอนน์จนนำมาซึ่งความต้องการทางเพศกับอบิเกล (ตัวละครสมทบรับบทโดย Emma Stone) พอเรายิ่งดูยิ่งรู้สึก ยิ่งรู้สึกก็ยิ่งจริง โอลิเวียเคี่ยวเราเหมือนกับตั้งหม้อสตูว์เนื้ออย่างไรอย่างนั้น
พอมาถึง “The Crown” ปัจจัยเดียวกันกับเรื่องที่ส่งเธอชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเวทีออสการ์เมื่อปี 2019 คือ “ความน่าเหลือเชื่อของเรื่องราวถูกทำให้เชื่ออย่างถอนตัวไม่ขึ้น” แง่มุมทางประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษค่อยๆ เล่ามาเป็นตอนๆ แต่ละตอนมีความเข้มข้นซับซ้อนให้ผู้คนสืบค้นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเด็นยิบย่อยตลอดเวลา อันไหนจริง อันไหนไม่จริง แต่ก่อนหน้านั้นสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ซีรีส์ยอดเยี่ยมเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นวิธีการสวมบทบาทสร้างความเชื่อให้กับผู้ชมของโอลิเวีย แต่กลับกันยุคราชินีแอนน์ซึ่งเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันค่อนข้างมั่นคง เพราะเรื่องข่าวสารหรือการเรียกร้องต่างๆ ยังไม่ถูกแพร่กระจายจนมีพลังหนักแน่นเท่าช่วงหลัง เพราะฉะนั้นบทบาทที่โอลิเวียได้รับเปลี่ยนจากความอิเหละเขะขะของเจ้าของกระต่าย 17 ตัวที่เราแทบไม่เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริงเป็นความน่าเหลือเชื่อในเส้นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ผ่านการตัดสินใจต่างๆ จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แทน
เรื่องการขึ้นมามีอำนาจของพรรคแรงงานยึดหลักสังคมนิยม เหตุการณ์ภูเขาถ่านหินถล่มจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเหตุการณ์ต่างๆ อีกมากมายกลายเป็นบททดสอบสำคัญที่ประมุขของประเทศอังกฤษจะต้องเผชิญและแบกรับเอาไว้ภายในจิตใจ ก่อนจะต้องกลั่นกรองและตัดสินใจออกมาเป็นการกระทำในเรื่อง เงื่อนไขเหล่านี้นำไปสู่ข้อบังคับในการแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย กลายเป็นโจทย์ปัญหาทางการแสดงที่ต้องตอบให้ได้ ข้อสอบยากและแต่เมื่อนักแสดงสามารถผ่านไปได้ก็เท่ากับการการันตีว่าผู้ทำข้อสอบมีคุณภาพจริง ซึ่งนักแสดงคนเก่งก็ไม่ทำให้เราผิดหวังเก็บเรียบตั้งแต่ซีนอารมณ์ไปจนถึงบทสนทนาที่เรียกได้ว่าเก็บทุกเม็ด แม้บางจุดของเรื่องจะถูกเติมแต่งเข้ามาเพื่อความสนุกของซีรีส์แต่มั่นใจได้เลยว่าเราดูแทบไม่ออกว่าคือตรงไหนถ้าไม่ไปจับเท็จอ่าน “TRUE or FALSE” หลังจบเรื่อง นี่ล่ะคือความยอดเยี่ยมของ “การแสดงที่ทำให้เชื่อ” โดยโอลิเวีย โคลแมน
ทำไมถึงเป็นบทบาทในราชวงศ์...ทั้งหมดที่อธิบายไปคือความซับซ้อนอันน่าเซอไพรส์ของเนื้อเรื่องที่หลายคนเซอร์ไพรส์เมื่อรู้เป็นครั้งแรก ภาพยนตร์บางเรื่องสร้างอิงประวัติศาสตร์จริงแต่ทำให้ผู้ชมเชื่อไม่ได้ แต่ตลอดรอบปีที่ผ่านมาทั้งเรื่อง “The Favourite” และ “The Crown” นักแสดงนำหญิงคนนี้ทำให้เราเชื่อได้ตลอดว่ามันเกิดขึ้น ความปกติของร่างกายและจิตใจบีบน้ำตาของราชินีแอนน์ให้รินไหลในช่วงท้ายเรื่อง พลังอำนาจมากขึ้นที่มาสั่นคลอนเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์จนทำให้เกิดความตึงเครียดในจิตใจของประมุของค์ปัจจุบันของประเทศอังกฤษ บทชั้นยอดต้องถูกมอบให้นักแสดงชั้นเยี่ยมเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้ชม ถ้าภาพยนตร์มีดีแค่บทสนทนาก็เหมือนมีเสียงอ่านบันทึกหรือเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์จากหนังสือให้ฟังแค่นั้น แต่ถ้ามีนักแสดงฝีมือระดับพระกาฬมาถ่ายทอดบทนั้นผู้ชมจะเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสังเกตการณ์ข้างสมเด็จพระราชินีทั้ง 2 พระองค์ เหตุผลอย่างหลังนำมาซึ่งความยอดเยี่ยมตลอดเส้นทางการแสดงในรอบปีแห่งความสำเร็จของผู้ชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์และลูกโลกทองคำ “โอลิเวีย โคลแมน”
WATCH