FASHION
“Understood the assignment” คีย์เวิร์ดสำคัญของ Met Gala 2021 ที่เผยนัยยะซ่อนเร้นด้านแฟชั่นนอกจากความสวยงามของชุดและการตีโจทย์ธีมที่หลากหลายแล้ว ความสำคัญของแฟชั่นบนพรมแดงยังรวมถึงเรื่องนัยยะซ่อนเร้นที่แต่ละคนนำเสนอออกมาไม่เหมือนกัน |
“Understood the assignment” คือคีย์เวิร์ดสำคัญของงาน #MetGala 2021 ซึ่งยังจัดกันอยู่ในขณะนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก เราข้ามเหล่าดาราเซเลบริตี้ในลุคโปรโมตแบรนด์ไป และปักหมุดที่เหล่าตัวอย่างลุคซึ่ง ตอบโจทย์กับธีม “American independence” ที่เชื่อมโยงไปกับนิทรรศการใหญ่ “In America: A Lexicon of Fashion” ซึ่งเลื่อนจัดงานเปิดมาจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนอื่นใดเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหัวข้อ “In America” นั้นเป็นโจทย์แรง กล่าวคือ Andrew Bolton กับ Anna Wintour ภัณฑารักษ์และแม่งานใหญ่ไม่ได้มองว่า America = American แต่มองในแง่มุมของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม หรือ Cultural Landscape ในฐานะที่อเมริกาเป็นหม้อหลอมใบเขื่องของคนหลากชาติพันธุ์ และเป็นศูนย์รวมของความหลากหลาย ในหลายหัวข้อต่างหาก ดังนั้นปัดตกไปก่อนสำหรับคนที่ตั้งประเด็นล้อมกรอบต่อลุคมากมายในงานเพียงว่า “ใช่หรือไม่ใช่ผลงานจากดีไซเนอร์อเมริกัน” เพราะประเด็นนี้จั่วถามเพื่อกระตุกต่อมคิดผู้ชมก่อนอื่นใด ผ่านหุ่นตัวแรกสุดที่ตั้งใส่ตู้กระจกอยู่หน้างาน ชุดกระโปรงสไตล์นางงามพร้อมสายสะพายตำแหน่งตั้งคำถามไว้ว่า Who gets to be America ?
ต่อไปนี้คือเหล่าลุคที่ #UnderstoodTheAssignment ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแฟชั่นล้วนเป็นเรื่องของนัยแฝง
1.Amanda Gorman เจ้าภาพร่วมปีนี้ที่มาลึกจนไม่รู้จะลึกอีกได้อย่างไร ผ่านบุคที่#ยกแรงบันดาลใจมาจากเทพีเสรีภาพ ตัดเย็บโดยนักออกแบบชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย Vera Wang จุดสำคัญคือคลัตช์กับข้อความ Give us your tired ที่ล้อมาจากบทกวี The New Colossus ตรงฐานรูปปั้น
WATCH
2.A$AP Rocky มาหลังสุดพร้อมแฟนสาว Rihanna (ในลุค Balenciaga) ในลุคที่สำคัญที่สุดประจะงานนี้ เพราะนี่คือเสื้อคลุมผ้าตัดต่อจาก Eli Russell Linnetz แบรนด์น้องใหม่สายแคลิฟอร์เนีย ที่ยึดโยงแนวคิดมาจากสุนทรพจน์ของ Jesse Jackson นักการเมืองผิวสีชาวอเมริกัน ที่ว่า “อเมริกาก็ไม่ต่างจากผ้านวม” กล่าวคือ ตัด ปะ เย็บ ตรึง เนา ด้น กันเข้าไว้ด้วยชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย
3.Billie Eilish อีกเจ้าภาพร่วมสาวอังกฤษ กับอีกครั้งของการสะท้อนภาพนักแสดงอเมริกัน Marilyn Monroe ในลุคจากดีไซเนอร์อเมริกันเชื้อสายโดมินิกัน Oscar de la Renta
4.Dan Levy ส่งอีกสารที่กินใจที่สุดในงานนี้ ผ่านงานออกแบบพิเศษโดย Jonathan Anderson แบรนด์ Loewe ซึ่งครบทุกมิติ ตั้งแต่การหยิบแผนที่โลกมาตั้งคำถามถึงความเป็นอเมริกันถึงประเด็นเพศสภาพ
5.Nikkie de Jager ทูบเบอร์ทรานส์มาในลุคที่คารวะแด่ Marsha Johnson ทรานส์ผิวดำในตำนาน ผู้ถางเส้นทางบุกเบิกให้กลุ่ม LGBTQ+ ในประวัติศาสตร์เหตุการณ์ Stonewall เมื่อปี 1969 ผสมผสานทั้งดอกไม้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องศีรษะของรายหลังและข้อความ #PayItNoMind บนชุดราตรี
6.Alexandria Ocasio-Cortez สตรีจากสภาคองเกรสคนดังมาในลุคฝีมือ Aurora James และสโลแกนเรียกร้องทางการเมืองผ่านข้อความ #TaxTheRich ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในปัจจุบัน
7.Cara Delevingne เลือกลุคเก่าจาก Dior เมื่อครั้งดีไซเนอร์หญิงสายเฟมินิสต์ Maria Grazia Chiuri เถลิงตำแหน่งใหม่หมาดๆ แต่เติมข้อความจ่อตรงถึงประเด็นระบอบปิตาธิปไตยในสังคมอเมริกันเพิ่มเข้าไปในชุดออกรบฟันดาบ
8.Carolyn B. Maloney จากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในหมวดเดียวกับ 2 คนก่อนหน้าด้วยการปรากฏตัวในลุคที่ชัดเจนว่าเรียกร้องความเสมอภาคให้กับสตรี
9.Iman และ 10.Jennifer Lopez คือตัวแปรทีเด็ดประจำงานที่ไม่อยากให้คุณมองข้ามไปใส่ใจเพียงความใหญ่ความโตของชุด เพราะอันที่จริงทั้ง 2 ลุคถอยย้อนความเป็นอเมริกันกลับไปสู่โลก Wild Wild West ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดทางการเมืองของอเมริกาทั้งปวง
คนหนึ่งเปรียบได้กับอินเดียนแดงผู้อยู่เก่า ในขณะที่อีกคนคือคาวบอยหญิง ผลผลิตแห่งวิถีอเมริกันชนรุ่นบุกเบิกเทรนด์ชาตินิยม...รายแรกนั้น แม้จะมาในลุคของ Dolce & Gabbana แต่สำคัญคือเครื่องศีรษะฝีมือ Harris Reed ดีไซเนอร์เชื้อสายเม็กซิกัน-อเมริกัน ส่วนรายหลังนั้น แนวนี้อย่างไรก็หนีไม่พ้น Ralph Lauren
WATCH