FASHION

พลิกโฉม Givenchy ยุคใหม่ไปกับ Matthew Williams เจาะลึกว่าเขาจะปฏิวัติอะไรในวงการแฟชั่น

การเข้ามาของ Matthew Williams จะเปลี่ยนโฉมวงการแฟชั่นอย่างไร เมื่อผู้ชายมากุมบังเหียนแบรนด์ดังแห่งนี้อีกครั้ง

     เมื่อคืนนี้ (15 มิถุนายน 2020) แบรนด์ Givenchy ประกาศแต่งตั้ง Matthew M. Williams ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Alyx ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์คนใหม่ ข่าวใหญ่ครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนคลับของแบรนด์และอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างมาก เพราะแมทธิวมีสไตล์ชัดเจน รวมถึงควบดีกรีดีไซเนอร์หนุ่มมาแรงในช่วง 2-3 ปีหลังด้วย ความคาดหวังอันหนักอึ้งที่ต้องรับงานต่อจาก Clare Waight Keller ที่เพิ่งออกจากแบรนด์ไปไม่นานจะทำให้หนุ่มผู้นี้รังสรรค์จีวองชี่ออกมาได้ยอดเยี่ยมเพียงใด แต่ที่แน่ๆ ภาพลักษณ์ของแบรนด์จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ความเข้มข้นของสไตล์จะถูกหักเหให้โมเดิร์น มีลักษณะวิ่งเร็วขึ้นอย่างแน่นอน วันนี้โว้กจะวิเคราะห์ว่าแบรนด์ดังจากเมืองน้ำหอมจะเปลี่ยนทิศทางไปอย่างไรบ้างหลังข่าวใหญ่ข่าวนี้เกิดขึ้น

 

LESS COLOURS BUT MORE DEPTHS

การเลือกใช้สีโดดเด่นสะดุดตาของ Givenchy คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2020 ฝีมือ Clare Waight Keller / ภาพ: Andrea Adriani - Vogue Runway

     สิ่งที่แรกที่เราสัมผัสได้จากจีวองชี่ภายใต้การกุมบังเหียนของแคลร์คือสีสัน ถึงแม้ธรรมชาติของแบรนด์จะไม่ได้เล่นสีฉูดฉาด แต่ดีไซเนอร์หญิงหยิบยกเอาสีเฉดเฉพาะมาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เสื้อผ้าดูเฉียบคมและแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่นสีน้ำเงิน “Oil Blue” หรือจะเป็นโทนสีแดง เขียว ชมพู ส้มปะการัง หรือแม้แต่สีครีมเองจีวองชี่ยุคแคลร์ก็ถือว่ามีความโดดเด่นเฉพาะตัว สะท้อนกลิ่นอายวินเทจ ที่มีการใช้สีสันเพื่อเพิ่มมิติให้กับเสื้อผ้าได้อย่างกลมกล่อม แต่พอมาถึงยุคของแมทธิวสิ่งแรกที่เราจะได้เห็นแน่นอนคือการใช้สีค่อนข้างเรียบ ถ้าดูผลงานของเอลิกซ์เห็นได้ชัดว่าเขาถนัดในการรังสรรค์เสื้อผ้าด้วยการใช้สีพื้น ทั้งสีดำ สีเทา สีเบจ ไปจนถึงการสอดแทรกสีพิเศษในแต่ละคอลเล็กชั่น ความโดดเด่นไม่ใช่การใช้สีหลากหลาย แต่หมายถึงการใช้สีเดียวกันแต่ไล่ระดับของโทน ดำเข้ม ดำอ่อน ไปจนถึงเทา เป็นต้น

 

FROM SHARP SILHOUETTE TO MODERN STREETWEAR

เสื้อผ้าบุรุษจากแบรนด์ Alyx คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2019 ที่สะท้อนให้เห็นว่าความโมเดิร์นน่าจะอยู่ใน Givenchy / ภาพ: Fashion Network

     มันง่ายมากถ้าจะให้ระบุนิยามผลงานของแคลร์ ณ จีวองชี่ อธิบายอย่างเห็นภาพที่สุดคงเป็นเรื่องซิลูเอตที่เฉียบคม ทั้งชุดเดรส เสื้อสูท ที่เหมือนยกโลกเก่ามาทำให้ใหม่ด้วยรายละเอียดการตีความ ทุกอย่างแคลร์คำนวณออกมาด้วยความวิจิตรบรรจง เราจะได้เห็นวิธีการจับระบายสร้างมิติให้ลุคดูโดดเด่นขึ้นแม้ชุดจะเป็นเหมือนกระโปรงยาวระดับเข่าทั่วไป แต่พอผ่านมือแคลร์เท่านั้นก็กลายเป็นกระโปรงที่สอดแทรกความน่าสนใจได้อย่างมีชั้นเชิง แต่ทว่ามาถึงยุคของดีไซเนอร์หนุ่ม เราคงได้ย้อนกลับไปหากลิ่นอายแบบ Riccardo Tisci กันอีกระลอก ความโมเดิร์นที่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นความเลอค่าของชุดเฟมินีนจ๋าเท่าเดิม แต่จะแทนที่ด้วยความทันสมัย วิ่งเร็วนำเทรนด์ ความสนุกของการสวมเสื้อผ้าแบบไม่เน้นความเนี้ยบกริบจนเกินพอดี ชุดเดรสในคอลเล็กชั่นล่าสุดจากเอลิกซ์สะท้อนภาพออกมาชัดที่สุดคือเรียบง่ายแต่จัดจ้าน เพิ่มเอกลักษณ์ด้วยแอ็กเซสเซอรี่ นอกจากนี้ยังมีชุดสูทที่มีการออกแบบมาเพื่อการปรับใช้ให้ไม่ดูจริงจังจนเกินไป แต่ก็ยังสามารถทวิสต์ลุคให้กลับมาเป็นสูทตัวคลาสสิกได้เช่นกัน

 

COMMERCIAL PIECES ARE KEY



WATCH




เสื้อผ้าของ Givenchy อาจฮิตตลาดแตกเหมือนสมัย Bird of Paradise อีกครั้ง / ภาพ: The Cult of Givenchy

     หลายปีที่ผ่านมาสำนักแฟชั่นชื่อดังชื่นชมงานของแคลร์ว่าประณีตงดงามอย่างมาก แต่ความประณีตไม่เพียงพอแต่อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะเชิงธุรกิจ เพราะสุดท้ายเป้าหมายของการทำแบรนด์แฟชั่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือเม็ดเงิน แน่นอนว่าเหล่าแฟชั่นนิสต้าย่อมชื่นชอบความแปลกแตกต่าง สไตลิ่งจัดจ้าน แต่สำหรับคนชอบแฟชั่นทั่วไปอาจมองผ้าเสื้อผ้าของแคลร์นั้นอยู่ในเกณฑ์ใส่ยากพอควร พอแมทธิวเข้ามาจีวองชี่จะกลายเป็นแบรนด์ที่มีของฮอตฮิตติดตลาดให้คนได้ช็อปปิ้งคล้ายกับยุคสมัยแห่กันซื้อเรดี้ทูแวร์ตอนยุคริคาร์โด้แน่นอน ถึงแม้สีสัน ลวดลายอาจไม่ได้อลังการแบบตอนนั้น แต่เชื่อเลยว่าหนุ่มไฟแรงจะรังสรรค์ไอเท็มที่สาวกสายแฟพลาดไม่ได้แน่นอน ไอเท็มจากรันเวย์แต่ละชิ้นอาจมีการแย่งชิงเหมือนช่วงคอลเล็กชั่น “Rottweiler” และ “Bird of Paradise”

 

SEASONAL ITEM IS COMING TO TOWN

กระเป๋า Dior x Alyx Saddle Bag ที่กลายเป็นที่หมายปองของสาวกแฟชั่นทั่วโลก / ภาพ: Courtesy of Dior

     กระเป๋าเป็นไอเท็มเพียงไม่กี่ชิ้นของแต่ละแบรนด์ที่ออกมาและคงอยู่ยาวนาน กระเป๋ารุ่นหนึ่งมีอายุหน้าเชล์ฟขายเป็นปีๆ อาจมีการปรับรายละเอียด สีสันไปตามคอลเล็กชั่น แต่รูปทรงเดิมยังคงอยู่เสมอ และจะเป็นต่อไปแบบนี้แน่นอนกับจีวองชี่ แต่สำหรับยุคใหม่นั้นจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย งานฝีมือแมทธิวในแต่ละคอลเล็กชั่นจะ “HYPE” ขึ้นมาจนอาจเกิดการรีเซลล์กระเป๋ากันในเวลาอันรวดเร็ว วัฒนธรรมสตรีตแวร์ที่พ่วงมากับชื่อเอลิกซ์จะยิ่งทำให้จีวองชี่ได้รับผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าแบบเดียวกัน ไอเท็มคลาสสิกคือของต้องมี แต่สำหรับไอเท็มเด็ดในแต่ละคอลเล็กชั่นคือของต้องแย่งชิง!

 

(O)H! AUTE COUTURE

กลิ่นอายเสื้อผ้าโอตกูตูร์แบบเน้นเทคนิคเชิงลึกจากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ของ Givenchy ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปหลังแม่ทัพคนใหม่เข้ามา / ภาพ: Courtesy of Givenchy

     ต้องบอกว่าหลังจากแบรนด์ประกาศผู้รับตำแหน่งคนใหม่ก็มีคำถามเกี่ยวกับเสื้อผ้าโอตกูตูร์ถาโถมเข้ามาทันที ด้วยสไตล์การทำงานแบบโมเดิร์นสตรีตแวร์ การตัดเย็บแบบละเอียดลออไม่ใช่สิ่งที่แมทธิวนำเสนอเป็นฉากหน้า ณ เอลิกซ์ เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้เหมือนกันที่เราจะไม่ได้เห็นงานโอตกูตูร์สไตล์คลาสสิกแทรกความอลังการจากห้องเสื้อเก่าแก่แห่งนี้ในสัปดาห์แฟชั่นโอตกูตูร์กรุงปารีส แต่เราอาจเห็นการนำเสนอคอลเล็กชั่นในรูปแบบ “คล้าย” โอตกูตูร์ผ่านการตีความของแมทธิวแทน ไม่มีการยึดติดขนบแบบเดิม เพราะการฉีกกรอบโดยใช้ความถนัดของตนเองคือสิ่งที่ทำให้แมทธิวพาแบรนด์เขาโดดเด่นจนมายืนได้ถึงจุดนี้ หรืออีกความเป็นไปได้คือการพลิกโฉมโอตกูตูร์ของจีวองชี่ให้เปลี่ยนหน้าไปโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้ต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับแบรนด์ให้มั่นคงเสียก่อน เพราะสุดท้ายงานหลักสำคัญคือเรดี้ทูแวร์และแอ็กเซสเซอรี่ที่แฟนๆ เฝ้ารอ เมื่อเห็น Demna Gvasalia ณ Balenciaga เป็นตัวอย่าง เขามีสิทธิ์จะเดินตามรอยเท้านั้นอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งเชิงแฟชั่นและธุรกิจ

 

BACK TO ‘70s IDEAS FROM HDG

Hubert de Givenchy เป็นคนแรกๆ ในประวัติศาสตร์แฟชั่นที่เปิดรับความหลากหลายด้วยการเลือกนางแบบผิวสีเพื่อนำเสนอคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 1979 / ภาพ: Dustin Pittman

     ชื่อ Hubert de Givenchy ถูกกล่าวถึงอย่างมากเวลามีการปรับเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ประจำแบรนด์ แนวทางที่เขาวางไว้ทำให้คนติดภาพและจดจำจีวองชี่ในแบบที่เขาสร้าง โดยเฉพาะคนรุ่นอายุก่อน แต่เชื่อไหมว่าแคลร์คือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในแบบ ‘70s และแมทธิวคือชายผู้จะเข้ามาเติมเต็ม ที่เราพูดเช่นนี้เพราะแคลร์นำกลิ่นอายความซอฟต์แต่คมพร้อมด้วยสีสันของเสื้อผ้ามาใช้ นำเสนอการปลดแอกพลังหญิง พลังแห่งสิทธิ์ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนแมทธิวเองขึ้นชื่อเรื่องความลื่นไหลทางด้านแฟชั่น เปรียบเหมือนกับจีวองชี่ยุค ‘70s ที่เริ่มเปิดกว้างหลากหลายทั้งเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ รวมถึงคอนเซปต์การทำงาน เพราะเป็นยุคเปลี่ยนถ่ายจากภาคพื้นยุโรปสู่อเมริกา ไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์และสร้างยอดขายถล่มทลาย การดึงตัวแมทธิวเข้ามาก็เช่นกัน เขาคือหนุ่มผู้เปิดเส้นทางใหม่ให้กับจีวองชี่อีกครั้ง เปลี่ยนมู้ด ปรับวิธีการนำเสนอ และสะท้อนออกมาเป็นความหลากหลายที่ใครก็อยากจับจอง เนื้อผ้าใหม่ ซิลูเอตใหม่ การทดลองใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องในยุคนั้น น่นอนว่ายุคของแมทธิวความสนุกในการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นจุดเด่นสำคัญของจีวองชี่อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง มากไปกว่านั้นกำแพงเรื่องเพศถูกทำให้นุ่มลงจนแทบจะผสานกันได้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเชื้อชาติที่เสื้อผ้าแบบแมทธิวพิสูจน์ให้เห็นแล้วเข้ากันได้กับทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติใด ผิวสีอะไร เพราะแต่ละโชว์เขาคำนึงถึงความหลากหลายตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้นางแบบ-นายแบบ

 

FEMININE POWER

Givenchy Woman ยุคใหม่เท่ได้่โดยไม่ต้องยึดติดกับหลักเรื่องเพศจนเกินไป / ภาพ: Vogue Runway

     เรื่องเพศละเอียดอ่อนอย่างมากโดยเฉพาะในวงการแฟชั่นที่ประเด็นวัฒนธรรมกับความเท่าเทียมถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอ ตอนแคลร์รับตำแหน่งและกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่นำทัพจีวองชี่ตั้งแต่ก่อตั้งมาทำให้หลายคนมุ่งประเด็นไปหาเรื่องสิทธิสตรีโดยใช้คอนเซปต์ว่า “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” ความงดงามอ่อนช้อยในแบบผู้หญิงถูกคิดและนำเสนอเพื่อกลุ่มเพศเดียวกันอย่างเข้าอกเข้าใจ และความเฟมินีนดังกล่าวถูกถ่ายทอดในชุดแห่งปีอย่างชุดแต่งงานของเมแกน มาร์เคิล ทว่าเมื่อแคลร์โบกมือลาแมทธิวก้าวเข้ามาแทนที่ คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นอีกครั้งว่า “ผู้หญิงถึงผู้หญิง” เป็นคอนเซปต์เดียวที่จะส่งเสริมพลังหญิงได้จริงหรือ และผู้ชายกลับมาทำชุดให้ผู้หญิงอีกแล้ว... คำตอบอาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบความจริงสัมบูรณ์ที่ทุกคนต้องเชื่อตรงกันหมด แต่เราบอกได้เลยว่าหนุ่มมือทองคนนี้จับอะไรก็ขึ้นนั้นเป็นพวกหัวสมัยใหม่ เขาเปิดกว้างรับทุกสิ่งอย่างไม่มีกำแพงเรื่องบรรทัดฐานต่างๆ มากำหนด ความหลากหลายด้านมุมมองทางสังคมน่าจะทำให้แฟชั่นของจีวองชี่สนุกขึ้นเพราะมุมมองข้ามเพศเปิดให้ความสวยงามได้วิ่งพล่านแบบไร้ขีดจำกัด เพราะเมื่อผู้ชายออกแบบให้ผู้หญิง หรือผู้หญิงออกแบบให้ผู้ชายเราจะเห็นมุมมองการมองความสวยงามในรูปแบบที่แตกต่างจากแค่การมองกันเอง นอกจากนี้ดีไซเนอร์ก็ยังต้องฟังเสียงตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาอยู่ดี มันไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จที่ทำออกมาแล้วคนต้องใส่ แต่ถ้าทำออกมาแล้วคนถูกใจโดยไม่สนว่าหญิงหรือชายออกแบบนี่ล่ะคือความงามแบบไม่ยึดติดเรื่องเพศที่สะท้อนไอเดียและฝีมือจากตัวดีไซเนอร์ของจริง พลังหญิงจึงไม่ใช่แค่ผู้หญิงทำ แต่ผู้หญิงสามารถตัดสินเลือกนิยามความงามของตัวเองได้ และแมทธิวต้องรับฟังเสียงเหล่านั้นอย่างเปิดกว้างจริงๆ “ถ้าไม่ดีจริงก็ขายไม่ได้” วลีนี้ย่อมใช้ได้เสมอ

Kathryn Sargent หญิงสาวผู้ก้าวผ่านบรรทัดฐานเรื่องเพศและเปิดร้านตัดสูทในถนนที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยมที่สุดอย่าง Savile Row / ภาพ: Savile Row Style Mag

     ตัวอย่างมีให้เห็นว่าการทำงานเพื่อกลุ่มเป้าหมายเพศตรงข้ามนั้นมีคุณภาพ เข้าอกเข้าใจ และเปิดมุมมองใหม่ได้ไม่แพ้ภายในกลุ่มเพศออกแบบให้กันและกัน ชายออกแบบให้หญิงหรือหญิงออกแบบให้ชาย เรามีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่าความงามเหล่านี้ไม่ถูกจำกัดเรื่องเพศคนออกแบบหรือคนสวมใส่สักเท่าไรนัก ตัวอย่างเช่น Silvia Venturini Fendi ก็ออกแบบเสื้อผ้าบุรุษได้อย่างมีมิติชั้นเชิงและประสบความสำเร็จแทบทุกคอลเล็กชั่น หรือจะเป็น Kathryn Sargent ผู้หญิงที่เปิดร้าน ณ ถนนเซวิลโรว์ ย่านที่ถือว่าสะท้อนความเป็นสุภาพบุรุษแบบอนุรักษ์นิยมชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เธอสร้างสรรค์การเพิ่มพลังให้ชายหนุ่มด้วยฝีมือการตัดสูทแบบ “Bespoke” สำหรับแมทธิวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะเห็นเขาเพิ่มพลังให้ผู้หญิงด้วยฝีมือการออกแบบของเขาที่จีวองชี่ เพราะจากผลงานที่ผ่านๆ มาเขาไม่ได้วาดผู้หญิงให้อยู่ในกรอบ เขาทุบข้อจำกัดและมายาคติเพื่อสร้างลุคให้ผู้หญิงออกมาแข็งแกร่งมีชั้นเชิงโดยไม่ต้องมานั่งนิยามว่าเธอต้องใส่อะไรที่มันสมหญิงเสมอไป แต่เขาก็เลือกจะไม่ทิ้งความเฟมินีนอันอ่อนช้อยงดงามในหลายส่วน เราจะเห็นว่ามันมีสอดแทรกอยู่ในความงดงามทุกรูปแบบเช่นกัน ดังนั้นจีวองชี่ในปี 2020 เป็นต้นไปน่าจะมีหลายอย่างเป็นยูนิเซ็กส์ให้แฟนๆ ไม่ว่าเพศไหนได้ช็อปกัน

 

THREE MUSKETEERS OF 2020s

Matthew Williams, Kim Jones และ Virgil Abloh เหล่า 3 ทหารเสือแห่งวงการแฟชั่นยุคใหม่ / ภาพ: Cyril Masson

     ปิดท้ายกันด้วยเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ 3 ทหารเสือแห่งวงการแฟชั่น เรื่องนี้น่าสนใจอย่างมากโดยเฉพาะฝั่งเสื้อผ้าบุรุษเพราะแม่ทัพคนใหม่ของจีวองชี่เป็นเพื่อนกับ Kim Jones แห่ง Dior และ Virgil Abloh แห่ง Louis Vuitton ทั้งหมดล้วนดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของแบรนด์ชื่อดังแทบทั้งสิ้น โดยสไตล์การออกแบบนั้นมีความเชื่อมโยงกันในเชิงศิลป์ ทั้งกลิ่นอาย มุมมอง รวมถึงการเป็นคนเซ็ตเทรนด์โลก ทั้ง 3 คนจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นในอนาคต ตอนนี้ของจากดิออร์และหลุยส์ วิตตองโดยฝีมือของ 2 คนนี้กลายเป็นไอเท็มเด็ดที่คนวิ่งหากันทุกคอลเล็กชั่น เมื่อแมทธิวเข้ามาสู่รั้วจีวองชี่เขาก็มีแนวโน้มจะทำได้แบบเดียวกัน สายใยความเป็นเพื่อนของทั้ง 3 คนกำลังจะเขียนหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่นให้พวกเขาเอง ดูอย่างเวอร์จิลกับไอเท็มเด็ดๆ จากหลุยส์ วิตตอง หรือการร่วมมือกันของคิมและแมทธิวใน “Dior x Alyx” มันก็สะท้อนให้เห้นแล้วว่าพวกเขามีอิทธิพลกับโลกแฟชั่นอย่างไรบ้าง ทั้ง 3 คนทำให้ไอเท็มจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่เป็นไอเท็มสายสตรีตระดับท็อป ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในการครอบครองของเหล่าสาวกแฟชั่นสไตล์นี้(และคนทั่วไป) เราเชื่อเลยว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ พ่อมดสายนี้อาจไม่ได้มีคนเดียว แต่พวกเขาแพ็คกันมาถึง 3 คน เราจึงเรียกแมทธิว เวอร์จิล และคิมว่า “3 ทหารเสือแห่งวงการผู้มาปฏิรูปแฟชั่นยุคใหม่”

 

ข้อมูล: Hypebeast, Savile Row Style, Vanity Fair, The Cult of Givenchy, Fashion Network, Vogue Runway, Net-A-Porter, GQ, WWD, Alyx Studios, The Telegraph และ The New York Times

WATCH

TAGS : Givenchy