ตามที่เจ้าชายแฮร์รี่เคยกล่าวไว้ว่าพระองค์ "มองเห็นตัวเองเป็นนายทหารมากกว่าเป็นเจ้าชาย" พระองค์จึงปรากฏกายในเครื่องแบบนายทหารชั้นนายพลแห่งราชนาวีอังกฤษตกแต่งรายละเอียดช่วงหน้าอก แมตชิ่งลุคกับเจ้าชายวิลเลี่ยมผู้พี่ หากยังคงไว้เคราแดงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของพระองค์ไปแล้ว ในขณะที่เจ้าสาวคนสวยปรากฏโฉมในชุดวิวาห์แสนถ่อมตนสไตล์คอปาดสีงาช้างแขนยาว กระโปรงทรงเอ จับคู่กับผ้าคลุมใบหน้าที่แสนบอบบางและนุ่มนวลตกแต่งลวดลายดอกไม้ ซึ่งตัดเย็บโดย Clare Waight Keller แห่งห้องเสื้อ Givenchy ซึ่งผิดคาดไปเต็มๆ จากสื่อทุกสำนักที่คาดการณ์ว่าจะชุดวิวาห์จากฝีมือของห้องเสื้อโอตกูตูร์สัญชาติอังกฤษ Ralph & Russo
เมแกน มาร์เคิล สวมชุดวิวาห์จาก Givenchy โดยฝีมือดีไซเนอร์ Clare Waight Keller
ประเด็นที่น่าสนใจคือการเลือกดีไซเนอร์หญิงชาวอังกฤษที่เพิ่งร่วมงานไปหมาดๆ กับห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Givenchy การข้ามสายพันธุ์นี้ย่อมไม่ต่างจากการ "ข้ามฝั่ง" จากดินแดนหนึ่งมาสู่อีกดินแดนหนึ่งของตัวเจ้าสาวเอง เป็นเรื่องยากเกินทนได้แน่ๆ ที่ชาวอังกฤษจะเห็นเจ้าสาวของพวกเขาสวมใส่ผลงานจากฝีมือของคนชาติอื่น หากในเวลาเดียวกันการสวมใส่ผลงาน "อังกฤษล้วน" โดยชาวอังกฤษ จากห้องเสื้ออังกฤษ เพื่อชาวอังกฤษก็แลดูจะเป็นการทรยศรากเหง้าของเมแกนเองที่เป็นชาวอเมริกันต่างด้าวในราชวงศ์เมืองผู้ดี ด้วยเหตุนี้การผสมผสานความแตกต่างของนักออกแบบอังกฤษ จากห้องเสื้อฝรั่งเศส เพื่อสาวอเมริกัน จึงลงตัว
เมแกน มาร์เคิล สวมชุดกระโปรงยาวซีทรูท่อนบนจาก Ralph & Russo เมื่อครั้งถ่ายภาพประกาศหมั้นกับเจ้าชายแฮร์รี่อย่างเป็นทางการ
บรรดาโต๊ะรับแทงพนันทั่วราชอาณาจักรคงรับค่าพนันกันมันมือ เนื่องจาก Ralph & Russo ซึ่งเป็นตัวเลือกที่นอนมาตลอดของเมแกนนั้นผิดถนัด ก่อนหน้านี้มีข่าวหลุดว่ามีคนของเจ้าชายแฮร์รี่ก้าวออกจากบูติกหรูของคู่ดีไซเนอร์ ทามารา ราล์ฟ และ ไมเคิล รุสโซ พร้อมด้วย "ถุงใหญ่ๆ" อีกทั้งก่อนหน้านี้ในภาพถ่ายคู่กับเจ้าชายแฮร์รี่จากสำนักพระราชวังซึ่งถ่ายโดยช่างภาพ อเล็กซี ลูโบมีร์สกี หลังทั้งคู่ประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการ เมแกนก็เลือกสวมผลงานจากห้องเสื้อนี้ที่ถือได้ว่าเป็นตัวประเดิมศักราชใหม่ให้กับภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษได้อย่างน่าจับตามอง เพราะตัวเลือกในครั้งนั้นของเธอคือชุดกระโปรงยาวสีเข้มที่หลอมรวมความบางเข้าขั้นซีทรูของท่อนบนและงานปักเลื่อมสีทองลายเถาไม้เลื้อยเข้ากับท่อนล่างที่กอปรขึ้นจากระบายผ้าชีฟองหลายร้อยชั้น ความหมายที่เหล่าผู้สันทันกรณีด้านสัญญะทางภาพลักษณ์ตีความไปในทำนองเดียวกันจึงหนีไม่พ้นความพยายามของหญิงสาวในการสื่อสารถึงสีผิว (สีดำปนกรมท่า) ความโปร่งใส (เนื้อผ้า) และใจสิงห์ที่เลื้อยคดขึ้นมาจนถึงบัลลังก์ (ไม้เลื้อย)
เรื่อง: สธน ตันตราภรณ์
ภาพ: GETTY