FASHION

ใครจะไปคิดว่าลุคเจ้าสาวของเมแกน มาร์เคิลที่เรียบสนิท...จะแฝงประเด็น 'การเมือง' ไว้เพียบ!

หาเจอไหมว่าดีเทลพวกนั้นคืออะไรบ้าง?

     ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงไม่รู้หายสำหรับชุดวิวาห์ในพิธีเสกสมรสของ เมแกน มาร์เคิล หรือฐานันดรใหม่อย่าง ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ (ซึ่งถือเป็นยศรับขวัญหลานสะใภ้หลวงจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ความเรียบง่ายที่รังสรรค์ขึ้นโดยห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศส Givenchy จากฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคือ แคลร์ เวต เคลเลอร์ อาจไม่พึ่งพิงงานปักงานเลื่อมใดๆ นอกจากโครงเสื้อสะอ้านสไตล์คอปาดที่เปลือยให้เห็นช่วงเนินไหล่เพียงน้อยนิดและซิลูเอตซึ่งอนุญาตให้ผู้สวมสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวเพราะไม่คับแน่น หากในที่นี้ “ความเรียบ” มิได้หมายความว่า “ง่าย” และ “ว่างเปล่า” เสมอไป เนื่องจากแท้จริงแล้วจุดที่ก้องตะโกนอย่างแนบเนียนนั้นปรากฏอยู่ระหว่างฝีเข็มของงานปักลวดลายบนชายผ้าคลุมหน้าต่างหาก

     สัญลักษณ์แห่งเครือจักรภพทั้งสิ้น 53 ชาติแทรกตัวอยู่บนผืนผ้าที่เลื้อยยาว 16.5 ฟุตจากเทียร่า Filigree อายุราวศตวรรษ มีตั้งแต่โมทีฟของออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ เรื่อยไปจนถึงฟิจิ ไนจีเรีย และมาเลเซีย ซึ่งประเทศเกือบทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เคยมีประวัติเป็นเมืองขึ้นในอาณานิคมของสหราชอาณาจักรในอดีต ก่อนปรับเปลี่ยนแนวทางการปกครองจนกลายเป็นคู่มิตรที่แน่นแฟ้นในแนวการปกครองอย่างในปัจจุบัน

     กลวิธีทางการเมืองที่หลอมรวมเข้ากับศิลปะแห่งโลกแฟชั่นสไตล์นี้หาใช่ของใหม่แต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นมาแล้วนักต่อนัก จนไม่น่าจะผิดอะไรถ้าเราจะประทับตรารับรองลงไปเสียเลยด้วยซ้ำว่า “ต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง” ในวาระและโอกาสทำนองเดียวกัน...เช่นเดียวกับครั้งหน้า

1 / 3



2 / 3



3 / 3





WATCH




     ครั้งที่มีความใกล้เคียงที่สุดคือ ฉลองพระองค์สุ่มบานแขนสั้นซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวมขึ้นครองราชย์ในราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1953 โดยในครานั้นแอบแฝงสัญลักษณ์ประจำประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพผ่านลายปักงดงามแนบเนียน ซึ่งมีรับสั่งแก่ดีไซเนอร์คู่บุญนาม นอร์แมน ฮาร์ตเนลล์ ด้วยพระองค์เอง กล่าวคือ กุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษ, ไม้หนามแห่งสกอตแลนด์, กระเทียมต้นแห่งเวลส์, ใบโคลเวอร์แห่งไอร์แลนด์, ใบเมเปิลแห่งแคนาดา, กระถินแห่งออสเตรเลีย, เฟิร์นเงินแห่งนิวซีแลนด์, โพรเทียแห่งอัฟริกาใต้, ดอกบัวแห่งอินเดียกับศรีลังกา และ รวงข้าวสาลี ปุยฝ้ายและปอแห่งปากีสถาน

1 / 3



2 / 3



3 / 3



     การเมืองแอบแฝงยังเคยปรากฏแม้ก่อนหน้านั้นบนฉลองพระองค์ผ้าไหมสีงาช้างในพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 กับเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก (หรือดยุกแห่งเอดินบะระในเวลาต่อมา) สัญลักษณ์รูปดาวบนชายผ้าคลุมยาวร่วม 15 ฟุตแฝงนัยถึงการเกิดใหม่และความก้าวหน้าของชาติหลังภาวะสงครามซึ่งทั่วโลกต้องเผชิญ ชิ้นงานเองยังเปรียบได้กับเครื่องหมายของต้นแบบผู้เคารพกติกาสังคม เนื่องจากเจ้าหญิงเอลิซาเบธในขณะนั้นทรงทำตามนโยบายของรัฐบาลอังกฤษด้วยการจ่ายค่าชุดแต่งงานทั้งหมดด้วยคูปองสงครามที่พระองค์สะสมไว้ (โปรดอย่าลืมว่าท่ามกลางเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่พิธีเสกสมรสในปี 2018 นี้ทุ่มทุนสร้างลงไป เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นกำรี้กำไรจากเทรนด์การท่องเที่ยวประเทศอังกฤษในอนาคต ชุดแต่งงานของเมแกนที่คุณอาจกำลังสงสัยในสนนราคาชุดนี้ถูกจ่ายเองทุกบาททุกสตางค์...ทุกยูโร...โดย 'เจ้าสาว' เพื่อกันคำครหานานา!)

     ในทางหนึ่ง รูปแบบของเสื้อผ้าจากราชวงศ์อังกฤษล้วนเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ทางการเมืองการทูตแทบทั้งสิ้น เท่าที่ผ่านมาราชวงศ์นิยมใช้ชิ้นงานแฟชั่นร้อยต่อวัฒนธรรมกับปรากฏการณ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสุขุมลุ่มลึก ผ่านการออกแบบอาภรณ์ซึ่งขึ้นตรงกับฝีมือของนักออกแบบชาวเมืองผู้ดีเป็นหลัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือชุดกระโปรงสีชมพูสดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในการเสด็จเยือนประเทศอินเดียเมื่อปี 1961 (สอดคล้องกับคำคมระดับตำนานของ ดีอาน่า วรีแลนด์ อดีตบรรณาธิการโว้กฉบับอเมริกาที่ว่า “สีชมพูคือกรมท่าของอินเดีย”) เรื่อยไปจนถึงลุคยามทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสภาสกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1999 ซึ่งชิ้นงานโค้ตผ่าหน้าสีม่วงเข้มชัดเจนว่ามาจากสีของดอกธิสเซิล สัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ ในขณะที่ชุดกระโปรงสีโอลด์โรสที่พระองค์สวมเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ได้รับการคำนวณด้านสีมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้คล้ายกันกับโทนสีของห่วงทั้ง 5 ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละทวีป หรือแม้แต่สัมพันธ์กับสีของชาติใดเป็นพิเศษ

WATCH