ชำแหละ ‘My Fair Lady’ ภาพยนตร์มิวสิคัลระดับตำนานสุดคลาสสิก ที่สายแฟ(ชั่น)ต้องย้อนกลับไปเปิดดู
นอกจากชุดแฟชั่นงานปักระดับโอต กูตูร์ แล้ว เราขอพนันกับผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้เลยว่า คุณจะจำ Audrey Hepburn ไม่ได้แน่นอน...
My Fair Lady (1964) หรือชื่อภาษาไทยว่า บุษบาริมทาง คือภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องของวงการฮอลลีวู้ด ไม่เพียงแค่เรื่องราวสุดคลาสสิกที่ดึงดูดคนในสมัยนั้น หากยังเคยผงาดบนเวทีงานประกาศรางวัลออสการ์ ประจำปี 1964 มาแล้ว ด้วยสถิติเข้าชิงทั้งสิ้น 12 สาขารางวัล และสามารถคว้ารางวัลกลับบ้านไปได้มากถึง 8 รางวัล การันตีได้อย่างชัดเจนว่าคุณจะไม่ผิดหวัง หากได้ย่างกรายเข้าไปสัมผัสโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแน่นอน กับเรื่องราวสุดอลหม่านของหญิงสาวเร่ขายดอกไม้ริมทาง Eliza Doolittle นำแสดงโดย Audrey Hepburn ที่อยากจะขยับขยายฐานะของตนเองด้วยการตะเกียกตะกายขึ้นไปอยู่ในสังคมชนชั้นสูง จนได้พบกับนักภาษาศาสตร์หนุ่มรูปงามอย่าง Harry Higgins สวมบทโดย Rex Harrison ที่จะมาช่วยเธอเปลี่ยนสำเนียงภาษาบ้านนอกให้กลายเป็นสำเนียงการพูดแบบชนชั้นสูง และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดวุ่นวายแต่โรแมนติกตลอดทั้งเรื่อง
ไม่ต้องพูดถึงฝีมือการแสดงของดาวค้างฟ้าแห่งวงการฮอลลีวู้ดอย่าง ออเดรย์ เฮปเบิร์น ให้มากความ เพราะคำวิจารณ์ของหลายๆ คนต่างท้าพนันเป็นเสียงเดียวกันว่า ใครก็ตามที่เปิดดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายในช่วงชั่วโมงแรกคุณอาจจะไม่ได้ใส่ใจกับเสียงเพลงมิวสิคัลที่บรรเลงอยู่บนฉากหลัง หรือเนื้อเรื่อง และบทสนทนาที่เหล่าตัวละครพูดคุยกันเลยแม้แต่น้อย เพราะสายตาคุณจะเอาแต่ไล่หานางเอกของเรื่อง ซึ่งบัดนั้นเธอได้ลงทุนพลิกโฉมตัวเองให้กลายเป็นแค่หญิงสาวบ้านนอกที่เดินเร่ขายดอกไม้อยู่ริมทาง ในลุคแสนซอมซ่อที่ไม่เคยมีใครได้เห็นออเดรย์ในสภาพแบบนั้นมาก่อน การลงทุนเปลี่ยนตัวเอง สลัดทิ้งคราบความสวยสะพรั่งของดาราดังในบทบาทดังกล่าวของออเดรย์ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ถึงฝีมือการแสดง และความทุ่มเทในอาชีพของเธอจนได้รับการกล่าวขานมาถึงทุกวันนี้
จากบทเพลงสุดไพเราะทั้งหมดที่หลายคนฟังทันบ้างไม่ทันบ้าง หากได้ลองหยุดฟังพร้อมแปลตามไปด้วยอีกครั้งก็จะพบว่า บทเพลงต่างๆ ที่ถูกเลือกนำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นค่านิยม และบรรทัดฐานของสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันเป็นวงกว้างก็ต้องยกให้กับ “ค่านิยมกดขี่ผู้หญิง” ในสังคมอดีตที่สอดแทรกอยู่ประปรายในบทละครเรื่องนี้ ทั้งการยื่นมือเข้ามาช่วยของตัวละครชาย เพื่อมอบชีวิตใหม่ให้กับตัวละครหญิง, การมองว่าการจีบผู้หญิงสักคนนั้นไม่ต่างอะไรกับการเลือกซื้อของเล่น ไปจนถึงความลับที่เป็นข้อถกเถียงมาอย่างยาวนานนั่นก็คือเรื่องที่ว่า ผู้กำกับอย่าง George Cukor มีรสนิยมส่วนตัวรักชอบเพศเดียวกันและไม่ได้ชอบเพศหญิงมากนัก จึงตั้งใจเกลี่ยให้บทภาพยนตร์ดำเนินไปในทางนั้น กระนั้นก็ยังไม่มีใครได้คำตอบที่แน่ชัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จูงใจให้ใครหลายคนอยากกลับไปสำรวจภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องนี้ที่ถูกทิ้งร้างไปนาน และเริ่มถอดรหัสในสิ่งที่คุณอาจพลาดไปอีกครั้งหนึ่ง
WATCH
1 / 5
2 / 5
3 / 5
4 / 5
5 / 5
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ “แฟชั่น” ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของ Cecil Beaton โดยเขาเคยได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า "ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากงานออกแบบของดีไซเนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส Paul Poiret ที่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดแห่งความหรูหราสะดุดตา" กระนั้นเสื้อผ้าทั้งหมดที่ปรากฏในเรื่องก็ไม่ใช่แค่ได้รับคำชมแบบปากต่อปากเท่านั้น แต่ยังชนะรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ ประจำปี 1964 มาแล้วอีกด้วย
และทั้งหมดนี้เองที่ผู้เขียนสู้อุตส่าห์สาธยายมาอย่างยืดยาว ก็คือเหตุผลที่อยากจะชวนให้ผู้อ่านทุกคนที่อาจจะยังไม่เคยได้สัมผัสกับผลงานคลาสสิกระดับมาสเตอร์พีซของทั้งวงการบันเทิง และวงการแฟชั่น ให้ได้กดรีโมตย้อนกลับไปดูภาพยนตร์มิวสิคัลเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เข้าฉายผ่านทางสตรีมมิ่ง Netflix แล้วเรียบร้อย งานนี้สายแฟ(ชั่น)ไม่ควรพลาด...
ข้อมูล : WWD, Vanity Fair, Frock Flicks และ raremeat.blog
WATCH