FASHION
ล้วงลึกกับ มิ้นท์-พรปรียา ผู้ประกวด MUT 2020 ที่ยืนยันว่า 'ข่มขืน = ประหาร' ไม่ใช่ทางออกผู้ประกวด MUT 2020 คนนี้กำลังประกาศแนวทางการมองโลกยุคใหม่ผ่านมุมมองเกี่ยวกับอาชญวิทยาที่คนควรเข้าใจอย่างถูกมุมมากขึ้น |
ความโดดเด่นของการประกวดเวที Miss Universe Thailand 2020 นี้ทำให้เราได้เห็นความสามารถของสาวๆ มากความสามารถหลายคนที่มาแบ่งปันมุมมองและนำเสนอแนวคิดให้เราได้รับรู้ว่า แท้จริงแล้วการประกวดนางงามไม่ใช่แค่การประกวดจากหน้าตารูปร่าง แต่หมายถึงการนำเสนอตัวตนออกมาพร้อมกับวิสัยทัศน์การพัฒนาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมโดยรวม วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ 1 ในผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้ายอย่าง มิ้นท์-พรปรียา จำนงบุตร ที่แสดงจุดยืนว่า “ข่มขืนไม่เท่ากับประหาร” การสวนกระแสความดุเดือดเรื่องนี้ทำให้เธอโดดเด่นอย่างไร และทำไมเธอจึงเลือกแสดงความเห็นเช่นนี้ ติดตามอ่านได้ในบทความด้านล่างได้เลย
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักมิ้นท์กันก่อน เด็กสาวมากความสามารถจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินชื่อดัง ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของสถาบันเตรียมสอบลูกเรือ มีดีกรีความเก่งกาจเป็นถึงนักเรียนทุนรัฐบาลไทย กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กำลังศึกษาต่ออยู่ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านสาขาอาชญวิทยา โดยจะเน้นไปทางการบริหารจัดการภายในเรือนจำโดยตรง ซึ่งจุดนี้เองทำให้เรายิ่งสนใจในคำตอบเรื่องบทลงโทษคดีข่มขืนที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมมากยิ่งขึ้น
เรื่องราวอยู่ที่ว่าคำตอบระหว่างการประกวดของมิ้นท์นั้นมีความสวนกระแสเรื่องบทลงโทษที่สังคมกำลังมุ่งเน้นกันด้วยอารมณ์ร่วม แต่เธอกลับมองมุมต่างทั้งๆ ที่เธอเป็นผู้หญิงเอง “ข่มขืนเท่ากับประหาร” ไม่ใช่ทางออกสำหรับเธอ แล้วสาวงามคนนี้ก็อธิบายในฐานะผู้มีความรู้ให้เราฟังว่าการใช้บทลงโทษรุนแรงที่สุดนั้นไม่สามารถช่วยให้สังคมดีขึ้นได้เสมอไป การมองอย่างรอบด้าน ป้องกัน ลงโทษอย่างเหมาะสม และการมีกลไกในการบริหารจัดการเพื่ออนาคตอย่างชัดเจนต่างหากคือคำตอบของสังคมที่มิ้นท์อยากพูดถึง เพราะฉะนั้นเธอจึงเผยกับโว้กว่าประหารกับการข่มขืนมันเลียนล้อไปพร้อมกันไม่ค่อยลงตัวนัก แต่เพราะอะไรกัน...
WATCH
ทำไมข่มขืนเท่ากับประหารถึงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด...คำตอบง่ายที่สุดคือความอันตรายที่จะเกิดต่อเหยื่อ แน่นอนว่าเรายกคดีฆ่าข่มขืนออกจากหมวดหมู่นี้ไปก่อน ข่มขืนโดยไม่ทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมนั้นเป็นความผิดร้ายแรงก็จริงแต่ถ้ามีกำหนดโทษประหารขึ้นมีโอกาสสูงมากที่เหยื่อจะโดนฆ่าปิดปากเพื่อการหลบหนีของผู้กระทำผิด มิ้นท์กล่าวว่า “การฆ่าเหยื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดรอดพ้นการจับกุม พวกเขากระทำผิดโดยคิดเสมอว่าจะไม่โดนจับ” การฆ่าอำพรางจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกหากมีโทษรุนแรงถึงแก่ชีวิต ผู้เข้าประกวดสาวเน้นย้ำด้วยว่า “สมมติฐานนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบ” เรามองในเชิงผู้สังเกตการณ์อาจมองว่าโทษแรงเดี๋ยวกลัวเอง แต่เชื่อไหมว่างานวิจัยทางอาชญวิทยาระบุว่าผู้กระทำผิดส่วนมากไม่คิดถึงเรื่องถูกลงโทษ เพราะพวกเขาจะทำทุกวิธีทางในการหนีความผิดเหล่านั้นให้จงได้ และยิ่งหนีโทษประหารการปิดปากคือทางเลือกอันโหดร้ายที่ผลกรรมหนักสุดจะตกอยู่กับเหยื่อโดยปริยาย
ด้วยเหตุผลข้างต้นมิ้นท์จึงอยากให้คำนึงถึงมากกว่าแค่การแก้แค้นทดแทน การตัดผู้กระทำผิดออกจากสังคม หรือข่มขู่ไม่ให้เกิดการกระทำผิดอีกในอนาคต เพราะมิ้นท์เน้นย้ำว่า “เราควรคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของเหยื่อด้วย” นอกจากนี้สาวนักเรียนทุนระดับเคมบริดจ์ยังอธิบายเรื่องสัดส่วนการกระทำผิดอีกว่า “ข่มขืนเท่ากับประหารทันทีอาจไม่ใช่ทางออก เพราะสัดส่วนการลงโทษมันรุนแรง การพิจารณาโทษข่มขืนบางครั้งมีการสมยอมของเหยื่อที่อายุไม่ถึง 15 ปีก็นับเป็นการข่มขืน หรือการตัดสินคดีความที่มีความคลุมเครือนั้นบางครั้งผลลัพธ์ของการประหารเพื่อลงโทษอย่างรุนแรงอาจเป็นตราบาปสำคัญเมื่อรูปคดีพลิกแต่ชีวิตคนๆ นั้นมิอาจหวนคืนกลับมารับคำขอโทษได้”
ผู้ประกวดสาวที่ศึกษาเชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยตรงเสนอทางออกว่า “แท้จริงแล้วโทษแรงอาจมิได้สร้างความมั่นใจว่าจะป้องปรามการกระทำผิดได้ ฉะนั้นการเข้ากระบวนการยุติธรรม จำคุก และบำบัด รวมถึงกระบวนการที่ต้องเฝ้าดูติดตามหากพ้นโทษเช่นการจับตาโดยใช้เครื่องติดตามอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเฝ้าดูและยับยั้งการกระทำผิดมากกว่า(ย้อนกลับไปที่คนทำผิดมักหนี ถ้าใช้วิธีหนีทำอย่างไรก็หนีไม่ได้) คล้ายคลึงกับกฎหมาย Megan’s Law ของสหรัฐอเมริกา”
และเมื่อพูดถึงการสร้างตัวตนคนใหม่ให้ไม่ใช่ “คนคุก” เรื่องนี้มิ้นท์บอกกับเราว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เธอกล่าวอย่างชัดเจนที่สุดว่า “คนเราผิดพลาดกันได้ แค่คนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสกลับมาใช้ชีวิตในสังคมแบบปกติเช่นเดิม กลไกอยู่ที่การพัฒนาผู้กระทำผิด ทั้งนี้มันไม่ใช่หน้าที่ของกรมราชทัณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ทั้งการให้โอกาสด้านต่างๆ สมาชิกในสังคมก็ต้องไม่สร้างมลทินหรือรีบตีตราตัดสินไม่ยอมรับพวกเขาเมื่อกลับออกมาจากเรือนจำ เรื่องนี้มันใหญ่ถึงขนาดปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่อาจบีบรัดจนคนก่ออาชญากรรมได้เพราะการรัดตัวของสังคม”
สิ่งที่สาวสวยท่านนี้กล่าวสะท้อนได้อย่างมีนัยยะสำคัญจนผู้เขียนสามารถสรุปความน่าสนใจออกมาเป็นการอุปมาอุปมัยได้ว่า ปัญหารากเหตุผลการกระทำผิดในภาคใหญ่คือโรค และผู้ต้องหาคืออาการของโรค หากเรารักษาแต่อาการ(จัดการแต่ผู้กระทำผิดและไม่เยียวยา) โดยไม่สนใจต้นตอของโรค อาการเหล่านั้นก็จะกลับมาได้เสมอเพราะยังเป็นโรคอยู่ เพราะฉะนั้นการรักษาโรคจึงใช้ยาตัวเดียว(กรมราชทัณฑ์) ไม่ได้ ทุกภาคส่วนของสังคมจึงต้องจับมือกับต่อสู้กับโรคร้ายทางสังคมนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ถึงแม้มิ้นท์อาจมองย้อนกระแสของสังคมโดยเฉพาะสังคมออนไลน์ในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าเธอจะไม่ได้สนับสนุนสิทธิและการคุ้มครองสตรี เธอมองว่าไม่ว่าอย่างไรผู้หญิงไม่ใช่เบี้ยล่างที่จะถูกกล่าวหารับโทษแม้จะเป็นผู้ถูกกระทำ ยกตัวอย่างเช่นไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปข่มขืนแต่อย่างใด ตอนนี้มันเหมือนกับว่าสังคมบิดเบี้ยวไม่ได้สัดส่วน มิ้นท์จึงสร้างความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาว่า “หากมีตัวเลขเต็ม 5 การเรียกร้องของเพศหญิงไม่ได้อยากเกินไปที่ 6 7 หรือ 8 หรอก แต่เมื่อมีผู้ได้รับสิทธิอยู่ในระดับ 5 เราทุกคนไม่ว่าเพศไหนก็ควรอยู่ในระดับ 5 เช่นเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าบางเรื่องผู้หญิงได้ 5 และผู้ชายอาจได้ต่ำกว่าเช่นการลาเลี้ยงดูบุตร อาทิ โลกยุคใหม่ผู้ชายอาจเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือด้วยเหตุผลต่างๆ เขาก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้เหมือนกันหรือเปล่า”
สุดท้ายมิ้นท์พูดถึงการมาประกวดครั้งนี้ว่าต้องการมาสร้างความตระหนักและความเข้าใจสังคมที่มีต่ออดีตผู้ต้องขัง นางงามสำหรับเธอไม่ใช่เรื่องหน้าตาเพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงการเห็นคุณค่าในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องความคิดและการกระทำในทุกสถานการณ์เพื่อสะท้อนตัวตนเราออกมาได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นมิ้นท์ใช้การประกวดครั้งนี้เป็นกระบอกเสียงว่า “อยากให้คนได้ยินเสียงที่ฉันพูดแทนผู้ต้องขัง ลองเปิดใจว่าคนเหล่านั้นเคยกระทำผิดจริง โอกาสในสังคมไม่เท่ากับคนอื่นเมื่อออกมาสู่สังคมอีกครั้ง การไร้ซึ่งทางเลือกอาจสร้างให้เขาเป็นผู้กระทำผิดในทางใดทางหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง” ปิดท้ายกับการฝากถึงแฟนๆ โว้กว่า “ถ้าเริ่มสนใจประเด็นนี้สามารถเริ่มเยี่ยมชมเรือนจำท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังฝึกวิชาชีพ การเริ่มทำความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นในการให้โอกาสที่มากขึ้นค่ะ” ไม่ว่าเธอจะเข้าถึงรอบไหน จะชนะการประกวดหรือไม่ ตรงนั้นอาจไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือเธอสามารถจุดประเด็นอันละเอียดอ่อนมาถกกันอย่างมีเหตุมีผลผ่านหลักฐานเชิงรูปธรรมและการศึกษาอย่างเชี่ยวชาญ ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของสังคมอันเป็นพื้นที่ส่วนกลางแห่งความเท่าเทียมในอุดมคติ
WATCH