FASHION
อ่านว่าอะไรกันแน่...เจาะลึกเหตุที่คนเรียกแบรนด์บาเลนเซียกาว่า บาลอง มานานกว่า 10 ปี!เผยเหตุผลที่คนเรียกชื่อแบรนด์บาเลนเซียก้าว่าบาลองหรือบาลองเซียก้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทย |
เนื้อหาสำคัญ
- เรื่องราวชีวิตช่วงที่ส่งผลให้ Cristóbal Balenciaga คือสุดยอดกูตูริเยร์
- ช่วงชีวิตที่ต้องระหกระเหินมาปารีสจนกลายเป็นที่มาความสำคัญของเรื่องนี้
- บทวิเคราะห์การใช้คำว่า “บาลอง” ว่ามาจากไหนและทำไมยังคงใช้กันอยู่ถึงทุกวันนี้
- แง่มุมความสำเร็จภายใต้ชื่อ “บาลอง” ความผิดที่อยู่รอดและประสบความสำเร็จ
__________________________________________________________
วันเวลาพัดพาชื่อเสียงของตำนานกูตูริเยร์ที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งของโลกสู่แบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์กลิ่นอายขบถโดยการสร้างสรรค์ของ Demna Gvasalia ปี 2019 ในยุคที่ทุกคนจับจ้องมองแบรนด์เพื่อแมตช์กับลุคสนุก ๆ เทรนด์สตรีตแวร์ Balenciaga คือสิ่งที่กำลังตอบโจทย์ได้อย่างดีเยี่ยม วันนี้เนื่องในวันครบรอบเสียชีวิตครบ 47 ปีของ Cristóbal Balenciaga เราจะพาย้อนถึงความหลังสั้น ๆ แต่เป็นเรื่องเข้าใจผิดมาตลอดระยะเวลาที่โลโก้แบรนด์ปรากฏขึ้นว่า “Balenciaga Paris” นั่นทำให้เรื่องราวคำว่า "บาลอง" เกิดขึ้น เรื่องราวอะไรที่ผิดพลาด เหตุผลคืออะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร เราจะพาคุณหาคำตอบกันในบทความชิ้นนี้...
Cristóbal Balenciaga ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Balenciaga / ภาพ: Lifestyle Asia
ย้อนกลับไปวันที่ 21 มกราคม 1895 ที่เมืองเกตาเรียหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ในแคว้นบาสก์ทางตอนเหนือของประเทศสเปน Cristóbal Balenciaga Eizaguirre เกิดขึ้นในครอบครัวที่มีพ่อเป็นชาวประมงและแม่เป็นช่างเย็บผ้า แต่พ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กทำให้คริสโตบัลต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่ เด็กหนุ่มจากเกตาเรียค่อย ๆ ซึมซับเทคนิควิธีการทำงานเรื่องเสื้อผ้า ไปทริปเรียนรู้โลกแฟชั่นที่ปารีส และได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้งานตัดเย็บเพิ่มเติมโดยการส่งตัวไปของ Marquesa de Casa Torres สตรีชนชั้นสูงที่เคยเป็นลูกค้าของร้านตัดเย็บตระกูลบาเลนเซียกา สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่คริสโตบัลมีศักยภาพพอจะเปิดร้านแรกของตัวเองที่เมืองซานเซบาสเตียนในปี 1917 กลายเป็นห้องเสื้อในแคว้นบาสก์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่
สภาพกรุงมาดริดช่วงยุคสงครามกลางเมืองปี 1936-1939 / ภาพ: Washington Post
ความยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อคริสโตบัลสามารถขยายสาขาร้านบาเลนเซียกาไปได้ทั้งในกรุงมาดริดและบาร์เซโลน่า ห้องเสื้อนี้เลื่องลือถึงขนาดที่ว่าราชวงศ์สเปนก็สวมใส่เสื้อผ้าจากที่นี่เช่นกัน แต่ชะตาของธุรกิจกลับพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ กรกฎาคมปี 1936 เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศสเปน บ้านเมืองคุกรุ่นแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นรีพลับลิกันและเนชั่นนัลลิสต์ที่นำโดยนายพล Francisco Franco ผู้โด่งดัง ต่อมาสเปนลุกเป็นไฟ ทุกเมืองต่างถูกแย่งชิงเป็นที่มั่นของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างดุเดือดไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองใหญ่ในหลายแคว้นอย่างมาดริด บาร์เซโลน่า บาเลนเซีย มาลาก้าและกาดิซ นี่คือเหตุผลที่ทำให้คริสโตบัลต้องปิดร้านและอพยพร่างกายรวมถึงรากฐานของแบรนด์บาเลนเซียกาไปอยู่ในปารีส
WATCH
Square Coat 1 ในผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของห้องเสื้อ Balenciaga / ภาพ: Adela Brborich Veliz
นี่เองคือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจผิดทั้งหมด...ร้านบาเลนเซียกาใน 3 เมืองใหญ่ในสเปนปิดตัวลงทั้งหมดเหลือไว้เพียงอาคารที่กลายเป็นวัตถุในสนามรบทางการเมือง ปี 1937 คริสโตบัลตัดสินใจเปิดกูตูร์เฮาส์ที่ Avenue George V หลังจากนั้นคือบทในตำนาน ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูงที่ถูกยกย่องว่าเป็น "กูตูริเยร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล" ในยุคที่มีทั้ง Christian Dior, Coco Chanel หรือแม้แต่ Hubert de Givenchy ที่คริสโตบัลให้ความช่วยเหลือ โลกแห่งแฟชั่นมันช่างเต็มไปด้วยพรสวรรค์และความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างเหลือล้น บอลลูนแจ๊กเก็ต เดรสหางนกยูงและสแควร์โค้ตถือเป็นไอเท็มนวัตกรรมใหม่ในยุคนั้นที่ห้องเสื้อนี้สร้างสรรค์เป็นคีย์พื้นฐานให้กับโลกแฟชั่นทุกยุคทุกสมัย เมื่อหันมองกลับไปของเหล่านี้ก็ยังร่วมสมัยได้อยู่เสมอ
เดรสหางนกยูงที่ถูกปรับให้เข้ากับนางแบบที่มีน้ำมีนวลในช่วงแขนและขาเล้กน้อยในปี 1956 / ภาพ: Gillian
ซิลูเอตใหม่ ๆ ถูกสรรสร้างด้วยไอเดียสุดอัจฉริยะของคริสโตบัลทั้งการใส่โวลุ่มเพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนโครงร่างเสื้อผ้า และที่สำคัญที่สุดคือเขาเนรมิตเพื่อเหมาะกับรูปร่างผู้หญิงจริงเพราะไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนางแบบ ฉะนั้นรูปแบบของทรง วัสดุและเนื้อผ้าจะหลากหลายราวกับว่าคริสโตบัลเป็นพ่อมดแห่งวงการแฟชั่น เพราะเขาไม่เพียงแค่ออกแบบหรือวาดภาพสเกตช์เท่านั้น แต่เขาคือช่างตัดเย็บขึ้นแพตเทิร์นเองกับมือ และเสื้อผ้าของเขาช่างเข้ากับผู้หญิงทุกคน ทุกที่ ทุกสถานการณ์ ชุดของบาเลนเซียกาตอกย้ำว่าปรับจูนกับทุกแง่มุมได้อย่างลงตัว
Cristóbal Balenciaga ขณะอยู่ในแฟชั่นเฮาส์ที่ 10 Avenue George V ในกรุงปารีส / ภาพ: Doug and Gene Mayer
มาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่าเกริ่นมายืดยาวขนาดนี้ความเข้าใจผิดคืออะไร? “บาลอง” เราน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยมากในการเรียกแบรนด์ของคริสโตบัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทำไมคนจึงเรียกแบบนั้น เพราะว่าช่วงชีวิตของคริสโตบัลส่วนมากอยู่ในฝรั่งเศสมีเพียงช่วงอายุ 30 ปีแรกเท่านั้นที่เขาอาศัยและสร้างสรรค์ผลงานในประเทศสเปน หลังจากนั้นเรื่องราวความยิ่งใหญ่ถูกผลิตและเล่าซ้ำในแบบฉบับของกูตูริเยร์หนุ่มแห่งปารีสผู้เป็นอัจฉริยะด้านการออกแบบและเนรมิตชุดอันเปลี่ยนแปลงโลกแห่งแฟชั่นสุภาพสตรี
Balenciaga Classic City อีก 1 รุ่นยอดนิยามของแบรนด์ที่คนไทยมักเรียกนำว่า “บาลอง” เสมอ / ภาพ: Courtesy of Brand
สงครามกลางเมืองเป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดดั่งที่กล่าวไปด้านบน คริสโตบัลระหกระเหินมาปารีสนั่นทำให้ทุกคนปั๊มตราให้แบรนด์เขาว่า “Balenciaga Paris” คนต่างจดจำและยึดถือสิ่งนี้มาจนถึงปัจจุบันจนกลายเป็นว่าแบรนด์นี้เป็นของฝรั่งเศส ทำให้แบรนด์ถูกเรียกว่า “บาลอง ๆ ๆ” มาตลอด ซึ่งมันช่างง่ายดายเมื่อเทียบกับการเรียกว่าบาเลนเซียกาแบบเต็ม ๆ หากเราเรียกว่า “บาเลน” ก็อาจจะรู้สึกติด ๆ ขัด ๆ เข้าไปอีกเสียด้วยซ้ำ เมื่อมีการพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็กลายเป็นคำฮิตติดปากจนความถูกต้องที่แท้จริงอาจไม่ใช่ความถูกต้องในสังคมหนึ่ง (ความถูกต้องจริง ๆ คือบาเลนเซียกา แต่ความถูกต้องในชุดความคิดบางคนคือ บาลอง เป็นต้น) การเรียกแบรนด์ว่าบาเลนเซียกาในประเทศไทยแบบเต็ม ๆ อาจถูกมองแปลกในบางครั้งบ้างเหมือนกัน เปรียบดั่งเวลาเราเรียกขนมแป้งทอดเกลียวคู่ว่า “ปาท่องโก๋” แต่ในความเป็นจริงมันคือ “อิ่วจาก้วย” แต่ถ้าใครเรียกถูกในสังคมที่มีความเข้าใจผิดผลิตซ้ำจนเป็นความถูกต้องก็จะไม่มีใครเข้าใจว่าเราต้องการอะไรกันแน่...
Balenciaga Triples รองเท้าที่สายสตรีตหลายกลุ่มยังคงเรียกว่ารองเท้า “บาลอง” / ภาพ: Courtesy of Brand
แล้วอันที่จริงเราควรจะอ่านชื่อแบรนด์นี้ว่าอย่างไรกันแน่ บาลองเซียกา บาเลนเซียกาหรือบาลอง? อันนี้ต้องย้อนกลับไปถึงรากฐานของคริสโตบัล เขาเป็นคนสเปนหรือจะเรียกให้ถูกจริง ๆ คือคนแคว้นบาสก์ (ในเชิงการเมือง สังคมและวัฒนธรรมชาวบาสก์มีความแตกต่างกับคนสเปน ลักษณะเหมือนการแบ่งแยกกาตาลัน) ชื่อของเขาเต็ม ๆ คือ “คริสโตบัล บาเลนเซียกา อิซากีร์เร่ ” (Cristóbal Balenciaga Eizaguirre) ฉะนั้นจริง ๆ เมื่ออ่านตามนามสกุลผู้ก่อตั้งและยึดถือตามแบบฉบับสเปนเพื่อให้เกียรติตัวเขาควรจะอ่านว่า “บาเลนเซียกา” และถ้ายังไม่มั่นใจชื่อกูตูริเยร์ที่สะกดในภาษาบาสก์ว่า Cristobal Balentziaga Eizagirre มีการเน้นเสียงบาเลนเซียกาอย่างจริงจัง ชื่อการอ่านแบบฝรั่งเศสจึงเป็นเพียงความเข้าใจที่คนสับสนเสียมากกว่า
Cristóbal Balenciaga ขณะนั่งทำงานในแฟชั่นเฮาส์ / ภาพ: Liberty Belle
ตอนนี้คนรู้ทำไมคนยังเรียก? คำถามนี้ตอบได้ไม่ยากนักชื่อบาลองถูกเรียกมานานแสนนานส่งต่อกันไปในวงกว้าง การที่ทำให้มันอยู่ได้คือการ “ทำให้ถูก” เมื่อคนอ่านว่าบาเลนเซียกาจะดูยืดยาวและจะถูกทำให้ถูกโดยการกรอบให้เรียกว่าบาลองจากกลุ่มสังคมหนึ่ง และที่สำคัญคือวัฒนธรรมการตัดทอนภาษาของคนไทยค่อนข้างโดดเด่น เพราะถ้าคำที่สามารถตัดทอนแล้วยังเข้าใจได้คนไทยย่อมเลือกจะลดทอนเพื่อความสะดวกสบายมากที่สุด ฉะนั้นวัฒนธรรมบาลองคือเคสตัวอย่างสะท้อนการตัดทอนทางภาษาได้อย่างดีเยี่ยม ถึงอย่างไรการอ่านเช่นนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะผิดเต็มประดา การพูดเล่นพูดหัวกันเองไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สุดท้ายก็ต้องคำนึงว่าเราใช้กับใคร ในสถานการณ์ใด ในระดับสากลและเป็นทางการทุกอย่างควรจะถูกตามที่มาของมันมากกว่า เช่นเดียวกับตัวอย่างการอ่านชื่อแบรนด์ว่า “มงต์บลังก์” คือสิ่งที่คนไทยเข้าใจคลาดเคลื่อนมาตลอดชีวิต เพราะแท้จริงแล้วมันอ่านว่า “มงต์บลองก์”
ภาพพอร์เทรตของ Cristóbal Balenciaga / ภาพ: Lifestyle Asia
ไม่ว่าบาเลนเซียกา บาลองเซียกา บาเลน บาลอง หรือใครจะเรียกอย่างไร...สุดท้ายการนึกถึงฝีมือการออกแบบอันยอดเยี่ยมและตำนานบทใหญ่ของคริสโตบัลคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ตราบใดที่แบรนด์ยังคงปั๊มตราจากปารีส มีการออกแบบเสื้อผ้าให้มีความสนุกขบถเล็ก ๆ แบบปาริเซียง หรือแม้กระทั่งการเดินโชว์ในช่วงปารีสแฟชั่นวีก เราการันตีได้เลยว่าวัฒนธรรมบาลองยังคงผลิตซ้ำและถูกเรียกต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต ความผิดที่ไม่มีโทษเคสนี้อย่างน้อยก็ยังการันตีให้กับแบรนด์ได้ว่าบาเลนเซียกายังคงถูกพูดถึงอยู่เสมอ ยังดีกว่าการไม่ถูกเอ่ยถึงแล้วและค่อย ๆ หายจากสารบบแฟชั่นไป...บางครั้งการมีตัวตนอยู่ในชื่อที่ผิดเพี้ยนเล็กน้อยมันช่างยิ่งใหญ่กว่าการไม่มีตัวตนเสียเลยในโลกนี้ เราขอมอบงานเขียนชิ้นนี้ให้ คริสโตบัล บาเลนเซียกา เป็นการไว้อาลัยและระลึกถึงทุกสิ่งที่เขาสร้างสรรค์ให้กับโลกแฟชั่นตลอดช่วงชีวิต
WATCH