FASHION
แชมป์-ฐกร วรรณวงษ์ แห่ง Takara Wong ดีไซเนอร์สตรีตผู้ลุ่มหลงวิถีซับคัลเจอร์ผมไม่ได้มองว่าตัวเองทำเสื้อผ้าหรือแฟชั่น แต่ผมกำลังทำคอมมิวนิตี้ให้คนเหล่านี้มีจุดยืน จากที่เขาต้องหลบๆ ซ่อนๆ ต้องเล่นสเกตบอร์ดใต้ทางด่วน |
“พังก์ทำให้ชีวิตผมเกือบพัง” แชมป์-ฐกร วรรณวงษ์ แห่ง Takara Wong บอกเล่าเรื่องราวแห่งความลุ่มหลงวิถีซับคัลเจอร์ ซึ่งท้ายที่สุดลากเส้นต่อจุดสู่การเป็นดีไซเนอร์สตรีตมาแรงที่สุดอย่างถูกลิขิตไว้แต่แรก
“ตั้งแต่อายุ 12-13 ผมเริ่มโดดเรียนไปคลุกคลีกับเด็กสเกตบอร์ด เด็กบีบอยและพวกพังก์ ผมไม่เข้าเรียนเลยจนเกือบเรียนไม่จบมัธยมก็เพราะเพื่อนกลุ่มนี้ แต่พวกเขาให้ในสิ่งที่คนนั่งเรียนหนังสือในห้องเรียนทุกวันไม่มีทางได้หรืออาจได้ช้า เพราะกว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตก็อาจต้องรอถึงอายุ 18 แต่ผมได้ใช้ชีวิตตั้งแต่อายุ 13 พวกเขาพาผมไปเจอโลกและได้ทำอะไรในสิ่งที่หาไม่ได้ในห้องเรียน พาไปดูคอนเสิร์ตดีๆ ได้เจอวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้เรากล้าเปิดเผยตัวเองและกล้าทำในสิ่งที่คิด คนเหล่านี้ให้ชีวิตผมและทุกวันนี้ก็ยังให้มากกว่านั้น เพราะผมเอาวิถีชีวิตของพวกเขามาใช้ในงาน”
“แรงบันดาลใจทุกคอลเล็กชั่นของ Takara Wong มาจากซับคัลเจอร์ที่ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ด้วย ตั้งแต่สมัยที่คนแต่งตัวเหมือนๆ กันไปหมด แต่คนกลุ่มนี้ไม่เคยเหมือนคนอื่นและยังเป็นอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ แต่ด้วยวัยที่โตขึ้น หลายๆ อย่างอาจจะลดลงบ้าง อาจไม่ทำผมโมฮอว์กหรือแต่งตาดำแล้ว แต่เรื่องเจาะสักใส่เสื้อวงดนตรีเขาทำมาแต่ไหนแต่ไร”
“ผมไม่ได้มองว่าตัวเองทำเสื้อผ้าหรือแฟชั่น แต่ผมกำลังทำคอมมิวนิตี้ให้คนเหล่านี้มีจุดยืน จากที่เขาต้องหลบๆ ซ่อนๆ ต้องเล่นสเกตบอร์ดใต้ทางด่วน เปิดร้านหรือเล่นดนตรีซ่อนอยู่ในหลืบ ทุกวันนี้เขาได้มายืนเทียบเท่ากับคนทั่วไป เพราะโลกของแมสเข้ามาหาแรงบันดาลใจจากซับคัลเจอร์กันทั้งนั้น มีแบรนด์เสื้อผ้าที่สร้างงานออกมาให้เขาใส่ ดีไซเนอร์แฟชั่นบางคนดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นโมเดลเองด้วยซ้ำเพราะสะท้อนความเป็นตัวตนได้มากกว่า”
“ผมเติบโตมากับเพื่อนกลุ่มนี้ ตัวเราเคยเป็นคนทำงานด้านดนตรีแนวนี้มาแล้วได้มาทำเสื้อผ้าที่เล่าเรื่องราวของซับคัลเจอร์ ซึ่งสุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็คือคนที่เสพเสื้อผ้าของเรา ดีใจที่มีคนรักผลงาน จำนวนไม่ต้องเยอะมากมายแต่ถ้าเขาเป็นแบบนั้นจริงๆ แล้วเขา ใส่เสื้อผ้าเรา ผมดีใจกว่าการต้องยอมเปลี่ยนสไตล์ตัวเองเพื่อให้ทุกคนมารัก มันคือการขายความจริง ขายความดิบที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่ง เพราะผมเองก็เป็นแบบนั้นจริงๆ มาตั้งแต่เด็ก”
วงจรความดิบแบบนี้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคของ Vivienne Westwood แฟชั่นพังก์เกิดมาเพราะเทคนิคที่ไม่ได้ตั้งใจ ด้ายหลุดก็เอาไฟมาลนจนเกิดรอยไหม้ เสื้อผ้าสีตกก็เอากรรไกรมาตัดกลายเป็นรูแหว่ง เวลาไปนอนบ้านเพื่อน ตื่นมาไม่รู้จะใส่อะไรก็เลยหยิบเสื้อผ้าของเพื่อนมาใส่ รัดไปบ้าง ใหญ่ไปบ้าง ทุกอย่างคือการหยิบเรื่องราวในชีวิตจริงมาสร้างเป็นแฟชั่น แฟชั่นตรงนี้จึงอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรม”
“สิ่งที่ผมลุ่มหลงคงไม่ใช่แฟชั่น แต่เป็นคัลเจอร์หรือวิถีชีวิตแบบนี้ มันอยู่มานานมากจนคนทำอาจตายไปแล้วไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปินหรือดีไซเนอร์เองก็ตาม แต่วิถียังคงอยู่ บางคนเปลี่ยนไปตามกระแสเพราะไม่ใช่ตัวจริงหรือไม่ใช่วิถีชีวิตจริงๆ ของเขา แต่เรารักความเป็นพังก์ร็อกจนกลายเป็นแพชชั่นของชีวิตไปแล้ว ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ก็ไม่รู้จะทำอะไรและทำอย่างอื่นไม่ได้ด้วย มันให้ชีวิตและให้ความเชื่อกับผมด้วยว่า Punk never dies คัลเจอร์นี้ไม่เคยตายและจะไม่มีวันตาย”
เรื่องและสัมภาษณ์: ชนาภัย ชนะพัฒน์
ถ่ายภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช
สไตล์: ตะวัน ก้อนแก้ว
แต่งหน้า: รัตนโชติ โพธิ์ขำ
ทำผม: หฤษฎ์ ปัญญาอ้าย
สถานที่: The House on Sathorn
WATCH